ทำไมรัฐบาลจึงดูแลเอาใจนายทุนบางกลุ่มบางพวกเป็นอย่างดี
ทำไมรัฐบาลจึงดูแลเอาใจนายทุนบางกลุ่มบางพวกเป็นอย่างดี
ทุกรัฐบาล เมื่อได้อำนาจมาแล้วปัญหาสำคัญคือ ทำอย่างไรพวกเขาจะได้รับการยอมรับจากประชาชนมากพอที่จะทำให้รัฐบาลมีความมั่นคงตลอดไป แต่การที่จะสร้างผลงานและขับเคลื่อนนโยบายใดๆ ให้บรรลุเป้าหมายได้จะอาศัยเพียงแค่อำนาจตามกฎหมายและกระบอกปืนคงไม่พอ
รัฐบาลต้องพึ่งพากลไกของรัฐคือข้าราชการ กลไกทางสังคมคือภาคประชาสังคมและผู้นำทางความคิด (บางส่วน) และที่จำเป็นอย่างขาดไม่ได้คือกลไกทางเศรษฐกิจ เพราะเศรษฐกิจคือความสุขความทุกข์ของประชาชน กลไกนี้จำต้องอาศัยความร่วมมือของนักธุรกิจโดยเฉพาะพวกที่มีการรวมตัวหรือมีอิทธิพลสูงในการชี้นำและขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
การพึ่งพานี้กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์เกื้อกูลจนนำไปสู่การตอบแทนหรือแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กันเมื่อมีโอกาส ซึ่งบางครั้งก็อาจประเจิดประเจ้อเกินไป
แม้จะเข้าใจกันดีว่า “การใช้อำนาจและทรัพยากรของรัฐไปเอื้อประโยชน์กันเป็นการคอร์รัปชัน” แต่ก็เป็นเรื่องที่พิสูจน์เอาผิดกันจริงจังได้ยากและพฤติกรรมที่บิดเบี้ยวแบบนี้ก็ทำให้เห็นกันแทบทุกประเทศไม่ใช่แค่ไทย
โครงการต่างๆ ที่ตกเป็นข่าวก็ต้องพิจารณาแยกแยะด้วยว่า กรณีใดเป็นการทำไปด้วยเจตนาดีเพื่อส่วนรวมไม่มีผลประโยชน์แอบแฝงหรือเป็นไปตามกลไกเศรษฐกิจ กรณีใดเป็นการฉกฉวยหรือเป็นการโกงกินเหมือนที่ทำกันทั่วไป ไม่ใด้เกิดจากอำนาจระดับนโยบายดังที่กล่าวแล้วข้างต้น
อ.รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ ได้อธิบายประเด็นนี้ไว้น่าสนใจว่า
“ในเมื่อการสร้างความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์มีความสำคัญต่อการขยายและธำรงไว้ซึ่งอำนาจทางการเมือง ผู้นำทางการเมืองจักต้องมีทรัพยากรสำหรับสร้างความสัมพันธ์ดังกล่าวนี้
ด้วยเหตุนี้เอง ชนชั้นปกครองจึงต้องแสวงหาฐานอำนาจทางเศรษฐกิจและสร้างสายสัมพันธ์กับกลุ่มผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ทั้งนี้เพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพยากรเพื่อใช้ในการอุปถัมภ์ทางการเมือง การกำหนดนโยบายเศรษฐกิจจึงกลายเป็นกระบวนการแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจ (Rent Seeking) ของชนชั้นปกครอง ภายใต้ระบบความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ดังที่พรรณาข้างต้นนี้
... การกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจกลายเป็นกระบวนการแบ่งปันผลประโยชน์เพื่อการอุปถัมภ์ทางการเมือง
... บรรดานโยบายซึ่งดูเหมือนจะเป็นประโยชน์แก่สังคมโดยรวมหรือต่อชนส่วนใหญ่ของประเทศ กลับกลายเป็นเครื่องมือในการจัดสรรทรัพยากรของแผ่นดินเพื่อประโยชน์ของชนชั้นปกครองเพียงกระหยิบมือเดียว” (2546, กระบวนการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจในประเทศไทย, 2546 น.99-100.)
ดร. มานะ นิมิตรมงคล