ร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียมที่ผ่านสนช เป็นการตรากฎหมายที่ไม่ชอบด้วยกระบวนวิธีทางนิติบัญญัติ?"

ร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียมที่ผ่านสนช เป็นการตรากฎหมายที่ไม่ชอบด้วยกระบวนวิธีทางนิติบัญญัติ?"

 

 

 

 

 

CHANGE The World  รสนา โตสิตระกูล

 

   

ร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียมที่ผ่านสนช เป็นการตรากฎหมายที่ไม่ชอบด้วยกระบวนวิธีทางนิติบัญญัติ?"

เป็นเรื่องน่าแปลกใจหรือไม่ที่กมธ.วิสามัญพิจารณร่างพ.ร.บ ปิโตรเลียม (ฉบับที่...)พ.ศ...ใช้เวลาพิจารณาแก้ไขร่างกฎหมายฉบับนี้ ถึง 9 เดือน (มิถุนายน 2559-มีนาคม2560) กว่าจะมีมติครม.ยอมให้เพิ่มเรื่องบรรษัทน้ำมันแห่งชาติลงในร่างก.ม ปิโตรเลียมฯ แม้ในน้ำหนักอันบางเบา แต่กลับใช้เวลาเพียงไม่กี่นาทีคว่ำมาตรานี้ได้สำเร็จในที่ประชุมสนช.

ในฐานะที่เคยเป็นสมาชิกวุฒิสภา พอจะคุ้นเคยกับข้อบังคับในการประชุมของสภาในการตรากฎหมาย และเห็นว่าการดำเนินการพิจารณาร่างกฎหมายปิโตรเลียมฯเพื่อตราเป็นกฎหมายเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2560 น่าจะไม่ชอบด้วยกระบวนวิธีทางนิติบัญญัติ

วันนี้ดิฉันจึงมีหนังสือกราบเรียนไปถึงท่านนายกรัฐมนตรี พล.อ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตามรายละเอียดดังนี้

21 เมษายน 2560

เรื่อง การตราพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่...)พ.ศ....ไม่ถูกต้องตาม
กระบวนวิธีทางนิติบัญญัติ

กราบเรียนฯพณฯนายกรัฐมนตรี
พล.อ ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ตามที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)ได้ให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม(ฉบับที่...)พ.ศ....ในวาระที่สาม เพื่อตราเป็นกฎหมายในการประชุมเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 30 มีนาคม 2560 นั้น จากการตรวจสอบการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวในวาระที่สอง มิได้มีการพิจารณาขอมติสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติเรียงตามลำดับมาตราตามข้อบังคับการประชุมสภานิติบัญญัติ พ.ศ.2557 ข้อ126 ที่บัญญัติว่า "ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว ให้สภาพิจารณาเริ่มต้นด้วยชื่อร่าง คำปรารภ แล้วพิจารณาเรียงลำดับมาตรา และให้สมาชิกอภิปรายได้เฉพาะถ้อยคำหรือข้อความที่คณะกรรมาธิการมีการแก้ไขเพิ่มเติม ส่วนกรณีที่มีการสงวนคำแปรญัตติหรือสงวนความเห็นให้อภิปรายได้เฉพาะผู้แปรญัตติที่ได้สงวนคำแปรญัตติหรือกรรมาธิการที่ได้สงวนความเห็นไว้เท่านั้น ทั้งนี้เว้นแต่ที่ประชุมสภาจะได้ลงมติเป็นอย่างอื่น"

คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ ปิโตรเลียม(ฉบับที่...) พ.ศ...ได้เพิ่มเติม มาตรา 10/1 โดยได้รับความเห็นชอบจากมติคณะรัฐมนตรีและมติคณะกรรมาธิการวิสามัญฯให้มีการเพิ่มเติมมาตราดังกล่าวความว่า "ให้มีการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติเมื่อมีความพร้อม โดยพิจารณาจากผลการศึกษาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในรายละเอียดของรูปแบบและวิธีการดำเนินการจัดตั้ง"

ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียมฯในวันดังกล่าว หลังเสร็จสิ้นการอภิปรายของสมาชิก ก่อนมีการลงมติว่าสมาชิกจะเห็นชอบกับการเพิ่มเติมมาตรา10/1ของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯหรือไม่ มีสมาชิกสนช.ท่านหนึ่งอภิปรายนอกข้อบังคับการประชุมสภานิติบัญญัติในข้อ126 และเสนอให้คณะกรรมาธิการวิสามัญฯตัดมาตรา10/1 ในร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียมฯออกไป เพื่อมิให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติต้องลงมติว่าจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับการเพิ่มเติมมาตรา10/1ของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ

ประธานคณะกรรมาธิการฯ ได้ยอมตัดมาตรา 10/1 ออกไปโดยพลการ ทั้งที่การเพิ่มเติมมาตรา10/1 ได้รับความเห็นชอบทั้งจากมติครม.และมติจากคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ จึงเป็นการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติที่ไม่เป็นไปตามกระบวนวิธีทางนิติบัญญัติที่ถูกต้อง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

1) การพิจารณารายมาตราในวาระที่สอง สมาชิกมีสิทธิอภิปรายเสนอข้อคิดเห็นเพื่อลงมติเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขของคณะ
กรรมาธิการฯ หรือเสนอและมีมติให้คณะกรรมาธิการฯ ถอนร่างกลับไปแก้ไขใหม่ก็ได้

