คปภ. ยกทีมลงพื้นที่บ้านนาทับ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เปิดตัวประกันภัยประมงเป็นครั้งแรก
คปภ. ยกทีมลงพื้นที่บ้านนาทับ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เปิดตัวประกันภัยประมงเป็นครั้งแรก
ถอดบทเรียนพายุโซนร้อน “ปลาบึก” นำระบบประกันภัยช่วยบรรเทาความเดือดร้อนประมงพื้นบ้าน
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากพายุโซนร้อนซึ่งได้สร้างความเสียหายให้กับประชาชนผู้ประกอบอาชีพประมงเรือพื้นบ้านอยู่เนืองๆ และ สำนักงาน คปภ. ได้สนองตอบนโยบายของรัฐบาล โดยร่วมกับภาคอุตสาหกรรมประกันภัยพัฒนารูปแบบการประกันภัยเพื่อช่วยบริหารความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติให้กับชาวประมง ซึ่งตนในฐานะนายทะเบียนได้ลงนามในคำสั่งนายทะเบียนเลขที่ 32/2562 เรื่อง ใช้แบบ ข้อความ และ อัตราเบี้ยประกันภัยของกรมธรรม์ประกันภัยเพื่อกลุ่มชาวประมงเรือพื้นบ้าน รวมทั้งกรมธรรม์ประกันภัยเพื่อชาวประมงพื้นบ้าน และ กรมธรรม์ประกันภัยเพื่อชาวประมงภาคสมัครใจ (ไมโครอินชัวรันส์) เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2562 ที่ผ่านมา
ต่อมาเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2562 เลขาธิการ คปภ. ได้นำคณะผู้บริหาร สำนักงาน คปภ. ผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้านประกันภัยของ สำนักงาน คปภ. ผู้แทนจากกองทุนประกันชีวิต กองทุนประกันวินาศภัย สมาคมประกันวินาศภัยไทย สมาคมประกันชีวิตไทย สมาคมตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาทางการเงิน สมาคมนายหน้าประกันภัยไทย พร้อมด้วยผู้บริหารบริษัทประกันภัยหลายบริษัท ลงพื้นที่ในรูปแบบ Mobile Insurance Unit ในโครงการ คปภ. เพื่อชุมชนปี 3 ซึ่งครั้งนี้เป็นการส่งเสริมความรู้ด้านการประกันภัยให้เหมาะสมกับบริบทของชุมชนบ้านนาทับ-สะกอม อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา โดยชาวชุมชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำการประมงเป็นอาชีพหลัก มีผู้ประกอบอาชีพประมงเป็นจำนวนมาก ซึ่งจากสถิติที่ผ่านมามีเรือที่ได้รับความเสียหายจากพายุต่างๆ เป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน 2561 ที่ผ่านมา เกิดภัยธรรมชาติจากพายุโซนร้อน “ปลาบึก” ทำให้บ้านเรือน อาคารเรียน ศาลา แนวเขื่อน ถนนเลียบชายทะเล ตลอดจนเรือ ได้รับความเสียหาย ชาวบ้านตำบลนาทับได้รับผลกระทบและได้รับความเสียหายอย่างรุนแรง รวมทั้งมีผู้ได้รับบาดเจ็บจากพายุดังกล่าวอีกด้วย ดังนั้น การที่สำนักงาน คปภ. พร้อมคณะดังกล่าวได้ลงพื้นที่เยี่ยมชมวิถีชีวิตของชาวบ้านในชุมชนนาทับ-สะกอม พบปะ พูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับชาวบ้าน “แบบนั่งล้อมวง” เป็นการได้สัมผัสกับบริบท และวิถีชีวิตของชุมชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากความเสี่ยง และความเสียหายในหลากหลายรูปแบบ จึงถือเป็นโอกาสที่ชาวชุมชนนาทับ-สะกอม ได้รับความรู้เรื่องการประกันภัยต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องการประกันภัยประมงมากขึ้น เพื่อจะได้นำระบบประกันภัยไปใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงภัยให้กับตนเองและครอบครัวได้อย่างเหมาะสม รวมทั้งนำระบบประกันภัยมาช่วยเยียวยาและบรรเทาความเดือดร้อนยามเมื่อมีภัย อันจะส่งผลให้ประชาชนมีสภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น นอกจากนี้ ยังเป็นโอกาสที่ สำนักงาน คปภ. จะได้รับทราบปัญหา อุปสรรค และข้อมูลความต้องการต่างๆ ในพื้นที่ เพื่อนำไปปรับปรุงพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนในพื้นที่ ตลอดจนเป็นการเสริมสร้างความเชื่อมั่นของประชาชนต่ออุตสาหกรรมประกันภัย
ในการลงพื้นที่ครั้งนี้ได้จัดเสวนาให้ความรู้ด้านประกันภัยแก่ชุมชน ซึ่งมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากสำนักงาน คปภ. อาทิ นายชัยยุทธ มังศรี ผู้ช่วยเลขาธิการ สายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ นางคนึงนิจ สุจิตจร ที่ปรึกษา สำนักงาน คปภ. นายอดิศร พิพัฒน์วรพงศ์ ผู้ช่วยเลขาธิการ สายกฎหมายและคดี และ นายกี่เดช อนันต์ศิริประภา ผู้อำนวยการบริหารสมาคมประกันวินาศภัยไทย โดยมีนายสุรินทร์ ตนะศุภผล ผู้ช่วยเลขาธิการ สายส่งเสริมและประกันภัยภูมิภาค เป็นผู้ดำเนินรายการเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้านการทำประกันภัยประเภทต่างๆ โดยเน้นการประกันภัยเพื่อกลุ่มชาวประมงเรือพื้นบ้าน ซึ่งถือเป็นแบบกรมธรรม์ประกันภัยฉบับแรกของประเทศไทยที่มีการนำระบบประกันภัยเข้าไปบริหารความเสี่ยงให้กับ “เรือประมงพื้นบ้าน” ซึ่งจะได้รับความคุ้มครองสำหรับความสูญเสียหรือเสียหายทั้งในขณะออกเรือและจอดฝั่ง อันเนื่องจากอุทกภัย วาตภัย พายุ คลื่นลมแรง คลื่นซัดชายฝั่ง แผ่นดินไหว และ สึนามิ สำหรับรูปแบบการให้ความรู้ด้านประกันภัยในครั้งนี้ ได้นำร่องให้ความรู้จากการถอดบทเรียนกรณีศึกษาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่เพื่อให้ชุมชนเข้าใจถึงบทบาทของระบบประกันภัยที่เข้ามาช่วยในการบริหารความเสี่ยง พร้อมเปิดเวที ไขข้อข้องใจและแนะนำในประเด็นต่างๆ เกี่ยวกับการทำประกันภัยประมง เพื่อให้เป็นชุมชนต้นแบบขยายผลไปยังชุมชนอื่นๆ ทั่วประเทศ ในลักษณะการขับเคลื่อนรณรงค์จากฐานรากไปสู่ส่วนบน สำหรับการลงพื้นที่ในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากนายอำพล พงษ์สุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา พร้อมด้วยนายสุรินทร์ สุริยะวงศ์ นายอำเภอจะนะ ให้การต้อนรับและร่วมลงพื้นที่ในครั้งนี้ด้วย โดยมีนายปรีชา แดงหลี ประธานกรรมการชุมชนนาทับ ได้พาเยี่ยมชมวิถีชีวิตความเป็นอยู่ และการประกอบอาชีพของชาวชุมชน พร้อมทั้งเยี่ยมให้กำลังใจ และพบปะพูดคุยครอบครัว ผู้ประสบภัยที่ได้รับความเสียหายจากพายุปลาบึกด้วย
ด้านนายหมัดด๊ะ อำพันนิยม นายกสมาคมเรือประมงคลองนาทับ ตำบลนาทับ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เปิดเผยว่าการลงพื้นที่ให้ความรู้ด้านประกันภัยประมง โดยสำนักงาน คปภ. และภาคอุตสาหกรรมประกันภัยครั้งนี้ทำให้ชาวบ้านในชุมชนนาทับเข้าใจระบบประกันภัยประมงมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็เกิดการตื่นตัวที่จะทำประกันภัยประมงและประกันภัยประเภทอื่นๆกันมากขึ้น โดยจะเห็นได้จากชาวบ้านให้ความสนใจเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้เป็นจำนวนมาก และมีคำถามเกี่ยวกับการทำประกันภัยประมงหลายประเด็น เช่น ประกันภัยประมงครอบคลุมความเสียหายทุกประเภทหรือไม่ เกิดความเสียหายอย่างไรถึงจะได้รับค่าสินไหมทดแทน และประกันภัยประมงมีต่อเนื่องทุกปีหรือไม่ ซึ่งวิทยากรได้ไขข้อข้องใจจนกระจ่างและทำให้ชาวบ้านมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการทำประกันภัยประมงดีขึ้นมาก จึงขอขอบคุณ สำนักงาน คปภ. และภาคอุตสาหกรรมประกันภัย ที่นำองค์ความรู้ด้านประกันภัยเคลื่อนที่มาสู่ประตูบ้านของชุมชนผ่านโครงการ คปภ. เพื่อชุมชนปี 3
ส่วนนายฝีน ขวัญโต๊ะเร๊ะ ชาวประมง ในพื้นที่หมู่ 13 บ้านคลองข่า ตำบลนาทับ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า การนำองค์ความรู้ด้านประกันภัยสู่ประตูบ้านชุมชนเช่นนี้ นับว่าเป็นประโยชน์ต่อชาวบ้านในชุมชน เป็นอย่างมาก ทำให้เข้าใจถึงระบบการทำประกันภัยประมงดีขึ้น ในขณะเดียวกันชาวบ้านผู้ทำการประมงก็สามารถสะท้อนสภาพปัญหาและความต้องการที่จะให้บริษัทประกันภัยรับประกันภัยประมงได้ตรงตามความต้องการ
ด้านเลขาธิการ คปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่า “สำนักงาน คปภ. มีความภาคภูมิใจที่เป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนนำระบบประกันภัยเข้าไปช่วยเป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยงภัยให้กับพี่น้องชาวประมง ให้ได้รับการเยียวยาความสูญเสียทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สินอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ ถือเป็นการเปิดมิติใหม่ของอุตสาหกรรมประกันภัยเข้าไปสู่กลุ่มชาวประมงพื้นบ้านให้ได้รับความคุ้มครองจากระบบประกันภัย ซึ่งจะได้นำข้อมูลที่ได้รับฟังความคิดเห็นของชาวชุมชนไปทบทวนปรับปรุงเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัยประมงให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น และเป็นประโยชน์ต่อชาวประมงอย่างแท้จริง หากท่านใดมีข้อสงสัยหรือมีข้อเสนอแนะเรื่องประกันภัยประมง หรือ ประกันภัยอื่นๆ สามารถสอบถามหรือให้ข้อแนะนำได้ที่ สายด่วน คปภ. 1186 “