หลักธรรมของ...สุริยน ศรีอรทัยกุล ในการบริหารธุรกิจเพชรพันล้าน

หลักธรรมของ...สุริยน ศรีอรทัยกุล ในการบริหารธุรกิจเพชรพันล้าน

 

 

 

เรื่อง  : สุทธิคุณ    กองทอง   ภาพ :  กนต์ธีร์ เหลืองอร่าม

 

หลักธรรมของ...สุริยน ศรีอรทัยกุล ในการบริหารธุรกิจเพชรพันล้าน

 

"หลักธรรมทำให้เราได้แก้ปัญหา แต่ละช่วงให้ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี อย่างน้อยหลักธรรมก็สอนให้คนเรารู้จักเดินสายกลาง ไม่ให้หนักไปข้างใดข้างหนึ่ง ไม่ว่าจะทำอะไรก็จะต้องทำอย่าง มีสติสัมปชัญญะ สิ่งหนึ่งที่ลืมไม่ได้นั่นก็คือ ความรับผิดชอบ หากเรารับปากอะไรลูกน้องหรือลูกค้า ผมก็ต้องทำให้ได้ และไม่ลืมที่จะเอาใจเขามาใส่ใจเรา ผิดก็ว่าไปตามผิด ถูกก็ว่าไปตามถูก เพราะพ่อ (พรสิทธิ์ ศรีอรทัยกุล) สอนเสมอว่า ทั้งบ้านหรือบริษัท ลูกน้อง เจ้านาย ก็ต้องมองให้เป็นครอบครัวเดียวกัน สิ่งสำคัญเราต้องรู้จักให้โอกาสคน"

 

นี่คือหลักธรรมการสร้างความสำเร็จ ใน ธุรกิจอัญมณีของ นายสุริยน ศรีอรทัยกุล กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บริษัท บิวตี้เจมส์ กรุ๊ป จำกัด นักธุรกิจหนุ่มแห่ง วงการอัญมณีไทยพันล้าน 

 

"ใครทำอะไรไม่ดี สิ่งนั้นก็จะตอบสนอง กลับมายังผู้กระทำเสมอ" นี่เป็นความเชื่อเกี่ยว กับกฎแห่งกรรมของสุริยน โดยเขาได้ยกตัวอย่างเปรียบเทียบไว้อย่างน่าคิดว่า

กรรมเปรียบเสมือนการตีน้ำที่นิ่งสงบให้กลายเป็นคลื่น ความแรงของคลื่นอยู่ที่น้ำหนักของการตี แต่ถ้าเราไม่ตีน้ำลงไปทุกอย่างก็ราบเรียบอย่างนิ่งสงบ กฎแห่งกรรมก็เช่นกัน กรรมดียิ่งสร้างเท่าไรผลของกรรมดีก็กลับคืนมามากเท่านั้น ขณะที่กรรมชั่วก็จะเป็นไปในทางตรงกันข้าม ดังนั้นคนเราต้องพิจารณาไตร่ตรองถึงการกระทำทุกย่างก้าวของชีวิต บางกฎแห่งกรรมเป็นสิ่งที่ทุกคนหลีกหนีไม่พ้น ไม่ว่ากรรมนั้นจะหนักหรือเบา จงเชื่อมั่นในกฎแห่งกรรมแล้ว พยายามสร้างแต่กรรมดี หลีกหนีกรรมชั่ว แม้จะไม่มีใครรู้แต่ขอให้ตัวเรารู้ก็พอแล้ว

 

นอกจากนี้แล้ว ทุกๆ สองเดือน สุริยนจะต้องเดินทางไปสักการะ ท่านท้าวมหาพรหม บริเวณ โรงแรมไฮแอทเอราวัณ สี่แยกราชประสงค์ เพราะเขาเชื่อว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ช่วย ให้ชีวิตประสบ แต่ความสำเร็จ รวมทั้งเป็นที่พึ่งทางใจ สิ่งหนึ่งที่สร้าง ความประหลาดใจอยู่ไม่น้อย คือ ภาพนักท่องเที่ยวชาวจีน จากประเทศอินโดนีเซีย สิงคโปร์ ไต้หวัน ฯลฯ ให้ความเคารพพระพรหมแห่งนี้เป็นอย่างมาก และไม่แปลกใจเลยที่ทุกคนมา แล้วได้ความสมหวังจากแรงอธิษฐานกลับไป

 

หลังจากนั้น สุริยนก็ได้ศึกษาประวัติความเป็นมาของท้าวมหาพรหมอย่างจริงจัง พร้อมเล่าให้ฟังว่า ตำนานโบราณในอินเดียนั้นมีความเชื่อว่า พระพรหมเป็น เทพผู้สร้างโลก ได้รับการยกย่องโดยพวกพราหมณ์ ให้มีฐานะเท่าเทียมกับพระวิษณุ (ผู้คุ้มครองโลก) และพระศิวะ (ผู้ทำลายโลก) วิวัฒนาการทางความเชื่อทางศาสนาและศิลปกรรมของอินเดียมีการเปลี่ยนแปลงเรื่อยมา ประเพณีความเชื่อในสมัยนั้นมีการนับถือตามนิกายต่างๆ เช่น นิกายไศวะ หรือศิวนิกาย และนิกายไวษณพ หรือวิษณุนิกาย ทั้ง ๒ นิกาย ให้ความเคารพนับถือเทพ คือพระศิวะ และพระวิษณุเป็นพิเศษ จึงลดความศรัทธาความเชื่อถือพระพรหมลง

