วิริยะประกันภัยโชว์เทคโนโลยีรับยุค Digital Disruption

วิริยะประกันภัยโชว์เทคโนโลยีรับยุค Digital Disruption

 

 

 

 

 

วิริยะประกันภัยโชว์เทคโนโลยีรับยุค Digital Disruption

            ตอกย้ำความเป็นอันดับ 1 ประกันวินาศภัยไทย

            ปลื้ม! ผลงานปี 62 เบี้ยรับรวม 3.8 หมื่นล้าน

 

            วิริยะประกันภัยประกาศความสำเร็จด้านเทคโนโลยี ตอกย้ำความเป็นอันดับ 1 ประกันวินาศภัยไทยยุค“Digital Disruption” เผยนวัตกรรม 3 ด้านหลักที่บรรลุผล  “เทคโนโลยีเพื่อการวิเคราะห์ เทคโนโลยีเพื่อเชื่อมต่อคู่ค้าเป็นหนึ่งเดียว เทคโนโลยีเพื่อบริการสินไหม” ล่าสุดก้าวไปอีกขั้นเปิดแพลตฟอร์ม “VClaim on VCall”บริการเคลมผ่านจอมือถือ เชื่อมรรคผลความสำเร็จด้านเทคโนโลยีจะทำให้ผลประกอบการปี 63 โตถึง 3% ส่วนผลประกอบการปี 62 มีเบี้ยรับรวม 38,896 ล้านบาท เฉพาะผลประกอบการการประกันภัยที่ไม่ใช่รถยนต์ มี เบี้ยรับรวม 4,078 ล้านบาท โดยมีสินค้าที่เติบโตโดดเด่น “ประกันสุขภาพ-ประกันภัยความรับผิดผู้ขนส่งทางบก”

 

นายอมร ทองธิว กรรมการและรองกรรมการผู้จัดการ บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การดำเนินธุรกิจในปี 2563 นอกจากจะถูกท้าทายด้วยปัจจัยเดิมๆ ที่มีผลให้เศรษฐกิจในภาพรวมมีทิศทางไม่ค่อยสดใสมากนัก ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจในประเทศ ค่าเงินบาท แนวโน้มการส่งออก  และวิกฤตล่าสุดผลกระทบจากโรคระบาดไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ โควิด-19 (COVID-19)  ผู้ประกอบการยังถูกท้าทายจากปัจจัยภายในองค์กรของตนเอง นั่นก็คือความสามารถในการปรับตัวให้ก้าวทันยุค “Digital Disruption” อีกด้วย

 

“เรื่องเทคโนโลยีดิจิทัลนี้ ต้องยอมรับว่าจะทวีบทบาทและความสำคัญต่อธุรกิจประกันภัยมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง  โดยจะถูกนำมาประยุกต์ใช้ เพื่อสร้างความแตกต่าง และสามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค และยังช่วยแก้ปัญหา Pain Point ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในเรื่องประกันภัย ตั้งแต่เรื่องผลิตภัณฑ์จนถึงการบริการ” นายอมรกล่าว

 

               นายอมร เปิดเผยต่อไปอีกว่า วิริยะประกันภัย ในฐานะผู้นำอันดับ 1 ของธุรกิจประกันวินาศภัยไทย บริษัทฯ        ยังมุ่งมั่นที่จะทำหน้าที่บริหารจัดการความเสี่ยงภัยให้กับลูกค้าอย่างมืออาชีพ กล่าวคือ รวดเร็ว เหมาะสม เป็นธรรม     และที่สำคัญ บริษัทฯ ได้รับการไว้วางใจจากผู้บริโภคให้ช่วยบริหารความเสี่ยงภัยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกๆ ปี ซึ่งในปัจจุบันบริษัทฯ มี Market Share ของธุรกิจประกันวินาศภัยโดยรวมอยู่ที่ประมาณ 16%  หรือ 1 ใน 6  เปรียบเทียบได้ว่าในจำนวนผู้ทำประกันภัย 6 คน ต้องเป็นลูกค้าวิริยะประกันภัย 1 คน ส่วน Market Share เฉพาะตลาดประกันภัยรถยนต์ โดยรวมอยู่ที่ 24% หรือ 1 ใน 4 เปรียบเทียบได้ว่าในจำนวนรถยนต์ 4 คัน ต้องมีรถยนต์ที่ทำประกันภัยกับวิริยะประกันภัย 1 คัน  ซึ่งปัจจุบัน บริษัทฯ ดูแลลูกค้าอยู่ประมาณ 8 ล้านกรมธรรม์ แยกเป็นประกันรถยนต์ (Motor) 6.5 ล้านกรมธรรม์ และการประกันภัยที่ไม่ใช่รถยนต์ (Non-Motor) อีก 1.5 ล้านกรมธรรม์ และในจำนวนนี้บริษัทฯ ได้มีโอกาสให้บริการเคลมสินไหมทดแทนคิดเป็น 1 ล้านเคลมต่อปี  ซึ่งการบริการเคลมสินไหมที่บริษัทฯ ให้บริการลูกค้า ถือเป็นภารกิจสำคัญและท้าทายที่บริษัทฯ ต้องใส่ใจ ดูแล เพื่อให้มั่นใจได้ว่าผู้เอาประกันภัยจะได้รับการบริการที่ดีมีคุณภาพ

