เอสซีจีพร้อมพันธมิตรโชว์ความก้าวหน้า 1 ปี “สระบุรีแซนด์บ็อกซ์”

เอสซีจีพร้อมพันธมิตรโชว์ความก้าวหน้า 1 ปี “สระบุรีแซนด์บ็อกซ์”

  

 

                                                      เอสซีจีพร้อมพันธมิตรโชว์ความก้าวหน้า 1 ปี “สระบุรีแซนด์บ็อกซ์”

เชื่อมความร่วมมือต่างประเทศ สู่เป้าหมายเมืองคาร์บอนต่ำแห่งแรกของไทย

 

เอสซีจี ร่วมกับจังหวัดสระบุรี สมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย สภาอุตสาหกรรมจังหวัดสระบุรี และ พันธมิตร ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม โชว์ความก้าวหน้า 1 ปี “สระบุรีแซนด์บ็อกซ์ รวมพลังสร้างเมืองคาร์บอนต่ำแห่งแรกของประเทศไทย” ณ โรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราช อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี ทั้งด้านการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด การส่งเสริมอุตสาหกรรมสีเขียว การสร้างมูลค่าเพิ่มจากคาร์บอน ด้วยแรงหนุนจากภาคีพันธมิตร เชื่อมโยงความร่วมมือต่างประเทศด้านเทคโนโลยี และแหล่งทุนสีเขียว สู่เป้าหมายเมืองคาร์บอนต่ำ

 

ดร.ชนะ ภูมี ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ การบริหารความยั่งยืน เอสซีจี และ นายกสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) กล่าวว่า “เอสซีจีมีแนวทาง Inclusive green growth ที่มุ่งหวังให้ทุกภาคส่วนเติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน จึงผนึกกำลังกับผู้ผลิตปูนซีเมนต์รายอื่น ๆ ในสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย ร่วมขับเคลื่อนสระบุรีแซนด์บ็อกซ์ สู่เมืองต้นแบบคาร์บอนต่ำแห่งแรกของไทย โดยมีแผนงานครอบคลุมด้านต่าง ๆ ดังนี้

1)     การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด นำความร้อนเหลือออกจากปล่องกลับมาใช้ประโยชน์เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า เพิ่มการใช้พลังงานทดแทน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ การใช้เชื้อเพลิงชีวมวล และเชื้อเพลิงแข็งทดแทนจากขยะชุมชน (RDF) ทดแทนถ่านหิน สามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และลดการเกิดฝุ่น PM 2.5 จากการเผาเศษวัสดุภาคการเกษตร ช่วยเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร รวมทั้งทำให้การจัดการขยะชุมชนและขยะอุตสาหกรรมของจังหวัดสระบุรีเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ  2) ด้านกระบวนการอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ (Industrial Process and Product Use: IPPU) เอสซีจีได้วิจัยและพัฒนาการใช้วัสดุทดแทนปูนเม็ดเพื่อผลิตปูนซีเมนต์คาร์บอนต่ำ โดยปูนซีเมนต์คาร์บอนต่ำ 1 ตัน สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกระบวนการผลิตถึง 50 กิโลกรัมต่อตันซีเมนต์ คาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และการใช้นาโนเทคโนโลยีเพื่อให้ปูนซีเมนต์มีคุณสมบัติดีขึ้น รวมไปถึงการปรับเปลี่ยนข้อกำหนดมาตรฐานการใช้งานให้สอดคล้อง 3) การยกระดับทำเหมืองสู่ Green and Smart Mining เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและเพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรเกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่าสูงสุด ควบคู่กับการบริหารจัดการพัฒนาพื้นที่ ดูแลสิ่งแวดล้อมและชุมชน ตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน  4) การศึกษาเทคโนโลยีดักจับและใช้ประโยชน์คาร์บอน เพื่อขับเคลื่อนการมุ่งสู่เป้าหมายสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050  นอกจากนี้ สระบุรีแซนด์บ็อกซ์ยังเป็นคลัสเตอร์ กลุ่มอุตสาหกรรมแรกของไทย ที่ได้รับตอบรับเข้าร่วมโครงการ Transitioning Industrial Clusters ขององค์กรระดับโลก World Economic Forum อีกด้วย”

ดร. ชนะ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันโครงการสระบุรีแซนด์บ็อกซ์มีความคืบหน้าอย่างมาก อย่างไรก็ตาม การมุ่งสู่การเป็นต้นแบบเมืองคาร์บอนต่ำให้สำเร็จนั้น ต้องใช้นวัตกรรมและรูปแบบการทำงานร่วมกันแบบบูรณาการจากหลายภาคส่วน รวมทั้งการสนับสนุนจากต่างประเทศ อาทิ สมาคมซีเมนต์คอนกรีตโลก (Global Cement and Concrete Association - GCCA), องค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Industrial Development Organization-UNIDO), องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) มาร่วมสนับสนุนการดำเนินงาน โดยเฉพาะ เงินทุนสีเขียว (Green Funding) และ เทคโนโลยีสมัยใหม่ชั้นสูง เช่น เทคโนโลยีดักจับ ใช้ประโยชน์ และ กักเก็บ (Carbon Capture Utilization and Storage)   เพื่อช่วยให้อุตสาหกกรมของประเทศเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

 

นายบัญชา เชาวรินทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี เปิดเผย ว่า “สระบุรีแซนด์บ็อกซ์” เป็นความร่วมมือขับเคลื่อนการทำงานจากหลายภาคส่วน มีหลักสำคัญในการทำงานร่วมกัน 4 ข้อ ได้แก่ 1. ทำทันที 2. ไม่มีอะไรถูก ไม่มีอะไรผิด สามารถปรับการทำงานได้ตลอดเวลา 3. เห็นต่างได้ แต่ห้ามขัดแย้ง หาข้อสรุปและแนวทางที่เหมาะสมร่วมกัน 4. ยิ้ม เพื่อเกิดความสนุกในการทำงานร่วมกัน โดยจังหวัดสระบุรีพร้อมเป็นจังหวัดนำร่องในการทดลองใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม หรือเป็นพื้นที่ในการศึกษาวิจัยของหน่วยงานต่าง ๆ โดยมีเป้าหมายเพื่อนำองค์ความรู้ที่ได้จากการทดลองมาปรับใช้ในพื้นที่ และขยายผลไปยังพื้นที่จังหวัดอื่น ๆ เพื่อให้สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมในอนาคตอันใกล้ รวมถึงประชาชนและชุมชนในพื้นที่จังหวัดสระบุรี จะต้องได้รับประโยชน์ มีกิน มีใช้ มีรายได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ดังนั้น การดำเนินงานในระยะต่อไปจะสำเร็จลุล่วงได้ ด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากได้รับการสนับสนุนด้านนโยบายจากภาครัฐ ที่จะช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งหากทุกภาคส่วนมีเป้าหมาย และหลักในการทำงานร่วมกัน จะช่วยให้สระบุรีแซนด์บ็อกซ์ เกิดผลสัมฤทธิ์ในการทำงาน และสามารถเป็นต้นแบบให้จังหวัดและหน่วยงานอื่น ๆ นำไปเป็นแนวทางในการทำงานในพื้นที่ได้ในอนาคต รวมทั้งสามารถตอบสนองแผนงานลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศได้ตามเป้าหมาย”

 

นายเจริญชัย เฉลียวเกรียงไกร ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสระบุรี เปิดเผยว่า “งานวันนี้ประสบความสำเร็จเกินเป้าหมายทั้งในเรื่องของจำนวน พลัง และแรงบันดาลใจของผู้มีส่วนร่วม ซึ่งทางสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสระบุรีได้ร่วมกับจังหวัดสระบุรีวางแนวทางไว้สำหรับภาคส่วนอื่น ๆ ในสระบุรีที่ต้องการเข้ามามีส่วนร่วมเพิ่มเติม หรือการนำไปขยายผลในพื้นที่อื่น ๆ  ซึ่งสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสระบุรีจะเป็นตัวเชื่อมในการผลักดันเรื่องการมุ่งสู่เมืองคาร์บอนต่ำให้ยั่งยืนต่อไป ”

 

 

“สระบุรีแซนด์บ็อกซ์” การทำงานเชิงพื้นที่ โดยความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม (Public-Private-People Partnership: PPP) นำโดยผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี มี 3 ภาคีหลัก-จังหวัดสระบุรี สมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) และสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสระบุรี ร่วมกันขับเคลื่อนพัฒนาจังหวัดสระบุรีสู่เมืองคาร์บอนตํ่า “SARABURI SANDBOX LOW CARBON CITY” เชื่อมโยงความร่วมมือองค์กรหลายภาคส่วน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ กว่าหนึ่งปีของการขับเคลื่อนนับจากการประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2566 นำมาซึ่งความก้าวหน้าตามลำดับ และยังคงมีเป้าหมายที่ต้องเดินหน้ากันต่อใน 5 ด้านหลัก ได้แก่ 1. การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด 2. การผลักดันอุตสาหกรรมสีเขียว 3. การสร้างมูลค่าให้วัสดุเหลือใช้ 4. การส่งเสริมด้านเกษตรกรรมคาร์บอนต่ำ และ 5. การเพิ่มพื้นที่สีเขียว ด้วยความร่วมมือสนับสนุนจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และแสวงหาแหล่งทุนสีเขียว เพื่อจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 5 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าภายในปี พ.ศ. 2570