บริหาร “ดอยคำ” สำเร็จและยั่งยืนด้วยศาสตร์พระราชา “ทศพิธราชธรรม” พิพัฒพงศ์ อิศรเสนา ณ อยุธยา ยึดคำสอนพ่อ “เกิดมาแล้วก็ต้องเป็นคนดีของสังคม”

บริหาร “ดอยคำ” สำเร็จและยั่งยืนด้วยศาสตร์พระราชา “ทศพิธราชธรรม” พิพัฒพงศ์ อิศรเสนา ณ อยุธยา ยึดคำสอนพ่อ “เกิดมาแล้วก็ต้องเป็นคนดีของสังคม”

 

                                                                                                                                                      

 

 

 

บริหาร “ดอยคำ” สำเร็จและยั่งยืนด้วยศาสตร์พระราชา “ทศพิธราชธรรม”

พิพัฒพงศ์ อิศรเสนา ณ อยุธยา

ยึดคำสอนพ่อ “เกิดมาแล้วก็ต้องเป็นคนดีของสังคม”

 

ถอดบทเรียนความสำเร็จของ “พิพัฒพงศ์ อิศรเสนา ณ อยุธยา” กรรมการผู้จัดใหญ่ บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด ด้วยศาสตร์พระราชา “ทศพิธราชธรรม” โดยยึดคำสอนพ่อ “เกิดมาแล้วก็ต้องเป็นคนดีของสังคม”

พิพัฒพงศ์ อิศรเสนา ณ อยุธยา เป็นเหลนของคุณชวด เจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ (หม่อมราชวงศ์เย็น อิศรเสนา) โดยคุณชวดเคยถวายงานรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาทถึง 3 แผ่นดิน เริ่มทำงานตั้งแต่อายุ 15 ปี ในรัชสมัยของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 ในตำแหน่งมหาดเล็กไล่กา มีหน้าที่คอยดูแลด้านความสะอาดในหมู่พระที่นั่งและพระราชมณเฑียรต่างๆ ต่อมาจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขึ้นเป็นองคมนตรีในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 และรั้งตำแหน่งเป็นเสนาบดีกระทรวงวังในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7

อีกทั้งคุณพงศ์เป็นหลานของคุณปู่ พระยาอิศรพงศ์พิพัฒน์ (หม่อมหลวงสิริ อิศรเสนา) รับราชการในกระทรวงวังตั้งแต่รัชสมัยของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ จวบจนถึงปลายรัชสมัยของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 7 คุณพงศ์เป็นบุตร นายพารณ - นางบุนนาค อิศรเสนา ณ อยุธยา วันนี้คุณพงศ์ขึ้นนั่งในตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด ที่นำ “ศาสตร์พระราชา” มาบริหารองค์กรแห่งนี้ให้ประสบความสำเร็จได้อย่างไร...พบคำตอบทั้งหมดได้ที่นี่

- ตลาดของดอยคำ ณ ปัจจุบันนี้ เป็นอย่างไรบ้าง หลังสถานการณ์โควิดระบาด?

“เรื่องอาหารเป็นหนึ่งในปัจจัย 4 ผมคิดว่า เรื่องอาหารอาจจะกระทบน้อยกว่าคนอื่น บริษัทฯ เองก็มีผลกระทบแต่ว่าไม่ได้มากขนาดนั้น ไม่เหมือนอุตสาหกรรมอื่นๆ คนเรายังต้องรับประทาน เพราะฉะนั้น เรื่องของอาหารน่าจะยังเดินหน้าได้อยู่ครับ”

-ที่ผ่านมายอดขายเป็นยังไงบ้าง?

“ยอดขายลดลงครับ ยังไงก็ลงเพราะคนเริ่มใช้สอยอย่างระมัดระวังมากขึ้น รายได้ต่างๆ ของคนก็ลดลงอย่างที่เห็นได้ชัดว่า หลายแห่งก็ลดเงินเดือนลง หลายแห่งก็เอาคนออกจากงาน เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้ มีผลกระทบการจับจ่ายแน่นอน อะไรก็ตามที่ไม่ใช่เป็นปัจจัยหลักก็จะถูกคัดออก เอาไว้ว่า สิ่งนี้ถ้าไม่จำเป็นก็ยังไม่ซื้อ อาหารเป็นสิ่งจำเป็น ต้องซื้อ เช่น อาหารที่ต้องรับประทานทุกวันจะเป็นหลักที่จะเดินหน้าต่อไปได้และมีผลกระทบน้อยกว่า”

-สถานการณ์โควิดมีผลกระทบต่อรายได้ตั้งแต่ต้นปีอย่างไร?

“ตอนนี้ บริษัทฯ ยังยืนบนเป้าเดิมอยู่ เพราะบริษัทฯ ยังมีตลาดที่เพิ่มขึ้น อย่างเช่น ร้านอาจจะลดลงเพราะโดนปิดให้บริการ แต่ตลาดพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-commerce) ของบริษัทฯ โตมาก การค้าย้ายฐานจากหน้าร้านไปตลาด e-commerce ซึ่งตลาดนี้จริงๆ แล้ว ก็คือ หน้าร้านนั่นแหละ เพียงแต่เราไม่มีสถานที่ คุณโทรเข้ามาสั่งของ เราก็ส่งให้ เพราะฉะนั้นมันก็ trade off ระหว่างการที่คุณต้องจ่ายค่าเช่าหน้าร้านก็กลายเป็นค่าขนส่งไป ลดจากทางหนึ่งมาเพิ่มอีกทางหนึ่ง เรื่องของ balance ความสมดุลก็ยังเดินหน้าได้ เราก็พยายามท้าทายตัวเองว่า โควิด ก็โควิด ก็ดูหน่อยซิว่าถ้าตลาดมันไปโตอีกด้านหนึ่งเราจะขยับไปตรงนั้นและทำตรงนั้นให้ดีขึ้นอย่างไร ตรงนี้ก็เป็นกลยุทธ์หนึ่งช่วงโควิด”

-ที่บอกว่าโตนั้น ดอยคำเติบโตกี่เปอร์เซ็นต์สำหรับ e-commerce?

“โตเป็นหลายร้อยเปอร์เซนต์เลยครับ ยอดโตดีขึ้นมากครับ ในช่วงโควิดโตแบบก้าวกระโดดมาก”

-เรื่องของสินค้าสุขภาพ ตอนนี้ตลาดเป็นอย่างไรบ้างครับ?

“สินค้าของเราจริงๆ ต้องบอกว่าเราไม่ได้เน้นเรื่อง คลีนมาก แต่เน้นเรื่องความเป็นธรรมชาติ ทุกอย่างที่เราใช้มาจากธรรมชาติ เช่น ความหวานต่างๆ เราพยายามใช้ของที่มาจากธรรมชาติ น้ำตาลเราก็ยังใช้อยู่ สารที่ให้ความหวานทดแทนน้ำตาลก็มาจากธรรมชาติ stevia ก็ได้มาจากสารสกัดจากหญ้าหวาน เพราะฉะนั้นของพวกนี้ เราพยามทำเข้ามาให้กลับสู่ธรรมชาติมากขึ้น เพราะอะไรที่เป็นธรรมชาติ ซึ่งคนเราก็อยู่กับธรรมชาติมานานแล้ว อะไรที่ไม่ใช่ธรรมชาติสกัดและนำมาผ่านกระบวนต่างๆ อันนั้นน่ากลัว ผมว่าพวกประเภทวิตามินแล้วเอามาเติมอันนั้นน่าห่วง

สมมุติวันนี้ คุณไปออกกำลังกายมา ร่างกายต้องการความหวาน คุณก็เลือกดื่มน้ำลิ้นจี่ เพราะลิ้นจี่มีความหวานเยอะ ในวันที่คุณบอก เอ๊ย! วันนี้ไม่อยากได้ความหวานแล้ว อยากได้น้อยๆ เพราะช่วงนี้รับประทานขนมมีน้ำตาลเข้าไปเยอะ คุณก็เลือก น้ำที่ไม่มีน้ำตาล เช่น น้ำฝรั่งที่มีน้ำตาลน้อย อย่างนี้ก็เป็นการตัดสินใจในตัวผู้บริโภคเองว่า ช่วงนี้คุณจะเลือกบริโภคอะไร ไม่จำเป็นว่าช่วงนี้ไม่กินหวานเลย หยุดหวานหมด ผมว่าอยู่อย่างสมดุลน่าจะทำให้สุขภาพเราดีครับ”

 

 

-ผลิตภัณฑ์ออกใหม่เป็นอย่างไรบ้าง?

“จริงๆ ผมหงุดหงิด (หัวเราะ) กับชื่อที่เขาเรียกเป็นทางการว่าเป็นน้ำผลไม้สกัดเย็น แต่จริงแล้ว ก็คือ น้ำผลไม้คั้นสด สินค้าตัวนี้เป็นตัวที่แนวโน้มกำลังมา น้ำผลไม้ที่เอาไปใส่กล่องเป็นการฆ่าเชื้อด้วยความร้อน (Sterilize) เมื่อฆ่าเชื้อด้วยความร้อน วิตามินบางอย่างหายไป พอฆ่าเชื้อเสร็จเราต้องเติมวิตามินลงไป จุดนี้เราไม่อยากทำ ประเด็นนี้เลยลองมาทำตัวนี้ดู เพราะมันมีเทคโนโลยีตัวใหม่ที่สามารถจะเก็บวิตามิน รสชาติ กลิ่นได้เหมือนกับผลไม้สดทุกประการแต่ว่าอายุมันสั้นลง และต้องอยู่ในที่เย็น เป็นที่มาของผลไม้สกัดเย็นซึ่งเราทดลอง ที่สำคัญต้นทุนมันสูงกว่าน้ำที่อยู่ในกล่องแบบเดิม อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าตลาด กำลังโตขึ้น เพราะในอเมริกาก็ดี ยุโรปก็ดี ตอนนี้เป็นน้ำผลไม้สกัดเย็นทั้งนั้น ดอยคำเองเราเรียก “น้ำผลไม้คั้นสด” ตัวนี้เป็นสับปะรดนางแลกับเสาวรส เพราะว่า สับปะรดนางแลหวานมากในช่วงฤดูนี้ความหวานค่อนข้างหวานเราก็เลยเอาเสาวรสมาเจือเพื่อให้มันมีรสเปรี้ยวขึ้นมาหน่อย จะได้ตัดรส ก็สร้างรสชาติอย่างที่ผมบอก คือ อยากกลมกล่อมแทนที่เราจะเติมกรดซิตริค ลงไปในน้ำสับปะรดเราก็ไม่ทำเราก็เอาน้ำผลไม้อีกชนิดมาใส่

“ตรงนี้ผมพยายามจะปรุงแต่งให้น้อยที่สุด อย่างน้ำฝรั่ง ผมจะเลือกน้ำฝรั่งที่มีรสหวานมากเวลาสุกเลือกไว้สายพันธ์หนึ่งก็เอามา น้ำฝรั่งที่มีอยู่ทั่วๆ ไปต้นทุนไม่แพงมากก็เอามาเป็นเบส อันนี้เป็นฝรั่งสายพันธ์ที่มีกลิ่นหอม ฝรั่งรสหวานกับฝรั่งที่มีราคาถูกมาผสมกันก็ได้เป็นน้ำฝรั่ง ร้อยเปอร์เซ็นต์และก็ให้ความหวานให้กลิ่นที่ละมุนละไมในแบบน้ำฝรั่ง เพราะเราจะไม่ยอมใส่กลิ่นที่สกัดปรุงแต่งลงไป จะทำให้น้ำของเราแตกต่างไปจากคนอื่น เป็นของที่ค่อนข้างสดใหม่และจริงๆ อายุอยู่ได้ 45 วันแต่เราเขียนไว้ที่ผลิตภัณฑ์ให้แค่ 30 วัน เพราะว่าพอเลยจาก 30 วันไปแล้วไม่ใช่เสียนะครับ บางทีสีมันเปลี่ยนเพราะมันโดนแสงแดดหรืออะไร มันจะทำให้ไม่น่ารับประทาน เราจึงกำหนดเวลาเท่านี้แล้วเราก็ขายให้หมดภายใน 30 วัน

น้ำเต้าหู้ก็เป็นตัวใหม่นะครับ แต่ว่าตัวน้ำเต้าหู้เป็นตัวที่เราทำมาจากต้นเลย ที่ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 9 ท่านทรงสร้างโรงงานหลวงฯ ไว้ตั้งแต่ต้น เรามีเรื่องของน้ำเต้าหู้ในช่วงต้นเพราะว่าที่โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ ๒ (แม่จัน) เราเอาถั่วเหลืองมาแล้วเราทำผงถั่วเหลือง เรียกว่าน้ำนมถั่วเหลืองนะครับ เราก็เอามาทำเป็นผงและขายอยู่ ประเด็นว่าในนมถั่วเหลืองของเรามีทั้งจมูก มีกาบา มีทุกอย่างครบครัน

“เราไม่ได้ทำอย่างนมถั่วเหลืองทั่วๆ ไป ที่จะเอาไปผสมน้ำก่อน และก็ไปทำสเปรย์ดรายแล้วตกลงมาเป็นผง เอาผงตรงนั้นมาบรรจุ แต่ของเราเอาถั่วเหลืองจริงๆ มาคั่วจนสุก จึงบด แล้วบรรจุเลย เพราะฉะนั้น ของเราจึงต่างกัน ของเราจะมีกาบา สารที่มาจากถั่วเหลือง ฟลาโวนอยด์ สินค้าของเราอยู่ครบจะต่างของคนอื่น แต่เราก็ไม่ได้ทำมากมาย เพราะกระบวนการทำไม่ง่าย ของเราทำเยอะลำบากเพราะต้องลงทุน เครื่องจักรเราก็ยังไม่ค่อยลงทุน เอาเท่าที่มีก่อน มีคนชมว่ารสชาติค่อนข้างอร่อยเพราะมันจะต่างจากของคนอื่น”

-ดอยคำเกิดขึ้นปี 2512 และมาก่อตั้งเป็นบริษัทในปี 2537 คุณพงศ์เข้ามาบริหารงานช่วงไหน?

“ผมเข้ามาในปี 2537 เลย ผมจบจากเมืองนอกใหม่ๆ และก็ไปทำงานที่สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ตอนนั้น ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา เป็นผู้อำนวยการ ก็รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ลงมาว่าให้ตั้งบริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด ก็ส่งผมนี่แหละจบใหม่มา ไปตั้งบริษัท ผมก็เลยจดทะเบียนตั้งบริษัทและก็ทำดอยคำมาตลอด ช่วงแรกก็เป็นผู้ช่วยเลขานุการบริษัทฯ ทำเรื่องเอกสาร จากนั้นก็ค่อยๆ ขยับขึ้นมาเป็นเลขานุการบริษัทฯ และขยับเรื่อยมาจนตำแหน่งนี้”

-เมื่อก้าวเข้ามาเป็นผู้บริหารมีจุดเปลี่ยนกับชีวิตอย่างไรบ้าง?

“จริงๆ ไม่มีจุดเปลี่ยนอะไรหรอก ผมตั้งใจไว้ตั้งแต่ต้นแล้วตั้งแต่เรียนหนังสือมา ก่อนอื่นต้องเล่าก่อนว่าสถานีเกษตรหลวงอ่างขางตอนพัฒนาใหม่ๆ คุณพ่อทำงานอยู่ที่ปูนซิเมนต์ไทย ขณะนั้น ฯพณฯ ประธานองคมนตรี นายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นประธานกรรมการบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ด้วย ก็เรียกคุณพ่อไปและสั่งการให้ คุณพ่อขึ้นไปช่วยดูเรื่องระบบน้ำและการชลประทานบนภูเขา คุณพ่อก็พาผมไปตั้งแต่เด็กๆ เลยผมจำได้ ประมาณ 7 ขวบ กว่าจะถึง นั่งรถประมาณ 5 - 6 ชั่วโมง จากเชียงใหม่ พอขึ้นไปก็หนาวมากก็ได้เห็นความแร้นแค้น คุณพ่อก็ไปทำอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กซึ่งในยุคนั้นใช้กระเบื้องหลังคาลอนคู่โค้งของเครือซิเมนต์ไทย มาทำเป็นบ่อน้ำ เก็บน้ำไว้ให้โรงเรือนข้างบนได้ใช้ประโยชน์

ผมก็ตั้งใจอยากจะมาทำงานที่นี่ตอนนั้นเพราะชอบพื้นที่ เป็นคนชอบอากาศเย็น ตอนนั้นก็ไม่รู้เรื่องอะไร พอเรียนไปเรื่อยๆ ก็ได้ขึ้นไปหลังจากนั้นอีก 4 - 5 ปี การขึ้นไปแต่ละครั้ง สิ่งที่เห็นก็คือการเปลี่ยนแปลง พอเข้ามาเรียนจุฬาฯ ไปเรียนเมืองนอก ความคิดที่เกิดขึ้น คือ เราเป็นตัวเป็นตนมาได้ก็เพราะพระราชทรัพย์ เพราะตอนเรียนมัธยมก็อยู่วชิราวุธวิทยาลัย ก็มีเงินของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 พระราชทานมาให้ลูกวชิราวุธฯ ทุกคน ตอนไปเรียนต่อที่จุฬาฯ ก็เป็นพระราชทรัพย์ของพระเจ้าอยู่หัวเหมือนกัน ก็เลยคิดว่าเราพอมีโอกาสก็อยากไปถวายงาน ไปช่วยงาน กลับมาก็สมัครงาน ผมสมัครงานไม่รู้กี่แห่งเลย การบินไทยก็สมัคร บริษัทหลักทรัพย์ก็สมัคร ตอนนั้นบริษัทเอเจนซีโฆษณาก็สมัคร แล้วก็ไปสัมภาษณ์ทุกแห่ง เสร็จแล้วกลับมาทำตารางว่า นายเป็นอย่างไร การเดินทางไปทำงานเป็นอย่างไร เงินเดือนเป็นอย่างไร แล้วก็ให้คะแนนในหัวข้อต่างๆ แต่พอผลสรุปออกมา คะแนนต่ำสุด คือ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (ชื่อขณะนั้น) เพราะว่ากลับมาผมได้เงินเดือน 7,000 บาท

