“รสนา” เตือน สนช.ผ่าน 2 ร่าง กม.ปิโตรเลียม ไม่ต่างนักการเมืองดันนิรโทษกรรมสุดซอย

“รสนา” เตือน สนช.ผ่าน 2 ร่าง กม.ปิโตรเลียม ไม่ต่างนักการเมืองดันนิรโทษกรรมสุดซอย

 

 

 

 

“รสนา” เตือน สนช.ผ่าน 2 ร่าง กม.ปิโตรเลียม ไม่ต่างนักการเมืองดันนิรโทษกรรมสุดซอย

 

 

 อดีต ส.ว. กรุงเทพฯ เตือน จันทร์นี้หาก สนช. โหวตผ่านร่าง กม. ปิโตรเลียม 2 ฉบับ ทั้งที่มีปัญหา จะซ้ำรอยกรณี 310 ส.ส. ผ่านกฎหมายนิรโทษกรรมสุดซอย ชี้ เข้าข่ายทุจริตเชิงนโยบายเหมือนนักการเมืองจากการเลือกตั้งเคยทำ ระวังวิบากกรรมตามมาหลังหมดอำนาจ
       
       วันนี้ (18 พ.ย.) เมื่อเวลา 15.50 น. นางสาวรสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กรุงเทพมหานคร และ อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านพลังงาน โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจรสนา โตสิตระกูล ว่า เหตุการณ์ที่ประชาชนเข้าชื่อถอดถอน ส.ส. 310 คน ที่โหวตผ่านกฎหมายนิรโทษกรรมสุดซอย ทำให้อดคิดไม่ได้ว่าจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้อีกไหมกับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หากมีการโหวตผ่านร่างกฎหมายปิโตรเลียม 2 ฉบับ ที่เป็นเครื่องมือผ่องถ่ายทรัพยากรปิโตรเลียมที่มีมูลค่าปีละ 4 - 5 แสนล้านบาท ไปให้เอกชน ทั้งที่ประชาชนคัดค้าน ประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ก็ท้วงติงให้มีการแก้ไขให้เป็นไปตามผลการศึกษาของสภานิติบัญญัติเอง ก็คงไม่ฟัง
       
       ประธานกรรมาธิการพิจารณาร่างกฎหมาย 2 ฉบับนี้ ออกมาแถลงข่าวว่า จะให้ผ่านในชั้นกรรมาธิการในวันจันทร์ที่ 21 พ.ย. 2559 เพื่อเร่งให้ร่างกฎหมาย 2 ฉบับนี้ ขึ้นสู่สายพานการผลิตขั้นตอนสุดท้ายในสภานิติบัญญัติแห่งชาติให้ได้ภายในเดือนธันวาคมนี้
       
       การใช้อำนาจโดยไม่ฟังคำทักท้วง ทั้งที่รู้ว่าร่างกฎหมาย 2 ฉบับ มีปัญหา ไม่ได้แก้ไขตามผลการศึกษาของ สนช. เอง ซึ่งจะส่งผลที่อาจก่อให้เกิดการรั่วไหลของภาษี ค่าภาคหลวง และรายได้แผ่นดินอื่นๆ จึงเป็นพฤติการณ์ที่น่าจะเข้าข่ายการกระทำทุจริตเชิงนโยบาย เหมือนในอดีตที่นักการเมืองจากการเลือกตั้งก็เคยทำ
       
       การโหวตผ่านกฎหมายปิโตรเลียม 2 ฉบับนี้ จะเข้าเงื่อนไขเป็นการจงใจเล็งเห็นผลที่จะถ่ายโอนผลประโยชน์ให้เอกชนมากกว่ารักษาประโยชน์ของประเทศ ระวังวิบากกรรมจะตามมาเมื่อท่านหมดจากอำนาจ
       
       ในห้วงเวลาแห่งความเศร้าโศกของคนไทยในขณะนี้ที่สูญเสีย “พ่อของแผ่นดิน” ในยามนี้ คนไทยรู้สึกว้าเหว่ที่เคยมี “พ่อ” ที่พร้อมมานั่งรับฟังความทุกข์ของลูกๆ อย่างตั้งใจ และยื่นมือมาแก้ปัญหาให้ คนไทยรู้สึกมีที่พึ่งที่ยามอับจน ยังสามารถยื่นฎีกาบอกพ่อได้
       
       แต่มาวันนี้คนที่ยึดอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ไว้ในมือ กลับไม่ฟังเสียงของประชาชน อย่าว่าแต่จะมานั่งฟังประชาชนอย่างที่"พ่อ"เคยทำเลย แม้แต่จะยื่นจดหมายร้องทุกข์ยังยากยิ่งกว่ายื่นฎีกากับ “พ่อของแผ่นดิน” เสียอีก ประชาชนยิ่งว้าเหว่ และบ้านเมืองก็วังเวงเมื่อไม่มี “พ่อ” ในวันนี้