              

 

 

 

              

 

 

               ดังที่กล่าวมาข้างต้นว่าการประกันภัยในยุคดิจิทัลต้องพร้อมรองรับทุกการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ประกอบกับพฤติกรรมของผู้บริโภคเริ่มซับซ้อนขึ้น มีไลฟ์สไตล์แตกต่างกัน มีแพลตฟอร์มเทคโนโลยีใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย และแตกต่างจากอดีตอย่างสิ้นเชิง บริษัทฯ จึงตระหนักถึงความจำเป็นและเร่งด่วนของเทคโนโลยี และได้มีการดำเนินการด้านเทคโนโลยีมาอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นการสร้างนวัตกรรมใน 3 ด้านหลักดังนี้

 

               1. เทคโนโลยีเพื่อใช้ประโยชน์จากข้อมูล (DATA- DRIVEN TECHNOLOGIES)  ซี่งจะเป็นเครื่องมือช่วยในการวิเคราะห์ ทำให้บริษัทเข้าใจและตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น  (Customer Insights) เช่น ระบบ CRM  โดยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีมาอย่างต่อเนื่อง ส่วนปีนี้บริษัทฯ ยังเติมเต็มเทคโนโลยีเพื่อใช้ประโยชน์จากข้อมูลในหลายๆ เรื่องด้วยกัน โดยเลือกเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ นำมาผสานกับข้อมูลที่บริษัทมีอยู่เป็นจำนวนมากในทุกๆ กระบวนการทำงาน โดยเฉพาะเรื่องเคลม เพื่อช่วยให้บริษัทฯ ได้วิเคราะห์ข้อมูลที่เกิดขึ้นในอดีต และคาดการณ์สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างแม่นยำ (Data Analytics) นำไปสู่การพัฒนาปรับปรุงผลิตภัณฑ์และการบริการให้ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างรวดเร็วและตรงประเด็น ทั้งหมดนี้เพื่อให้ลูกค้าตระหนักถึงประโยชน์ของการประกันภัยในด้านการช่วยแก้ปัญหา และลดภาระค่าใช้จ่ายที่ไม่คาดคิดให้กับผู้เอาประกันภัยและครอบครัว

 

               2. เทคโนโลยีเพื่อการเชื่อมต่อทางธุรกิจกับคู่ค้า API (Application Programming Interface) ด้วยแพลตฟอร์มเทคโนโลยีใหม่ที่เกิดขึ้น ช่วยเอื้อประโยชน์ในการเปิดกว้างให้แบรนด์วิริยะประกันภัย สามารถเชื่อมโยง และเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้น ผ่านหลากหลายช่องทางพันธมิตรทางธุรกิจหรือคู่ค้า ในระยะเวลาที่รวดเร็ว ซึ่งปีที่ผ่านมาบริษัทได้ร่วมมือกับคู่ค้าหลายราย เพื่อขยายช่องทางการขาย และพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการประกันภัยใหม่ๆ สำหรับลูกค้าแต่ละกลุ่ม ซึ่งมีความต้องการ และ ไลฟ์สไตล์ที่แตกต่างกันไป  โดยสุดท้ายทั้งลูกค้า และภาคธุรกิจจะได้ประโยชน์ร่วมกันจากการประกันภัย 

 

