ปฐมฤกษ์..คปภ. คลอดประกันภัยไข้เลือดออก เพื่อคุ้มครองประชาชนจากภัยไข้เลือดออก
ปฐมฤกษ์..คปภ. คลอดประกันภัยไข้เลือดออก เพื่อคุ้มครองประชาชนจากภัยไข้เลือดออก
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่ประเทศไทยได้รับ ผลกระทบจากพายุโซนร้อนทำให้มีฝนตกหนักเป็นระยะ ๆ ประกอบกับช่วงนี้เป็นช่วงฤดูปลายฝนต้นหนาว มักมีฝนตกบ่อยครั้งทำให้มีน้ำท่วมขัง เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลายซึ่งเป็นพาหะของโรคไข้เลือดออก ทำให้ประชาชนมีความเสี่ยงจากการเจ็บป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกอยู่เนืองๆ ดังนั้น เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2562 เลขาธิการ คปภ. ในฐานะนายทะเบียนจึงได้มีคำสั่งนายทะเบียนที่ 41/2562 เรื่องให้ใช้แบบ ข้อความ และ อัตราเบี้ยประกันภัยของกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองการเจ็บป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก เพื่อกำหนดใช้เป็นมาตรฐานเดียวกันและเพื่อนำระบบประกันภัยช่วยบรรเทาภาระทางการเงินจากการเจ็บป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกที่อาจเกิดขึ้นแก่ประชาชน
เลขาธิการ คปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองการเจ็บป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกถือเป็นแบบกรมธรรม์ประกันภัยมาตรฐานไข้เลือดออกฉบับแรกของประเทศไทย ที่มีการนำระบบประกันภัยเข้าไปบริหารความเสี่ยงให้กับประชาชน จากภัยโรคไข้เลือดออกโดยเฉพาะ ซึ่งกรมธรรม์ดังกล่าวจะให้ความคุ้มครองแก่ผู้เอาประกันภัย ถ้าผู้เอาประกันภัยได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่าเจ็บป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาที่ไม่คุ้มครอง(Waiting Period) 30 วัน นับจากวันที่กรมธรรม์ประกันภัยเริ่มมีผลบังคับเป็นครั้งแรก โดยมีความคุ้มครอง 2 ประการ ประการแรกคือ ความคุ้มครองการรักษาพยาบาลกรณีผู้ป่วยใน (IPD) และกรณีผู้ป่วยนอก (OPD) โดยหากผู้เอาประกันภัยได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่าเจ็บป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก และต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลเป็นผู้ป่วยใน (IPD) หรือผู้ป่วยนอก (OPD) ของโรงพยาบาล หรือสถานพยาบาลเวชกรรม หรือคลินิก จะจ่ายค่าทดแทนสำหรับค่าใช้จ่ายที่จำเป็นและสมควร ซึ่งเกิดขึ้นจากการรักษาพยาบาลตามความจำเป็นทางการแพทย์และมาตรฐานทางการแพทย์ เช่น ค่ารักษาพยาบาล ค่าห้อง ค่าอาหาร ค่าบริการพยาบาล ค่าบริการทั่วไป หรือค่ายา เป็นต้น ตามจำนวนเงินที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินจำนวนเงินเอาประกันภัยตามที่ระบุไว้ในตารางกรมธรรม์ประกันภัย ประการที่สองคือ ความคุ้มครองค่าชดเชยรายวันระหว่างรักษาตัวเป็นผู้ป่วยใน (IPD) ของโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลเวชกรรมตามความจำเป็นทางการแพทย์และมาตรฐานทางการแพทย์ จะจ่ายค่าชดเชยรายวันให้กับผู้เอาประกันภัยตามจำนวนวันที่เข้าพักรักษาตัวเป็นผู้ป่วยในดังกล่าว โดยกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองการเจ็บป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกในเบื้องต้น มีแผนประกันภัย 3 แผน และเบี้ยประกันภัยที่ต้องจ่าย(รวมอากรแสตมป์และภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว) ดังนี้
– แผนแรก ค่าเบี้ยประกันภัย 300 บาทต่อปี คุ้มครองการรักษาพยาบาลกรณีผู้ป่วยใน (IPD) และกรณีผู้ป่วยนอก (OPD) ตามจ่ายจริง แต่ไม่เกิน 30,000 บาท และ คุ้มครองเงินชดเชยรายวันระหว่างรักษาตัวเป็นผู้ป่วยในของโรงพยาบาลวันละ 300 บาท ชดเชยสูงสุด 30 วัน ต่อการเข้าพักรักษาตัวครั้งใดครั้งหนึ่ง
– แผนสอง ค่าเบี้ยประกันภัย 500 บาทต่อปี คุ้มครองการรักษาพยาบาลกรณีผู้ป่วยใน (IPD) และกรณีผู้ป่วยนอก (OPD) ตามจ่ายจริง แต่ไม่เกิน 50,000 บาท และ คุ้มครองเงินชดเชยรายวันระหว่างรักษาตัวเป็นผู้ป่วยในของโรงพยาบาลวันละ 500 บาท ชดเชยสูงสุด 30 วัน ต่อการเข้าพักรักษาตัวครั้งใดครั้งหนึ่ง
– แผนสาม ค่าเบี้ยประกันภัย 700 บาทต่อปี คุ้มครองการรักษาพยาบาลกรณีผู้ป่วยใน (IPD) และกรณีผู้ป่วยนอก (OPD) ตามจ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท และ คุ้มครองเงินชดเชยรายวันระหว่างรักษาตัวเป็นผู้ป่วยในของโรงพยาบาลวันละ 1,000 บาท ชดเชยสูงสุด 30 วัน ต่อการเข้าพักรักษาตัวครั้งใดครั้งหนึ่ง
“สำนักงาน คปภ. มีความภาคภูมิใจที่ได้เป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนนำระบบประกันภัยเข้าไปช่วยบริหารความเสี่ยงให้กับประชาชน ด้วยการส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยคุ้มครองภัยจากไข้เลือดออก ซึ่งมีราคาถูก และยังสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนทุกระดับ รวมทั้งจะช่วยบรรเทาความสูญเสียและความเดือดร้อนที่เกิดจากโรคนี้ ทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย