การเปลี่ยนแปลง : ‘ความไม่แน่นอน’ คือ ‘ความแน่นอน’

การเปลี่ยนแปลง : ‘ความไม่แน่นอน’ คือ ‘ความแน่นอน’

 

 

อมตะวาจาที่ได้กล่าวเอาไว้ว่า “ความไม่แน่นอนคือความแน่นอน”อาจจะดูเป็นคำพูดกิ๊บเก๋ตามประสาวัยรุ่น เชื่อว่าหลายคนคงได้ยินคำคำนี้มาแล้วหลายครั้งในชีวิต แต่เชื่อว่าหลายคนก็ยังไม่เข้าใจถึงความจริงแท้ของวลีดังกล่าว ซึ่งนับเป็นสิ่งที่มนุษย์สามัญชนอย่างเราท่านไม่อาจปฏิเสธได้ อีกนัยหนึ่งก็คือ การเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่มนุษย์ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ อาทิ สิ่งมีชีวิตบนโลกล้วนแล้วแต่เปลี่ยนแปลงพันธุกรรมหรือโครงสร้างของร่างกายเพื่อให้อยู่อาศัยได้กลมกลืนกับสิ่งแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลงไปเหมือนๆ กัน ดังที่ปรากฏให้เห็นมากมายบนโลกนี้ ทฤษฎีวิวัฒนาการสมัยใหม่ที่โด่งดังของ ชาลส์ โรเบิร์ต ดาร์วิน (Charles Robert Darwin) นักวิทยาศาสตร์ผู้ค้นพบหลักการพื้นฐานของกลไกการคัดเลือกโดยธรรมชาติ (Natural Selection) เจ้าของความคิดผู้โด่งดังที่หลายคนรู้จักกันเป็นอย่างดี เป็นตัวอย่างที่ดีที่ได้เคยกล่าวถึงความจริงในข้อนี้ให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ต่อมวลมนุษยชาติ


... ดังนั้นแล้วการรับมือกับความไม่แน่นอนที่ดีที่สุด ก็คือการเปลี่ยนแปลงตนเองให้มีศักยภาพและความสามารถในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสิ่งรอบข้างที่ต้องเผชิญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากยังเพิกเฉยไม่อาทรต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น สุดท้ายผลเสียหายอันเนื่องมาจากการขัดขืนไม่ยอมเปลี่ยนแปลงจะตะล่อมย้อนรอยกลับมาทำร้ายหรือสร้างความเสียหายได้ในภายหลังซึ่งเราได้เห็นตัวอย่างของความดื้อรั้นไม่ยอมเปลี่ยนแปลงโดยดุษฎีให้เห็นมานักต่อนักแล้ว


ตอนนี้ ... เริ่มมองเห็นอิทธิฤทธิ์ของ ‘การเปลี่ยนแปลง’ ชัดเจนขึ้นแล้วใช่หรือไม่


ศัตรูตัวร้ายของการเปลี่ยนแปลงก็คือสิ่งที่เรียกว่า ‘ยึดมั่น..ถือมั่น’ มันจะก่อกำเนิดขึ้นภายในจิตใจของบุคคลจน ‘มโน’ คิดเอาเองว่าสิ่งที่ทำอยู่ในปัจจุบันเป็นสิ่งที่ดีที่สุดแล้ว ผนึกกำลังรวมตัวก่อร่างสานต่อกลายเป็นพันธนาการเหนี่ยวรั้งต่อสู้ขัดขืนกับการเปลี่ยนแปลง โดยอาศัยความเชื่อที่ยึดติดประกอบกับข้อมูลที่ยึดถือเสมือน ‘คัมภีร์’ อ้างว่าเป็นเสมือนเหตุผลที่เป็นอาณัติสัญญาณที่สามารถนำมากล่าวอ้างเพื่อปฏิเสธอันอาจนำไปสู่การเป็นปฏิปักษ์ต่อต้านการเปลี่ยนแปลงต่อไป


ผู้เขียนในฐานะผู้ทำหน้าที่จัดการเรียนการสอนก็ไม่อาจหลีกหนีความจริงดังกล่าวได้ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาส่งผลให้รายละเอียดเนื้อหาสาระที่ใช้ในชั้นเรียนเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทุกปีการศึกษาซึ่งเป็นเรื่องปกติสำหรับผู้สอนที่เอาใจใส่ต่อผู้เรียน บางครั้งเราเตรียมการสอนมาอย่างหนึ่งแต่เมื่อถึงเวลาจริงหากมีเหตุการณ์ที่กำลังเป็นที่สนใจเกิดขึ้นอยู่ในเวลานั้น ผู้สอนจะต้องเท่าทันและแหลมคมต่อความเคลื่อนไหวนั้นๆ เพียงพอที่จะหยิบยกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้เรียนอย่างชาญฉลาดเพื่อสร้างอรรถรสในชั้นเรียนได้อย่างทันท่วงที เพื่อช่วยให้บรรยากาศระหว่างผู้สอนและผู้เรียนด้วยกันเป็นไปอย่างสนุกสนานเข้มข้นบรรลุตามวัตถุประสงค์ของการเรียนการสอนร่วมกันทุกประการ


... ฉะนั้นความจริงที่ตามมาในข้อนี้ก็คือ การเปลี่ยนแปลงหนึ่งๆ ที่เกิดขึ้นส่งผลไปยังการเปลี่ยนแปลงอื่นๆ ด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ทั้งที่หากเรายึดติดกับเนื้อหาเดิม สอนอย่างที่เคยทำมาทุกประการก็ไม่มีความผิดตามระเบียบข้อบังคับแต่อย่างใด ซึ่งการทำงานในลักษณะนี้มีเงื่อนไขของ ‘การเปลี่ยนแปลง’ เข้ามามีผลต่อการประเมินผลการปฏิบัติงานน้อยมาก แต่หากเราไม่ปฏิบัติด้วยความจริงใจแล้วเราก็ไม่อาจหลอกตนเองด้วยการตอบคำถามในเรื่องจรรยาบรรณและความรับผิดชอบต่อวิชาชีพที่จะต้องส่งมอบสิ่งที่ดีที่สุดแก่ผู้เรียนได้...แต่อย่างใด
.... เฉพาะเรื่องธรรมดาๆ ที่เกิดขึ้นในชั้นเรียนแค่นี้ คงพอที่จะทำให้เห็นฤทธิเดชของการเปลี่ยนแปลงที่ตามมาหลอกหลอนให้ทุกคนต้องคิดเปลี่ยนแปลงเพื่อบรรลุถึงประโยชน์ในแง่มุมต่างๆ


... ถึงตอนนี้ขออนุญาตสรุปก็แล้วกันว่า ‘การเปลี่ยนแปลง’ เป็นสิ่งที่อยู่คู่โลกอีกนานเท่านานและ ... ตลอดไป

 


เรื่อง อ.ทศพล กฤตยพิสิฐ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