นักศิลปะวัฒนธรรมและมรดกไทย สรพล ถีระวงษ์ “รักงานที่ตัวตน”
http://www.changeintomag.com
นิตยสาร เชนจ์ อินทู CHANGE into Mag
CHANGE to Dream
เรื่อง : สุทธิคุณ กองทอง ภาพ : ชวกรณ์ สะอาดเอี่ยม
นักศิลปะวัฒนธรรมและมรดกไทย
สรพล ถีระวงษ์ “รักงานที่ตัวตน”
เรียกได้ว่าคว่ำหวอดอยู่ในแวดวงนาฏศิลป์มาอย่างยาวนาน สำหรับอาจารย์ "อ๊อฟสรพล ถีระวงษ์" ที่ยึดคำสอน “สิ่งที่เราทำ แม้ไม่มีใครได้รับรู้ แต่สิ่งที่รับรู้คือ ผลงาน เป็นคำพูดของอาจารย์อมรที่ฝากไว้ก่อนที่ท่านจะสิ้น”
อาจารย์อ๊อฟ-สรพล ถีระวงษ์ กรรมการบริหารสมาคมนิยมไทย และกลุ่มมรดกสยาม ผู้ดูแลประสานงานด้านศิลปะวัฒนธรรมและมรดกไทย จากละคร “อำแดงเหมือนกับนายริด” ซึ่งอดีต เคยทำงาน กลุ่ม นาฏศิลป์ ฝ่ายพัสตราภรณ์และเครื่องโรง สำนักการสังคีต กรมศิลปากร ที่มีพรสวรรค์ชั้นแนวหน้าของเมืองไทย ก็อยู่ในเบื้องหลังของความสำเร็จจากละครเรื่องนี้ เพราะฉากและวัฒนธรรมไทยสมัยรัชกาลที่ 4 อาจารย์อ๊อฟ-สรพล ได้เข้ามาดูแลให้เสมือนย้อนกลับไปในรัชสมัยนั้นจริง ๆ
//บ้าน คือ ความสงบ ความสุข
ภายในบ้านหลังนี้ของอาจารย์อ๊อฟ ย่านจังหวัดนนทบุรีมีพื้นที่ประมาณ 3 ไร่เศษ เล่าว่า เป็นของคุณย่า(จงกล อภัยวงศ์) แล้วยังมีบ้านของคุณลุงกับคุณป้ารวมอยู่ด้วย “สมัยก่อนคุณย่าเล่าให้ฟังว่าที่ดินตรงนี้ราคาตารางวาละ 200 บาท เมื่อประมาณสี่สิบหรือห้าสิบปีก่อน ถนนตอนนั้นก็ยังไม่มีการตัดผ่าน(หัวเราะ) ก็มีคุณลุงเขย(ม.ร.ว จีระวัฒน จักรพันธุ์) เป็นบุตรของ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดรุณวัยวัฒน์ คุณพ่อ ของคุณลุง และคุณปู่(เที่ยง ถีระวงษ์) ที่เชื่อมโยงเป็นญาติกันก็เลยไม่อยากให้ไปไหนก็ได้ปลูกบ้านอยู่ร่วมกัน ผมก็อยู่บ้านนี้ตั้งแต่เด็ก สมัยพ่อรับราชการเป็นปลัดจังหวัดเลยต้องย้ายไปตามจังหวัดต่างๆ ทำให้คุณพ่อคุณแม่เลยให้มาอยู่บ้านคุณปู่”
//รักในงานศิลปะ
อาจารย์อ๊อฟเริ่มเรียนประชาราษฎร์ เตาปูน ไปเรียนมัธยมที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรี ความหวังของคุณพ่อที่ต้องการให้รับราชการ แต่ชีวิตของอาจารย์ขอเลือกเดินตามที่ตัวเองรักในงานศิลปะแทน “จากนั้นผมชีวิตก็หันเหที่คุณลุงคุณป้าและคุณพ่อคุณแม่ตกลงกันว่าให้ไปเรียนวิทยาลัยในวัง เพื่อเรียนงานด้านศิลปะต่างๆ ตอนเด็กๆความฝันอยากเป็นหมอ แต่พอหันเหชีวิตแล้วเราชอบและหลงรักศิลปะไทย ไม่ว่าจะเราจะมองภาพจิตรกรรม มองงานปั้นที่พุทธมณฑลของ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี แต่พอเราได้รู้ลึกซึ้งในรากเง้าของเรา กลับมองไปว่าเราชอบงานที่ลึกลงไปกว่านั้น เพราะชอบงานศิลปะอยุธยา ที่ดูแล้วมีพลัง มีความคิด ผนวกกับหลายๆสิ่งกับชีวิตและความเป็นอยู่ การดำเนินชีวิต และสังคม
