กรมวิทย์ฯ ผนึก 16 สถาบันการศึกษา ชูมาตรฐาน NQI สร้างมูลค่าผลิตภัณฑ์ -บริการขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ด้วยนวัตกรรม
กรมวิทย์ฯ ผนึก 16 สถาบันการศึกษา ชูมาตรฐาน NQI สร้างมูลค่าผลิตภัณฑ์ -บริการขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ด้วยนวัตกรรม
กรมวิทยาศาสตร์บริการ จับมือ 16 สถาบันการศึกษาทั่วประเทศ ขับเคลื่อนมาตรฐาน NQI สู่การสร้างมูลค่าเพิ่มเชิงพาณิชย์รองรับนวัตกรรมผลิตผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ หวังดันอุตสาหกรรมเป้าหมายทั้งเกษตร อาหาร การแพทย์ และท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ สอดรับนโยบายรัฐสร้างเศรษฐกิจใหม่ด้วยโมเดล BCG ขยายฐานการเติบโตเศรษฐกิจของประเทศ 4.5 ล้านล้านบาท
นาย สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เปิดเผยว่าเมื่อเร็วๆนี้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) ได้ร่วมกับสถาบันการศึกษา 16 แห่งทั่วประเทศ เพื่อบูรณาการความร่วมมือยกระดับสินค้าและบริการ สู่การสร้างมาตรฐานผ่านการตรวจสอบที่เป็นไปตามเกณฑ์โครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศ หรือ NQI (National Quality Infrastructure) ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลที่ทั่วโลกให้การยอมรับทั้งด้านคุณภาพ และความปลอดภัย เพื่อรองรับนวัตกรรมใหม่ๆที่เกิดขึ้น ภายใต้นโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ BCG หรือ Bio – Circular- Green Economy ที่รัฐบาลให้ความสำคัญเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหาร สินค้าเกษตร การท่องเที่ยว และ อุตสาหกรรมการแพทย์ เป็นต้น
“การยกระดับคุณภาพด้วยมาตรฐานดังกล่าว จะมีส่วนสำคัญในการสร้างมูลค่าเพิ่ม เพื่อขับเคลื่อนนโยบาย BCG ของรัฐบาล จากปัจจุบันที่มีสัดส่วน อยู่ที่ 21 % ของผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) หรือ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 3.4 ล้านล้านบาท ซึ่งมีเป้าหมายเพิ่มให้ได้ อยู่ที่ 25 % ของผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) หรือ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 4.5 ล้านล้านบาท” นายสุวิทย์ กล่าว
สำหรับความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในครั้งนี้ จะเป็นส่วนสนับสนุนในการประเมินผลและรับรองสินค้าและบริการ ที่รองรับนวัตกรรมใหม่ๆได้อย่างครบถ้วน สามารถครอบคลุมอุตสาหกรรมของประเทศ เพื่อให้ทันกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมของประเทศ ที่อยู่ระหว่างขอรับรอง อยู่ประมาณกว่า 20,000 หน่วยงาน ซึ่งปัจจุบันสามารถให้การรับรองไปได้ เพียง 1,000 กว่าหน่วยงาน เนื่องจากบุคคลากรภาคอุตสาหกรรมในด้าน NQI มีไม่เพียงพอ ทำให้การบริการไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดที่จะส่งผลต่อขีดความสามารถด้านการแข่งขันของประเทศ
ดังนั้นการพัฒนาระบบ NQI ของกรมวิทยาศาสตร์บริการในครั้งนี้ จะเป็นก้าวสำคัญให้ไทยเป็นศูนย์กลางการวิจัยและพัฒนาและการบริการโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของอาเซียน ที่จะมีความสามารถทางการวัดและวิเคราะห์สูงติดอันดับ 1 ใน 5 ของเอเชีย มีอุตสาหกรรมบริการโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพ มีบริการวิเคราะห์ ทดสอบ คุณภาพระดับโลก เพื่อให้เกิดความสม่ำเสมอของผลิตภัณฑ์ เทียบเท่ากับคุณภาพสินค้าของกลุ่มประเทศชั้นนำ เช่น สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น
นางสาวนิสากร จึงเจริญธรรม อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์บริการ ในฐานะที่เป็นหน่วยงานให้บริการตรวจสอบรับรองสินค้าและบริการ ได้เตรียมความพร้อมด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมต่างๆ ออกสู่ภาคอุตสาหกรรมเพื่อสร้างมูลค่าผลิตภัณฑ์และนวัตกรรม เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็ง ของผู้ประกอบการ โดยการนำระบบ NQI มาใช้ในการยกระดับการผลิตสินค้าให้มีคุณภาพและมาตรฐาน ซึ่งจะต้องผ่านกระบวนการรับรองในด้านต่างๆ ทั้งด้านมาตรวิทยาที่จะช่วยในการวิเคราะห์ ทดสอบ เพื่อนำไปสู่แนวทางการปฏิบัติได้จริง การกำหนดมาตรฐาน การรับรองระบบงาน การตรวจสอบและรับรอง และการกำกับดูแลตลาด ซึ่งจะทำให้การทำงานเกิดการเชื่อมโยงของระบบที่จะนำไปสู่การยกระดับให้สินค้าไทยได้รับการพัฒนาทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและสร้างความเชื่อมั่นให้กับตลาดต่อผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