BGRIM โชว์กำไร Q1 เพิ่มขึ้น 101% จากไตรมาสก่อน เดินหน้าขยายกำลังการผลิตกว่า 40% ในปี 62
BGRIM โชว์กำไร Q1 เพิ่มขึ้น 101% จากไตรมาสก่อน เดินหน้าขยายกำลังการผลิตกว่า 40% ในปี 62
บมจ. บี.กริม เพาเวอร์ “BGRIM” โชว์กำไรสุทธิจากการดำเนิงานโค้งแรกปี 62 ฟื้นตัวโดดเด่นในอัตรา 101% จากไตรมาสก่อนหน้าด้วยการรวมผลกำไรจากการควบรวมกิจการ โกลว์ เอสพีพี 1 เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา พร้อมค่าใช้จ่ายและต้นทุนทางการเงินลดลง เดินหน้าก่อสร้างโครงการพลังงานทดแทนในเวียดนาม ลาว และประเทศไทย เตรียมสร้างโรงไฟฟ้า เอสพีพี ใหม่เพื่อทดแทน 5 โรง ตามแผน PDP เผย ณ สิ้นไตรมาส 1/2562 มีกำลังการผลิตไฟฟ้า 2,200 เมกะวัตต์ มั่นใจกำลังผลิตไฟฟ้าเพิ่มต่อเนื่องตามแผน
นางปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บี.กริม เพาเวอร์ หรือ BGRIM เปิดเผย ผลการดำเนินงานไตรมาส 1/2562 บริษัทบันทึกรายได้ที่ 10,257 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนและ 3.3% จากไตรมาสก่อนหน้าด้วยสาเหตุหลักจากการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในปีที่แล้วของโรงไฟฟ้า ABPR 3, ABPR 4 และ ABPR 5 ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ระยอง และ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ สำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตรในเดือนธันวาคม 2561 รวมถึงการรับรู้ผลการดำเนินงานของโกลว์ เอสพีพี 1 หลังการควบรวมกิจการในเดือนมีนาคม 2562
ขณะที่กำไรสุทธิจากการดำเนินงานจากงบการเงินรวมในไตรมาส 1/2562 (ไม่รวมกำไรหรือขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ยังไม่รับรู้รายได้หรือค่าใช้จ่ายที่ไม่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานปกติ) อยู่ที่ 687 ล้านบาท เป็นส่วนของผู้ถือหุ้นใหญ่ 443 ล้านบาท เพิ่มขึ้นในอัตรา 101% จากไตรมาสก่อนหน้า อันเนื่องมาจากการรวมผลกำไรจากการควบรวมกิจการ โกลว์ เอสพีพี 1 เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา การที่ค่าใช้จ่ายที่ผ่านพ้นช่วงที่สูงตามฤดูกาลในไตรมาส 4 และการได้รับปัจจัยหนุนจากต้นทุนทางการเงินที่ลดลงจากการชำระคืนเงินกู้ อีกทั้งการหยุดซ่อมบำรุงตามแผนที่ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า
แม้ในช่วงต้นปี 2562 ราคาค่าก๊าซจะมีการปรับตัวขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2561 แต่มีแนวโน้มลดลงแล้วในเดือนมีนาคม 2562 นอกจากนี้ในส่วนของกำหนดการซ่อมบำรุงโรงไฟฟ้าของปี 2562 นั้นในช่วงที่เหลือของปี 2562 จะมีการซ่อมบำรุงในแต่ละไตรมาสน้อยกว่าไตรมาส 1/62
ณ สิ้นไตรมาสที่ 1 ปี 2562 มีกำลังผลิตรวมจากโครงการที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ทั้งสิ้น 2,200 เมกะวัตต์ โดยโครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้างมีความคืบหน้าตามแผนสู่กำหนดการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ของ
โครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ DTE1&2 (โครงการ Xuan Cau) กำลังการผลิตติดตั้ง 420 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน และโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ Phu Yen TTP (โครงการ Phu Yen) กำลังการผลิตติดตั้ง 257 เมกะวัตต์ ในประเทศเวียดนาม ภายในเดือนมิถุนายนนี้ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ Nam Che กำลังการผลิตติดตั้ง 15 เมกะวัตต์ ภายในไตรมาส 2/62 และโครงการโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม Interchem กำลังการผลิตติดตั้ง 4.8 เมกะวัตต์ ภายในเดือนธันวาคม 2562 รวมทำให้กำลังการผลิตในปี 2562 เติบโตในอัตรา 40% จากปีก่อนหน้า นอกจากนี้ยังมี โครงการที่อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้อีกหลายโครงการในประเทศไทย เวียดนาม กัมพูชา มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และ สาธารณรัฐเกาหลี
ขณะที่ความเคลื่อนไหวในช่วงไตรมาส 1/2562 หลังจากอนุมัติโดย กพช. เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2562 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้มีการอนุมัติแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศฉบับใหม่ (PDP 2018) เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2562 โดยให้โครงการโรงไฟฟ้าผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนแบบ เอสพีพี ที่จะหมดอายุสัญญาในระหว่างปี 2560 – 2568 สามารถสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ทดแทนโรงไฟฟ้าเดิม ภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้า 25 ปี โดยโรงไฟฟ้าที่จะหมดอายุสัญญาภายในปี 2564 ได้รับการอนุมัติให้ต่ออายุรับซื้อไฟฟ้าออกไปอีกไม่เกิน 3 ปี ระหว่างที่โรงไฟฟ้าใหม่กำลังก่อสร้าง บริษัทมีโรงไฟฟ้ำพลังงานความร้อนร่วมที่เข้าเกณฑ์และสามารถสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ทดแทนโรงไฟฟ้าเดิมจำนวน 5 โรง ซึ่งโรงไฟฟ้าเหล่านี้จะหมดอายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ. ระหว่างปี 2562 – 2565 บริษัทมีแผนสร้าง 5 โรงไฟฟ้าใหม่ ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูง เพื่อให้มั่นใจว่าบริษัท จะสามารถให้บริการด้วยคุณภาพที่สูงแก่ลูกค้าอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ หลังจากบริษัทได้จัดตั้งบริษัทย่อย B.Grimm Power Korea Limited เพื่อประกอบธุรกิจพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในสาธารณรัฐเกาหลีในช่วงก่อนหน้านี้แล้ว ในเดือนเมษายน 2562 ได้มีการจัดประชุมความร่วมมือระหว่าง บริษัท และ Korea Electric Power Corporation (KEPCO) ณ กรุงโซลสาธารณรัฐเกาหลี เพื่อผนึกความสัมพันธ์และเตรียมพร้อมสำหรับการนำระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) และ พื้นที่เขตส่งเสริมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และมีการประชุมกับบริษัท Korea Midland Power Co., Ltd (KOMIPO) เพื่อร่วมกันพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม และโครงการพลังงานทดแทนในอนาคตในสาธารณรัฐเกาหลีด้วย