เผยเคล็ดลับการนำนวัตกรรมดิจิทัลมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพธุรกิจ

เผยเคล็ดลับการนำนวัตกรรมดิจิทัลมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพธุรกิจ

 

 

 

 

เผยเคล็ดลับการนำนวัตกรรมดิจิทัลมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพธุรกิจ

 

 

 

ปัจจุบันเราคงได้ยินคำว่า “เทคโนโลยี” “ดิจิทัล” “ออนไลน์” หรือ “นวัตกรรม” ในชีวิตประจำวันอยู่บ่อยครั้ง แต่หลายคนอาจยังไม่คุ้นเคยว่านวัตกรรมดิจิทัลจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้ธุรกิจและอุตสาหกรรมได้อย่างไร

 

ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี อีกหนึ่งธุรกิจชั้นนำที่มีการนำนวัตกรรมดิจิทัลมาใช้ในอุตสาหกรรม โดย คุณมงคล เฮงโรจนโสภณ Vice President – Olefins Business and Operations จึงได้อธิบายถึงแนวคิดของนวัตกรรมดิจิทัล หรือ Digital Innovation นี้ว่า เป็นการสร้างสิ่งใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ผู้ใช้งาน โดยอาศัยเทคโนโลยีสองส่วนหลักอย่าง IT และ OT ทำงานร่วมกัน โดย IT หรือ Information Technology เป็นการรวบรวมข้อมูลมหาศาลให้เป็นระบบ และนำมาผสมผสานกับ OT หรือ Operation Technology ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือหรือโปรแกรมต่าง ๆ เพื่อจัดการและวิเคราะห์ข้อมูลมหาศาลเหล่านั้นให้สามารถแก้ไขปัญหา เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และพยากรณ์เหตุการณ์ได้อย่างแม่นยำ

 

 

นวัตกรรมดิจิทัล ตัวช่วยสำคัญในการจัดการธุรกิจตามความต้องการ

นวัตกรรมดิจิทัล ไม่จำเป็นต้องเป็นแค่การคิดค้นสินค้าใหม่ ๆ ที่ไม่เคยมีมาก่อน แต่ยังเป็นการนำเทคโนโลยีมาทำงานร่วมกับข้อมูล และพัฒนาเป็นนวัตกรรมการจัดการรูปแบบใหม่ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้งานได้ เช่นเดียวกับที่เอสซีจีนำมาใช้ในการจัดการโรงงานหรือข้อมูล เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันขององค์กร

 

ตัวอย่างเช่น Augmented Reality (AR) เทคโนโลยีที่จำลองภาพเสมือน 3 มิติเข้ามาทับซ้อนกับภาพจริง ซึ่งนำมาใช้กับการวิเคราะห์เครื่องจักรในโรงงาน โดยการเชื่อมต่อภาพเครื่องจักรและแสดงข้อมูลให้วิศวกรผู้เชี่ยวชาญสามารถตรวจสอบสภาพเครื่องจักรผ่านเครื่องมือสื่อสารหรือคอมพิวเตอร์ได้แม้ไม่อยู่หน้าเครื่องจักร หรือเมื่อนำอุปกรณ์อย่างโดรนมาผสมผสานกับเทคโนโลยี RFID (Radio Frequency Identification) หรือการระบุข้อมูลสิ่งต่าง ๆ โดยใช้คลื่นความถี่วิทยุ ก็สามารถใช้ติดตามความคืบหน้าของโครงการก่อสร้างต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว ทำให้เห็นว่านวัตกรรมดิจิทัลจะถูกพัฒนาขึ้นตามความต้องการของลูกค้าหรือผู้ใช้งานนั่นเอง

 

 

 

เข้าใจเทคโนโลยีและลูกค้า คือหัวใจของการใช้นวัตกรรมดิจิทัล

สำหรับแนวคิดในการทำงานเรื่องนวัตกรรมดิจิทัลของเอสซีจี คือ ต้องอยู่ใกล้เทคโนโลยี ต้องเข้าใจความต้องการของลูกค้าทั้งภายในและภายนอก และต้องมีความพร้อมในการผสมผสานข้อมูลกับเทคโนโลยี เพื่อสร้างนวัตกรรมได้อย่างรวดเร็ว

 

“ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี มีประสบการณ์ในการบริหารจัดการโรงงานปิโตรเคมีมามากกว่า 30 ปี ทำให้เราเห็นได้ชัดว่าอะไรจะช่วยให้ทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการผลิต ความปลอดภัย ตลอดจนการบำรุงรักษา เราจึงนำความต้องการนั้นเป็นตัวตั้งต้นเพื่อหาโซลูชั่นใหม่ ๆ มาแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วขึ้น”

 

หากเปรียบเป็นสมการ กำหนดให้ Y คือผลลัพธ์ที่เราต้องการ Y ย่อมประกอบด้วยหลายปัจจัย เช่น X1 + X2 + X3 + X4 ซึ่งเราอาจยังไม่รู้ว่า X แต่ละตัวส่งผลต่อ Y อย่างไร แต่เมื่อนำข้อมูลทั้งหมดมาจัดกระบวนการทางสถิติโดยใช้นวัตกรรมดิจิทัลอย่าง Artificial Intelligence (AI) ช่วยคัดเลือกข้อมูลที่เกี่ยวข้องมาหาความเชื่อมโยง และคำนวณว่าเมื่อเพิ่มหรือลดค่า X ตัวใด แล้วจะเกิดผลกระทบกับ Y อย่างไร แล้ว AI ก็จะสามารถสร้างระบบวิธีการคิดเพื่อเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาให้เราได้

 

“เราต้องเริ่มจากแนวคิดว่าจะทำอย่างไรให้การทำงานเป็น Automation (อัตโนมัติ) มากขึ้น แล้วจึงนำ Automation กับ Information (ข้อมูล) ไปสร้าง Algorithm (ระเบียบวิธีคิด) ซึ่งเมื่อก่อนจะเป็นเพียงการรวบรวมข้อมูลแล้วนำไปให้คนตัดสินใจ ดังนั้นหากเปลี่ยนคน ผลการตัดสินใจก็จะเปลี่ยนไปตามความรู้หรือประสบการณ์ของแต่ละคนด้วย ซึ่งต่างจาก AI ที่จะตัดสินด้วยตรรกะและข้อมูลสนับสนุนมหาศาล เสมือนการรวบรวมประสบการณ์ทั้งหมดมารวมกันไว้ในระบบนั่นเอง”

 

 

ก้าวต่อไปของการใช้นวัตกรรมดิจิทัลในเอสซีจี

ในระยะเวลา 10-20 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ได้พัฒนา AI ขึ้นมาแล้วกว่า 60 ตัวสำหรับการจัดการโรงงานเป็นหลัก และเป้าหมายถัดไป คือ การพัฒนานวัตกรรมดิจิทัลให้สามารถตอบโจทย์ลูกค้าในธุรกิจเคมิคอลส์ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

 

คุณมงคลทิ้งท้ายว่า “ที่ผ่านมาเอสซีจีให้ความสำคัญกับการพัฒนานวัตกรรมต่าง ๆ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าอยู่แล้ว แต่เราต้องการทำให้เหนือความคาดหมายขึ้นไปอีก โดยการสร้างนวัตกรรมดิจิทัลที่ตอบสนองความต้องการลูกค้าได้แบบล้ำหน้าไปอีกขั้น ด้วยการต้องมองไปข้างหน้า มองเทรนด์ให้ออก และที่สำคัญคือต้องเข้าใจความต้องการที่แท้จริงของลูกค้า เพื่อนำมาพัฒนานวัตกรรมต่าง ๆ ซึ่งในการทำงานอาจจะไม่ได้ประสบความสำเร็จทันที แต่จุดสำคัญคือต้องเรียนรู้ข้อผิดพลาดและนำมาปรับปรุงใหม่ให้เร็ว โดยผ่านกระบวนการทำงานแบบใหม่ที่สามารถปรับเปลี่ยนได้อย่างรวดเร็ว หรือที่เรียกว่า Agile process เพื่อให้เราสามารถตอบโจทย์ลูกค้าและสังคมได้อย่างต่อเนื่องและดีขึ้นเรื่อย ๆ”

 

การเริ่มนำนวัตกรรมดิจิทัลมาใช้กับธุรกิจจึงไม่ใช่เพียงการซื้อโปรแกรมใหม่หรือการติดตั้งเครื่องมือเก็บข้อมูลให้ทั่วโรงงาน แต่เป็นการเข้าใจความต้องการของธุรกิจอย่างแท้จริงเพื่อค้นหาวิธีการและเครื่องมือที่เหมาะสม ส่วนสิ่งที่ทำได้ดีแล้วก็นำนวัตกรรมมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้ดียิ่งขึ้นไปอีก ซึ่งสิ่งสำคัญคือการอยู่ใกล้ชิดกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่พัฒนาอย่างก้าวกระโดด แล้วรีบเรียนรู้และนำมาปรับใช้กับข้อมูลที่มีให้เร็ว แม้จะไม่ได้ผลตามที่คาดหวังก็ต้องเริ่มใหม่ให้เร็ว ธุรกิจจึงจะวิ่งไปตามจังหวะของความเป็นดิจิทัลและสร้างความสามารถในการแข่งขันได้ทัน

 

ผู้สนใจสามารถติดตามเนื้อหาที่น่าสนใจของธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ได้ที่ http://www.allaroundplastics.com และสามารถติดตามข่าวสารอื่นๆ ของเอสซีจีได้ที่ https://scgnewschannel.com / Facebook: scgnewschannel / Twitter: @scgnewschannelหรือ Line@: @scgnewschannel