เลขาธิการ คปภ. ปลุกพลังกลุ่มอุตสาหกรรมประกันภัย ชูประกันสุขภาพสู้ความผันผวนทางเศรษฐกิจเพื่ออนาคตคนไทยที่ยั่งยืน

เลขาธิการ คปภ. ปลุกพลังกลุ่มอุตสาหกรรมประกันภัย ชูประกันสุขภาพสู้ความผันผวนทางเศรษฐกิจเพื่ออนาคตคนไทยที่ยั่งยืน

 

 

 

 
 

เลขาธิการ คปภ. ปลุกพลังกลุ่มอุตสาหกรรมประกันภัย ชูประกันสุขภาพสู้ความผันผวนทางเศรษฐกิจเพื่ออนาคตคนไทยที่ยั่งยืน

 

 

 

เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2562 ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เป็นประธานเปิดงานสัมมนาผู้บริหารด้านการประกันภัยประจำปี 2562 ภายใต้หัวข้อ “อนาคตประกันสุขภาพในยุคดิจิทัล (The Future of Health Insurance in Digital Age)” ระหว่างผู้บริหารสำนักงาน คปภ. ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคกับภาคธุรกิจประกันชีวิต และประกันวินาศภัย ณ โรงแรม คลาสสิค คามิโอ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในโอกาสนี้ เลขาธิการ คปภ. ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ทิศทางการพัฒนาการประกันสุขภาพ” โดยมีสาระสำคัญเรื่องนโยบายและทิศทางของ สำนักงาน คปภ. เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจสัญญาประกันภัยสุขภาพมาตรฐานให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน ปัจจุบันคนไทยเกือบทุกคนมีสวัสดิการเรื่องค่ารักษาพยาบาล มีสิทธิในการเข้าถึงบริการ แต่การได้รับบริการจากสถานพยาบาลยังอยู่บนข้อจำกัด คนส่วนใหญ่จึงแสวงหาการเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพ สะดวกรวดเร็ว สามารถเลือกใช้บริการได้หลากหลาย บนราคาที่สมเหตุสมผลและสามารถจ่ายได้ เพื่อส่งเสริมสนับสนุน กำกับดูแล ตลอดจนคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้เอาประกันภัยเกี่ยวกับการประกันภัยสุขภาพ สำนักงาน คปภ. จึงได้มีแผนการปรับปรุงประกันสุขภาพมาตรฐาน 2 ระยะ คือ แผนระยะสั้น ซึ่งจะดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2562 โดยจะปรับแก้ไขตารางผลประโยชน์ให้เกิดความโปร่งใส

 

 

กำหนดเงื่อนไขการต่ออายุกรณีครบรอบปีกรมธรรม์ให้ชัดเจน ปรับเบี้ยประกันภัยโดยพิจารณาจากสถิติของการรับประกันภัยโดยรวมทั้งพอร์ต สภาพที่เป็นมาก่อนเอาประกันภัยให้นับระยะเวลาเป็นมาตรฐานเดียวกัน ปรับผลประโยชน์ค่าธรรมเนียมแพทย์ผ่าตัดให้สอดคล้องกับที่แพทย์สภากำหนด รวมถึงปรับการผ่าตัดใหญ่ที่ไม่ต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาล (Day Surgery) ให้คุ้มครองการผ่าตัดใหญ่ด้วยวิวัฒนาการทางการแพทย์ที่ทันสมัย โดยจะออกคำสั่งนายทะเบียนภายในปี 2562 และจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในอีก 2 ปี นับแต่วันที่นายทะเบียนลงนาม แต่หากบริษัทใดพร้อม สามารถนำสัญญาประกันสุขภาพมาตรฐานไปเสนอขายได้ทันทีนับแต่นายทะเบียนลงนาม

 