 

เมื่อเวลาผ่านถึง ค.ศ.ที่ ๑๐ ชาวฮินดู จึงหันมาให้ความเคารพนับถือ พระพรหมจากนิกายไศวะและ นิกายไวษณพ ซึ่งมีการแข่งขันกันทางด้านความเชื่ออยู่ พระพรหมจึงกลายเป็นเทพองค์สำคัญขึ้นใหม่ โดยมีการสร้างเทวาลัยและรูปปั้นไว้เป็นจำนวนมาก พระพรหมได้รับการนับถือบูชาในฐานะ ที่พระองค์เป็นผู้สร้างของทุกสิ่งทุกอย่างให้เกิดขึ้นบนโลก พระองค์ทรงเป็นผู้ให้ เป็นผู้กำหนดโชคชะตาของมนุษย์

 

สุริยน บอกด้วยว่า ตลอดชีวิตที่ผ่านมายังไม่เคยมีเหตุการณ์ใดๆ ร้ายแรงถึงขั้นเลือดตกยางออกเลยแม้แต่ครั้งเดียว ด้วยเหตุนี้ก็เชื่อว่าน่าจะเป็นที่ตัวเองมากกว่า ที่ดำเนินชีวิตอย่างไม่ประมาทมาตลอด ประกอบกับทุกครั้งที่ขับรถยนต์ด้วยตนเองก็จะใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างดี หรือหากใครกำลังทำอะไรบางอย่างอยู่นั้น ถ้าทำกันอย่างมีสติก็มีความเชื่อว่าจะทำให้คนเราแคล้วคลาดรอดพ้นจากสิ่งไม่ดีออกไปได้

อย่างไรก็ตามแม้ว่าชีวิตจะแคล้วคลาดจากสิ่งไม่ดีมาตลอด แต่การบนขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้น สุริยน กลับขอพรเพื่อให้การทำงาน ติดต่อธุรกิจ หรือจัดงานให้กับลูกค้า จงประสบความสำเร็จให้ งานผ่านพ้นไปได้ด้วยดี และตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานั้น การงานราบรื่นมาแบบไร้อุปสรรค พร้อมกับให้คำแนะนำไว้อย่างน่าคิดว่า "สิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นที่พึ่งทางใจ แต่เราต้องทำงานด้วยหนึ่งสมองและสองมือ ถ้าสมองและมือไม่ทำงาน ต่อให้ขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั่วโลก ก็ไม่อาจจะประสบความสำเร็จได้" 

 

สำหรับพระเครื่องคู่ใจที่แขวนติดตัวไปเป็นประจำมี พระรอด วัดมหาวัน จ.ลำพูน เพียงองค์เดียวเท่านั้น ซึ่งแขวนติดตัวมาเป็นเวลากว่า ๒๐ ปีแล้ว โดยได้มาจากแม่ (ดร.สุนีย์ ศรีอรทัยกุล) ให้ไว้เป็นที่ระลึก นอกจากนี้ยังมีพระเครื่องและพระบูชาอื่นๆ อีกจำนวนเป็นมาก

 

ส่วนเหตุผลของการแขวนพระนั้น สุริยน บอกว่า พระเครื่องเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวทางจิตใจ ไม่ว่าจะคิดหรือหาทางออกให้กับชีวิตไม่ได้ พระเครื่องก็เหมือนเครื่องเตือนใจให้คิดหรือทำในสิ่งที่ดี ไม่ไปสร้างความเดือดร้อนให้กับคนอื่น เพราะเชื่อว่ามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์อะไรบางอย่างคอยเฝ้าดูการกระทำของเราทุกเวลา

 

"ความเชื่อความศรัทธาก็เป็นเครื่องทำให้ตัวเรา มีกำลังใจที่จะทำดีมากกว่า จะให้เชื่อเป็นเรื่องปาฏิหาริย์ แล้วเราจะได้ดีในส่วนนั้น ซึ่งก็เป็นหลักธรรมให้เรารู้จักปลง ไม่ว่าปัญหาและอุปสรรคจะหนัก ก็เป็นเรื่องที่คนเราจะต้องพบเจอกันอยู่ทุกวัน แต่อยู่ที่ว่าเราจะแก้หรือหาทางออกกันอย่างไร คนเราจึงไม่ต่างอะไรจากฝุ่นในอากาศ เพราะชีวิตคนเราเผาแล้วก็จบ หากเรามีปัญหาเราก็ต้องเตือนตัวเองด้วยว่า สุดท้ายมันก็เท่านั้นเอง" สุริยน กล่าวทิ้งท้าย