               3. เทคโนโลยีเพื่อบริการสินไหม วิริยะประกันภัย เน้นย้ำและดำเนินการอย่างต่อเนื่องเรื่องการพัฒนา          นวัตกรรมด้านสินไหม จากสถิติข้อมูลสินไหมประกันภัยรถยนต์พบว่าเคลมที่เกิดขึ้นส่วนมากเป็นเคลมแบบไม่มีคู่กรณีหรือเคลมบริการ  ซึ่งลูกค้าสามารถนัดหมายทำเคลมได้ภายหลัง เราคัดสรรเทคโนโลยีที่เหมาะสมเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้า ไม่ต้องเสียเวลารอคอยพนักงานเคลม ด้วยการทำเคลมผ่าน “VClaim on VCall” ซึ่งใช้งานง่าย สะดวก รวดเร็วแบบเรียลไทม์ เป็นทางเลือกให้กับกลุ่มลูกค้าที่ชื่นชอบเทคโนโลยีได้ทำเคลมผ่านช่องทางนี้ 

 

               ส่วนทางด้านการรับประกันภัยที่ไม่ใช่รถยนต์ (Non-Motor) นายอมร กล่าวเพิ่มเติมว่า ด้วยความเป็นแบรนด์วิริยะประกันภัย ทำให้บริษัทฯ ได้รับความไว้วางใจ และเข้าถึงลูกค้าได้ง่าย ซึ่งเป็นผลมาจากการได้รับการยอมรับเรื่องบริการสินไหมทดแทน ซึ่งบริษัทฯ ได้บ่มเพาะประสบการณ์และความเชี่ยวชาญด้านประกันภัยรถยนต์มาอย่างยาวนาน ดังนั้นการขยายตลาดสู่ประกัน Non-Motor จึงเป็นเรื่องที่บริษัทฯ ทำได้ค่อนข้างประสบความสำเร็จ วัดผลได้จากอัตราการเติบโตที่เพิ่มขึ้น โดยบริษัทฯ ยังคงยืนยันเป้าหมายการเพิ่มขึ้นของสัดส่วนงานประกันภัยที่ไม่ใช่รถยนต์ (Non-Motor) เป็น 20% ภายใน 5 ปี

 

               สำหรับผลประกอบการการดำเนินงานในปี 2562 นายอมร ได้เปิดเผยว่า ปีที่ผ่านมาเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่าปัจจัยแวดล้อมทางเศรษฐกิจในภาพรวมยังคงเป็นปัจจัยเชิงลบในทุกๆ ด้าน จนทำให้ต้องมีการปรับลดประมาณการอัตราขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจ (GDP) มาอย่างต่อเนื่อง แต่ผลประกอบการของบริษัทฯ ยังคงเติบโตอยู่ในแดนบวก โดยมีเบี้ยรับรวม 38,896 ล้านบาท แยกเป็นเบี้ยประกันภัยรถยนต์ 34,818 ล้านบาท เป็นสัดส่วน 89.52% และเบี้ยประกันภัยที่ไม่ใช่รถยนต์ 4,078 ล้านบาท มีสัดส่วน 10.48% ในขณะที่อัตราส่วนสัดส่วนของค่าสินไหมทดแทนต่อค่าเบี้ยประกันภัย (Loss Ratio ) ยังอยู่ในเกณฑ์ดี คือ 63.33% ส่วนทางด้านความมั่นคงของบริษัทฯ ในด้านสินทรัพย์มีมูลค่า 76,077 ล้านบาท มีอัตราส่วนเงินกองทุนที่ต้องดำรงไว้ตามกฏหมายอยู่ที่ 215.90% เกินกว่ามาตรฐานที่สำนักงาน คปภ. กำหนดไว้ 150%

 

               “ด้วยความสำเร็จที่เกิดขึ้นทำให้แคมเปญเพื่อการส่งเสริมภาพลักษณ์องค์กรประจำ 2563 บริษัทฯ จึงเลือกใช้แคมเปญ “ขอบคุณที่ทำให้เราเป็นอันดับ 1 ตลอดมา” ทั้งนี้เพื่อเป็นการขอขอบคุณ ลูกค้า ตัวแทน นายหน้า คู่ค้า องค์กรพันธมิตรทุกภาคส่วน ที่มอบความไว้วางใจให้วิริยะประกันภัย ได้มีส่วนดูแลด้านประกันภัย จนสามารถครองความเป็นอันดับหนึ่งของอุตสาหกรรมประกันวินาศภัยมาอย่างต่อเนื่องยาวนานเป็นปีที่ 33” นายอมรกล่าว

