บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จํากัดThanks Press 2019
บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จํากัดThanks Press 2019
ไหว้พระทำบุญ... เดินตามรอย “บ้านของพ่อ” พระนครศรีอยุธยา
ร่วมส่งท้ายปี 2562 บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จํากัด จัดทริป Thanks Press 2019 นำโดย นพดล สันติภากรณ์ กรรมการผู้จัดการ ประสิทธิ์ คำเกิด รองกรรมการผู้จัดการด้านปฏิบัติการ และธารินี ปานเขียว ผู้อำนวยการสำนักประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่พนักงาน พร้อมคณะสื่อมวลชน ร่วมทำบุญสร้างกุศล “เดินตามรอยเท้าพ่อ” ด้วยวิถีพอเพียง ณ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
เมื่อพร้อมแล้วเริ่มออกเดินทางสู่พระนครศรีอยุธยา เมืองเก่า มรดกโลก ร่วมกันทำบุญฟังธรรม กันที่วัดสุวรรณดารารามราชวรวิหาร พร้อมถวายสังฆทานหมวกกันน็อกมอบหมวกต่อชุมชน โรงเรียน ทั้งนี้ ยังให้ความรู้ด้วยว่า บริษัทกลางฯ ทำหน้าที่ดำเนินการรับประกันภัยรถจักรยานยนต์ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของประชาชนในการจัดทำประกันภัยประเภทนี้ที่ถือว่าเป็นภารกิจสำคัญ ในการดำเนินการรับคำร้องขอและจ่ายค่าสินไหมทดแทนด้วย
ทั้งนี้ ตามประวัติวัดสุวรรณดาราราม ตั้งอยู่ริมป้อมเพชร พระอัยกาในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สร้างวัดนี้ตั้งแต่ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยาให้ชื่อว่า วัดทอง ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จขึ้นครองราชย์และทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี ได้โปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์วัดนี้ทั้งหมดและสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท โปรดเกล้าฯ ให้ช่างเขียนภาพเทพชุมนุมนิบาตชาดก 3 พระชาติ และภาพมารวิชัย มีแม่พระธรณียืนบีบมวยผมอยู่ตรงกลาง ซึ่งเหมือนภาพเขียนที่พระที่นั่ง พุทไธศวรรย ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติกรุงเทพมหานคร วัดสุวรรณดาราราม ได้รับการบูรณะจาก พระมหากษัตริย์ในพระราชวงศ์จักรีอย่างต่อเนื่องเกือบทุกรัชกาล ภาพจิตรกรรมฝาผนังจึงยังสมบูรณ์ดีอยู่จนทุกวันนี้
วัดนี้เดิมชื่อว่า “วัดทอง” เป็นวัดที่พระบรมมหาชนกของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงสร้างไว้ตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเสด็จขึ้นครองราชย์ จึงโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาวัดทองขึ้นใหม่และพระราชนามว่า “วัดสุวรรณดาราราม” เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่พระบรมชนกนาถและพระบรมราชชนนี ตามพระนามเดิมของทั้งสองพระองค์คือ “ทองดี” และ “ดาวเรือง”
วัดแห่งนี้มีสิ่งต่างๆ ที่น่าชมไม่ว่าจะเป็น พระอุโบสถ ซึ่งยังคงเป็นแบบสมัยอยุธยาตอนปลาย คือทำส่วนฐานโค้งอ่อนลงตรงกลางคล้ายปากเรือสำเภา หน้าบันอุโบสถสลักลายเป็นรูปนารายณ์ทรงครุฑ มีภาพจิตรกรรมฝาผนังเทพชุมนุมที่ผนังอุโบสถตอนบน ตอนล่างเขียนเรื่องเวสสันดรชาดก เตมีย์ชาดกและสุวรรณสามชาดก ผนังด้านหน้าพระประธานเขียนภาพมารวิชัย มีแม่พระธรณีบีบมวยผมอยู่ตรงกลาง
พระประธานในพระอุโบสถ รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้จำลองขยายส่วนจากพระแก้วมรกต นอกจากนั้นภายใน พระวิหาร ของวัดนี้มีภาพเขียนแสดงพระราชประวัติของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช นับเป็นจิตรกรรมฝาผนังที่มีฝีมือยอดเยี่ยมงดงามมาก กรมศิลปากรได้ถ่ายแบบภาพเขียนนี้ไปไว้ที่อนุสรณ์ดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี ทำให้หลายคนกราบสักการะพร้อมขอพรให้อย่างคึกคัก เพราะหวังว่าช่วงบ่ายอาจโชคดีกับสลากกินแบ่งรัฐบาล
จากนั้นออกเดินทางสู่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา ณ ตำบลประตูชัย ใกล้กับศาลากลางจังหวัดพระนครศรีอยุธยา (หลังเก่า )เยื้องมหาวิทยาลัยราชภัฏ พระนครศรีอยุธยา สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2502 โดยใช้เงินที่ประชาชนเช่า พระพิมพ์ซึ่งขุดได้จาก กรุวัดราชบูรณะที่สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 ( เจ้าสามพระยา) ทรงสร้าง จึงให้ชื่อว่า " เจ้าสามพระยา" พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งนี้ เมื่อปีพ.ศ.2504 พิพิธภัณฑสถาน แห่งชาติเจ้าสามพระยา เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งแรกของประเทศไทย ที่มีรูปแบบการจัดแสดงแผนใหม่ คือ นำโบราณวัตถุมาจัดแสดงไม่มากจนแน่นและได้นำ เสนอดูน่าสนใจมาก สภาพอาคารเป็นอาคารทรงไทยประยุกต์สิ่งที่น่าสนใจ ได้แก่ พระพุทธรูปประทับนั่งห้อยพระบาท เป็นพระพุทธรูปสมัยทวารวดีที่เคยประดิษฐานในซุ้ม พระสถูปโบราณวัดพระเมรุ จังหวัดนครปฐมซึ่งกรมศิลปากรได้พยายามติดตาม ชิ้นส่วนต่าง ๆขององค์พระที่กระจัดกระจายไปอยู่ในที่ต่าง ๆ มาประกอบขึ้นเป็นองค์พระได้อย่างสมบูรณ์นับว่าเป็น พระพุทธรูปที่มีค่ามากองค์หนึ่งเลยทีเดียว
ตัวพิพิธภัณฑ์ ประกอบด้วย อาคารหลัก 3 อาคาร 1. หมู่อาคารเรือนไทย สร้างคร่อมอยู่บนสระ จัดแสดงเพื่อรักษารูปแบบเรือนไทยแบบภาคกลาง และจัดแสดงสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ ภายในเรือนอาศัยของคนไทยภาคกลางในอดีต 2. อาคารศิลปะในประเทศไทย เป็นอาคาร 2 ชั้น จัดแสดงศิลปวัตถุสมัยต่าง ๆ ที่รวบรวมได้จากจังหวัดอยุธยา เช่น สมัยทวารวดี (พระพุทธรูปหินประทับยืนบนหัวของพนัสบดี พระพุทธรูปสำริดประทับยืนปางประทานพร) สมัยศรีวิชัย (เศียรพระสำริด) สมัยลพบุรี (พระพุทธรูปสำริดปางประทานพร ปางนาคปรก พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร) สมัยสุโขทัย (เครื่องกระเบื้องเคลือบต่าง ๆ โดยเฉพาะตุ๊กตา) สมัยเชียงแสน สมัยอยุธยา (ฐานพระพุทะรูปทำจากดินเผา มีรูปพระแม่ธรณี และเศียรพระพุทธสาวกที่ทำจากดินเผา) สมัยรัตนโกสินทร์ (แผ่นหินอ่อนจำหลักเรื่อง รามเกียรติ์ จากวัดโพธิ์) และ 3. อาคารตึกเจ้าสามพระยา เป็นอาคารหลักที่สำคัญที่สุด เพราะเก็บศิลปวัตถุอยุธยาชิ้นที่ถือว่าสำคัญ ๆ
ชั้นล่าง - เศียรพระพุทธรูปสำริดขนาดใหญ่จากวัดธรรมิกราช เป็นศิลปะแบบอู่ทอง ซึ่งนอกจากแสดงให้เห็นการบรรลุถึงความงดงามตามลักษณะพุทธศิลป์แล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงความรู้ความสามารถในเรื่องโลหะและการหล่อโลหะของอยุธยา - แนวตู้กระจกทางด้านขวามือของห้องโถงชั้นล่างจัดแสดงพระพุทธรูปหลายสกุลช่าง และหลายแบบที่พบในองค์พระมงคลบพิตร และที่ได้มาจากวัดราชบูรณะ เศษปูนปั้นศิลปะแบบอยุธยาที่ประดับเจดีย์วัดมหาธาตุ (เช่น ครุฑ และสุครีพถอนต้นรัง) พระพุทธรูปศิลาขาว ศิลปะทวารวดี - พระพุทธรูปทวารวดีขนาดใหญ่ ที่เคลื่อนย้ายมาจากวัดหน้าพระเมรุ เช่นเดียวกับพระประธานในวิหารเขียนของวัด ครุฑโขนเรือไม้จำหลัก หน้าพระเมรุ - เครื่องปั้นดินเผาชิ้นขนาดเล็กที่จัดแสดงอยู่อย่างเช่น คนอุ้มเด็กและไก่ ชาวต่างชาติ (ดัทช์) กับสุนัข เป็นต้น - ส่วนแนวด้านซ้ายมือของโถงชั้นล่าง จัดแสดงเครื่องไม้จำหลักต่าง ๆ เช่น ทวารบาล ประตูไม้จากวัดพระศรีสรรเพชญ์ บานประตูไม้ลายพรรณพฤกษาจากวัดวิหารทอง และหน้าบันไม้จำหลักรูปนารายณ์ทรงสุบรรณแวดล้อมด้วยอสูร เป็นต้น - เชิงบันไดสุดห้องโถง จัดแสดงหัวเรือรูปครุฑไม้แกะสลัก เป็นตัวอย่างของหัวเรือรูปสัตว์ต่าง ๆ ที่ใช้กันอยู่ในสมัยอยุธยา
ชั้นบน จัดแสดงข้าวของต่าง ๆ ตั้งแต่เครื่องเคลือบหลายสกุล จากหลายประเทศ เศียรพระและพระพุทธรูป แบบจำลองอาคาร เครื่องปั้นดินเผาภาพพระบฏเขียนสี ธรรมาสน์ไม้แกะสลัก และตู้พระธรรมที่งดงามอยู่หลายใบ แต่ที่สำคัญที่สุดคือ ห้องที่อยู่ปลายโถงทั้งสองอัน ได้แก่ ห้องมหาธาตุ จัดแสดงเครื่องทอง และพระบรมสารีริกธาตุที่พบอยู่กับกรุบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ มีแผนภาพอธิบายให้เข้าใจถึงลักษณะการประดิษฐานพระธาตุที่ถือกันว่าสำคัญที่สุดของอาณาจักรอยุธยา อีกทั้งยังได้จัดแสดงผอบทั้งเจ็ดชั้นที่บรรจุพระธาตุ และที่สำคัญที่สุดคือ จะได้เห็นองค์พระธาตุอีกด้วย
ห้องราชบูรณะ จัดแสดงศิลปวัตถุที่ค้นพบภายในกรุของวัดราชบูรณะ ซึ่งเป็นทองคำและอัญมณีทั้งหมด อันมีพระแสงขรรค์ชัยศรี แผ่นทองดุนลายนูนประกอบกันเป็นองค์จำลองของตัวพระปรางค์ เครื่องราชกกุธภัณฑ์ขนาดย่อส่วน กรองพระศอ สังวาลทับทรวง สร้อยพาหุรัด ทองพระกร ซึ่งเป็นทองประดับอัญมณี จุลมงกุฎใช้ครอบมุ่นมวยผมของบุรุษ ส่วนของสตรีนั้นเป็นเส้นทองขนาดเล็กมาก ถักเป็นตาข่ายโปร่งครอบศีรษะของสตรี เมื่อเดินดูทุกอย่างแล้ว ทำให้เราทุกคนได้ความรู้ถึงคุณค่าของเก่าแก่ที่หาดูได้ยากจริงๆ
