ดร.สุวิทย์ คุณกิตติ กับ..."ปาฏิหาริย์หลวงพ่อโอภาสี"

ดร.สุวิทย์ คุณกิตติ กับ..."ปาฏิหาริย์หลวงพ่อโอภาสี"

 

 

 

 

เรื่อง  : สุทธิคุณ    กองทอง   ภาพ :   ชวกรณ์  สะอาดเอี่ยม

 

ดร.สุวิทย์ คุณกิตติ กับ..."ปาฏิหาริย์หลวงพ่อโอภาสี"

 

"การบวชครั้งนี้เพราะต้องการบวช ไม่ได้บวชแก้บน ถือเป็นการบวชครั้งที่สองในชีวิต โดยได้จำวัด ที่วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นเวลา ๓ วัน จากนั้น จะไปจำวัดที่วัดมกุฏคีรีวัน อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา" นี่คือเหตุผลในการบวชพระ ครั้งที่สองของ ดร.สุวิทย์ คุณกิตติ อดีต รมว.ทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งบวช เมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๕๔๘ เวลา ๑๐.๐๐ น. ณ วัดบวรนิเวศวิหาร


ดร.สุวิทย์ กล่าวว่า หลักปฏิบัติ ด้วยการเจริญกรรมฐาน ต้องการฝึกให้อดทน เป็นการฝึกให้มีกุศลจิต ฝึกให้เกิดเมตตา ฝึกให้มีเมตตา เพื่อแผ่เมตตาให้ศัตรูเป็นมิตร ขจัดความอิจฉาริษยา จะไม่มีศัตรูในตัวเองอีกต่อไป ใครเป็นศัตรูก็ต้องแผ่เมตตาไปให้มาเป็นมิตร ผู้มีขันติธรรม ความอดทนสำคัญมากเป็นยารักษาโรคจิตดีที่สุด ความอดทน วิริยะความเพียร เป็นยาอันหนึ่งที่ทำให้เราอายุยืนได้เหมือนกัน สติปัญญาทำให้คนอายุยืนนั่นเอง


สำหรับเหตุการณ์เฉียดตายของสมาชิกในครอบครัวนั้น ดร.สุวิทย์ เล่าว่า ภรรยา (แหม่ม ลาวัณย์ คุณกิตติ) พาลูกๆ ไปต่างจังหวัด จังหวะที่เดินทางไปถึง จ.ลพบุรี เกิดอุบัติเหตุครั้งร้ายแรงขึ้น เมื่อโชเฟอร์เกิดหลับใน ทำให้รถยนต์ต้องหักหลบรถที่สวนขึ้นมา จากตรงนี้ทำให้รถเกิดเสียหลัก พุ่งลงข้างทางอย่างแรง ทันใดนั้นภรรยาก็ตะโกนเรียกชื่อหลวงพ่อโอภาสี และในจังหวะนั้นเองก็เหมือนมีถุงดำขนาดใหญ่มาครอบคนทั้งหมด ปรากฏว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นกลับไม่มีใครเป็นอะไรเลยแม้แต่คนเดียว


"ความรู้สึกของผมจริงๆ แม้ว่าเหตุการณ์ในวันนั้นผมไม่ได้ไปด้วย แต่ผมก็คิดว่า สิ่งที่ครอบครัวผมให้ความเคารพบูชา โดยเฉพาะหลวงพ่อโอภาสี เพื่อใช้เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ รวมทั้งพระเครื่ององค์อื่นๆ ผมก็คิดว่า สิ่งเหล่านี้เป็นเหมือนสิ่งสำคัญทางใจที่คนไทยเคารพนับถือกันแล้ว สิ่งที่ครอบครัวผมรอดตายมาได้ ก็เป็นภาวะปกติ ที่หลายคนได้เจอได้พบ แต่สิ่งเหล่านี้ก็เป็นความเชื่อของคนบางคนหรือบางกลุ่ม เป็นความเชื่อความศรัทธาที่ไม่ใช่เป็นเรื่องงมงาย" นี่เป็นความเชื่อของครอบครัวคุณกิตติ


นอกจากครอบครัวมีความศรัทธาต่อหลวงพ่อโอภาสีแล้ว ทุกคนในบ้านจะต้องท่องคาถาหลวงพ่อโอภาสีเป็นประจำตลอดมา เพราะย่าสอนให้ท่องมาตั้งแต่เป็นเด็ก คาถาที่ว่านี้คือ "อิติ สุคะโต อะระหัง พุทโธ นะโม พุทธายะ ปะฐะวีคงคา พระภุมมะเทวา ขะมามิหัง" ด้วยเหตุนี้ทำให้ทุกคนในบ้านสามารถท่องคาถานี้ได้ทั้งหมด และก่อนเดินทางออกจากบ้านไปไหนๆ ก็จะต้องท่องคาถานี้ทุกครั้ง


ทั้งนี้ ดร.สุวิทย์ เล่าประวัติหลวงพ่อโอภาสีให้ฟังด้วยว่า ระหว่างปี ๒๔๘๔-๒๔๘๕ ประชาชนในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัดพากันมาชุมนุมหน้าวัดบวรนิเวศวิหาร ดังจะมีงานใหญ่ บริเวณหน้าวัดไปจรดตลาดบางลำพู มีแต่ผู้คนเนืองแน่นไปหมด ซึ่งล้วนมารอนมัสการหลวงพ่อโอภาสีประกอบพิธีกรรมอย่างหนึ่งที่แตกต่างไปจากพิธีอื่นๆ นั่นคือ การเผาทรัพย์สินสิ่งของมีค่าทุกอย่าง รวมทั้งเงินทอง ท่ามกลางความตกตะลึงของผู้คน แต่หลวงพ่อจะนั่งสงบเยือกเย็นนิ่งเฉย


จากความพลุกพล่านของประชาชนภายในวัดบวรนิเวศวิหาร หลวงพ่อจึงได้ย้ายไปพำนักที่วัดพิชัย แต่ก็มียังมีญาติโยมบางคนติดตามไปนมัสการกันอีก จนหลวงพ่อมีความรู้สึกทำนองเกรงใจว่า จะเป็นที่รบกวนความสงบภายในวัด จึงได้ออกจาริกธุดงค์ เข้าไปอยู่ในสวนส้ม บางมด ละแวกบางขุนเทียน ซึ่งต่อมาก็กลายเป็นวัดหลวงพ่อโอภาสี เป็นจุดรวมศรัทธาของมหาชนอีกแห่งหนึ่ง


ดร.สุวิทย์ กล่าวถึง พระเครื่องที่แขวนติดตัวว่า มีอยู่ ๕ องค์ ประกอบด้วย พระนางพญางิ้วดำ ใส่แล้วเน้นไปทางเมตตามหานิยม โดยแม่ให้ไว้คุ้มครองตัวเองเมื่อครั้งไปเรียนต่อต่างประเทศ ระดับอุดมศึกษา สาขาเคมี ที่มหาวิทยาลัยเคนตักกี ปริญญาโท สาขาเคมี ที่มหาวิทยาลัยเคนตักกี นอกจากนี้ยังมีเหรียญหลวงพ่อโอภาสี โดยได้มาจากย่า พระสมเด็จจิตรลดา เหรียญสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และเหรียญ ร.๕ เป็นสิ่งที่ให้คุณค่าทางใจ อย่างน้อยก็เป็นสิริมงคลกับชีวิต


ในฐานะเป็นคนเรียนด้านวิทยาศาสตร์ ที่สอนว่า จะเชื่ออะไรต้องเหตุมีผล ทำให้มองความเชื่อเกี่ยวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ว่าเป็นสิ่งที่มองไม่เห็น ทำให้มองสิ่งนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องงมงาย ประกอบกับได้บรรพชาเป็นสามเณรและพระภิกษุมาแล้ว ก็ได้ศึกษาพระธรรมวินัย เนื่องจากพระภิกษุนวกะที่บวชใหม่จะต้องตั้งใจปฏิบัติธรรมอย่างเต็มที่ พร้อมให้ศึกษา นวโกวาท แล้วก็ตั้งใจทำ ตั้งใจปฏิบัติกิจวัตร ถ้าหากบวชแล้วไม่ทำอะไรเลย ก็จะทำให้เป็นบาป


สำหรับนิสัยเรื่องการทำบุญนั้น ดร.สุวิทย์ บอกว่า ในสมัยเด็ก ย่ามักจูงไปทำบุญที่วัดเป็นประจำ จากตรงนี้จึงเป็นสาเหตุให้จิตใจที่อยากจะทำบุญอยู่เป็นประจำ และเมื่อโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ ยิ่งได้เข้ามาเป็นผู้แทนราษฎร การทำบุญจึงเป็นกิจวัตรที่ต้องไปร่วมงานอย่างต่อเนื่อง เมื่อยามว่างจากงานวันไหนก็จะไปวัดทำบุญอย่างสม่ำเสมอ ความศรัทธาที่มีต่อการทำบุญก็จะทำเป็นแบบมีมากทำมาก มีน้อยทำน้อย

"ย่าสอนว่า การทำบุญจะได้บุญต้องทำด้วยใจ ไม่ได้ทำด้วยเงิน แต่ทำบุญแล้วต้องได้ความสบายใจ ทำแล้วไม่เดือดร้อน ทุกวันนี้ไปไหนมาไหนก็จะทำบุญตลอด ไปเลี้ยงเด็กกำพร้า เลี้ยงคนแก่ บริจาคเป็นทุนการศึกษา และย่าได้สอนให้ใช้หลักมัชฌิมาปฏิปทา หรือการเดินสายกลาง พอดีๆ ไม่มากไม่น้อยในทุกเรื่อง รักษาศีล มีใจเป็นทานปฏิบัติสมาธิและฝึกปัญญาให้มีสติ และสัมปชัญญะอยู่ทุกขณะ เพื่อเป็นเครื่องช่วยเตือนตัวเอง ไม่ให้นำเรื่องต่างๆ มาเป็นอารมณ์" ดร.สุวิทย์ กล่าวทิ้งท้าย