“ตอนผมอยู่ที่อเมริกาผมทำงานได้อยู่ประมาณ 6,000 เหรียญ กลับมาเมืองไทยได้ 7,000 บาทสมัยนั้นก็ 25 เท่า ด้วยความคิดที่ว่าเราพอจะไหวอยู่และคุณพ่อก็เห็นว่า ทางครอบครัวรับราชการมาตลอด และคุณพ่อไม่ได้รับราชการ ก็เห็นว่าอยากให้เราไปทำ แต่ที่นี่ก็เป็นกึ่งราชการนะครับ บอกว่า “ถ้าเงินไม่พอใช้เดี๋ยวฉันจ่ายให้” ก็เลยเป็นที่มาว่าทำไมถึงมาทำงานที่สำนักงานทรัพย์สินฯ และเราก็ทำงานตรงนี้มาโดยตลอด ถวายงานมาทำในเรื่องของโครงการตามพระราชดำริ และ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทำในเรื่องของมูลนิธิต่างๆ ที่อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ก็ดี ก็ช่วยกันพัฒนาขึ้น ก็ทำงานนี้ จนเมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว ก็ตัดสินใจลาออกจากสำนักงานทรัพย์สินฯ มาทำที่บริษัท ดอยคำฯ เพียงที่เดียว เพราะจะให้ดูแลรับผิดชอบทั้ง 2 งาน คงไม่ไหวแล้ว ก็เลยคิดว่าจะทำอะไร เอาให้ดีสักอย่าง ทำพร้อมกันสองอย่างถ้าจะยากเลยคิดว่า ลาออกจากทรัพย์สินฯ ดีกว่า และมาทำงานที่ดอยคำเป็นเรื่องเป็นราว เพราะดอยคำตอนนั้นก็โตขึ้นอย่างมาก ก็เลยค่อยๆ เข้ามาทำที่ดอยคำ”

-“ดอยคำ” ช่วยให้วิถีชีวิตของชุมชนให้กินดีอยู่ดีอย่างไรบ้าง?

“ในสิ่งที่ในหลวง ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 9 ทรงสอน ท่านสอนว่าทำอะไรก็ได้ให้เกษตรกรทั้งหลาย ต้องไม่เปลี่ยนวิถีชีวิตของชาวบ้าน เพราะการเปลี่ยนวิถีชีวิตของชาวบ้านมันจะทำให้หลายอย่างเปลี่ยนมาก การแก้ปัญหาต่างๆ จะเกิดขึ้นได้ต้องไม่เปลี่ยนวิถีชีวิตเขา เช่น แต่เดิมชาวเขาปลูกฝิ่น เป็นเกษตรกร การแก้ปัญหาฝิ่น คือ เอาพืชเหมือนกัน ไปให้เขาปลูก เพราะฉะนั้น เขายังใช้ชีวิตเหมือนเดิม คือ การเป็นเกษตรกร ปลูกพืช ใส่ปุ๋ย ทำอะไรก็แล้วแต่ นี่คือ วิถีชีวิตแบบเดิมของเขา เพราะเราพูดกับเขาบางทีเขายังไม่รู้เรื่องเลย เพราะเขาใช้คนละภาษากับเรา การเปลี่ยนวิถีชีวิตเป็นการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน เพราะฉะนั้น ให้เขามีความรู้เพิ่มขึ้นในเรื่องของเกษตรกรรม แล้วเราต้องไปรับซื้อของเขามา เพื่อให้เขามีรายได้ และเอารายได้นั้นไปใช้จ่าย คือการไม่เปลี่ยนวิถีชีวิตของเขา แต่เป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน แต่ถ้าเราไปเปลี่ยนวิถีชีวิตเขาเมื่อไหร่ก็ไม่มีทาง จุดนั้นยากมาก” ด้วยเป็นกุศโลบายที่แยบยลมากของพระองค์ท่าน ถ้าจะเล่าให้ฟังต้องเล่ายาวมากเลย ว่าทรงทำกันอย่างไรบ้าง

อย่างเช่นช่วงโควิดนี้ ปัญหาที่เกิดขึ้นเท่าที่ทราบ สำหรับบางคนจากเมืองกลับไปทำงานที่บ้านต่างจังหวัด เขาไม่มีรายได้ เขาลำบากมากขึ้น ที่สกลนคร ผมขึ้นไปโรงงานหลวงฯ ที่ ๓ (เต่างอย) ผมได้ข่าวว่ามีปัญหาค่อนข้างเยอะสำหรับแรงงานที่ไหลกลับสู่พื้นที่ เพราะว่าที่ดินที่เป็นของตัวเองก็ได้ขายไปแล้ว “เพราะฉะนั้นพื้นที่อยู่ในการทำเกษตรก็น้อยลง บางพื้นที่ก็ถูกขายให้กับนายทุนไป ดังนั้น การทำตรงนี้ก็จะยากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในแง่ของการทำการเกษตร ที่ดินมันอาจจะไม่ต้องมีเท่าเดิมก็ได้ มีน้อยลงแต่ทำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นก็น่าจะแก้ปัญหาได้ ตรงนี้ผมเรียนรู้มาจากอิสราเอลตอนผมไปเรียน ไปดูงานที่นั่นก็ได้ไปเห็นว่า อย่างเราต้องการมะเขือเทศเชอรีปีละ140 ตัน ซื้อกันตั้งแต่เชียงใหม่ยันเพชรบุรี ไล่ซื้อแล้วมาทำอบแห้ง เรากว่าจะหามะเขือเทศเชอรีได้ค่อนข้างนานนะ ประเด็นก็คือว่า ไปอิสราเอล เขาปลูกมะเขือเทศ ถามว่าไร่หนึ่งอิสราเอลปลูกได้กี่ตัน เขาปลูกได้ 70 ตัน ในขณะที่เกษตรกรไทยปลูกได้ 15 ตัน เราก็โห่ฮา เล่นงิ้ว เล่นลิเกฉลองกันแล้ว

ทีนี้กลับมาคิดดูว่า ถ้าเกษตรกรไทยเราทำได้แบบอิสราเอล เราก็ใช้พื้นที่เพียง 2 ไร่ข้างโรงงานหลวงฯ ลงทุนปลูกโรงเรือน ก็ได้มะเขือเทศ 140 ตันโดยที่คุณไม่ต้องวิ่งหาจากเชียงใหม่ถึงเมืองเพชร นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วมันจะเกิดขึ้นในอนาคต เพราะถ้าไม่เอาเข้ามาการแข่งขันในเรื่องการเกษตรอะไรก็แล้วแต่ คุณจบแน่นอน คุณไม่มีทางไปแข่งขันกับใครในโลกแน่ๆ”

-อยากให้เล่าถึง ดอยคำ น้อมนำพระบรมราโชบาย "บ-ว-ร-(ร)" ตามแนวพระราชดำริ ล้นเกล้าฯรัชกาลที่ ๙ " โครงการ วัดของเรา วัดของชุมชน"

“คือ บ้าน วัด โรงเรียน ก็เป็นงานที่อยู่ในดอยคำอยู่แล้ว บ้านก็คือ หมู่บ้านที่เราอยู่ในชุมชนที่โรงงานหลวงฯ เราตั้งอยู่ วัด ก็เป็นวัดที่อยู่ในชุมชนซึ่งพระราชทานไว้ว่าเป็นวัดในพื้นที่ และโรงเรียน ก็คือ โรงเรียนในพื้นที่ ผมมารวมอีกครั้งว่า บ้าน วัด โรงเรียน และใส่วงเล็บว่า (โรงงานหลวงฯ) เพิ่มไปอีก ๑ (ร) เพราะว่าผมได้น้อมนำแนวพระราชดำรินี้มาว่า โรงงานหลวงฯ เป็นหนึ่งองค์กร ที่มีคนทำบัญชีเป็น การจัดการองค์กรให้มีประสิทธิภาพเป็น บางคนรู้เรื่องการเกษตร ก็ทำการเกษตรยุคใหม่เป็น ทุกอย่างเรามีความเป็นมืออาชีพ ในแง่การทำงาน เพราะฉะนั้น การที่จะเอาคนที่มีความรู้ลงไปช่วยในชุมชนทำได้ง่าย ผมได้บทเรียนมาจากตอนที่ผมไปเรียนที่อเมริกา โปรเฟสเซอร์คนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า มหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในแง่ของวิศวะ ต้อง MIT (Massachusetts Institute of Technology) เป็นที่หนึ่งของโลก แต่ถ้าคุณจะเรียนเรื่องของ Aeronautics ก็คือ อากาศพลศาสตร์ อะไรที่เกี่ยวกับในเรื่องของการบิน มหาวิทยาลัยที่สอนเรื่องวิศวะการบินที่ดีที่สุดกลายเป็น University of Washington อยู่ที่มลรัฐ Seattle เราก็แปลกใจว่าเกิดอะไรขึ้น ปรากฏว่าบริษัท โบอิง และโรงงานประกอบเครื่องบินโบอิง ตั้งอยู่ที่นั่น เพราะฉะนั้น คนที่ทำงานในบริษัท โบอิง ก็ไปเป็นอาจารย์สอนในมหาวิทยาลัย เขาทำงานทุกวัน เขามีประสบการณ์ เขามีห้องทดลองที่ทันสมัยที่สุด มีทุกอย่าง ดังนั้น วิชาการความรู้ด้านต่างๆ ที่ดีที่สุดจะถูกส่งออกมาจากที่นั่น เราเลยถึงบางอ้อ ไป

ส่วนเราโรงงานหลวงฯ ถ้าเราจะทำเรื่องเกษตร เรามีความรู้เรื่องเกษตร เราก็จะเอาคนของเราเข้าไปช่วยคนในละแวกนั้นๆ เพื่อจะทำให้เกิดความรู้ ข้อมูล ข้อเท็จจริง ที่เกิดขึ้นจริงกับเกษตรกร และเด็กรุ่นใหม่ตั้งแต่ต้น ฉะนั้นการใช้โรงงานหลวงฯ ช่วยบริหารจัดการวัด ซึ่งวัดก็รู้ว่าเป็นแหล่งที่ขาดระบบบัญชีที่ดี เพราะไม่ต้องมีการตรวจสอบใดๆ เงินบริจาคเข้าไป วัดทำได้ร้อยแปด เป้าหมายที่เราเข้าไปก็คือ จะเอานักบัญชีเราเข้าไปที่วัดนี้ และวัดนี้เราจะทำเรื่องการบัญชี การใช้เงินของวัดให้ดี ทำความโปร่งใสให้ดี ซึ่งเรื่องทางโลกเหล่านี้ เราคิดว่าน่าจะเป็นเรื่องของฆราวาส เป็นเรื่องทางโลก ไม่ใช่กิจของสงฆ์

ส่วนเรื่องของสงฆ์ น่าจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการเผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เช่น เรื่องวันธรรมสวนะ สมัยก่อน ทุกวันพระ คนไทยเราจะอุ้มลูกจูงหลานไปนั่งฟังธรรมะ ปัจจุบันนี้ ถ้าอยู่ในกรุงเทพ วันพระ วันไม่พระ ข้างขึ้น ข้างแรม เดือนเพ็ญ เดือนมืด ไม่มีใครรู้แล้ว ยิ่งเด็กรุ่นใหม่นี่ด้วย เราก็เอาของพวกนี้กลับเข้ามาในชุมชน เช่น นโยบาย บ้าน วัด โรงเรียน และโรงงานหลวงฯ จึงค่อยๆ เกิดขึ้น แต่ทำยากมาก แต่ก็ต้องค่อยๆ ทำเพราะเราทำแบบพระมหาชนก แม้ว่าเราจะไม่เห็นฝั่งก็ยังว่ายน้ำต่อไป ยากแค่ไหนก็ทำ เพราะเราคิดว่า เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ดี เราก็หาภาคีเครือข่ายเข้ามาว่า จะช่วยกันได้ไหม ใครจะช่วยเราได้บ้าง ก็พยายามอยู่”

-ภูมิใจอย่างไรบ้างกับการสร้างอาชีพให้ชุมชน?

“ความภูมิใจเหรอครับ ก็ต้องบอกว่าดีใจส่วนหนึ่ง ก็อย่างที่บอกเห็นใครดื่มผลิตภัณฑ์ดอยคำ หรือใช้ผลิตภัณฑ์ดอยคำก็รู้สึกดีใจ เพราะผมจับมาตั้งแต่ต้น ในสมัยก่อนนี้ ผมเคยเห็นเด็กในมหาวิทยาลัยจะดื่มน้ำดอยคำต้องเอาใส่ในถุงกระดาษและก็เอาถุงกระดาษปิดเพราะว่าใครทานดอยคำรู้สึกเชย แต่วันนี้ ทานดอยคำแล้วโพสต์แล้วว่า วันนี้ ฉันสนับสนุนดอยคำนะ เพราะฉะนั้นทุกอย่างมันเปลี่ยน การเปลี่ยนแปลงต่างๆ แม้กระทั่งเรื่องแบรนด์ดิงก็ดี ความเป็นมืออาชีพของคนที่มอง ตอนนี้ไม่เฉพาะที่เป็นดอยคำแล้ว เป็นแบรนด์ที่ช่วยรัก (ษ์) โลก เป็นแบรนด์ที่ช่วยเกษตรกร เป็นแบรนด์ที่มีคุณภาพ ดีต่อสุขภาพตัวเอง เป็นแบรนด์ที่หลายๆ อย่างค่อยๆ เข้ามาในชีวิตประจำวัน การที่คุณจะเลือกบริโภคอะไรสักอย่าง ผมคิดว่าในเรื่องของสูตรอาหารมันแค่เอาใส่เครื่องไป เครื่องมือสมัยี้ ก็จะสามารถวิเคราะห์สูตรที่เราใส่ออกมาได้หมดเลยว่าคุณมีอะไรบ้าง น้ำตาลเท่าไร กรดซิตริกเท่าไร มันทำได้หมด ของพวกนี้รสชาติมันตามทันกันหมด แต่การที่แตกต่างนั้นอยู่ที่แบรนด์ ว่าแบรนด์คุณเอาวัตถุดิบมาจากในประเทศหรือเปล่า คุณซื้อวัตถุดิบจากเกษตรกรในราคายุติธรรมหรือเปล่า หรือคุณไปกดขี่เอาราคาเขาถูกๆ มา เรื่องพวกนี้เราไม่ทำ ตอนนี้คนเริ่มรู้จักแบรนด์เราว่าช่วยเกษตรกรจริงๆ ทำให้เกษตรกรกินดีอยู่ดี พอเป็นอย่างนั้นมันก็ต่างกันตรงนี้แหละ ผมว่า ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่รับประทานกันอยู่ทุกวันนี้ของคนอื่นก็ไม่ได้ด้อยกว่าเราแต่ ที่แตกต่างคือแบรนด์และเรื่องที่อยู่ข้างหลังแบรนด์ต่างหากที่แตกต่างกันค่อนข้างเยอะ เป็นเรื่องที่คนเริ่มรู้และกระแสเหล่านี้เข้า เราก็จับกระแสเหล่านี้เข้ามา อย่างบนกล่องทั้งหลาย เห็นว่า มีแมลงอยู่ เป็นของดี เป็นตัวที่ช่วยผสมเกสร เพราะถ้าไม่มีแมลงพวกนี้ คุณไม่มีวันมีผลไม้ได้รับประทาน เป็นสิ่งที่เราเอาเข้ามาและค่อยๆ สอนคนให้เข้าใจว่า ของพวกนี้ที่เรานำเข้ามาเราทำอะไรยังไง”

-ย้อนไปในวัยเด็กถูกเลี้ยงดูอย่างไรบ้างครับ?

“ผมเป็นเด็กที่ สปอยล์มากคนหนึ่ง (หัวเราะ) ต้องบอกว่าเป็นเด็กที่ถูกตามใจขนาดหนักเพราะเป็นลูกคนเดียวในบ้าน คุณพ่อเคยบอกว่า ที่ส่งไปอยู่วชิราวุธวิทยาลัย ก็เพราะว่ากลัวจะเป็น “ A little king in a little kingdom” คือ เป็นเจ้าชายในบ้านเล็กๆ หนึ่งหลัง เพราะว่ามีคนห้อมล้อมเอาใจ ก็กลัวจะเสียคน เลยส่งไปอยู่โรงเรียนประจำ (Boarding school) เสียเลย ตอนนั้นคุณแม่ก็ไปยืนเกาะรั้วร้องไห้อยู่หน้าโรงเรียนอยู่พักหนึ่ง เราก็ร้องไห้ข้างในรั้ว อยู่ได้ 6 เดือนก็ผมหยุดร้องไห้ แม่ไม่หยุด เราเพื่อนเยอะแล้ว สนุกแล้ว ไม่คิดถึงบ้านแล้ว เป็นชีวิตที่เรียนรู้เยอะมากจากวชิราวุธฯ ถ้าไม่ได้อยู่ที่นี่ก็คงไม่เป็นตัวเป็นตนขนาดนี้ คงไม่รู้จักวิธีซักผ้า คงไม่รู้จักวิธีที่จะต้องอยู่กับคนหมู่มาก จะทำยังไง ก็ตงเอาแต่ใจตัวเองไปวันๆ อยากได้อย่างนี้ ฉันก็เอา คือ ไม่คิดถึงใจคนอื่นเลย จริงๆ แล้ววชิราวุธฯ สอนให้เยอะมาก

ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 ท่านตั้งพระราชหฤทัยไว้สอนให้ผู้ชายให้เป็นผู้ชาย คุณโตขึ้นมาเป็นผู้ชายเต็มตัว รู้จัก รู้รัก รู้อภัย กีฬา ทุกอย่าง มันอยู่ในคอนเซ็ปต์ของโรงเรียนประจำ ก็ไม่รู้จะพูดอย่างไรก็เป็นหนี้บุญคุณติดตัวมา ผมถึงต้องมาทำงานรับใช้จริงๆ แล้วผมคิดว่าอายุ 50 ผมจะเกษียณแล้ว นี่ 55 เข้าไปแล้ว ยังไม่ได้เกษียณเลย อยากเกษียณแล้วไปเที่ยว โควิดมาทีเดียวความฝันพังทลาย อดเที่ยวแน่นอนไม่รู้จะไปอย่างไร” (หัวเราะ)

-ในวัยเด็กมีความฝันอยากเป็นอะไรครับ?

“เด็กๆ กับความใฝ่ฝันในตอนนั้นอยากทำงานสายการบินเพราะว่าได้ไปเที่ยว ชีวิตชอบเที่ยวมาแต่เด็ก เพราะพ่อพาเที่ยวที่นั่น ที่นี่ไปเรื่อยๆ ก็ฝันอยากทำงานสายการบิน แต่ปรากฏว่าพอโตขึ้นมาแล้วก็ไม่เลือก ทั้งที่การบินไทยก็รับเข้าทำงานนะตอนนั้น จบกลับมาใหม่ๆ แต่ก็เลือกทำงานสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ผมเคยทำงานอยู่อเมริกาด้วย และก็ได้เห็นความแตกต่างเยอะ และก็ได้เห็นในแง่ของการทรงงานของพระบรมชนกาธิเบศร ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 9 กับสมเด็จพระบรมราชนนีพันปีหลวง ก็รับรู้ได้ถึงความลำบากว่าจริงๆ แล้วคนเรานั่งอยู่ที่กรุงเทพฯ ไม่มีทางมีความรู้ข้อมูลเท่ากับที่พระองค์ท่านได้ลงพื้นที่เลย ผมพอลงพื้นที่ก็ได้เห็นสิ่งต่างๆ มากมาย ต้องบอกว่ามากมายจริงๆ ที่แตกต่าง เพราะฉะนั้นของเหล่านี้มันก็เปลี่ยนไป มันก็ทำให้ความคิดเราเปลี่ยนไป”

-คุณพ่อคุณแม่สอนอะไรบ้างที่เติบโตเป็นคนดีทุกวันนี้?