2) เนื่องจากร่างแก้ไขตามมาตรา 10/1 เป็นมติของคณะกรรมาธิการ
วิสามัญฯ หากจะมีการเปลี่ยนแปลง หรือแก้ไข หรือตัดออก ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ต้องขอถอนร่างฯ กลับไปพิจารณาในชั้นกรรมาธิการใหม่ หรือขออนุญาตประธาน สนช.พักประชุมและสั่งการให้มีการประชุมคณะกรรมาธิการเร่งด่วนเป็นกรณีพิเศษ เพื่อขอมติจากคณะกรรมาธิการฯ ให้ตัดมาตรา 10/1 ออกจากร่างพ.ร.บ.ที่เสนอต่อสภา และสภาต้องมีมติเห็นชอบให้ดำเนินการใดๆ รวมทั้งสภาต้องมีมติเห็นชอบ หากคณะกรรมาธิการวิสามัญฯจะมีมติขอตัดมาตรา10/1 ออกจากร่างกฎหมาย จึงจะเป็นการปฏิบัติที่ถูกต้องตามกระบวนวิธีทางนิติบัญญัติ ดังข้อบังคับการประชุมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ข้อ90 ที่บัญญัติว่า

"การประชุมคณะกรรมาธิการต้องมีกรรมาธิการมาประชุมไม่น้อยกว่าหนึ่งในสาม เว้นแต่ในการประชุมคณะกรรมาธิการที่จะมีการลงมติในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ต้องมีกรรมาธิการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของกรรมาธิการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ และให้นำความในหมวด3 การประชุมสภาและหมวดอื่นที่เกี่ยวข้องมาบังคับใช้โดยอนุโลม

ในหมวด3 ส่วนที่1 วิธีการประชุม ข้อ15 บัญญัติว่า การนัดประชุมต้องทำเป็นหนังสือ เว้นแต่ไ้ด้แจ้งนัดในที่ประชุมแล้ว จึงให้ทำหนังสือนัดเฉพาะสมาชิกที่ไม่ได้มาประชุม

การนัดประชุมให้นัดล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสามวัน แต่ประธานสภาจะนัดเร็วกว่านั้นหรือนัดประชุมโดยวิธีอื่นก็ได้เมื่อเห็นว่าเป็นเรื่องด่วน"

3)เมื่อสมาชิกสนช.ไม่มีการลงมติในมาตรา10/1 ตามที่ปรากฎในร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม(ฉบับที่...)พ.ศ....ที่นำเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ว่าเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบด้วยกับการแก้ไขของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ประกอบกับไม่มีการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญฯเพื่อขอมติให้ตัดมาตรา10/1 ออกจากร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม และที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติก็มิได้มีมติให้ความเห็นชอบการตัดมาตรา10/1ออกไป ย่อมแสดงว่า ข้อแก้ไขของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯที่ให้เพิ่มมาตรา10/1ยังคงอยู่ในร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม(ฉบับที่...)พ.ศ. ...ดังกล่าว

4)ในบันทึกของสภานิติบัญญัติแห่งชาติว่าด้วยการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่...)พ.ศ.... ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯพิจารณาเสร็จแล้ว (เรื่องด่วนที่5) ตามเอกสารตรวจสอบองค์ประชุมเพื่อลงมติรายมาตรานั้น มีระบุมาตราที่ลงมติในวาระที่สองไว้คือ มาตรา 4 ,มาตรา6, มาตรา53/3, มาตรา53/8, หมวด3/2มาตรา53/9, มาตรา53/10, มาตรา53/11, มาตรา53/11/1, มาตรา53/11/2, มาตรา53/12, มาตรา53/16, มาตรา10 และมาตรา10/2 ซึ่งข้ามลำดับการลงมติในมาตรา10/1 โดยไม่มีบันทึกมติการเห็นชอบจากสมาชิกสภาให้ถอนมาตราดังกล่าวออกไปตามกระบวนวิธีทางนิติบัญญัติที่ถูกต้องแต่อย่างใด จึงขัดต่อข้อบังคับการประชุมสนช.ข้อ126 และข้อ128 ที่บัญญัติว่า "เมื่อได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติในวาระที่สองเสร็จแล้ว ให้สภาพิจารณาต่อไปในวาระที่สาม"

เนื่องจากสมาชิกสนช.มิได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติในวาระที่สอง ลงมติเรียงตามลำดับมาตราตามที่บัญญัติไว้ในข้อบังคับอย่างครบถ้วน การลงมติต่อไปในวาระที่สามของสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่เห็นชอบให้ร่างพระราชบัญญัติ ปิโตรเลียม(ฉบับที่...) พ.ศ...ประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป จึงน่าจะเป็นการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยข้อบังคับการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ.2557 และไม่ชอบด้วยการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร(ฉบับชั่วคราว)พ.ศ.2557 มาตรา13วรรค2 และมาตรา15 และไม่ชอบด้วยการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 128 และมาตรา 81 อีกด้วย

อนึ่ง ตามนิติประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาในสภานิติบัญญัติ หากร่างกฎหมายใดไม่ผ่านกระบวนวิธีทางนิติบัญญัติที่ถูกต้อง ร่างกฎหมายนั้นย่อมไม่อาจประกาศใช้เป็นกฎหมายได้

จึงขอกราบเรียนมายังฯพณฯนายกรัฐมนตรี เพื่อโปรดพิจารณาให้รอบคอบอย่างยิ่งยวด หากจะนำร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม(ฉบับที่...)พ.ศ. ...ดังกล่าว ขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย

กราบเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา

ขอแสดงความนับถืออย่างยิ่ง


(น.ส รสนา โตสิตระกูล)
อดีตสมาชิกวุฒิสภากรุงเทพมหานคร
อดีตประธานกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา