คน...มีคุณค่าเท่าอิฐแดงกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร เจ้าแม่โตชิบา
เรื่อง : สุทธิคุณ กองทอง ภาพ : พีระรัตน์ ธรรมจง
คน...มีคุณค่าเท่าอิฐแดงกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร เจ้าแม่โตชิบา
"คนมีคุณค่าเท่ากับอิฐแดงทุกก้อน" นี่เป็นปรัชญาในการบริหารงานและคนของ กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตประธานกรรมการบริหาร บริษัท โตชิบา ไทยแลนด์ จำกัด
ทั้งนี้ กอบกาญจน์ อธิบายขยายความถึงปรัชญาดังกล่าวว่า "อิฐสีแดง หมายถึงพนักงานของเรา ไม่ว่าตำแหน่งไหนก็ตาม ไม่มีตำแหน่งไหนหรือใครที่มีคุณค่าน้อยกว่า หรือมากกว่า แต่ว่าจะแตกต่างกันที่ตำแหน่งหน้าที่ ในฐานะของผู้บริหารเรามีหน้าที่ที่ต้องวางแผนวางคนว่าอิฐแต่ละก้อนควรอยู่ตรงไหน ควรทำอะไร เราเชื่อเรื่องคนมาก ถึงแม้คนจะมาจากพื้นเพใดก็ตาม ถ้าเราให้โอกาส ก็จะสามารถพัฒนาได้ แต่ที่สำคัญคือ เราต้องเปิดใจคนนั้นได้ และคนนั้นก็ต้องมีใจพร้อมจะเปิดและไปกับเรา"
ส่วนหลักการทำงานนั้น กอบกาญจน์ บอกว่า คุณแม่ (ท่านผู้หญิงนิรมล สุริยสัตย์) สอนว่า การทำงานต้องยึดหลักธรรมที่จะทำให้ประสบความสำเร็จคือ อิทธิบาท ๔ ซึ่งได้แก่ ๑.ฉันทะ ความพอใจรักใคร่ในสิ่งนั้น ๒.วิริยะ ความพากเพียรในสิ่งนั้น ๓.จิตตะ ความเอาใจใส่ฝักใฝ่ในสิ่งนั้น ๔.วิมังสา ความหมั่นสอดส่องในเหตุผลของสิ่งนั้น
"เมื่อเราเริ่มยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น แน่นอนผิดถูกไม่ใช่สาระสำคัญอีกต่อไป เพราะพอคนเราโกรธแล้วจะไม่ยอมฟังเสียงคนอื่น คิดอยู่อย่างเดียวแต่ว่าไม่ใช่ ไม่ใช่ ในทางกลับกันถ้าเราลองเปิดใจ เราคิดตามเขาบ้าง บางทีต้องยอมรับว่า เออจริง! เรามองข้ามอะไรไปหลายอย่าง แล้วอย่างนี้จะทำให้หนหน้าเราเก่งขึ้น การพลาดไม่ใช่ความผิด แต่เป็นวิถีของการเรียนรู้ที่จะพัฒนาคนให้ดีขึ้นไปเรื่อยๆ เป็นสิ่งสำคัญ" กอบกาญจน์ กล่าวพร้อมกับบอกด้วยว่า
ในปัจจุบัน ไม่มีใครรู้หมด สามารถเข้าใจหมด โดยเฉพาะโลกปัจจุบันที่เปลี่ยนเร็วมาก ทั้งการสื่อสารแบบใหม่ในโลกทำให้คนพัฒนาเร็ว ได้รับข้อมูลเร็ว คนที่สามารถตามเกาะติดได้ทุกเรื่องไม่มี เราต้องยอมรับในการที่จะไปเป็นทีม เราอาจจะเป็นผู้นำในแง่ว่าวางหมากให้คน แต่การตัดสินใจเราต้องมาจากการฟังคนทั้งหมด แล้วมาประมวล ใช้วิจารณญาณแล้วตัดสินใจ ไม่ใช่เราคนเดียว"
กอบกาญจน์ ยอมรับว่า โดยส่วนตัวแล้วเป็นคนไม่แขวนพระเครื่อง ไม่เข้าวัด เนื่องจากมีความเชื่อว่าศาสนา หรือวัด อยู่ที่ใจ คนแขวนพระไม่ใช่มีศาสนาเป็นของตัวเอง หรือคนที่ไม่ได้แขวนพระก็ไม่ใช่ว่าเขาไม่มีศาสนาในตัวเอง ความจริงศาสนาพุทธก็คือปรัชญา ไม่ใช่ความเชื่อ ศาสนาจึงเป็นเหมือนสัจจะของชีวิต พระพุทธศาสนาถือว่าเป็นสิ่งที่ดี เพราะสอนให้เราเห็นสัจจะของชีวิต และหลักคิดของธรรมชาติ สิ่งสำคัญพระพุทธเจ้าสอนเราไม่ให้ยึดติดกับอะไร จึงไม่จำเป็นต้องแขวนพระ ดังนั้น ศาสนาพุทธจึงอยู่ที่ใจ
ทั้งนี้ กอบกาญจน์ พูดไว้อย่างน่าคิดว่า "ในความเป็นจริงคนเราไม่เข้าวัดก็สามารถเป็นคนดีได้ ในทางกลับกันคนที่เข้าวัดมีจำนวนไม่น้อยที่เป็นคนไม่ดี ฉะนั้น คนแขวนพระเป็นจำนวนมาก กับคนที่เข้าวัดบ่อยๆ หรือช่วยบริจาคเอาเงินเข้าวัดเป็นจำนวนมากแล้วจะเป็นคนดีเสมอไป มาถึงวันนี้แล้วคิดว่าทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ที่ใจเรา อยู่ที่การกระทำของเรามากกว่า ว่าเขาเป็นคนดีกันหรือเปล่า ศาสนาพุทธสอนให้เรารู้จักคิดรู้จักเข้าใจความเป็นจริงของชีวิต และดำเนินชีวิตให้ถูกต้อง"
อย่างไรก็ตาม เมื่อว่างเว้นจากการทำงาน กอบกาญจน์ จะหยิบหนังสือธรรมะของท่านพุทธทาสขึ้นมาอ่าน ซึ่งทำให้เข้าใจปรัชญาชีวิตที่ถูกต้องมากขึ้น ส่วนเรื่องกฎแห่งกรรมในความคิดว่า อาจจะใช่หรือไม่ใช่ก็ได้ ตรงนี้ยังไม่แน่ใจ คือไม่ได้เป็นคนคิดมากว่าทำดีแล้วต้องได้ดี ไม่เช่นนั้นเราทำบุญอะไรก็เหมือนเราหวังอะไรบางอย่างตอบแทน ทำแล้วจะต้องดีขึ้น แต่ตัวเองมีความรู้สึกว่าทำบุญไม่ควรต้องไปหวัง เราอยากทำเพราะเราอยากให้ แต่ถ้าเราหวังพอไม่ได้ก็จะเป็นทุกข์
นอกจากนี้แล้ว ก่อนนอน กอบกาญจน์ จะสวดมนต์ โดยให้เหตุผลว่าการสวดมนต์ทำให้เรามีสติ กลับมาทบทวนชีวิตของเราตลอด ๑ วันที่ผ่านมาว่าอะไรเป็นอะไร การสวดมนต์จึงเป็นอะไรที่ดี แต่ไม่ได้สวดมนต์เพื่อจะได้บุญ บางครั้งที่ชีวิตมีความทุกข์ใจ ก็จะหาคำตอบและทบทวนว่าความทุกข์นั้นมาจากไหน และต้องตั้งสติให้ได้
ส่วนเรื่องการทำบุญนั้น กอบกาญจน์ บอกว่า ปัจจุบันยังเป็นคนทำบุญหลากหลายประเภท ไม่ว่าจะไปทำบุญให้วัดบ้าง ส่วนใหญ่จะทำกิจกรรมเพื่อสังคม เราคิดว่าสิ่งที่ทำไม่ใช่ว่าเป็นบุญ แต่ทำไปเพื่อตอบแทนสังคม เพื่อช่วยผู้อื่นให้ประสบความสำเร็จ ดีขึ้น หรือให้รอดพ้นจากปัญหา ตรงนี้ใครจะมองว่าเป็นบุญก็คงจะได้ ซึ่งกิจกรรมที่เข้าไปช่วย คือ การดูแลศิลปวัฒนธรรมที่สร้างในแง่จิตใจของคนเรา จึงช่วยและทำบุญกับคน รวมทั้งงานด้านการศึกษา เพราะอย่างน้อยสิ่งเหล่านี้เป็นการพัฒนาคนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีของทั้งครูและนักเรียน