“ก็ไม่มีอะไร ก็เหมือนๆ คนอื่นนะครับ ก็สอนทั่วๆ ไป ว่าเราก็เกิดมาแล้วก็ต้องเป็นคนดี ขอให้เป็นคนดีของสังคม อย่าไปเบียดเบียนคนอื่น ถูกสอนว่าความดีทำง่ายมาก คนเราจะเป็นคนดีหรือไม่ดี มีอยู่ 5 ข้อเอง ถ้าคุณทำได้ 5 ข้อคุณก็เป็นคนดี คือ ท่านก็สอน ผมสวดมนต์ตั้งแต่เด็กมาจนถึงทุกวันนี้ ผมถือศีล 5 ข้อและก็สวดมนต์ก็ยังสวดทุกวัน เตือนสติเรา เตือนใจเราว่า เราทำอะไร ผมไม่สูบบุหรี่ ผมไม่ดื่มเหล้า ผมไม่เที่ยวอะไรแบบนี้ ผมกลับมาที่ดอยคำผมก็ชาเลนจ์พนักงาน บอกว่า คุณลองคิดดูแล้วกันว่าในสังคมไทยนี้ ถ้าทุกคนถือศีล 5 ข้อ สิ่งแรกที่จะหายไปจากสังคมไทยคืออะไร ทุกคนก็ยัง งงๆ อยู่ ผมก็ถามมาแทบทุกรุ่น สิ่งแรกที่หายไปคือ “คุก” เพราะคุณคงไม่ต้องการ กฎหมายมีเป็นแสนๆ ฉบับ เทียบกับกฎหมายของ พระพุทธเจ้าซึ่งมี 5 ข้อเอง และถ้าคุณทำได้ 5 ข้อนี้จริงๆ กฎหมายแสนฉบับแทบจะเอาออกไปได้ 9 หมื่นกว่าฉบับมั้ง

ผมมักจะถามเล่นๆ ว่า พวกคุณนับถือศาสนาพุทธเมื่อไร? ส่วนใหญ่จะนึกกันไม่ออก ว่าจะตอบยังงัย แต่พอเฉลยว่า คุณนับถือศาสนาพุทธเวลากรอกฟอร์มต่างๆ ใช่ไหม เพราะในฟอร์มจะมีช่องเขียนคำว่า “ศาสนา” ให้เติม คุณก็กรอกคำว่า “พุทธ” คุณก็นับถือศาสนาพุทธแล้ว แต่จริงๆ แล้วการที่นับถือศาสนาพุทธอยู่ที่ใจ ท่านอาจารย์แบน ธนากโร เจ้าอาวาสวัดดอยธรรมเจดีย์ ที่ผมเคารพมากและเพิ่งละสังขารไป ท่านบอกว่าศาสนาพุทธอยู่ที่ใจ ตัวไม่ต้องเข้าวัด แต่ใจคุณอยู่ในวัด คุณก็อยู่ในวัดแล้ว คุณประพฤติตัวหรือประพฤติปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า คุณก็เข้าวัดแล้ว คุณไม่ต้องไปเดินจงกรมอยู่ในวัด หรือคุณไม่ต้องสงบสติอารมณ์อยู่ที่วัด เพียงแต่คุณใช้สติที่มีอยู่กับตัวตลอดเวลาในการตัดสินใจ ในการทำอะไร สติหลุดเมื่อไร อันนั้นคือปัญหา ฉะนั้นถ้าคุณมีสติอยู่กับตัวหรือในศาสนาพุทธ คุณไม่ดื่มเหล้าสติก็ไม่หลุดแน่นอน ถ้าคุณไม่เมาคุณก็ไม่มีปัญหาอะไร นี่คือสิ่งที่อยู่ในชีวิตประจำวันของเรา และก็สิ่งที่ผมอยากจะบอกก็คือว่า ของเหล่านี้เป็นรากฐานของปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่ ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 9 ทรงเอามา และก็เขียนเป็นเรื่องของปรัชญานี้ว่าคุณเดินสายกลางไม่มากเกินไปไม่น้อยเกินไป มีภูมิคุ้มกันต่างๆ เรื่องของการที่เราจะอยู่อย่างไรจึงพอเพียง มั่นคงอย่างยั่งยืน เป็นรากฐานมาจากศาสนาพุทธทั้งนั้น ต้องดูว่าของเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องอะไรที่แปลกประหลาด ไม่ใช่เรื่องอะไรที่เกินความสามารถของทุกคน”

-หลักการบริหารงานด้วยทศพิธราชธรรมเป็นอย่างไร?

“ผมน้อมนำเอาอันหนึ่งมา สิ่งที่พระองค์ท่านใช้มาตลอดในการปกครองคน 70 ล้านคน ก็คือเรื่องของ “ทศพิธราชธรรม” ในทศพิธราชธรรม 10 ข้อ ถ้าคุณจะปกครองคน คุณไม่ต้องเรียนมาจากฮาร์วาร์ดไม่ต้องไปเรียนที่ไหนเอาแค่ 10 ข้อนี้ มี ทาน ศีล ปริจจาคะ อาชชวะ มัททวะ ตปะ อักโกธะ อวิหิงสา ขันติ และอวิโรธนะ ทุกข้อนี้ผมเอามาคิดพิจารณาดีๆ พระองค์ท่านทรงปกครองอาณาประชาราษฎร์ 70 ล้านคนด้วย 10 ข้อนี้ คุณก็เอามาดูว่าจะใช้ในการปกครองคนในบริษัทหรืออะไรก็แล้วแต่ ผมว่า 10 ข้อนี้ตอบโจทย์แน่นอน ไม่ต้องไปหาศาสตร์ที่ไหนหรอก “ศาสตร์พระราชา” ของคนไทยนี่แหละดีที่สุด

การบริหารงานของผม ผมใช้เหตุและผลเข้ามาคุยกัน ณ วันที่มีปัญหาหรือเกิดอะไรขึ้น เหตุและผลมันคืออะไร ผลเป็นแบบนี้ก็ต้องดูที่เหตุ เข้ากับศาสนาพุทธ อีกในเรื่อง อริยสัจ 4 อันได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค หาเหตุแห่งทุกข์เกิดจากอะไร พอหาเหตุเจอ ก็เจอหนทางแห่งการดับทุกข์ ไปถึงเรื่องที่เราจะแก้ปัญหานี้ได้ พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้อยู่แล้ว”

-ดูแลสุขภาพตัวเองอย่างไร?

