ธรรม กับ งาน กะ พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันท์
CHANGE in-your-life เรื่อง : ปราริชาติ ปลื้มจิตต์ตระกูล
ธรรม กับ งาน
กะ
พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันท์
หลักธรรมสำคัญที่คุ้นเคยหลักเดียวสำหรับผม ซึ่งยึดถือปฏิบัติมา ตั้งแต่รับราชการมาจนถึงวันนี้ เป็นของท่านพุทธทาสภิกขุ ว่า การทำงานคือการปฏิบัติธรรม... พ.ต.อ. ณรัชต์ เศวตนันท์ รองเลขาธิการพระราชวัง อดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์ อดีตข้าราชการตำรวจหนุ่มไฟแรงที่ผ่านประสบการณ์ การทำงานมาอย่างมากมาย ก่อน ชีวิตจะนำพา สู่การบริหารงานราชทัณฑ์อย่างเต็มตัว...สมัยชีวิตวัยเด็กนั้น ผมมีความใกล้ชิดกับคุณพ่อมาก( พล.ต.ต.นิทัศน์ เศวตนันท์) ซึ่งเป็นข้าราชการตำรวจ การที่เห็นคุณพ่อทำงานออกตรวจตราดึกดื่นค่อนคืนเป็นประจำ ด้วยความขยันขันแข็ง และออกเยี่ยมเยียนประชาชน บำรุงขวัญลูกน้องมาโดยตลอด และเมื่อจบการศึกษาได้เข้ารับราชการเป็นตำรวจ ก็มีโอกาสได้ติดตามผู้บังคับบัญชาในสมัยนั้น คือ พล ต.อ วิรุฬห์ ฟื้นแสน อีกด้วย ชึ่งผมมองว่าอาชีพตำรวจไม่ค่อยจะมีเวลาได้เข้าวัด ฟังเทศน์สักเท่าไร ดังนั้น การช่วยเหลือสังคม คือ การทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด ทำด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ทำเพื่อพี่น้องประชาชน ตั้งใจทำงานให้ดีที่สุด ตอนสมัยคุณปู่ยังอยู่ ผมประทับใจมากงานวันในเดือนมกราคม ท่านเป็นผู้บังคับการตำรวจภูธรภาค1 สมัยนี้คงเทียบได้กับผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค1 เห็นผู้คน มาร่วมงาน ประชาชนให้ความเคารพยำเกรงเชื่อถือศรัทธา เพราะฉะนั้นเราก็ต้องทำให้เขาเหล่านั้นมีความสุข คือ คืนความสุขนี้ให้กับประชาชน
ผมโชคดีได้ติดตามนายเดินทางไปทำงานต่างจังหวัด ได้หลักการทำงาน แม้จะดูแบบลูกทุ่งไม่มีการปรุงแต่งให้สวยสดสดงดงาม แต่จริงใจ หรือสละสลวย และเป็นวิญญาณของผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ วิญญาณข้าราชการของแผ่นดินอย่างแท้จริง คือ 1. อย่ารังแกประชาชน 2 .พยายามช่วยเหลือประชาชนทุกเมื่อเมื่อมีโอกาส ใช้หลักการนี้มาโดยตลอด อดีตที่ผ่านมา พอเรียนจบ ก็มารับตำแหน่งเป็นสารวัตรสอบสวนอยู่ที่ สน.ลุมพินี ได้ประมาณ 2 ปี จากนั้นไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท และปริญญาเอก ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา กลับมาทำงาน เป็นนายเวรสำนักงานกำลังพล ได้รับการซึมซับการแต่งตั้งโยกย้าย การบริหารงานบุคคล ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง ถือหลักคุณธรรม ไม่มีการเรียกรับผลประโยชน์ ไม่มีการซื้อขายตำแหน่ง ทำงานหลากหลายตำแหน่ง ไปอยู่ภูธรบ้าง กับท่าน พล.ต.ท สมชาย ประภัสภักดี รับวิทยายุทธ์ต่างๆ เรื่องคุณงามความดีและเป็นครูเป็นแบบอย่างในชีวิต พอมาอยู่ที่ ชลบุรีได้ทำงานด้านปราบปราม เป็นลูกน้อง ท่าน พล.ต.อ. ภานณุพงศ์ สิงหรา ณ อยุธยา เป็นเจ้านายที่ผมรักเคารพมาก สอนเรื่องการสืบสวนและปราบปราม การปะทะคนร้าย วิสามัญฆาตกรรมต่างๆ ก็ได้วิชาในสมัยท่าน
