นุ เพชรรัตน์ "เป็นเซียนพระเพราะ...ถูกพระหลอก"
เรื่อง : สุทธิคุณ กองทอง ภาพ : ชวกรณ์ สะอาดเอี่ยม
นุ เพชรรัตน์
"เป็นเซียนพระเพราะ...ถูกพระหลอก"
"อย่าทำตนไถพระเขาฟรี อย่าอวดดีอย่างคางคก อย่าฟูมฟกเมื่อเจอพระเก๊ อย่าทำเก๋ชักดาบเขา อย่ามัวเมาเล่นจนหลง อย่าพะวงพระลาวตกรถ อย่าใจคดทุบหม้อข้าว อย่าเช่าพระใกล้พลบค่ำ อย่าลูบคลำพระถูเหงื่อ อย่าเชื่อหูแต่จงเชื่อตา"
นุ เพชรรัตน์ บอกว่า ถ้าคิดจะเล่นพระใจต้องกว้าง กินเลือดต้องเป็น เจ็บแล้วต้องจำ ผิดแล้วต้องจำ ผิดแล้วต้องกินเลือดคือ ซื้อพระผิดต้องรับเก็บไว้เป็นเกลียวใจ ย้อนไปชีวิตเริ่มเข้าสู่วงการพระเครื่องจากที่ได้ตามน้องๆ ไปเล่นพระเป็นประจำ เนื่องจากลึกในใจเป็นคนที่ชอบพระเครื่องอยู่แล้ว โดยก่อนหน้านั้นชอบสะสมเหรียญกษาปณ์เห็นเค้าซื้อเราก็ซื้อตาม วันนี้มีเหรียญเสด็จพ่อ ร.๕ เป็นพันๆ เหรียญ ประกอบกับพ่อเป็นเซียนพระอยู่จ.กาญจนบุรี พ่อก็ไม่อยากให้ลูกเล่นพระ เพราะท่านบอกว่าวงการพระหากไม่เข้าใจอาจถูกหลอกลวงกันได้ ท่านกลัวว่าลูกจะตาไม่ถึงจึงไม่อยากให้เข้ามาเล่นพระ
แม้ว่าพ่อจะพร่ำสอน แต่ก็ต้องเจอกับบทเรียนที่ไม่มีวันลืม เมื่อวันหนึ่งมีเพื่อนเอาพระมาฝากหรือเรียกจำนำไว้ก็ไม่ผิดเพื่อเอาเงินไปลงทะเบียนเรียน แล้วพระองค์นี้เพื่อนก็บอกว่าเป็นพระที่ตรวจสอบมาแล้วว่าเป็นพระแท้ พอรู้ถึงหูเพื่อนๆต่างก็จะมาขอเช่าต่อ เราให้ไม่ได้เพราะเจ้าของเอามาจำนำไว้ หลังจากนั้นเจ้าของพระที่เอาเงินไปแล้วเขาก็เลยบอกยกพระองค์นี้ให้
จากนั้นไม่นานมีเพื่อนที่เป็นพระสงฆ์รูปหนึ่งที่เล่นพระเหมือนกัน อยากได้พระองค์นี้เช่นกัน ในที่สุดกลัวเสียเพื่อนจึงให้พระกับเพื่อนที่เป็นพระไป แต่เพื่อนคนนี้เลยให้พระสมเด็จวัดปากน้ำ รุ่น ๗ กลับมาแขวนติดตัวถือว่าเป็นพระที่พระให้มา กระทั่งกลับบ้านที่เมืองกาญฯ ได้คุยกับเพื่อนๆ ที่เป็นเซียนพระเขาเลยหยิบพระองค์นี้ขึ้นมาดูพร้อมพระกำแพงที่อยู่ในพวงเดียวกัน เพื่อนๆบอกตรงกันว่า พระเก๊ แล้วสมัยนั้นเขาเรียกคนที่ทำพระรุ่นนี้ไว้ว่า พระอุบาต พอได้ยินเช่นนั้นมีความรู้สึกน้อยใจว่าทำไมถึงมาหลอกกันได้ทั้งที่เราเจตนาดี นับตั้งแต่วันนั้นจึงตั้งใจศึกษาค้นคว้าพระเครื่องอย่างจริงจังมาจนกลายเป็นเซียนพระไปโดยปริยาย
นุ เพชรรัตน์ แนะนำว่า ครั้งแรกที่ศึกษาพระเรียกว่าข้ามขั้นตอนของการศึกษาพระเครื่อง เพราะเริ่มศึกษาการสร้างพระสมเด็จวัดปากน้ำ ตามความเป็นจริงการจะเป็นเซียนพระได้ต้องเริ่มจากการศึกษาเหรียญพระเกจิอาจารย์ไปก่อน ส่วนผลจากที่ได้เรียนรู้ศึกษาพระเครื่องจึงได้โลห์รางวัลมากมาย พระเครื่องที่สะสมทั้งหมดบอกได้เลยว่าเกิดจากความศรัทธาและใจชอบ