 

 

 

 

               ส่วนทางด้าน นายสยม โรหิตเสถียร รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงการดำเนินธุรกิจประกันภัยที่ผ่านมาว่า บริษัทฯ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาปรับปรุงคุณภาพการบริการอยู่สม่ำเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพิ่มศักยภาพด้านการรับประกันภัยรถยนต์ ซึ่งถือเป็นจุดแข็งของบริษัทฯ ด้วยการบ่มเพาะความเชี่ยวชาญจากประสบการณ์การเคลมสินไหมกว่า 1 ล้านเคสต่อปี  จึงทำให้วิริยะประกันภัยยังคงความเป็นผู้นำธุรกิจประกันวินาศภัยและประกันภัยรถยนต์มาอย่างต่อเนื่อง  

 

               โดยเทคโนโลยีที่บริษัทฯ ได้ดำเนินการมาแล้วอย่างระบบ  Viriyah Smart Claim” (VSC)   อันเป็นการนำสมาร์ทโฟนมาผสานการทำงานร่วมกันกับแผนที่นำทาง Google Map ซึ่งระบบจะบ่งบอกสถานะการทำงานของพนักงานตรวจสอบอุบัติเหตุ เพื่อช่วยในเรื่องของการบริหารจัดการการมอบหมายงาน เมื่อมีงานรับแจ้งอุบัติเหตุ หรือการเคลมนัดหมายเกิดขึ้น นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้พัฒนาต่อยอดระบบงาน VSC มาสู่ระบบงานตรวจสอบอุบัติเหตุ V-Surveyor” เป็นการเคลมผ่านมือถือแบบเรียลไทม์ ซึ่งได้เพิ่มในส่วนของการบันทึกงานตรวจสอบอุบัติเหตุและการออกเอกสารใบรับรองความเสียหายให้แก่ผู้เอาประกันภัย โดยพนักงานตรวจสอบอุบัติเหตุสามารถดำเนินการได้ทันทีผ่านสมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ต ณ จุดเกิดเหตุ

 

               “ปัจจุบัน บริษัทฯ ได้นำระบบ VSC เข้าสู่ระบบงานสินไหมทดแทนทั่วประเทศแล้ว ควบคู่ไปกับการขยายระบบงาน V-Surveyor ซึ่งประโยชน์ที่ได้คือ ลูกค้าได้รับการบริการสินไหมที่สะดวก รวดเร็วมากขึ้น  และบริษัทฯ สามารถบริหารจัดการระบบงานตรวจสอบอุบัติเหตุ และมอบหมายงานบุคลากรในการออกให้บริการลูกค้าได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น”

 

               สำหรับแผนการดำเนินงานในปีนี้ บริษัทฯ ยังคงมุ่งเน้นพัฒนาปรับปรุงคุณภาพการบริการ ทั้งการพัฒนาบุคลากรด้านการตรวจสอบอุบัติเหตุรถยนต์ รวมถึงคุณภาพการบริการสินไหมรถยนต์ ด้วยการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่ๆ เข้ามาช่วยเสริมระบบการทำงานให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

 

               นายสยม กล่าวต่อไปอีกว่า ล่าสุดบริษัทฯ ได้ริเริ่มนวัตกรรมบริการการตรวจสอบอุบัติเหตุแบบเรียลไทม์ ภายใต้ชื่อ  VClaim on VCall”  หรือ  “บริการเคลมนัดหมายผ่านวิดีโอคอล”  เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้กับผู้เอาประกันภัย ที่ต้องการความสะดวกรวดเร็วในการตรวจสอบสภาพรถยนต์ โดยผู้เอาประกันภัยสามารถนัดหมายการเคลมในวันเวลา ซึ่งถือเอาตามความสะดวกของผู้เอาประกันภัยเป็นหลัก และยังสามารถรับบริการได้ทันทีโดยไม่ต้องรอพนักงานเคลมไปยังจุดนัดหมาย 

 

