"ช่วยคนตกทุกข์ก็สุขได้" คุณหญิงชัชนี จาติกวณิช
เรื่อง : สุทธิคุณ กองทอง ภาพ : ชาญณรงค์ พรดิลกรัตน์
"ช่วยคนตกทุกข์ก็สุขได้"
คุณหญิงชัชนี จาติกวณิช
"...ขอให้ลูกมีสติคิดอยู่เสมอว่า จะอดออมเงินทองไว้เป็นหลักประกันชีวิตและครอบครัว เพื่อเลี้ยงครอบครัวให้เป็นสุข เมื่อมีเหลือแล้วจะเฉลี่ยเจือจานช่วยเหลือคนอื่นตามสมควร ลูกคิดได้อย่างนี้ก็จะได้ประโยชน์จากเงินทองที่อดออมไว้อย่างเต็มที่ รวยแล้วอย่าลืมตัวนะลูก..."
นี่เป็นส่วนหนึ่งของข้อเขียนจากหนังสือ "คำพ่อ คำแม่" ของพระธรรมกิตติวงศ์(ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙ ราชบัณฑิต ที่ คุณหญิงชัชนี จาติกวณิช ประธานชมรม OPPY (Old People Playing Young Club) ได้นำมาตีพิมพ์เพื่อแจกเผยแผ่ต่อสังคม
"รวยแล้วอย่าลืมตัว" ประโยคนี้เป็นสิ่งคุณหญิงที่ชัชนีอยากให้เกิดขึ้นในสังคมไทย พร้อมกับอธิบายให้ฟังว่า การอดออมเป็นความดี เริ่มต้นที่คนซึ่งกำลังจะสร้างฐานะต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด อดออมได้มากก็จะมีเหลือมากเหลือมากเท่าไรก็จะสร้างฐานะได้เร็วขึ้นเท่านั้น เมื่อต้องการตั้งตัวก็ต้องเริ่มที่อดออมก่อน อย่าสุรุ่ยสุร่ายฟุ่มเฟือย รู้จักกินรู้จักใช้ กินใช้แต่พอดี ทำได้ก็ตั้งตัวได้
ขอเตือนไว้ล่วงหน้าว่าเมื่ออดออมจนสร้างฐานะได้พอสมควรแล้วต้องระวังตัวไว้อย่างหนึ่ง คือ ทรัพย์สินเงินทองที่อดออมไว้จนทำให้ฐานะลูกดีขึ้นแล้วนั้นอาจทำให้ลูกลืมตัวเผลอใจหลงไหลได้ปลื้มกับเงินทองทรัพย์สินเหล่านั้นจนกลายเป็นคนตระหนี่เห็นแก่ตัวได้ ทำให้กลายเป็นคนกระด้าง หยิ่งยโส คิดใหญ่ใฝ่สูงทะเยอทะยาน หรือเที่ยวข่มเหงรังแกคนอื่นโดยคิดว่าตัวเองมีเงินมีทองจะทำอะไรตามใจชอบก็ได้ เพราะเงินทองเป็นดาบสองคมอยู่ให้คุณก็ได้ให้โทษก็ได้
ส่วนความเชื่อเรื่องบาปบุญนั้น คุณหญิงชัชนี บอกว่า บาปบุญเป็นเรื่องของกฎแห่งกรรม ที่ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา วันหนึ่งเราทำความดีอะไรเอาไว้กรรมดีก็สนองกลับมาหาเรา ในทางกลับกันใครที่ทำความชั่วเอาไว้วันหนึ่งกรรมชั่วก็จะตอบสนองกลับมาหาเราไม่ช้าก็เร็ว เพราะว่าแม่เคยท่องให้ฟังบ่อยๆ ว่าทำกรรมใดเล่า เหมือนเงาตามตน แม้สร้างกุศลเหมือนกันแหละนาย ท่านก็ท่องให้ฟังตั้งแต่เป็นเด็กเราก็จำเอาไว้เตือนตัวเองตลอดมา
"ดิฉันยกมือพนมขึ้นเหนืออก ตั้งจิตอธิฐานต่อองค์พระพุทธรูปประจำบ้าน แวบหนึ่งคิดถึงภาพคุณแม่ที่มักสวดมนต์ไหว้พระจนเจนตา นึกเข้าใจใบหน้าอิ่มเอมและคำพูดของท่านที่เคยบอกเสมอว่า ไม่ได้เคารพเพื่อร้องขอ แต่เพื่อขอบพระคุณ ดิฉันหลับตาพลางภาวนาในใจว่า อายุยืนนานนับร้อยปี ทรัพย์สินมากมายไม่สำคัญหรอกค่ะ ดิฉันขอบพระคุณสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายเหลือเกิน ที่เมตตาให้มีบุญ ได้รับแต่สิ่งดีงามในชีวิต ตั้งแต่เกิดจนถึงบั้นปลาย" คุณหญิงชัชนีกล่าว
อย่างไรก็ตาม ด้วยเหตุที่คุณหญิงชัชนีกับสามี(ดร.เกษม จาติกวณิช) เป็นคนค่อนข้างเชื่อมั่นในตัวเองสูง ประกอบกับเป็นคนใจร้อน นั่งสวดมนต์นานๆ เป็นต้องแพ้สังขารตัวเอง จึงเป็นที่มาไม่ค่อยได้เข้าวัดทำบุญเหมือนชาวพุทธทั่วๆ แต่จะทำบุญให้กับวัดที่คิดว่าน่าจะพัฒนา หรือมีคนมาบอกบุญเราก็จะช่วยทำบุญกันไป รวมทั้งจะช่วยเหลือคนที่ตกทุกข์ได้ยากมากกว่า เพราะเราเห็นว่าคนที่ตกทุกข์แล้วได้เข้าไปช่วยเหลือก็เป็นการคลายความทุกข์ให้กับพวกเขาได้
ขณะเดียวกันคุณหญิงชัชนี ยังให้มุมมองเกี่ยวกับพระเครื่องเอาไว้อย่างน่าฟังว่า แม้ตนเองจะไม่ได้แขวนพระเครื่องก็ไม่เคยลบหลู่ เนื่องจากไม่ทราบว่าเรื่องปาฏิหาริย์มีจริงหรือไม่ สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่เราไม่สามารถพิสูจน์ให้กระจ่างว่าแท้จริงมันคืออะไร ส่วนเรื่องที่เกิดขึ้นไม่ทราบว่าเป็นปาฏิหาริย์หรือเป็นความบังเอิญ เมื่อครั้งทำห้องพระที่บ้านย่านบางนา-ตราด กม.๑๖ แล้วมีช่างสถาปนิกได้วาดภาพพระปางป่าเลไลย์ เพื่อให้เข้ากับพระพุทธรูปที่จะนำมาบูชา แล้ววันหนึ่งก็ได้พระพุทธรูปปางป่าเลไลย์องค์นี้มาบูชาแล้ววางพอดีกับภาพที่วาดเอาไว้
สำหรับที่มาของพระพุทธรูปปางป่าเลไลย์องค์นี้ คุณหญิงรัชชนี เล่าว่า ได้มาจากการการก่อสร้างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยย่านบางกรวย จ.นนทบุรี บริเวณนั้นเป็นสวนมะพร้าวต้นใหญ่เป็นจำนวนมา เมื่อตัดแล้วก็ต้องเกลี่ยเพื่อให้พื้นเรียบ ระหว่างที่เกลี่ยอยู่นั้นคนงานก็พบพระพุทธรูปปางนี้ เป็นเรื่องแปลกที่พระองค์นี้มาอยู่ตรงนี้ได้อย่างไร แล้วไม่รู้ว่าจะนำพระองค์นี้ไปเก็บไว้ที่ไหน ดังนั้น คนงานก็เลยนำมาให้ตนเองเอามาบูชานั่นเอง ไม่รู้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องปาฏิหาริย์หรือไม่ แต่เป็นเรื่องแปลกที่เกิดกับตัวเอง
ประวัติพระปางนี้มีเรื่องราวประวัติความเป็นมาว่า สมัยหนึ่ง พระพุทธองค์ประทับอยู่ที่เมืองโกสัมพี พระภิกษูชาวเมืองโกสัมพีสองพวก คือกลุ่มพระธรรมกถึก ที่เคร่งครัดในธรรม ตามพระสูตร และกลุ่มพระวินัยธร ผู้ยึดถือเอาพระวินัย เป็นหลักในการประพฤติ เกิดการทะเลาะเบาะแว้งกัน ในเรื่องอาบัติเล็กๆน้อยๆ แม้พระพุทธองค์ทรงตรัสห้าม ถึงสามวาระ ก็ไม่มีพระภิกษุรูปไหนยอมเชื่อฟัง เพื่อจะกำราบ จึงเสด็จหลีกไปจำพรรษา ในป่ารักขิตวัน ใกล้หมู่บ้านปาลิไลยกะ
ในป่านั้นเอง มีพญาช้างสารเชือกหนึ่ง ซึ่งเป็นช้างฉลาด รู้ภาษามนุษย์ มีบริวารมาก บรรดาช้างพัง ต่างคอยเบียดเสียดแย่งอาหาร เวลาจะดื่มน้ำ ก็ได้ดื่มแต่น้ำขุ่นๆ จึงเกิดความเบื่อหน่ายในโขลง หลีกหนีไปอยู่ในราวป่า และไปเจอพระพุทธองค์ ได้เข้าไปงอเข่าถวายบังคม และคอยปรนนิบัติรับใช้ทุกอย่าง ยากที่บุคคลสามัญจะทำได้
เช่น กระทืบควงไม้สาละใหญ่ ถากให้เรียบ ใช้งวงกวาดพื้นให้เรียบ และใช้งวงตักหม้อน้ำฉัน หม้อน้ำใช้ ไปตั้งไว้ ถ้าพระองค์ประสงค์น้ำร้อนก็จัดถวาย โดยการสีไม้แห้งให้เกิดไฟ แล้วใส่ฟืนให้ไฟลุกขึ้น เผาก้อนหินในกองไฟ แล้วทิ้งก้อนหินลงในบ่อน้ำเล็กๆ ที่เตรียมไว้ แล้วหย่อนงวงลงไป พอรู้ว่าน้ำร้อนแล้ว จึงไปเฝ้าพระพุทธองค์ พระองค์ทรงทราบด้วยกิริยาอาการเช่นนั้น ก็เสด็จไปสรงน้ำในที่นั้นเวลาเช้า จะใช้งวงจับท่อนไม้ รับบาตรจีวร ตามเสด็จจนถึงเข้าเขตหมู่บ้าน
"มีพระ มีเหรียญ มีแหวน ผ้ายันต์ หรือวัตถุมงคลอื่นๆ ไว้กราบไหว้บูชาเป็นร้อยๆ พันๆ นั่นเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ปลุกปลอบเพิ่มพูนกำลังใจ มัวหลงใหลอ้อนวอนขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ โดยไม่คิดที่จะทำงานทำการ ก็อย่าหวังเลยว่าจะประสบ ความสำเร็จสมดังปรารถนา เพราะความสำเร็จอยู่ที่การกระทำ ไม่ใช่อยู่ที่คำอ้อนวอน นี่เป็นสัจธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า" นี่คือหลักธรรมของหลวงปู่ธัมมา พิทักษา ที่คุณหญิงชัชนีจำได้อย่างแม่นยำและยึดปฏิบัติตลอดมา
"ดิฉันหลับตาพลางภาวนาในใจว่า อายุยืนนานนับร้อยปี ทรัพย์สินมากมายไม่สำคัญหรอกค่ะ ดิฉันขอบพระคุณสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายเหลือเกิน ที่เมตตาให้มีบุญ ได้รับแต่สิ่งดีงามในชีวิต ตั้งแต่เกิดจนถึงบั้นปลาย"