ทายาทกลุ่ม บมจ. เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น ดร.สายศิริ ศิริวิริยะกุล ยึดคำสอนพ่อ “รู้จักการให้อภัย และให้โอกาสคน”

ทายาทกลุ่ม บมจ. เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น ดร.สายศิริ ศิริวิริยะกุล ยึดคำสอนพ่อ “รู้จักการให้อภัย และให้โอกาสคน”

 

 

 

 

 

 

 

 

CHANGE Inspiration เรื่อง : สุทธิคุณ กองทอง ภาพ : ชวกรณ์ สะอาดเอี่ยม


ทายาทกลุ่ม บมจ. เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น
ดร.สายศิริ ศิริวิริยะกุล
ยึดคำสอนพ่อ “รู้จักการให้อภัย และให้โอกาสคน”


เปิดชีวิตนักบริหารหญิงคนเก่งดีกรีเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง “ดร.สายศิริ ศิริวิริยะกุล” ทายาทโรงงานน้ำตาลรายใหญ่ของไทย ที่มีกำลังผลิตโรงเดี่ยวอันดับหนึ่งของโลก มีหลักบริหารงานแบบ “ใจแลกใจ” และยึดคำสอนพ่อ “รู้จักการให้อภัย และให้โอกาสคน”

 

ดร.สายศิริ ศิริวิริยะกุล หรือ ดร.โจ้ ผู้อำนวยการฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์และการสื่อสารองค์กร บริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ กลุ่มเคทิส (KTIS Group) ทายาทรุ่นที่ 4 ของธุรกิจครอบครัว เป็นบุตร นายแพทย์ประสงค์ ศิริวิริยะกุล รองศาสตราจารย์ประจำภาควิชาสรีรวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอาจารย์ศิริรักษ์ ศิริวิริยะกุล รองอธิการบดีฝ่ายนโยบายและแผน มหาวิทยาลัยเจ้าพระยา และที่ปรึกษา บริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เรียกได้ว่า ครอบครัวคือผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของเธอ


//เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง
ดร.สายศิริ มีพี่น้องสามใบเถา โดยเธอเป็นลูกสาวคนโต ในครอบครัวที่อบอุ่น เป็นที่มาให้อยากเป็นคุณหมอเหมือนกับคุณพ่อ หรือไม่ก็เป็นอาจารย์เหมือนกับคุณแม่ แต่ด้วยความที่ทางบ้านมีธุรกิจหลักคือโรงงานน้ำตาล ปัจจุบันในนาม กลุ่ม บริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ กลุ่มเคทิส(KTIS Group) ประกอบกับ การเป็นลูกสาวคนโตของครอบครัวและเป็นหลานคนแรกๆของตระกูล ทำให้คิดว่าต้องสานต่อธุรกิจของครอบครัว ช่วงเรียนมัธยมปลายจึงเลือกเรียนสายวิทย์ และเลือกเรียนด้านกฎหมายในระดับปริญญาตรี คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สาขากฎหมายธุรกิจ และจบการศึกษาด้วยผลการเรียนที่ดีเยี่ยม ได้เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง


“ก่อนเข้ามหาวิทยาลัยคุณพ่อคุณแม่พาไปดูโรงงานน้ำตาลกับมหาวิทยาลัยเจ้าพระยาที่กำลังสร้าง จำได้ว่าตอนนั้นก็ยังเด็กมาก ท่านทั้งสองพยายามอธิบายให้เราเข้าใจว่าเรามีอะไรตรงนี้ สิ่งตรงนี้มีคุณค่าต่อสังคมและชุมชนอย่างไรบ้าง ตอนนั้นคิดว่าถ้าไปเป็นหมอจะสามารถช่วยโรงงานน้ำตาลได้เท่าไหร่ ทำให้เลือกเรียนนิติศาสตร์ที่สามารถนำมาปรับใช้กับบริษัทได้


“ตรงนี้อยากจะบอกน้องๆรุ่นใหม่ด้วยว่า การเรียนเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าเราตั้งใจจริงในวันนี้ จะเกิดประโยชน์กับตัวเรา อย่างน้อยที่สุดที่น้องๆจะได้คือ การมีระเบียบวินัยในชีวิต เพราะสิ่งเหล่านี้ค่อนข้างจะขาดหายไปจากสังคมเรา ไม่ว่าจะเป็นความรับผิดชอบต่อตัวเอง ต่อสังคม และประเทศชาติที่น้อยลง


“ส่วนคุณพ่อคุณแม่ก็เลี้ยงมาแบบสบายๆ ให้แนวคิดดีๆกับชีวิต พ่อจะสอนว่าให้รู้จักการมีเมตตา มีธรรมะ รู้จักการให้อภัย และให้โอกาสคน ส่วนคุณแม่จะเป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจกับโจ้ ที่จะให้เราไปสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนอื่น ที่ผ่านมาเราไม่ได้เกิดมาลำบากเหมือนคนอื่น เพราะฉะนั้นถ้าเรามีความพร้อมประมาณหนึ่งแล้ว ถ้าเราเป็นผู้ให้ได้ก็ควรให้ เพราะอาจจะไปเปลี่ยนชีวิตของคนเหล่านั้นได้ มันเหมือนเป็นการเติมเต็มชีวิต ทำให้ชีวิตเรามีคุณค่า เป็นพลังใจให้กับเราได้มากขึ้นจริงๆ”


//เข้าใจชีวิต...เพราะวิกฤตชีวิต

หลังจบปริญญาตรี ดร.สายศิริได้ช่วยงานของที่บ้านระยะหนึ่ง ก่อนเดินทางไปศึกษาต่อที่ University of Illinois ประเทศสหรัฐอเมริกา ทั้งในระดับปริญญาโทและเอกเป็นเวลา 4 ปี ซึ่งการจากบ้านเกิดไปในคราวนั้นต้องมีการปรับตัวเองเป็นอย่างมาก ทั้งเรื่องของภาษา การเรียน และการใช้ชีวิต


“ชีวิตอยู่เมืองนอกต้องปรับเปลี่ยนชีวิตอย่างมาก แม้ว่าตอนอยู่เมืองไทยจะเป็นเหมือนคุณหนู พออยู่ที่โน่นคนเดียวไม่มีใครมาดูแล เราต้องกวาดบ้าน เก็บขยะเอง เดินทางไปไหนด้วยเท้า เพราะที่บ้านจะไม่ซื้อรถให้ เป็นการฝึกให้อยู่ได้ด้วยตัวเอง กระทั่งมีอยู่ครั้งหนึ่งที่บ้านลืมส่งเงินให้หรือเปล่าไม่รู้ (หัวเราะ) ลืมส่งให้ถึงสามเดือน ตอนนั้นถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ในชีวิตจากที่ไม่เคยลำบากเลย พอไม่มีเงินก็ทำให้ต้องปรับเปลี่ยนตารางชีวิต ต้องประหยัด แล้วหางานทำ ทำให้ได้รู้จักคุณค่าของเงิน รู้จักคุณค่าในสิ่งที่เรามี เพราะคนมักจะเห็นคุณค่าสิ่งที่เรามีตอนไม่มี แต่โจ้ถือว่าโชคดีที่กลับได้มามีวันนี้อีกครั้งหนึ่ง (หัวเราะ) จากตรงนั้นกลายเป็นจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ในชีวิต โดยเฉพาะระเบียบของการใช้เงิน ความเป็นอยู่ และทัศนคติต่างๆในการมองคนอื่น และทำให้เรารอบคอบ รู้จักการวางตัวกับเพื่อน รวมถึงพี่น้องๆ ทำให้เข้าใจทั้งคนและสถานการณ์ และเข้าใจโลกมากขึ้น” เล่าด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้ม


//โรงน้ำตาลใหญ่อันดับหนึ่งของโลก

ปัจจุบันอุตสาหกรรมน้ำตาลในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์เติบโตขึ้น และสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้กับเกษตรกรในพื้นที่ โดยในปี 2556 ซูมิโตโม คอร์ปอเรชั่น บริษัทเทรดดิ้งชั้นนำระดับโลก และนิสชิน ชูการ์ ผู้ผลิตน้ำตาลรีไฟน์รายใหญ่อันดับ 2 ของญี่ปุ่น เล็งเห็นถึงศักยภาพของกลุ่ม KTIS ได้ตัดสินใจลงนามในบันทึกข้อตกลง (MOU) เพื่อเข้ามาถือหุ้นในกลุ่ม KTIS ก่อนที่หุ้น KTIS จะเข้าเทรดในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย


ทั้งนี้ โรงงานน้ำตาล 1 ใน 3 แห่งของกลุ่ม KTIS มีกำลังการผลิต 55,000 ตันอ้อยต่อวัน ถือเป็นโรงงานน้ำตาลที่มีกำลังการผลิตที่ใหญ่ที่สุดในโลก พร้อมทั้งมีการขยายธุรกิจอุตสาหกรรมต่อเนื่องแบบครบวงจร โดยใช้วัตถุดิบในการผลิตและจำหน่ายเอทานอลจากกากน้ำตาลที่ได้จากกระบวนการผลิตน้ำตาล ป้อนให้กับผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่ของไทย เช่น ปตท. ไทยออยล์ บางจาก ฯลฯ ขณะเดียวกัน ชานอ้อย ที่ได้จากกระบวนการผลิตน้ำตาลนั้น สามารถนำมาผลิตเยื่อกระดาษฟอกขาว ซึ่งลูกค้าหลักส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมกระดาษ และอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์อาหาร อย่างไรก็ตามคุณสมบัติพิเศษของเยื่อกระดาษฟอกขาวนั้นนอกจากจะนำมาใช้งานได้แล้ว ยังสามารถนำมารับประทานได้อีกด้วย ขณะเดียวกันยังสามารถนำมาผลิตไฟฟ้าใช้เองภายในโรงงานน้ำตาล และขายไฟฟ้าส่วนที่เหลือให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค รวมทั้งยังนำน้ำกากส่ามาทำสารปรับปรุงดินชีวภาพได้อีกด้วย


“เมื่อก่อน วัตถุดิบบางอย่างที่เหลือจากการผลิตน้ำตาลต้องเสียเงินกับการขนไปทิ้ง แต่ตอนนี้สิ่งที่ไม่มีมูลค่า ได้นำมาสร้างมูลค่าให้กับพี่น้องชาวไร่ได้แล้ว อยากยกตัวอย่างให้เห็นภาพว่า เยื่อกระดาษในปีหนึ่งๆ เราสามารถลดการตัดต้นไม้ได้กว่าปีละ 32 ล้านต้น เราเติบโตมากับธุรกิจนี้ เราก็มองว่าเป็นสิ่งที่ดี ได้ช่วยโลกให้ดีขึ้น เพราะเราตั้งใจดูแลชาวไร่กว่าหมื่นชีวิตเหมือนเป็นครอบครัวเดียวกันกับเรา ตามคำกล่าวของคุณปู่ที่ว่า ชาวไร่อ้อยมั่งคั่ง กลุ่มเคทิสมั่นคง” ดร.สายศิริ กล่าวด้วยน้ำเสียงภาคภูมิใจ


/มหาวิทยาลัยเจ้าพระยา “เพื่อสังคม”

นอกเหนือจากงานของกลุ่ม บริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) แล้ว ดร.โจ้ ยังเป็นผู้บริหารกลุ่มธุรกิจในส่วนของภาคการศึกษา ในตำแหน่งเลขานุการ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเจ้าพระยา และวิทยาลัยอาชีวศึกษาวิริยาลัยนครสวรรค์ ซึ่งเป็นโรงเรียนอาชีวศึกษาเอกชน สังกัดสำนักบริหารงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน กระทรวงศึกษาธิการ
มหาวิทยาลัยเจ้าพระยา ก่อตั้งขึ้น โดย คุณปู่ (จรูญ ศิริวิริยะกุล) และ คุณย่า (หทัย ศิริวิริยะกุล) ด้วยทั้งสองท่านมีเจตนารมณ์ต้องการจะคืนกำไรให้กับสังคม เพราะนักเรียน หรือ นักศึกษา ส่วนใหญ่เป็นลูกหลานชาวไร่อ้อยที่พ่อแม่เขาก็ส่งอ้อยเข้าโรงงาน การให้โอกาสทางด้านการศึกษาให้แก่ลูกหลานเขา ก็เหมือนกับการคืนกลับให้สังคมอย่างแท้จริง

“มหาวิทยาลัยเจ้าพระยาเกิดขึ้นมาเพื่อให้เป็นมหาวิทยาลัยของภูมิภาค เพื่อสร้างคนดีๆสู่สังคม เราฟังก็รู้สึกดีใจ (ยิ้ม) เพราะคุณปู่มีที่ดินตรงนั้นไม่ได้เอาไปทำอย่างอื่น แต่ได้สร้างเป็นมหาวิทยาลัยแทน ค่าเล่าเรียนของเราถือว่าเป็นสถานศึกษาที่ถูกที่สุดของเอกชน แล้วเรายังให้ทุนการศึกษากับน้องๆที่เรียนดี และที่เป็นลูกหลานของชาวไร่อ้อยจนจบการศึกษาเลย เพื่อให้เป็นตัวอย่างของภูมิภาคนั้นๆ”


//หลักบริหาร “ใจแลกใจ”

“ทำวันนี้ให้ดีที่สุด ต้องเป็นคนตั้งใจทำงาน การที่เราจะอยู่ในตำแหน่งใดก็ตาม ก็ถือว่าทุกคนในองค์กร ตั้งแต่ผู้บริหาร หรืออยู่ในหน้าที่ใดๆ คุณคือกลไกเล็กๆ คือหมุดตัวหนึ่ง คือเครื่องจักรสำคัญต่อองค์กรนั้นๆ ถ้าคุณตั้งใจที่จะทำงาน มันก็เกิดผลดีกับตัวคุณและคนอื่น แต่คุณไม่ตั้งใจทำงาน มันจะยิ่งส่งผลกระทบต่อคนอื่นมาก เพราะหลายครั้งของการตัดสินใจของคุณมันเปลี่ยนชีวิตหรือวิถีของสังคม


“ยิ่งโจ้กลับมาทำงานในฐานะผู้บริหาร ยิ่งต้องปรับตัวในองค์กร ผู้ใหญ่อาจยังไม่ยอมรับตั้งแต่แรก แต่เราต้องมาปรับ และทำความเข้าใจเพื่อพัฒนาบริษัทให้มีการเติบโตแบบยั่งยืน ตรงนี้แม้ว่าจะเป็นความยาก แต่เราก็ต้องโชว์ศักยภาพให้เขาเห็น แม้ว่าเราจะอายุยังไม่มาก ไม่ได้แปลว่าเราไม่ตั้งใจ หรือไม่ได้แปลว่าเราทำไม่สำเร็จ ตอนกลับมาช่วงนั้นคิดเลยว่า จะต้องสร้างผลงานให้เกิดการยอมรับ แล้วเขาถึงจะยอมรับเรา ตรงนี้ก็เป็นสิ่งที่คุณพ่อสอน จะทำอะไรก็ต้องพิสูจน์ตัวเองเท่านั้น โดยไม่มีทางลัดหรือตั๋วพิเศษ เพราะถ้าต้องการให้ทุกคนยอมรับแบบจริงใจและได้ใจ เราต้องแลกใจให้กับเขาด้วย คือใช้ใจแลกใจ เราต้องจริงใจกับพนักงาน และต้องจริงใจกับคนรอบข้าง ยิ่งเป็นทีมงานก็ยิ่งต้องจริงใจ แล้วทุกคนก็จะมีแต่ความสุข”


ก่อนจบการสนทนา “ดร.สายศิริ ศิริวิริยะกุล” กล่าวปิดท้ายด้วยว่า “ที่ผ่านมาเคยออกนโยบายให้พนักงานยิ้มแบบเบอร์ห้า โดยเจอกันก็ยิ้มและสวัสดีต่อกัน เพื่อให้องค์กรเป็นอะไรที่รีแลกซ์ ผ่อนคลาย ทำให้องค์กรดูสดใสขึ้นมา ด้วยความที่เราเป็นองค์ใหญ่แล้วต้องทำงานร่วมกัน เดินสวนทางกันหรือเจอกันในลิฟท์อาจจะไม่รู้จักกัน แต่พอทุกคนยิ้มให้กัน รอยยิ้มจะเป็นสะพานที่ทำให้ทุกคนได้รู้จักกัน”