จากที่ได้ศึกษาพระเรื่อยมาจึงได้มีโอกาสสะสมพระทองคำ เช่น หลวงพ่อเอีย วัดบ้านด่าน พระกริ่งทิ้งทวน หลวงพ่อคูณ หลวงปู่ทวด สก. เจ้าคุณนรฯ หลวงปู่โต๊ะ หลวงพ่อหลิว ตะกรุดของพระเกจิอาจารย์ชื่อดังมากมาย หรือปัจจุบันมีอาชีพค้าขายจึงชอบพระหลวงพ่อเต๋ แท้จริงแล้วหลวงพ่อเต๋นอกจากจะมีพุทธคุณคงกระพันชาตรี คลาดแคล้ว ทำคุณไสย์ได้แล้ว ท่านยังเมตตามหานิยมด้านค้าขาย
ส่วนพระปทุมมาศ (ที่แปลว่า ดอกบัว) พระปทุมมาศ ถือว่าเป็นพระตำนานองค์หนึ่ง ที่หาชมของแท้ๆ ได้ยากมาก เป็นพระเนื้อชินเงิน เช่นเดียวกับ พระมเหศวร ความหายากนั้น คนรุ่นเก่าเล่าให้ฟังว่า หาพระมเหศวรหลายสิบองค์ ยังหาง่ายกว่าหาพระผงสุพรรณสักองค์ แต่ถ้าจะให้หาพระปทุมมาศสักองค์ ให้หาพระผงสุพรรณสักยี่สิบองค์ดีกว่า แสดงว่า พระปทุมมาศนั้นหาดูกันยากมาก มานมนานแล้ว ราคาว่ากันเป็นหมื่นเป็นแสน และพระเครื่องที่แขวนติดตัวประจำคือ พระตระกูลท่ากระดาน เขาเรียกว่า พระอู่ทอง พิมพ์ยอดขุนพล เนื้อตะกั่วสนิมแดง กรุท่าเสา จ.กาญจนบุรี ลูกอม หลวงปู่เอี่ยม วัดสะพานสูง เหรียญ จปร. พระราชทานสมัย ร.๕ พระพิฆเนศ พระกำแพง
อย่างไรก็ตาม นุ เพชรรัตน์ ยอมรับว่า สมัยเป็นนักเรียนค่อนข้างจะเป็นคนเกเร พ่อจึงให้พระเครื่องแขวนติดตัว เชื่อไหมว่าช่วงนั้นเป็นอะไรไม่รู้ชอบมีเรื่องวิวาทกับกลุ่มวัยรุ่นเหมือนในสมัยนี้ไม่มีผิด กระทั่งวันหนึ่งหลังกลับจากไปงานวันเกิดเพื่อนได้มีเรื่องมีราวเกิดขึ้นตำรวจก็ตามไล่จับ จำได้ว่าวันนั้นตนเองกับเพื่อนอีก ๗ คน ได้เข้าไปหลบอยู่หลังต้นกล้วย ๓ ต้น ขณะนั้นใจก็คิดอยู่ว่าจะทำอย่างไรคงไม่มีใครช่วยเราได้ ตำรวจสายตรวจได้ขับรถผ่านแล้วเอาไฟฉายส่องมายังต้นกล้วยทั้ง ๓ ต้น ทันใดนั้นก็ได้อาราธนาพระเครื่องที่แขวนติดตัว ขอท่านว่าหลวงพ่อช่วยลูกด้วย ลูกก็ไม่ใช่ว่าเลวร้ายอะไร พ่ออย่าให้ตำรวจเห็นพวกลูกๆเลย เชื่อไหมว่าตำรวจขับรถวนไปมาตรงนั้นประมาณสามรอบก็ไม่เห็นพวกเราที่หลบอยู่ตรงต้นแล้วเลย
"เหตุการณ์ในวันนั้นไม่น่าเป็นเรื่องบังเอิญอะไร แต่เป็นเรื่องแปลกอย่างมากที่ทำให้ผมเชื่อในเรื่องของพุทธคุณพระเครื่อง ส่วนในเรื่องของประสบการณ์แบบเฉียดตายจากการแขวนพระเครื่อง ตรงนี้บอกได้เลยว่าไม่เคยมีเลย จะมีแต่คนรักมากกว่า เพราะว่าถ้าคนเราแขวนพระคิดดี ทำดี พระเครื่องที่เราแขวนก็จะช่วยส่งเสริมเราให้ได้พบแต่สิ่งที่ดีๆ หากบางครั้งเราคิดจะทำชั่วพระก็จะเป็นเครื่องเตือนสติให้เราละอายใจ" เซียนนุ กล่าวทิ้งท้าย
"คนเราแขวนพระคิดดี ทำดี พระเครื่องที่เราแขวนก็จะช่วยส่งเสริมเราให้ได้พบแต่สิ่งที่ดีๆ "
นี่เป็นบัญญัติ ๑๐ ประการ ในการเป็นเซียนพระของ "นายนิพนธิ์ เฮงเส็ง" หรือเจ้าของฉายา "นุ เพชรรัตน์" เซียนพระเครื่องชื่อดัง ชมรมพระเครื่องมรดกไทย ชั้น ๓ ห้างพันธุ์ทิพย์พลาซ่า สาขา งามวงศ์วาน