               สำหรับกระบวนการให้บริการ เคลมนัดหมายผ่านวิดีโอคอล เมื่อมีการนัดหมายเกิดขึ้น  และลูกค้าพร้อมที่จะวิดีโอคอล เจ้าหน้าที่จะส่ง SMS แจ้งยืนยันกับลูกค้าก่อน จากนั้นเมื่อลูกค้าตอบรับการบริการผ่านวิดีโอคอลแล้ว จึงจะดำเนินการพูดคุยต่อไป แต่หากลูกค้าปฏิเสธการทำวิดีโอคอล เพราะไม่สะดวก หรือ สัญญาณอินเตอร์เน็ตขัดข้อง หรือโทรศัพท์ไม่รองรับการใช้งาน ก็ยังสามารถเลือกใช้วิธีการนัดเคลมรูปแบบเดิมได้ ทั้งนี้ในส่วนของข้อมูลทั้งวิดีโอบันทึกการสนทนาหรือภาพที่มีการถูกถ่ายขณะสนทนาจะถูกจัดเก็บอย่างเหมาะสมและมีความปลอดภัย อีกทั้งระบบยังมีการจำกัดสิทธิ์การเข้าถึงข้อมูล เพื่อป้องกันไม่ให้บุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องมีสิทธิเข้าถึงข้อมูลได้

 

               ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้ริเริ่มระบบบริการดังกล่าวมาตั้งแต่ปลายปี 2562 โดยเริ่มทดลองใช้ในเขตพื้นที่ศูนย์ปฏิบัติการสินไหมทดแทน พระราม 2 และศูนย์ปฏิบัติการสินไหมทดแทน บางนา ก่อนขยายผลการให้บริการไปยังพื้นที่รับผิดชอบของฝ่ายปฏิบัติการภาค 6 (กรุงเทพฯ และปริมณฑล)  นอกจากนี้ ในช่วงต้นปี 2563 บริษัทฯ ยังได้จัดตั้งห้องปฏิบัติการเพื่อเป็นศูนย์กลางการให้บริการ “VClaim on VCall” อย่างเต็มรูปแบบขึ้นที่วิริยะประกันภัย สำนักงานใหญ่

 

 

 

               สำหรับการประกันภัยที่ไม่ใช่รถยนต์ (Non-Motor) นายเกรียงศักดิ์ โพธิเกษม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ได้กล่าวถึงความพร้อมของเทคโนโลยีว่า บริษัทฯ ได้มีการพัฒนาระบบ Customer Relationship Management (CRM) เพื่อเพิ่มศักยภาพช่องทางการขายอย่างมีคุณภาพ ยั่งยืน และรวดเร็ว  รวมถึงการเก็บข้อมูลพฤติกรรมความต้องการของลูกค้า  เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้ได้มากที่สุด จากนั้นจะนำข้อมูลเหล่านั้นมาวิเคราะห์ และใช้ให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ หรือการบริการรวมไปถึงนโยบายที่รองรับความต้องการของผู้บริโภค และยังมีการทดสอบการใช้งานระบบทำงานอัตโนมัติ (RPA : Robotic Process Automation) ที่จะนำมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานแทนมนุษย์ได้อย่างถูกต้อง ซึ่งระบบนี้สามารถทำได้ตลอด 24 ชั่วโมง ทางบริษัทฯ จะนำมาใช้สำหรับงานที่ทำแบบเดิมๆ ซ้ำๆ

 

               นอกจากนี้ยังมีการเตรียมระบบการเรียนการสอน Online (E-Learning) เพื่อสนับสนุนการทำงาน ทั้งภายใน และภายนอกองค์กร เช่น การเตรียมการเรียนการสอนในตัวผลิตภัณฑ์เพื่อให้พนักงาน ตัวแทน หรือผู้สนใจ เข้าใจในตัวผลิตภัณฑ์มากยิ่งขึ้น หรือการสอนการใช้โปรแกรมการออกกรมธรรม์สำหรับพนักงาน เป็นต้น เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ

 

               นายเกรียงศักดิ์ กล่าวต่อไปอีกว่า อย่างไรก็ตามด้านการรับประกันภัยประกันสุขภาพบริษัทฯ ยังคงมุ่งมั่นที่จะให้คนไทยทั้งประเทศมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยเฉพาะปีนี้ยิ่งมีปัญหา PM 2.5 ซึ่งกลับมาเป็นปัญหาสุขภาพทุกปี   ทั้งในส่วนกรุงเทพฯ และในต่างจังหวัด ปัญหาสุขภาพก็ตามมาด้วย โดยเฉพาะปัญหาระบบทางเดินหายใจ อีกทั้งเรื่องไวรัส COVID-19 ที่เริ่มระบาดในประเทศจีนแล้วลุกลามไปยังหลายประเทศทั่วโลกตอนนี้ ยิ่งทำให้ความสนใจเรื่องประกันสุขภาพมีมากขึ้น และยังส่งผลโดยตรงกับยอดขายประกันสุขภาพในภาพรวมที่ควรจะโตขึ้นตามไปด้วย