“ผมเป็นคนที่ไม่ค่อยดูแลสุขภาพเลย (หัวเราะ) คือ ชีวิตผม ผมไม่มีอบายมุข แต่สิ่งเดียวที่ผมมีความสุข คือ การรับประทาน จึงเห็นว่าผมอ้วนและถูกคนที่อยู่ในดอยคำว่าตลอดเวลา ว่าพี่อยู่ในบริษัทฯ ที่ดูแลสุขภาพพี่ต้องดูแลสุขภาพตัวเอง ผมก็ไม่เชิงไม่ดูหรอก แต่เดิมผมตีแบดมินตันทุกวัน แต่ช่วงมาอยู่ดอยคำ มันไกลจากสนามแบดเลยไม่ได้ตีเลย ผมคิดว่าหลังจากนี้แล้วก็คงต้องกลับไปออกกำลังใหม่ ตอนนี้ พยายามจะลดน้ำหนักใหม่ บังเอิญฤดูทุเรียนมา อร่อยซะด้วย น้ำหนักก็ขึ้นนิดหน่อย ถามว่าเราดูแลสุขภาพมั้ย ก็ดูแลอยู่ บางอย่างที่เป็นของหวานซึ่งอายุเท่านี้แล้วก็เพลาๆ ลง อะไรที่เพลาๆ ลงได้ก็จะทำ

 

 

-จากนี้ไปวางแนวทางการเติบโตของดอยคำไว้อย่างไรบ้าง?

“ต้องปรับตามกระแสแน่นอน โลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและฉับพลัน การบริหารตรงนี้ถ้าคุณไม่แก้ทุกอย่างให้รวดเร็วและทันเวลาคุณก็ตกโลก หลายอย่างสินค้าใหม่ของดอยคำที่ออกมา เยอะขึ้น ผลิตภัณฑ์ที่มาจากสมุนไพรไทยเช่น น้ำตะไคร้ผสมขิงและใบเตย ดื่มเข้าไปได้สองอย่างแน่ๆ ขับลมจากน้ำตะไคร้ที่มีอยู่ได้ใบเตยมาก็เป็นการขับปัสสาวะส่วนที่ช่วย จะเห็นว่าอย่างเก๊กฮวยและคาโมไมล์ เราก็ดื่มตอนก่อนนอนหลับสบาย เป็นตัวที่ค่อยๆ เอาเข้ามา จากความเครียดของคนเมืองเยอะขึ้น เราก็ค่อยๆ หาสมุนไพรพวกนี้ ถ้าคุณดื่มเป็นประจำทุกวันจะทำให้คุณผ่อนคลายขึ้น สบายๆ แทนที่คุณจะต้องไปกินยาระงับประสาท คุณก็หันมาดื่มน้ำเก๊กฮวยคาโมไมล์ ก็ไม่ได้มีความหวานมากอะไร เป็นตัวที่เราปรับตัวเข้าหาสภาพแวดล้อม เพราะคนเครียดมากขึ้น โควิด เข้ามา อะไรต่ออะไร ซึ่งเป็นสมุนไพรไทยๆ อาจจะไม่ดีเท่ากับยาระงับประสาท แต่ทำให้คุณสบายๆ ได้ ผมขอฝากผลิตภัณฑ์ดอยคำนะครับ เราได้วัตถุดิบที่มีคุณภาพจากเกษตรกรไทยทั้งสิ้น และการที่เราได้วัตถุดิบที่มีคุณภาพแล้วนั้นเราส่งคนไปสอนเขา เพื่อให้เขาพัฒนาฝีมือการเพาะปลูกพืชเหล่านี้ให้ดีขึ้น เพราะเราพยายามเก็บพืชเหล่านี้ขึ้นมาให้ปลอดภัย ผมไม่ได้เน้นเรื่องเกษตรอินทรีย์ เพราะการเป็นอินทรีย์ในประเทศไทยผมคิดว่าเป็นเรื่องยาก แต่อย่างไรก็ตาม เราก็พยายามทำให้ปลอดภัย สารตกค้างที่มีอยู่ไม่มาทำร้ายร่างกายคุณให้มีปัญหา มีตามที่มาตรฐานโลกกำหนดไว้

 

“ปัจจุบัน ดอยคำก็เดินเข้าหา GAP สอนเกษตรกรเรื่องของการเพาะปลูกที่ดีที่มีคุณภาพ เขาก็ทำได้ด้วยตัวเขาเองด้วย ไม่ต้องพึ่งยาฆ่าแมลง เขาก็ปลอดโรคด้วย ผู้บริโภคเราก็ปลอดภัยด้วย นี่คือสิ่งที่ได้ทุกๆ ด้าน การเดินไปตรงจุดนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เจ้าหน้าที่ส่งเสริมเราต้องไปสอนต้องไปให้ความรู้เขากว่าเขาจะเชื่อ กว่าเขาจะทำ จะใช้เวลาในขณะเดียวกันมาถึงผู้บริโภค เราก็ต้องให้ความรู้ผู้บริโภค สินค้าเราปลอดสารนะ สินค้าเราปลอดภัยนะ เป็นต้นผมขอฝากไว้ว่าถ้าอุดหนุนผลิตภัณฑ์ดอยคำก็ทำให้ธุรกิจที่อยู่ในรากแก้วของสังคมนั้นเจริญเติบโตไปพร้อมๆ กับเราด้วย ลดความเหลื่อมล้ำในแง่ของรายได้ที่เรามีอยู่ตอนนี้ ก็ทราบกันอยู่แล้วว่าความเหลื่อมล้ำในประเทศค่อนข้างมาก คนรวยก็มีรายได้ซะไม่รู้เท่าไหร่ คนจนก็แทบจะติดดินทีเดียว ก็เป็นส่วนหนึ่งเราพยายามจะทำให้รายได้ของเกษตรกรให้ดีขึ้น” นี่เป็นบทพิสูจน์ความสำเร็จของ “ดอยคำ” กับผู้ชายคนเก่งที่ชื่อ “พิพัฒพงศ์ อิศรเสนา ณ อยุธยา”