“การเขียนเส้นลายกนก การเขียนเส้นในใบลาน รวมทั้งเครื่องแต่งกาย ดูแล้วมีวัฒนธรรม มีความคิดของสังคมในยุคนั้นว่าความเป็นอยู่ของเขาเป็นอย่างไร พอเข้าไปเรียนในวังก็ต้องมีการปรับตัวอย่างมาก เพราะคนในวังไม่ค่อยได้พูดคุยกัน แล้วยังมีการแบ่งแยกระหว่างหญิงและชาย เป็นทั้งวิทยาลัยหญิง และวิทยาลัยชาย เพราะงานศิลปะในวังจะเยอะมากล้วนเป็นช่างฝีมือ ทั้งงานปั้น งานเขียน งานแกะสลัก งานบูรณะราชภัณฑ์ ผมก็เลือกเรียนงานปั้นไทย งานประติมากรรมไทย ผมเลยเป็นนักเรียนในวังชายรุ่นที่ 4 จากนั้นก็ไปเรียนต่อกาญจนาภิเษกวิทยาลัย ช่างทองหลวง แล้วได้ไปฝึกงานกับอาจาย์วีระ มีเหมือน และอาจารย์อมร ศรีพจนารถ” อาจารย์ได้สอบติดเป็นอันดับหนึ่ง เข้าทำงานที่สำนักการสังคีต กรมศิลปากร ด้านพัสตราภรณ์
//ชุดไทยโกอินเตอร์
อาจารย์"อ๊อฟ มีผลงานการันตีคุณภาพมากมาย และยังเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องวัฒนธรรมการแต่งกายในละคร “อำแดงเหมือนกับนายริด” และ ละครเวที ภาพยนตร์ต่างๆ พาละคร “อำแดงเหมือนกับนายริด” คว้ารางวัลละครโทรทัศน์แห่งปี จากงานประกาศผลรางวัล ไนน์ เอ็นเตอร์เทน อวอร์ดส 2013 มาแล้ว
ล่าสุดอาจารย์อ๊อฟได้เข้าไปดูแลโปรเจกต์ยักษ์ของ "แอน มิตรชัย" นักร้องและนักแสดงสาวที่ตอนนี้ไปโด่งดังแจ้งเกิดในบอลลีวูดแบบเต็มตัว โดย เป็นที่ปรึกษาโครงการวัฒนธรรมร่วมสมัย ให้ "แอน มิตรชัย" ซึ่งในโปรเจกต์นี้ จะแตกต่างจากผลงานในสังกัด Universal music ซึ่งเป็นเพลงภาษาฮินดูแนวป็อปแดนซ์แต่มีเอกลักษณ์และกลิ่นอายเป็นภารตะมาผสม เพื่อสื่อให้เห็นถึงเสน่ห์อันเป็นเอกลักษณ์ของอินเดีย แต่เธอก็ไม่ลืมเอกลักษณ์ความเป็นไทยผสมลงไปในอัลบั้มนี้ ซึ่งแอน มิตรชัย และอาจารย์อ๊อฟ ต่างก็รู้สึกภาคภูมิใจที่ได้นำชุดไทย วัฒนธรรมไทยที่ถูกต้องจาก ผู้เชี่ยวชาญกลุ่มนาฏศิลป์ไปสู่ตลาดความเป็นสากล พร้อมได้มีโอกาสเผยแพร่วัฒนธรรมไทยให้ทั่วโลกได้รู้จักด้วย
//เคล็ดลับความสำเร็จ “รักงานที่ตัวตน”
ปัจจุบันสิ่งที่อาจารย์สรพลทำอยู่นั้น คือ การซ่อมแซมงาน ในฝ่ายบูรณะราชภัณฑ์ กองชาวที่ สำนักพระราชวัง พร้อมเป็นอาจารย์พิเศษของมหาวิทยาลัย “ที่ทำงานด้านศิลปะเพราะอยากให้คนรุ่นหลังได้รู้เรื่องว่าคนไทยเป็นคนละเอียดอ่อน และมีความประณีต ไม่ว่าจะเป็นเครื่องแต่งกาย หรือลวดลายของเครื่องประดับ รวมไปถึงข้าวของเครื่องใช้ภายในบ้านเป็นสิ่งสำคัญ เพราะคนปัจจุบันรับวัฒนธรรมยุโรปมาเยอะ สมัยนี้อยากได้อะไรก็พิมพ์ก็ได้แล้ว แต่คนโบราณทำไว้นั้นมันมีจารีต และวัฒนธรรม เกี่ยวด้วยชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เป็นสิ่งที่คนไทยเคารพ ตรงนี้เลยอยากให้เด็กรุ่นใหม่ได้รู้สึกและรู้ซึ้งมากกว่านี้
“ส่วนน้องๆรุ่นใหม่อยากคิดทำอะไร ก็ขอให้รักงานที่ตัวเองชอบ แล้วหาตัวตนของเราให้เจอ แล้วเราจะทำอะไรได้ดี ซึ่งต้องทำด้วยความมุ่งมั่น ตอนเด็กๆผมค่อนข้างเกเร พอได้เข้าไปเรียนในวังทำให้เราได้รู้ทุกสิ่งทุกอย่าง แล้วก็รักงานที่เรียน แล้วอาจารย์อมรเคยพูดอยู่คำหนึ่งว่า สิ่งที่เราทำ แม้ไม่มีใครได้รับรู้ แต่สิ่งที่รับรู้คือ ผลงาน เป็นคำพูดของอาจารย์อมรที่ฝากไว้ก่อนที่ท่านจะสิ้น แล้วสิ่งที่ครูพูดฝังหัวผมมาตลอดเลยว่า ถ้าหากใครไม่ได้สนใจงานศิลปะไทยหรือวัฒนธรรมไทยก็ให้ตายไปกับตัว ผมเลยคิดว่าการที่จะให้ตายไปกับตัว แล้วงานตรงนี้จะมีคนรู้น้อยมาก ทุกวันนี้ผมเลยอยากเผยแพร่ และสอนฟรีให้กับคนรุ่นใหม่ๆ เพราะผมมองว่าไม่อยากให้วิชาตายไปกับตัวผม”