สำหรับแผนระยะยาวจะเริ่มตั้งแต่ปี 2563 โดยมีแผนดำเนินการมาตรฐานความคุ้มครองแนบท้ายในส่วนที่ขยายจากสัญญาประกันสุขภาพ จัดทำมาตรฐานการแลกเปลี่ยนข้อมูลค่ารักษาพยาบาลของผู้เอาประกันภัยระหว่างโรงพยาบาลเอกชนและบริษัทประกันภัย คู่มือแนวปฏิบัติเพิ่มเติมการประกันสุขภาพมาตรฐาน คู่มือประชาชนการประกันสุขภาพ ฐานข้อมูลการประกันสุขภาพ ศึกษากฎหมายการประกันสุขภาพ ส่งเสริมสนับสนุนผลิตภัณฑ์ประกันสุขภาพที่ส่งเสริมเรื่องการดูแลสุขภาพ และที่สำคัญคือส่งเสริมให้นำเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาประกันภัยสุขภาพ

 

นอกจากนี้ยังมีการเสวนาเรื่อง “อนาคตประกันสุขภาพไทยในยุคดิจิทัล”เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและให้ความรู้ด้านการทำประกันสุขภาพในยุคดิจิทัลแก่ผู้เข้าร่วมสัมมนา ซึ่งเป็นการเสวนาร่วมกันระหว่างผู้บริหารจาก สำนักงาน คปภ. โดยนายชูฉัตร ประมูลผล รองเลขาธิการ ด้านกำกับ สำนักงาน คปภ. ผู้บริหารจากสมาคมประกันชีวิตไทย สมาคมประกันวินาศภัยไทย และ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการประกันสุขภาพ โดยมีประเด็นที่น่าสนใจในเรื่องที่ทุกฝ่ายควรบูรณาการ เชื่อมโยงข้อมูลกันทั้งภาครัฐและเอกชน และ การใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการรักษาของแพทย์ รวมทั้งช่วยส่งเสริมให้ผู้เอาประกันภัยมีสุขภาพที่ดีขึ้น จะสามารถช่วยสนับสนุนการพัฒนาประกันสุขภาพในยุคดิจิทัลได้ อีกทั้งได้มีการเสวนาเรื่อง “การประกันสุขภาพอย่างยั่งยืนสู่อนาคต” เป็นการเสวนาการปรับปรุงสัญญาประกันสุขภาพมาตรฐาน และ การจัดทำฐานข้อมูลด้านการประกันสุขภาพ รวมถึงแนวทางปฏิบัติการตีความถึงความจำเป็นทางการแพทย์ โดยมีประเด็นการกำหนดให้ผู้เอาประกันภัยมีส่วนร่วมจ่ายค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลจะเป็นจูงใจให้ผู้เอาประกันภัยใช้สิทธิในการเบิกสินไหมโดยสุจริต การยึดวิธีร่วมทุกข์ร่วมสุข ช่วยกันสอดส่องพฤติกรรมการใช้บริการทางการแพทย์ที่ไม่เหมาะสม ซึ่งในภาพรวมของธุรกิจประกันภัย หากมีการเบิกสินไหมทดแทนจำนวนมาก สุดท้ายแล้วเบี้ยประกันภัยก็จะสูงขึ้น ทำให้มีผลกระทบต่อผู้เอาประกันภัยรายอื่นอีกด้วย

 

 

“สำนักงาน คปภ. คงไม่สามารถเดินหน้าหรือผลักดันมาตรการต่าง ๆ ไปสู่จุดหมายใหม่ได้โดยลำพัง การได้รับความร่วมมือและมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ในการทำงานร่วมกัน สามารถผนึกกำลังช่วยผลักดันและขับเคลื่อนนโยบายสำคัญต่าง ๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน และนำไปสู่การพัฒนาประกันสุขภาพของประเทศให้เติบโตได้อย่างยั่งยืนต่อไป และผมเห็นว่า การป้องกันโรค ดีกว่าการประกันโรค อย่างไรก็ตามการประกันสุขภาพยังเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการบริหารความเสี่ยง แต่ต่อไปควรมุ่งไปในแนวทางประกันสุขภาพในเชิงป้องกันโรคให้มากขึ้น” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย