ร้อง กระทรวงยุติธรรม ตรวจสอบสัญญาเช่าดินที่ศาสนสมบัติ ย่านประตูน้ำ เอื้อนายทุน

ร้อง กระทรวงยุติธรรม ตรวจสอบสัญญาเช่าดินที่ศาสนสมบัติ ย่านประตูน้ำ เอื้อนายทุน

 

           

 

ร้อง กระทรวงยุติธรรม ตรวจสอบสัญญาเช่าดินที่ศาสนสมบัติ ย่านประตูน้ำ เอื้อนายทุน
 
 
 
เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 24 พ.ค. ที่ ศูนย์บริการร่วมกระทรวงยุติธรรม (ยธ.) นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส อดีตผู้ว่า สตง. พร้อมด้วย นายจตุรงค์ จงอาษา นักวิชาการด้านพระพุทธศาสนา และ นายอรรณพ บุญสว่าง ทนายความ เข้ายื่นหนังสือร้องต่อ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม เพื่อตรวจสอบกรณี สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ปล่อยเช่าตลาดเฉลิมโลก (ฝั่งเหนือ) เขตราชเทวี บริเวณประตูน้ำ ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ กทม. ซึ่งเป็นที่ดินศาสนสมบัติ โดยมี นายปริญญ์วัฒน์ เปี่ยมปิ่นวงศ์ ผอ.ศูนย์บริการร่วม กระทรวงยุติธรรม เป็นผู้รับเรื่อง
 
นายอรรณพ ทนายความ เปิดเผยว่า ตนในฐานะชาวพุทธได้รับข้อมูลจากอดีตคณะกรรมการพิจารณางบประมาณศาสนาสมบัติกลางประจำ (พศป.) มหาเถรสมาคมได้จัดให้เอกชนเช่าที่ดินดังกล่าว เนื้อที่ประมาณ 5 ไร่ 2 งาน 54.1 ตรว. มีมูลค่าความเสียหายหลายร้อยล้านบาทโดยมีพฤติการณ์ส่อไปในทางไม่สุจริต โดยให้เช่าเป็นเวลา 40 ปี ช่วง 3 ปีแรกปลอดค่าเช่า จากนั้น เช่าปีละ 7 แสนกว่าบาท หรือเฉลี่ย 6.5 หมื่นต่อเดือน ซึ่งราคาต่ำกว่าปกติ อีกทั้ง ยังมีผู้เช่าเดิมค้างอยู่ ยังไม่หมดสัญญา ซึ่งจะหมดสัญญาในปี พ.ศ.2568 แต่ พศป. กลับเร่งรีบไปให้เอกชนรายใหม่เช่า อย่างไม่เป็นธรรมเป็นการรอนสิทธิผู้เช่ารายเดิม
 
โดยวันนี้ได้นำหลักฐานประกอบด้วย มติมหาเถรสมาคม ครั้งที่ 21/2562 มติที่ 869/2562 ลงวันที่ 28 สิงหาคม 2552 และ สัญญาเช่าที่ดินเพื่อพัฒนาปรับปรุงสิ่งปลูกสร้างศาสนาสมบัติกลางเฉลิมโลก (ฝั่งเหนือ) เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร ลงวันที่ 5 มิถุนายน 2560 มายื่นให้กระทรวงยุติธรรมตรวจสอบ
 
ด้าน นายจตุรงค์ กล่าวว่า สินทรัพย์ที่ดินดังกล่าวมีมูลค่าหลักหมื่นล้านบาทแต่ปล่อยให้เช่าราคาหลักหมื่นบาท จึงอยากย้อนถามไปยัง คสช. ตอนนั้นที่มีคำสั่งแต่งตั้ง พ.ต.ท.พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ อดีต ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ มากำกับดูแล แต่เอาสมบัติศาสนาไปเอื้อประโยชน์ต่อนายทุน รวมทั้ง มีการจับกุมดำเนินคดีพระพรหมดิลก พระเถระชั้นผู้ใหญ่ในคณะกรรมการพิจารณาดังกล่าวด้วยในคดีเงินทอนวัด ที่ต้องติดคุกฟรีเป็นเวลาปีกว่า สุดท้ายศาลตัดสินไม่มีความผิด
 
ในเรื่องการให้เช่าที่ดินย่านประตูน้ำแก่เอกชนรายใหม่นี้ตนมองว่า 1.มีบริษัทเอกชนเพียงรายเดียวซึ่งมีทุนจดทะเบียน แค่ 1 ล้าน ได้รับการเลือก เมื่อ 21 ตุลาคม 2556 ให้เข้ามาบริหารที่ดินแห่งนี้ซึ่งเป็นศาสนสมบัติมูลค่ากว่า 4,000 ล้านบาท
 
2.ผู้เช่าสัญญาเดิมหลายรายยังไม่หมดสัญญา ซึ่งจะหมดสัญญาในปี พ.ศ.2568 แต่ พศป.กลับเอาไปให้เอกชนรายใหม่เช่า ไม่เป็นธรรมเป็นการรอนสิทธิผู้เช่ารายเดิม ไม่ทราบว่าจะรีบดำเนินการด้วยเหตุผลใด
 
3.แอบทำสัญญาเช่ากับเอกชนรายใหม่ก่อน( 4 มิถุนายน 2562) มหาเถรสมาคมจะมีมติอนุมัติ ทำได้ด้วยหรือ? และ 4.ให้เวลาเอกชนรายใหม่ดำเนินการระยะเวลา 10 ปี โดย 3 ปีแรกไม่ต้องเสียค่าเช่า 7 ปีที่เหลือจ่ายแค่เดือนละ 65,000 บาทกับสมบัติชาติ สมบัติศาสนา 4,000 ล้านบาท
 
วันนี้เราจึงต้องมายื่นเรื่องร้องเรียนขอให้ รมว.กระทรวงยุติธรรมใช้ช่วยตรวจสอบการกระทำของ พศป. มหาเถรสมาคม ว่ามีความโปร่งใสเพียงใด และให้ความยุติธรรมกับผู้เช่ารายเดิมที่ยังไม่หมดอายุตามสัญญาเช่าด้วย
 
ด้าน นายพิศิษฐ์ อดีตผู้ว่า สตง.กล่าวในเรื่องนี้ว่า ตนเห็นข้อพิรุธจากการเช่าที่ต้องเป็นผลประโยชน์ต่อศาสนสมบัติ เรื่องค่าตอบแทนไม่เป็นธรรมเพราะคือการทุจริตคอรัปชั่นรูปแบบหนึ่งที่เอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
 
นอกจากนี้ ได้ร้องเรียนไปยัง คณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร ในคณะของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวช แล้วเช่นกัน ซึ่งเรื่องศาสนาทุกฝ่ายต้องมีส่วนรวมเพื่อทำให้เกิดความกระจ่าง