"ภิกษุณีเท็นซิน พัลโม" กับการก่อตั้ง...สำนักสามเณรี

"ภิกษุณีเท็นซิน พัลโม" กับการก่อตั้ง...สำนักสามเณรี

 

 

 

 


เรื่อง : สุทธิคุณ กองทอง   ภาพ :  ชวกรณ์  สะอาดเอี่ยม

 

"ภิกษุณีเท็นซิน พัลโม"

กับการก่อตั้ง...สำนักสามเณรี

 

 

สถานการณ์ปัจจุบัน ที่นักบวชหญิงมีบทบาทในการแก้ปัญหาปัญหาและสร้างสรรค์งานสังคมได้เป็นอย่างดี โดยที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่ามีนักบวชหญิงเกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ ภิกษุณี ธัมมนันทา เจ้าอาวาสวัตรทรงธรรมกัลยาณี จ.นครปฐม ภิกษุณีอัมพิกา คูวินิชกุล เจ้าอาวาสวัดโฝวกวงซัน กรุงเทพฯ ภิกษุณี ธรรมาจารย์จากเวียดนาม แม้ว่ามหาเถรสมาคมของไทยยังไม่เห็นชอบด้วยก็ตาม

 

ภิกษุณีเท็นซิน พัลโม วัย ๖๓ ปี เป็นนักบวชหญิงที่มีความสนใจเรื่องราวในซีกโลกตะวันออก การแสวงหาทางจิตวิญญาณ และการสร้างความสงบในจิตใจมาตั้งแต่ยังใช้ชื่อเดิมว่า ไดแอน เพอรี ในฐานะพลเมืองอังกฤษกระทั่งเริ่มรู้จักพุทธศาสนา และมีโอกาสพบกับ ท่านเชอเกียม ตรุงปะ ขณะที่อายุเพียง ๑๙ ปี จึงได้รับแรงบันดาลใจให้เดินทางไปค้นหาคุรุในประเทศอินเดีย

 

เมื่อเริ่มศึกษาพุทธศาสนาอย่างจริงจังในอินเดีย ท่านเท็นซินก็มีศรัทธาอันแรงกล้าจนตัดสินใจออกบวชเป็นแม่ชีชาวพุทธแบบธิเบตโดยสมบูรณ์จาก ท่านการ์มาปะ ประมุขของนิกายการ์จู เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๗ ขณะอายุได้ ๒๑ ปี และได้รับการตั้งฉายาใหม่จาก ท่านคัมตรุล รินโปเช ว่า ดรุปจู เท็นซิน พัลโม หมายถึง สตรีผู้ยิ่งใหญ่ ผู้สืบทอดคำสอนในการปฏิบัติธรรมอย่างแน่วแน่มั่นคง

 

ซึ่งท่านเท็นซินได้ดำเนินชีวิตอย่างสมถะเพื่อแสวงหาความจริงของชีวิต สมกับความหมายของฉายาใหม่อย่างแท้จริง เพราะหลังจากบวชเป็นภิกษุณีในนิกายมหายานที่ฮ่องกง เมื่อพ.ศ.๒๕๑๖ อีก ๖ ปีถัดมา ท่านได้ตั้งใจบำเพ็ญเพียรและปฏิบัติภาวนาอย่างสันโดษในถ้ำที่อยู่เหนือ ระดับน้ำทะเล ๑๓,๒๐๐ ฟุต อย่างต่อเนื่อง เป็นเวลานานถึง ๑๒ ปี ตลอดช่วงอายุ ๓๓-๔๕ ปี ซึ่งการใช้ชีวิตอย่างโดดเดี่ยวในระยะนี้ถือเป็นช่วงสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการพัฒนาทางจิตวิญญาณของท่านเส้นทางสายพุทธะของภิกษุณีเท็นซิน ทำให้ท่านประกาศคำสอนอันทรงคุณค่ามากมายด้วยความเชื่อได้ท่านได้ให้สัมภาษณ์ไว้ในจดหมายข่าว สารเพื่อนเสมว่า

 

“แม้เราจะใช้เวลานานนับศตวรรษอยู่ในสมาธิที่ดิ่งลึกเพียงไรก็ตาม ถ้าเราไม่นำปัญญาเข้ามาใช้ เราก็อาจกลายเป็นคนที่แย่กว่าเมื่อแรกปฏิบัติ ถ้าเราไม่พัฒนาสมาธิ การปฏิบัติใดๆ ก็จะไม่เกิดประสิทธิผลอย่างแท้จริง อะไรก็ตามที่เราทำด้วยจิตที่ไม่มีสมาธิ จิตที่วอกแวก คือขาดกำลัง ย่อมนำไปใช้ไม่ได้” ภิกษุณีเท็นซิน กล่าว

 

ดังนั้น การฝึกฝนตนเองด้วยวัตรปฏิบัติในสมาธิภาวนาจึงมีความสำคัญยิ่งต่อการค้นพบธรรมชาติเดิมแท้ของจิต และถึงแม้การปลีกวิเวกในถ้ำอย่างโดดเดี่ยวโดยไม่ติดต่อสนทนากับใครของท่านเท็นซิน จะไม่ใช่รูปแบบตายตัวที่ใช้ได้ผลสำหรับทุกคน แต่ถือเป็นประสบการณ์อันล้ำค่าที่ช่วยให้ได้เรียนรู้ที่จะจัดการกับทุกสภาวะที่เกิดขึ้นทั้งจากภายนอกและภายในตามลำพัง โดยเฉพาะการจัดการกับจิต

 

การปฏิบัติภาวนาในช่วงนั้นทำให้ท่านเท็นซินได้เรียนรู้ต้นกำเนิดของความคิดและอารมณ์ รู้ว่าเราทึกทักสิ่งเหล่านั้นเป็นตัวตนได้อย่างไร และที่สุดคือทำให้ท่านได้เรียนรู้ที่จะไม่ยึดติดกับสิ่งเหล่านั้น รวมถึงเรียนรู้ที่จะสลายความคิดและอารมณ์ต่างๆ เพื่อกลับเข้าสู่ภาวะของจิตไร้ขอบเขต ซึ่งเป็นพลังและคุณสมบัติที่แสนพิเศษของจิตวิญญาณ

 

ท่านเท็นซินไม่ได้เห็นด้วยกับการปฏิบัติภาวนาที่เคร่งครัดถึงขั้นสาหัสสากรรจ์ ท่านมักจะแนะนำให้เรามองการปลีกวิเวกและภาวนาเป็นภาวะที่น่าอภิรมย์ และน่าพึงใจ เพราะถ้าจิตมีความพอใจกับสิ่งที่กำลังกระทำ ย่อมทำให้จิตเข้าร่วมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับการปฏิบัตินั้นได้ง่าย

 

ตรงข้ามหากจิตถูกผลักดันมากเกินไปกลับทำให้เกิดอาการต่อต้านและเบื่อหน่าย คำสอนของท่านจึงเน้นย้ำให้เราปฏิบัติภาวนาอย่างเข้าใจข้อจำกัดและเมตตาต่อตนเอง เรียนรู้ที่จะใช้จิตในฐานะพันธมิตรเพื่อให้จิตปฏิบัติด้วยความเบิกบาน ไม่ผลักดันจนเกินขีดความสามารถ หรือรู้จักหยุดเมื่ออ่อนล้า ในขณะที่จิตยังยินดีอยู่กับประสบการณ์ที่ได้รับในขณะนั้น ซึ่งจะเป็นแรงบันดาลใจให้จิตเกิดความกระตือรือร้นที่จะปฏิบัติในครั้งต่อไป และโน้มนำไปสู่ความต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญในการภาวนาเพื่อค้นหาความจริงแห่งชีวิตที่ว่านี้

 

