ปีใหม่เดินทางปลอดภัย คปภ. ห่วงใย ชวนคนไทยทำประกันภัย พ.ร.บ.

ปีใหม่เดินทางปลอดภัย คปภ. ห่วงใย ชวนคนไทยทำประกันภัย พ.ร.บ.

 

 

 

 

 
 

ปีใหม่เดินทางปลอดภัย คปภ. ห่วงใย ชวนคนไทยทำประกันภัย พ.ร.บ. จัดกิจกรรม “ขับขี่ปลอดภัย อุ่นใจไปกับ พ.ร.บ.” เพื่อประโยชน์ของทุกคน

 

 

 

คปภ.เร่งเดินหน้าต่อเนื่อง จัดกิจกรรมรณรงค์ “ขับขี่ปลอดภัย อุ่นใจไปกับ พ.ร.บ.” ปลุกจิตสำนึกเจ้าของรถ ร่วมรับผิดชอบต่อสังคม ด้วยการทำประกันภัยรถภาคบังคับ หรือประกันภัย พ.ร.บ. ที่ จ.ชลบุรี พร้อมจัดเสวนาให้ความรู้ เพื่อให้ประชาชนได้รับความรู้เกี่ยวกับประกันภัย พ.ร.บ. และสิทธิประโยชน์ที่ได้รับจาก “กองทุนทดแทนผู้ประสบภัย” เพื่อให้สามารถขอรับการช่วยเหลือ เยียวยาได้อย่างทันท่วงที เมื่อประสบภัยจากรถในทุกกรณี

 

วันนี้ (24 ธ.ค.62) ดร.สุทธิพล ทวีชัยการเลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เป็นประธานในพิธีเปิดงาน “ขับขี่ปลอดภัย อุ่นใจไปกับ พ.ร.บ.” ด้วยการปล่อยขบวนคาราวานรถมอเตอร์ไซค์ “ขับขี่อุ่นใจ” จำนวนกว่า 100 คัน พร้อมจัดเสวนาให้ความรู้โดยมีผู้แทนสำนักงาน คปภ. ภาค/จังหวัด อาสาสมัครประกันภัย และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยบูรพา เข้าร่วมงานรวมกว่า 300คน ณ บริเวณโรงแรมเทาทอง มหาวิทยาลัยบูรพา โดยมี ผศ.ดร ศักดิ์ชัย เศรษฐ์อนวัช รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยบูรพาให้เกียรติกล่าวต้อนรับและร่วมงาน

 

 

เลขาธิการ คปภ. เปิดเผยว่า เนื่องจากขณะนี้เริ่มเข้าสู่ช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นบ่อยครั้ง “กองทุนทดแทนผู้ประสบภัย” ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของสำนักงาน คปภ. จึงได้จัดกิจกรรมขึ้น เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการประกันภัย พ.ร.บ. ทั้งนี้ จากสถิติรถยนต์จดทะเบียนทั่วประเทศสะสม ณ วันที่ 30พฤศจิกายน 2562 มีจำนวนรถที่จดทะเบียนสะสมกว่า 40.64 ล้านคัน ในขณะที่รถที่มีประกันภัย พ.ร.บ. มีเพียง 25.51 ล้านคัน หรือประมาณ 60.05% ซึ่งตัวเลขเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่ายังมีเจ้าของรถอีกเป็นจำนวนมากที่ยังไม่เข้าใจและเห็นถึงความสำคัญของ การมีประกันภัยรถภาคบังคับ ซึ่งการไม่จัดทำประกันภัย พ.ร.บ. นั้นเจ้าของรถมีความผิดตามกฎหมาย และถูกปรับไม่เกิน 10,000 บาท

 

 

นอกจากนี้ หากรถคันดังกล่าวไปก่อเหตุ เจ้าของรถจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าเสียหายเบื้องต้นให้กับผู้ประสบภัย เป็นค่ารักษาพยาบาลตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 30,000 บาท สำหรับกรณีบาดเจ็บ หรือหากเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ หรือทุพพลภาพ จะต้องรับผิดชอบค่าปลงศพหรือค่าทดแทน จำนวน 35,000 บาท แต่หากปฏิเสธการจ่าย แม้กองทุนทดแทนผู้ประสบภัยจะเข้ามาจ่าย แต่จะต้องถูกเรียกคืนในภายหลัง พร้อมเงินเพิ่มอีกร้อยละ 20 และอาจถูกฟ้องทางแพ่งเพิ่มเติมได้ หากผู้ประสบภัยได้รับความเสียหายหรือความสูญเสียเกินกว่านั้น ในทางกลับกัน หากมีการทำประกันภัย พ.ร.บ. บริษัทจะเข้ามารับผิดชอบแทน โดยการจ่ายค่ารักษาพยาบาลตามที่จ่ายจริงให้แก่ผู้ประสบภัย จำนวนสูงสุด 80,000 บาท กรณีบาดเจ็บ หรือหากเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ หรือทุพพลภาพ จะจ่ายค่าสินไหมทดแทน จำนวนสูงสุด 300,000 บาท ดังนั้น จะเห็นได้ว่า การไม่จัดทำประกันภัยจะส่งผลกระทบหรือสร้างภาระทางการเงินให้แก่เจ้าของรถที่ไม่จัดทำประกันภัยอย่างมาก ในทางกลับกันประกันภัย พรบ. จะช่วยเหลือและบรรเทาภาระทางการเงินให้เจ้าของรถเป็นอย่างมาก

 

 

 

“กองทุนทดแทนผู้ประสบภัย” จึงได้จัดกิจกรรมเพื่อให้ประชาชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของการจัดทำประกันภัย พ.ร.บ. สามารถนำระบบประกันภัยไปใช้บริหารความเสี่ยงของตนเอง ได้อย่างถูกต้อง รวมทั้งเข้าใจถึงบทบาท และสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับจากกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย เลขาธิการ กล่าวในตอนท้าย