รัฐต้องใช้วัคซีนโควิด -19ปกป้องชีวิตคนไทย อย่าใช้วัคซีนปกป้องภาพลักษณ์ทางการเมือง

รัฐต้องใช้วัคซีนโควิด -19ปกป้องชีวิตคนไทย อย่าใช้วัคซีนปกป้องภาพลักษณ์ทางการเมือง

 

 

 

 

 

 

 

CHANGE The World รสนา โตสิตระกูล

 

รัฐต้องใช้วัคซีนโควิด -19ปกป้องชีวิตคนไทย อย่าใช้วัคซีนปกป้องภาพลักษณ์ทางการเมือง

 

กรณีพบแม่ค้าตลาดบางแคติดเชื้อโควิด-19 หลังจากฉีดวัคซีนไปแล้ว เป็นการย้ำเตือนสิ่งที่กระทรวงสาธารณสุขเคยประกาศว่า “แม้ฉีดวัคซีนแล้ว ต้องการ์ดอย่าตก ยังต้องใส่มาสก์ รักษาระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ และหลีกเลี่ยงพื้นที่เสี่ยง” เพราะฉีดวัคซีนแล้ว ไม่ได้แปลว่าจะไม่ติดเชื้อซ้ำอีก เพียงแต่วัคซีนช่วยป้องกันการเสียชีวิตและป่วยรุนแรงจากโควิด-19ได้ ถ้าผู้รับวัคซีนไม่ประสบอาการข้างเคียงจากวัคซีนจนเสียชีวิตไปเสียก่อน

 

ความเชื่อว่าฉีดวัคซีนแล้วจะกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยว แต่เมื่อพบว่าแม้ฉีดวัคซีนแล้วก็ยังสามารถติดเชื้อใหม่ได้อีก ยังแพร่เชื้อต่อไปได้อีก ทำให้รัฐบาลต้องเปลี่ยนแผนจากเดิมที่คาดว่าจะเปิดประเทศให้พาสปอร์ตนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีเอกสารรับรองการฉีดวัคซีนครบโดส ที่เรียกว่า”วัคซีนพาสปอร์ต”สามารถเดินทางท่องเที่ยวได้โดยเสรี ไม่ต้องกักตัว ก็ต้องเลื่อนเวลาออกไปเป็นมกราคมปี 2565 ส่วนการเปิดประเทศในเดือนเมษายนปีนี้ นักท่องเที่ยวยังต้องถูกกักตัวในโรงแรมเป็นเวลา 7วันโดยลดลงจากการกักตัว14วัน

 

รัฐบาลต้องปกป้องสวัสดิภาพและชีวิตคนไทยมากกว่าปกป้องหรือคอยแก้ต่างให้วัคซีน จนประชาชนขาดความเชื่อถือรัฐบาลนำเข้าวัคซีนแอสตร้าเซเนก้าที่ผลิตในเกาหลีใต้มาใช้ ซึ่งวัคซีนดังกล่าว รัฐบาลเกาหลีใต้กำหนดชดเชยการตายที่เกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีนโดยรัฐบาลเขาจ่ายเงินชดเชยการตายให้ 12ล้านบาทต่อคน แต่รัฐบาลไทยไม่ได้ให้หลักประกันเป็นกรณีพิเศษว่าหากมีการตายที่เกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีน เพียงแค่ประกาศว่าให้ใช้มาตรา 41 ของพรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ที่สามารถจ่ายเงินเยียวยาเบื้องต้น4แสนบาท แต่ในพรบ.ระบุว่า “ต้องไม่เป็นความเสียหายที่ดำเนินไปตามพยาธิสภาพของโรค หรือเหตุแทรกซ้อนของโรคที่เป็นไปตามปกติธรรมดาของโรคนั้นอยู่แล้ว” ดังนั้นกรณีที่ผู้ตายรายแรกหลังฉีดวัคซีน ก็ถูกวินิจฉัยว่า “ไม่น่าจะเกี่ยวกับวัคซีน เพราะป่วยด้วยโรคเส้นเลือดโป่งพองในท้องอยู่แล้ว “ กรณีดังกล่าว ผู้แถลงกล่าวว่าอาการเส้นเลือดโป่งพองนั้นเป็นระเบิดเวลา แต่ไม่มีใครบอกได้ว่า วัคซีนทำให้ระเบิดเวลาทำงานเร็วขึ้นหรือไม่ และยังวินิจฉัยกรณีแม่ค้าบางแคที่ติดเชื้อโควิด-19 หลังฉีดวัคซีนว่าเป็นการติดเชื้อก่อนฉีดวัคซีน

 

รัฐบาลไทยควรให้ความสำคัญกับ”การปกป้องชีวิตคนไทย มากกว่าปกป้องวัคซีน” ดังนั้นจึงควรให้หลักประกันการชดเชยอย่างรวดเร็วเป็นกรณีพิเศษที่แยกออกจากการชดเชยตามมาตรา41หากมีการเจ็บป่วย พิการ และตายอันเนื่องมาจากการฉีดวัคซีน เช่นเดียวกับรัฐบาลเกาหลีใต้ ในจำนวนเงินที่เหมาะสมโดยไม่อ้างพยาธิสภาพของผู้รับวัคซีนเป็นเหตุที่ไม่ชดเชยให้

 

ปัจจุบัน วัคซีนโควิด-19 ทุกยี่ห้อเป็นการขึ้นทะเบียนยาเพื่อใช้ในกรณีฉุกเฉิน ดังนั้นผู้ผลิต และจำหน่ายวัคซีนจึงไม่ต้องรับผิดชอบกับกรณีที่เกิดอันตรายทั้งสิ้น ผู้รับผิดชอบคือหน่วยงานรัฐ รัฐบาลจึงไม่อนุญาตให้ร.พ เอกชนและองค์กรปกครองท้องถิ่นเป็นผู้ซื้อมาฉีดให้ประชาชนเอง แม้วัคซีนจะเป็นยาที่ผลิตมาใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉินเมื่อฉีดแล้วก็ไม่มีหลักประกันเรื่องความปลอดภัยที่จะไม่เกิดผลข้างเคียง รวมทั้งในกรณีที่ร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต มิหนำซ้ำ เมื่อฉีดแล้วจะยังสามารถติดเชื้อและแพร่เชื้อได้อีก รัฐบาลจึงควรมีหลักประกันที่ชัดเจนให้กับผู้รับวัคซีน

 

ดังนั้น การฉีดวัคซีนจึงควรใช้อย่างฉลาด โดยมุ่งเป้าใช้กับคนประกอบอาชีพที่เสี่ยงกับการติดเชื้อโควิด-19 เช่น แพทย์ พยาบาล อสม. บุคลากรสาธารณสุข พนักงานโรงแรม ห้าง ร้าน โรงงาน ผู้ค้าขายในตลาดหรือหาบเร่ แผงลอยเป็นต้น และบุคคลที่ต้องเดินทางไปต่างประเทศ สมควรฉีดเพื่อบรรเทาความร้ายแรงเมื่อเจ็บป่วยจากการติดเชื้อโควิด-19 และที่สำคัญควรเร่งฉีดในกลุ่มคนเหล่านี้ให้ทั่วถึงโดยเร็ว ก่อนที่เชื้อจะกลายพันธุ์เหมือนประเทศบราซิลที่เกิดการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด-19 และทำให้วัคซีนในล็อตนั้นไม่ได้ผล

 

อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลไทยชักช้าไม่เร่งรัดฉีดให้กลุ่มเป้าหมายที่มีความสำคัญเร่งด่วนอย่างทั่วถึง ก็อาจก่อให้เกิดเชื้อกลายพันธุ์และต้องเปลี่ยนวัคซีนชนิดใหม่ ทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณมหาศาล และต้องยอมรับความจริงว่า ในอนาคตก็ยังไม่แน่นอนว่าต้องฉีดวัคซีนชนิดใหม่อีกกี่ครั้งเพื่อต้านเชื้อโควิด-19ที่มีแนวโน้มกลายพันธุ์ได้เรื่อยๆ

 

 

อย่างไรก็ตาม สำหรับคนทั่วไป เด็กหรือผู้สูงวัยเกิน70 ที่การ์ดไม่ตก คือหลีกเลี่ยงการเข้าไปในพื้นที่เสี่ยง รักษาระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ ใส่มาสก์อย่างเคร่งครัด ก็ถือเสมือนเป็นวัคซีนป้องกันโรคที่ดีที่สุด และหากมีอาการป่วยด้วยไข้หวัดจากไวรัสไม่ว่าสายพันธุ์ใด เช่น มีอาการไข้ ไอ หวัด เจ็บคอ หรือเริ่มมีอาการครั่นเนื้อครั่นตัวก็สามารถใช้ฟ้าทะลายโจรในการรักษาได้
 

ปัจจุบันมีการใช้ฟ้าทะลายโจรในการรักษาผู้ติดเชื้อ โควิด-19 ใน7โรงพยาบาลรัฐ ทั้งระดับร.พ ศูนย์ ร.พ ทั่วไป และร.พ ชุมชน ได้แก่ ร.พ ราชบุรี ร.พ นครปฐม ร.พ สมุทรสาคร ร.พ ระยอง ร.พ บ้านโป่ง ร.พ กระทุ่มแบน ร.พ แม่ระมาด จ.แม่ฮ่องสอน มีจำนวนผู้ป่วยรวมกว่า 270 รายหายเป็นปกติทั้งหมดโดยใช้ผงฟ้าทะลายโจรบรรจุแคปซูลเพียงอย่างเดียว วันละ180 มิลลิกรัม แบ่งกินครั้งละ 3แคปซูล ก่อนอาหาร เช้า กลางวัน เย็น เป็นเวลา 5วัน ได้ผลดี ผู้ป่วยด้วยเชื้อโควิด-19 ทุกคนหายเป็นปกติสามารถกลับบ้านได้ และยังมีการศึกษาเปรียบเทียบฟ้าทะลายโจรกับยาหลอก ในสถานกักกันโรคที่สมุทรปราการ จำนวน50คน

 

โดยที่ก่อนหน้านี้ กรมการแพทย์แผนไทยฯกระทรวงสาธารณสุข ได้ประกาศยืนยันว่าสารสกัดฟ้าทะลายโจรสามารถฆ่าเชื้อโควิด-19ในหลอดทดลอง และมีการศึกษาวิจัยขนาดการใช้ฟ้าทะลายโจรที่ได้ผลในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19ที่มีอาการน้อยถึงปานกลางขอสนับสนุนให้ภาครัฐเร่งบูรณาการ การใช้ยาฟ้าทะลายโจรอันเป็นภูมิปัญญาไทยร่วมกับยาอื่นๆเพื่อต้านการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่เป็นปัญหาใหญ่ของโลก และประเทศไทยในเวลานี้ และเชื้อโควิด-19 ยังคงไม่หมดไปในอนาคตอันใกล้
รสนา โตสิตระกูล
31 มีนาคม 2564