หลังจากร่วมรับประทานอาหาร #ร้านอาหารไทรทองริเวอร์ ทางคณะได้ออกเดินทางไปต่อที่ ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบ้านของพ่อ “บ้านของพ่อ” ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ณ ทุ่งภูเขาทอง จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรและเป็นแหล่งให้ความรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อให้เด็ก และเยาวชน และผู้สนใจเข้าชมฟรี
ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบ้านของพ่อ จ.อยุธยา ที่นี่มีเรื่องราวอันงดงามและทรงคุณค่าที่พ่อได้สร้างและสอนไว้ผ่านภาพประตูรั้ว “บ้านของพ่อ”ศูนย์แห่งนี้เกิดขึ้นจากแรงบันดาลใจในวัยเด็กของ อัมรินทร์ เซ็นเสถียร ประธานศูนย์ฯ ที่บ้านอยู่กับธรรมชาติ สามารถหาของกินได้จากสิ่งที่อยู่รอบตัว จึงอยากเติมเต็มชีวิตในวัยเด็ก และอยากเผยแพร่สิ่งดีๆ จึงได้จัดตั้งศูนย์เรียนรู้ฯ แห่งนี้ขึ้นมาบนพื้นที่กว่า 3.5 ไร่ เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้วิถีชีวิตแบบพอเพียง การเกษตรและภูมิปัญญาชาวบ้านให้แก่เยาวชน หน่วยงาน และประชาชนทั่วไป โดยไม่แสวงหาผลประโยชน์อื่นใด และเป็นแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัด
ซึ่งแบ่งพื้นที่ตามหลักทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช คือ มีทั้งแหล่งกักเก็บน้ำ พื้นที่นา พื้นที่เพาะปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ และพื้นที่สำหรับเป็นที่พักอาศัย โดยจะจัดกิจกรรมเป็นฐานเรียนรู้ต่างๆ จำนวน 6 ฐาน คือ ฐานกิจกรรมปักดำนา ฐานกิจกรรมเลี้ยงแพะและแกะ ฐานกิจกรรมปลาตะเพียนสาน ฐานกิจกรรมไก่ไข่ ฐานกิจกรรมอาหารบ้านของพ่อ และฐานกิจกรรมบัานของพ่อบ้านของฉัน เรียกว่า อบอุ่นอิ่มใจด้วยการชิมโรตีสายไหมกันแบบสดๆ ที่ไม่มีการใส่สารกันบูดอีกด้วย และปิดท้ายของทริปนี้มาร่วมสังสรรค์แบบสนุกสนานของธีมงานวัด พร้อมแจกของรางวัลมากมาย #ร้านอาหาร T House Music Bar & Restaurant (สาขานวลจันทร์) พบกันใหม่ปีหน้าครับ!!!
หมายเหตุ
=วัดสุวรรณดาราราม ราชวรวิหาร
1/6 ซ.อู่ทอง 4 ตำบล หอรัตนไชย อำเภอ พระนครศรีอยุธยา พระนครศรีอยุธยา 13000
โทร. 035 251 518
=พิพิธภัณฑสถาน เจ้าสามพระยา ถ.ปรีดีพนมยงค์ ต.ประตูชัย จ.พระนครศรีอยุธยา เปิดบริการ เวลา 9.00 - 16.00 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร. 0-3524-1587
=ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบ้านของพ่อ จ.อยุธยา
ที่อยู่ : หมู่ 2 ต.ภูเขาทอง อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา
โทรศัพท์ : 0649321838, 0818176037
เปิดทุกวัน เวลา 8.00 - 17.00 น. (หยุดทุกวันจันทร์)
Facebook : https://www.facebook.com/bankongpor/
=บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด
เลขที่ 26 ซอย สุขุมวิท 64/2 ถนน สุขุมวิท แขวงพระโขนงใต้ เขตพระโขนง กรุงเทพฯ 10260
โทร 0-2100-9191 แฟ็กซ์ 0-2396-2093-4 Call Center 1791