ทิพยประกันภัยและมูลนิธิธรรมดี ร่วมสืบสาน รักษา ต่อยอด ศาสตร์พระราชา
ทิพยประกันภัยและมูลนิธิธรรมดี ร่วมสืบสาน รักษา ต่อยอด ศาสตร์พระราชา นำคณะครูจากสถาบันการศึกษาต่างๆ ทั่วประเทศ เรียนรู้ศาสตร์พระราชา พาเยือนสวิตเซอร์แลนด์เมืองไทย เขื่อนขุนด่านปราการชล สร้างนวัตกรรมสร้างสรรค์เยาวชนแห่งการเรียนรู้
ทิพยประกันภัย พร้อมด้วย ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) มูลนิธิประเทศไทยใสสะอาด สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และมูลนิธิธรรมดี ร่วมจัดโครงการ “ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอดศาสตร์พระราชา พาเยือนสวิตเซอร์แลนด์เมืองไทย เขื่อนขุนด่านปราการชล และศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติ ถอดรหัสนวัตกรรม พระอัจฉริยภาพของในหลวง รัชกาลที่ 9” นำคณะครูจากสถาบันการศึกษาต่างๆ ทั่วประเทศ ร่วมเดินทางไปยัง เขื่อนขุนด่านปราการชล บ้านภูกะเหรี่ยง และศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติ จ.นครนายก เพื่อเรียนรู้ศาสตร์พระราชาที่ไม่มีวันล้าสมัย ผ่านโครงการในพระราชดำริ สู่การสร้างนวัตกรรมการเรียนการสอนให้กับเยาวชนต่อไป
คุณวิชชุดา ไตรธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้ของพระบาทสมเด็จพระบรม ชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจมากมาย ตลอด 70 ปีที่ทรงครองราชย์ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ผ่านโครงการตามพระราชดำริกว่า 4,741 โครงการทั่วประเทศ หากเราปล่อยให้ศาสตร์พระราชาเหล่านั้นสูญหายไปกับกาลเวลา จะเป็นเรื่องน่าเสียดายแทนคนรุ่นหลังอย่างยิ่ง
ตามปณิธานของทิพยประกันภัย ในการดำเนินธุรกิจอย่างมีคุณธรรม มุ่งมั่นพัฒนาองค์กร และยึดมั่นในการเป็นองค์กรที่สืบสานศาสตร์พระราชามาโดยตลอด ครั้งนี้ถือเป็นการจัดกิจกรรมตามรอยพระราชาร่วมกับองค์กรภาคีอย่างต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 4 โดยทิพยประกันภัยเชื่อมั่นว่าการจัดโครงการตามรอยพระราชาอย่างต่อเนื่อง นำเหล่าคณะครู อาจารย์มาเรียนรู้ศาสตร์พระราชา ณ โครงการในพระราชดำริ จะทำให้แม่พิมพ์ของชาติผู้เป็นกำลังสำคัญในการสร้างสรรค์เยาวชน สามารถนำประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้ ไปต่อยอดเผยแพร่เป็นนวัตกรรมทางความคิดให้กับนักเรียน นิสิต นักศึกษา ทั้งยังเป็นการปลูกฝังให้เยาวชนมีหัวใจที่เต็มเปี่ยมด้วยคุณธรรม 4.0 คือ พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา ในการเรียน การทำงาน และการใช้ชีวิตได้อย่างยั่งยืนต่อไป”
โครงการ “ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอดศาสตร์พระราชา พาเยือนสวิตเซอร์แลนด์เมืองไทย เขื่อนขุนด่านปราการชล และศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติ ถอดรหัสนวัตกรรม พระอัจฉริยภาพของในหลวง รัชกาลที่ 9” เริ่มต้นด้วยการเดินทางไปยังเขื่อนชุนด่านปราการชล โดยมีวิทยากรจากกรมชลประทานถ่ายทอดความรู้ให้กับคณะ ได้ศึกษาพระอัจฉริยภาพด้านการจัดการน้ำ และซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของในหลวง รัชกาลที่ 9 ที่ทรงมีต่อชาวนครนายก จากการที่ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรและได้พระราชทานพระราชดำริให้กรมชลประทานพิจารณาวาง โครงการและก่อสร้างเขื่อนขุนด่านปราการชล เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำหลากในฤดูฝน เข้าท่วมพื้นที่ไร่นาและบ้านเรือน จนได้รับความเสียหายเป็นบริเวณกว้าง ขณะเดียวกันพื้นที่ส่วนที่เป็นพื้นที่ลาดชัน มีระดับน้ำใต้ดินต่ำ ไม่สามารถเก็บกักน้ำไว้ได้เมื่อฝนทิ้งช่วงจึงเกิดความแห้งแล้ง จนดินแตกระแหงไม่สามารถทำการเพาะปลูกได้ จนบัดนี้คุณภาพชีวิตของเกษตรกร และราษฎรมีความมั่นคงผาสุกอย่างยั่งยืน
ต่อมาเดินทางไปยังศูนย์การเรียนรู้บ้านภูกะเหรี่ยง ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงของ ในหลวง รัชกาลที่ 9 มาเป็นแนวทางการดำเนินชีวิตที่เรียบง่าย ในบรรยากาศที่ร่มรื่นประกอบไปด้วย พันธุ์ไม้ สวนผลไม้ สัตว์เลี้ยง บ่อปลา บ่อน้ำกินน้ำใช้ นาข้าว กังหันวิดน้ำ และสะพานพราวภูฟ้า ซึ่งเป็นสะพานไม้ไผ่ที่ทอดยาวไปกลางทุ่งนา โดยคณะได้ร่วมพิธีสู่ขวัญข้าว เรียนรู้การสีข้าวแบบโบราณ ปลูกต้นข้าวอ่อนในแก้ว การทำ ขนมข้าวกะยาคู และการทำน้ำต้นข้าวอ่อน อีกด้วย
จากนั้นออกเดินทางสู่ศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติ เป็นที่ดินที่ในหลวง รัชกาลที่ 9 มีรับสั่ง ให้ซื้อไว้ในปีพ.ศ. 2532 โดยมีรับสั่ง ในขณะนั้นว่าอยากมีที่ดินแถวนี้ ถึงแม้ว่าจะไม่เจริญแต่เนื่องจากบริเวณนี้เต็มไปด้วยน้ำตกและป่าเขาใหญ่ จึงอยากมีที่ดินแถวนี้สักผืนหนึ่ง เพื่อใช้เป็นศูนย์แสดงแนวคิดของพระองค์ท่าน เกี่ยวกับทฤษฎีการพัฒนาในด้านต่างๆ อาทิ ด้านการเกษตร ด้านปศุสัตว์ ด้านสิ่งแวดล้อม และด้านพลังงาน โดยมีวิทยากรประจำศูนย์ฯ คอยถ่ายทอดความรู้ให้แก่คณะ หลังจากได้ลงพื้นที่ทำ กิจกรรมตลอดทั้งวัน คณะครูยังได้ร่วมกิจกรรมถอดบทเรียน นำโดย คุณอดุลย์ ดาราธรรม วิทยากรจิตอาสาจากสมาคมนักเรียนเก่าเอเอฟเอสประเทศไทย (TRAFS) ผ่านสื่อการเรียนรู้ด้วยเกมกระดาน (Board game) ที่มีถึง 3 แบบด้วยกัน โดยแต่ละเกมกระดานที่เล่นจะให้ความสนุก ได้ระดมความคิด พร้อมเนื้อหาสาระที่แตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นเกม ‘Game of Our Nation’ ที่สอดแทรกคุณธรรม 4 ประการ พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา หรือเกม ‘The Medici Effect 9’ ถอดบทเรียนและต่อยอดสร้างสรรค์นวัตกรรมจากการตามรอยพระราชา พร้อมด้วยเกมกระดานภาษาอังกฤษ จากหนังสือชุด King Bhumibol Adulyadej of Thailand เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอนให้นักเรียนนักศึกษาได้เข้าถึงและเข้าใจเรื่องราวของพระองค์ท่านมากยิ่ง ขึ้น
ดร.ดนัย จันทร์เจ้าฉาย กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) และมูลนิธิประเทศไทยใสสะอาด กล่าวว่า “รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้เห็นคนไทยที่มีหัวใจเพื่อในหลวง รัชกาลที่ 9 ร่วมเดินทางตามรอยพระราชาร่วมกันในครั้งนี้ ทั้งในส่วนของตัวแทนจากองค์กรภาคี ผู้สนับสนุนใจดีและคณะครู อาจารย์ โดยคณะที่ร่วมเดินทางตามรอยพระราชาครั้งนี้ ยังได้รับคู่มือการเรียนรู้ควบคู่การท่องเที่ยวตามรอยพระราชา หนังสือธรรมดีที่พ่อทำ และชุดหนังสือ King Bhumibol Adulyadej of Thailand เป็นหนังสือภาษาอังกฤษ 3 เล่ม ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับพระราชประวัติ พระราชจริยวัตร และพระอัจฉริยภาพ ตั้งแต่เมื่อทรงพระเยาว์ จวบจนแสงสุดท้ายที่พระองค์ทรงกระทำเพื่อช่วยเหลือ ฟื้นฟู และพัฒนาคนไทยทุกหมู่เหล่า เพื่อให้เด็กไทยสามารถตอบชาวต่างชาติด้วยความภูมิใจว่า “ทำไมคนไทยถึงรักในหลวง รัชกาลที่ 9” ทั้งยังเป็นแบบอย่างที่ดีเยี่ยม ในการใช้ชีวิตให้แก่เยาวชน คนรุ่นหลัง เป็นเมล็ดพันธุ์แห่งความดี พร้อมงอกเงยเป็นผู้ใหญ่ที่เต็มเปี่ยมด้วยคุณธรรม”
การเดินทางตามรอยพระราชาในครั้ง ที่ 4 นี้ ถือเป็นเพียงก้าวเริ่มต้น จาก 9 เส้นทาง 81 แหล่งเรียนรู้มีชีวิตตามรอยศาสตร์พระราชา โดยทิพยประกันภัยจะยังคงมุ่ง มั่น ตามปณิธานในการเป็นองค์กรที่สืบสานศาสตร์พระราชา ในการสนับสนุนโครงการตามรอยพระราชา และนำพาเหล่าคณะครู อาจารย์จากสถาบันต่างๆ ทั่วประเทศ ไปยังเส้นทางแหล่งเรียนรู้อื่นๆ ต่อไป เพื่อเป็นการน้อมนำพระปฐมบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ‘เราจะสืบสานรักษาและต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป’