จาก ‘พระบรมราชินีนาถ’ สู่ ‘พระพันปีหลวง’ ในประวัติศาสตร์พระราชวงศ์ไทย

จาก ‘พระบรมราชินีนาถ’ สู่ ‘พระพันปีหลวง’ ในประวัติศาสตร์พระราชวงศ์ไทย

 

 

 

 

จาก ‘พระบรมราชินีนาถ’ สู่ ‘พระพันปีหลวง’ ในประวัติศาสตร์พระราชวงศ์ไทย

 

พระพันปีหลวง ในประวัติศาสตร์สยามตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา จวบจนรัตนโกสินทร์ มีประวัติความเป็นมาอย่างยาวนาน และเปี่ยมด้วยความหมายอันลึกซึ้ง


ผศ.ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้ค้นคว้าอย่างลุ่มลึกในธรรมเนียมดังกล่าว โดยระบุว่า พระพันปี รวมถึงคำศัพท์ว่า พระพันวัสสา ต่างก็มีมีความหมายตรงกันว่า ‘อายุพันปี’ เคยใช้เป็นพระนามพระราชาในวรรณคดีเรื่องเอกของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา คือ เรื่องขุนช้างขุนแผน และในคำให้การชาวกรุงเก่า ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นเอกสารที่บันทึกเรื่องราวของชาวอยุธยาที่ได้ถูกกวาดต้อนไปยังกรุงอังวะที่ราชสำนักราชวงศ์คองบองจดบันทึก ก็ปรากฏกษัตริย์อยุธยาพระองค์หนึ่งทรงพระนามว่า ‘พระพันวรรษา’


หลักฐานบ่งชี้ว่า คำ ‘พระพันวรรษา’ หรือ ‘พระวัสสา’ ในยุคกรุงศรีอยุธยาเป็นสรรพนามที่ชนชั้นสูงของอยุธยาใช้แทนองค์พระมหากษัตริย์บางพระองค์ ส่วนสัมพันธ์กับ ‘พระหมื่นปี’ ที่หมายถึงฮ่องเต้หรือไม่ ยังเป็นสิ่งที่ต้องค้นคว้าต่อไป


ต่อมา ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระพันปี มีความหมายถึง ตำแหน่งพระอัครมเหสี ดังหลักฐานต่อไปนี้


1.เนื้อความในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ซึ่งเป็นฉบับที่ชำระขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 เมื่อกล่าวถึงเหตุการณ์ครั้งแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าบรมโกศความว่า “โปรดให้พระพันวรรษาใหญ่ (สะกดตามพระราชพงศาวดาร) เป็นกรมหลวงอภัยนุชิต โปรดให้พระพันวรรษาน้อยเป็นกรมหลวงพิพิธมนตรี” และในพระราชพงศาวดารได้กล่าวเพิ่มเติมว่าพระพันวรรษาพระองค์ใหญ่เป็นพระมารดาในเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ ส่วนพระพันวรรษาองค์น้อยเป็นพระราชมารดาในเจ้าฟ้าเอกทัศน์ ดังนั้น ตำแหน่งที่พระพันวรรษาในพระราชพงศาวดารก็น่าที่จะหมายความถึงที่ตำแหน่งอัครมเหสี


2.จากคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม เอกสารจากหอหลวง ซึ่งเอกสารชิ้นนี้เป็นเหมือนบันทึกของคนครั้งกรุงศรีอยุธยาที่จดขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น กล่าวว่า “พระตำหนักโคหาสวรรค์ 1 พระตำหนักนี้เปนที่ประทับของสมเด็จพระพรรวษาใหญ่ ซึ่งเป็นพระราชเทวีสมเดจพระนารายณ์แต่ก่อนมา” (สะกดตามเอกสาร)


3.จากพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ 3 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ เมื่อกล่าวถึงคร้งเหตุการณ์สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี พระอัครมเหสีในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จสวรรคตความว่า “ครั้นมาถึง ณ วันอังคาร เดือน 11 ขึ้น 8 ค่ำเวลาเช้า 4 โมง สมเด็จพระพันวัสสาประชวรพระโรคชราเสด็จสวรรคตในวันนั้น”


4.จากหลักฐานกาพย์ขับไม้พระรถซึ่งสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงมีพระวินิจฉัยว่าต้นฉบับที่ทางหอพระสมุดวชิรญาณได้มานั้นเป็นลายมือพระอาลักษณ์สมัยรัชกาลที่ 4 ได้กล่าวถึงเมื่อพระรถเฉลิมพระราชมณเฑียรแล้ว พระรถได้ใช้นางพระพี่เลี้ยงเชิญนางเมรี และพระพี่เลี้ยงก็ได้เรียกนางเมรีว่า “พระพันปี” ซึ่งก็มีความหมายเดียวกันกับ “พระพันวัสสา”


ในสมัยรัชกาลที่ 7 หลังพระราชพิธีบรมราชภิเษกแล้วจึงโปรดเกล้าฯ สถาปนาสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี “จึงมีพระบรมราชโองการมานพระบัณฑูรสุรสิงหนาท ดำรัสสั่งให้สถาปนาสมเด็จพระมาตุจฉาเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี ขึ้นเป็นสมเด็จพระพันวัสสา มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสามาตุจฉาเจ้า” ดังนั้น จึงเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีการนำคำว่า “พระพันวัสสา” มาประกอบพระนาม


สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
อย่างไรก็ตาม นัยยะของความหมายของ “พระพันวัสสา” ในสมัยรัตนโกสินทร์ ดูเหมือนว่าจะมีความหมายที่แคบเข้ามา ทั้งนี้เพราะในครั้งแผ่นดินรัชกาลที่ 3 ออกพระนามสมเด็จพระศรีสุลาลัยว่า สมเด็จพระพันปีหลวง แต่ออกพระนามสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ว่า สมเด็จพระพันวัสสา ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 จึงออกพระนามว่า พระพันปีหลวง


ผศ.ดร.รุ่งโรจน์ ระบุว่า จากหลักฐานดังกล่าว น่าจะหมายความได้ว่าตำแหน่งพระวัสสาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ คือ อัครชายาเจ้าของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลก่อนที่พระเจ้าแผ่นดินปัจจุบันให้ความเคารพนับถือ


ส่วนคำว่า “พระพันปีหลวง” ก็เป็นชื่อตำแหน่งด้วยเช่นเดียวกัน เมื่อพระอัครมเหสีในรัชกาลก่อนซึ่งออกพระนามว่า “พระพันปี” หรือบางครั้งก็เป็น “พระพันวัสสา” ต่อมาได้เป็นพระราชชนนีของกษัตริย์ในรัชกาลถัดมาจึงจำเป็นที่จะต้องมีการยกสถานะขึ้น ดังนั้นจึงได้เติมคำว่า “หลวง” จาก “พระพันปี” จึงกลายมาเป็น “พระพันปีหลวง” นั่นเอง