 

               “เราอยากให้ลูกค้ามีความมั่นใจ เรามีสินค้าที่คุ้มครองโรคที่มาจากทั้ง PM 2.5 และไวรัส COVID-19 อยู่แล้ว ลูกค้าที่ถือกรมธรรม์ประกันสุขภาพ เปี่ยมใจรักษ์ สุขใจรักษ์ และ อุ่นใจรักษ์ทุกแผน และ Tisco Mycare Smart ให้ความคุ้มครองตามวงเงินผลประโยชน์ตามเงื่อนไขกรมธรรม์  อีกทั้งเรามีสินค้าออกมาเพื่อรองรับ COVID-19 โดยตรง คือ สินค้า “โควิด 19 ชีลด์” (COVID-19 Shield) ให้ความคุ้มครองสำหรับผู้เอาประกันที่วินิจฉัยโดยแพทย์ว่าได้ติดเชื้อ COVID-19 จะได้รับความคุ้มครองเป็นวงเงิน สูงสุด 100,000 บาท และมีเงินชดเชยรายวัน วันละ 300 บาทเป็นเวลา 14 วัน พร้อมรับการคุ้มครองเสียชีวิตจากอุบัติเหตุอีก 100,000 บาท  คุ้มครองตั้งแต่ อายุ 15 วัน ถึง 99 ปี เบี้ยประกันภัยเริ่มต้นที่ 299 บาท ต่อ 1 ปีกรมธรรม์ อย่างไรก็ตาม ต้องขอย้ำว่า ประกันภัยโควิด 19 ชีลด์นั้น มีเงื่อนไขสำคัญประการหนึ่ง คือ มีระยะเวลารอคอย 14 วัน ซึ่งหมายถึงหากผู้เอาประกันภัยตรวจพบเชื้อ COVID-19 ขึ้นในระยะ 14 วันดังกล่าว จะไม่ได้รับความคุ้มครอง แต่หากเป็นการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุจะได้รับความคุ้มครองทันทีในวันที่กรมธรรม์มีผลบังคับครั้งแรก” นายเกรียงศักดิ์กล่าว

 

 

 

 

 

 

นายเกรียงศักดิ์กล่าวอีกว่า นอกจากนี้บริษัทฯ มีแผนจะขยายช่องทางขายเพิ่มขึ้น โดย Telesales จากเดิม 20 Seats เป็น 100 Seats และวางแผนขยายการขายผ่าน Broker และ Key partner financial services อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งพัฒนาการขายช่องทาง Face to Face ผ่าน Booth ในห้างสรรพสินค้า และ Event Marketing ต่างๆ อีกทั้ง ประชาสัมพันธ์ผ่านทาง Booth โรงพยาบาลในเครือ  BDMS ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด รวม 19 โรงพยาบาล และช่องทางที่สำคัญของบริษัทฯ คือ การเพิ่มตัวแทนขยายประกันสุขภาพ จากตัวแทนของวิริยะทั่วประเทศ คาดว่าจะเป็นไปได้ตามเป้าหมายที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่องในปีนี้

 

ส่วนผลประกอบการของการประกันภัยที่ไม่ใช่รถยนต์ บริษัทฯ ยังมีอัตราเติบโตที่น่าพึงพอใจคือมีอัตราเติบโตอยู่ที่ 6.57% หรือมีเบี้ยประกันภัยรับอยู่ที่ 4,078 ล้านบาท โดยการประกันภัยที่ถือว่ามีการเติบโตที่โดดเด่น คือ การประกันภัยความรับผิดของผู้ขนส่งทางบก ที่มีอัตราเติบโตต่อเนื่องทุกปี โดยในปี 2562 มีเบี้ยรับรวม 420 ล้านบาท หรือ 46,000 กรมธรรม์ และเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ได้รับความไว้วางใจจนขยับส่วนแบ่งตลาดขึ้นมาอยู่ใน Top 5  จากเดิมที่เคยอยู่ในอันดับ 7 นายเกรียงศักดิ์ กล่าวในที่สุด