ประเด็นนี้เองที่ทำให้พุทธศาสนาพิเศษกว่าทุกศาสนาในความคิดเห็นของท่านเท็นซินเพราะในขณะที่ทุกศาสนามีข้อปฏิบัติด้านจริยธรรมที่คล้ายคลึงกัน สอนให้เราไม่เบียดเบียนทำร้ายผู้อื่น และเป็นคนดีเหมือนๆ กัน แต่พุทธศาสนาไม่ได้มีเพียงคำสอนให้เรารักผู้อื่นประดุจรักตัวเองเท่านั้น หากยังสอนให้เรารู้ว่าจะทำอย่างไร และยังสอนวิธีบ่มเพาะให้เกิดความเมตตากรุณาอีกด้วย

 

นอกเหนือจากการประกาศคำสอนที่เป็นแรงบันดาลใจทั้งต่ออุบาสก อุบาสิกา นักบวช และผู้แสวงหาหนทางอันประเสริฐทั่วโลกแล้ว ท่านเท็นซินยังมีบทบาทสำคัญในการแสดงจุดยืนเรื่องการกีดกันสตรีในพุทธศาสนา และพยายามเคลื่อนไหวเพื่อให้ผู้หญิงได้รับโอกาสในการปฏิบัติธรรมอย่างเสมอภาคกับเพศชาย

การดำเนินงานครั้งสำคัญของท่านคือ ก่อตั้งโครงการสามเณรีอารามด็องจู กาทซาล ลิง ที่ประเทศอินเดีย ตามคำขอร้องของท่านคัมตรุลรินโปเช ประมุขลามะแห่งวัดคามพาการ์ สำนักสามเณรีแห่งนี้ จะทำการฝึกสอนตามแบบแผนโยคสาธนาที่ได้รับการถ่ายทอด ผ่านทางลูกศิษย์ของ มิลาเรปะคือ เรชุงปะ ซึ่งเป็นการปฏิบัติที่กว้างขวางลุ่มลึก โดยมีส่วนหนึ่งสำหรับผู้หญิงโดยเฉพาะ และเคยหลงเหลืออยู่บ้างใน วัดคามพาการ์ แต่ถูกกวาดล้างไปจนหมดในระหว่างการปฏิวัติวัฒนธรรม และในช่วงที่จีนเข้ายึดครองธิเบต

 

ปัจจุบัน จึงมีลามะที่สืบทอดการปฏิบัติสายนี้หลงเหลือเพียง ๒ รูปเท่านั้น การตั้งสำนักสามเณรีจึงเป็นการถ่ายทอดสายสัมพันธ์อันทรงคุณค่ายิ่งของการฝึกฝนสามเณรีแบบโยคีในสายการปฏิบัติของดรุกปะ การ์จู เพื่อไม่ให้สูญสลายไปและพร้อมๆ กับการก่อตั้งสำนักสามเณรี ท่านเท็นซินยังได้ก่อตั้งอาศรมสตรีนานาชาติเพื่อให้ผู้หญิงจากที่ต่างๆทั่วโลกสามารถเข้ารับการฝึกสมาธิภายใต้สภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการปฏิบัติ และไม่ปิดกั้นเพศชาย เพราะมีเรือนรับรองแขกให้ผู้ชายเข้าพักเพื่อศึกษาธรรมด้วย

 

ดังนั้น สำนักสามเณรีแห่งนี้จึงไม่เพียงเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมที่เหมาะสมสำหรับสตรีจากธิเบตและเขตชายแดนของหิมาลัยเท่านั้น แต่ยังเป็นดินแดนแห่งการพัฒนาศักยภาพทางจิตวิญญาณและทางสติปัญญาผ่านการฝึกอบรมที่สมดุลทั้งการศึกษาปริยัติ เจริญภาวนาและการบำเพ็ญประโยชน์ ซึ่งถือเป็นการจุดประกายให้โอกาสในการเข้าถึงและปฏิบัติธรรมของเพศหญิงทั้งในปัจจุบันและอนาคตงอกงามขึ้นอีกด้วย