พอปี 2546 ได้รับการโอนย้ายจากข้าราชการตำรวจ มาอยู่กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ตำแหน่งแรก เป็นผู้บัญชาการสำนักกิจการต่างประเทศและคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศ จากประสบการณ์ที่ก่อนหน้านั้นผม เคยทำงานเป็นผู้กำกับอินเตอร์โพลของกองการต่างประเทศของตำรวจ เป็นข้าราชการระดับซี9 ต่อมาก็เลื่อนเป็น ผบ.สำนักคดีการเงินการธนาคาร ผู้บัญชาการสำนักคดีทรัพย์สินทางปัญญา มาปี 2551ก็ได้ขยับขึ้นเป็นรองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ปีนั้นเป็นปีที่เสียใจและดีใจในเวลาเดียวกัน คือ ดีใจที่เราจะได้รับการเลื่อนตำแหน่ง แต่เสียใจที่คุณพ่อเสียชีวิต ไม่ได้เห็นความก้าวหน้าของเรา พ่อเป็นปัจจัยสำคัญของชีวิตผมในการเลือกโอนย้ายมาดีเอสไอ คุณปู่เราเป็นนายพล พ่อเป็นนายพล พ่อส่งเราเรียนเตรียมทหาร เรียนนายร้อยตำรวจ เรียนปริญญาโทเอกจากต่างประเทศ ก็คงคิดหวังลึกๆ ให้เราเป็นนายพลเหมือนกัน พอโอนย้ายมาเป็นพลเรือนซึ่งยศจะอยู่ที่เดิม ไปถามพ่อ ท่านก็ให้คำแนะนำว่า ให้มาทำงานที่ดีเอสไอ ซึ่งหวังให้ท่านเห็นเราเจริญเติบโต
ปี 2554 มาเรียน วปอ. เป็นปีที่น้ำท่วมใหญ่ และได้รับการแต่งตั้งเป็น ซี 10 ตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรม สมัย พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก เป็น รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม ทำงานเป็นผู้ตรวจอยู่พักหนึ่ง ปี2555 ขยับมาป็น อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ซึ่งดูและในเรื่องของสิทธิมนุษยชน human life และบังเอิญไปจับกฎหมายฉบับหนึ่งรู้สึกอินมาก ว่ามีบุญวาสนาที่ได้มาบริหารกรมนี้ ตอนนั้นกฎหมายฉบับนี้ ชื่อเต็มๆ ยาวมาก ชื่อว่า พรบ.ค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าชดเชยค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา เขาเรียกว่า พรบ.เล่มส้ม หรีอ พรบ.สชง.สำนักงานช่วยเหลือทางการเงิน เป็นสำนักงานหนึ่งในกรมคุ้มครองสิทธ์ สาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ก็คือ เป็นกฎหมายที่ให้การเยียวยา โดยมีงบประมาณของทางราชการจากภาษีอากรของพี่น้องประชาชน เป็นงบแผ่นดินจ่ายให้ผู้ที่เป็นเหยื่ออาชญากรรมเฉพาะในคดีที่เกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคุณถูกยิงถูกแทงถูกฆ่า ข่มขืน ทำร้ายด้วยประการใดโดยที่ตนเองไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมนั้นๆ ก็สามารถเยี่ยวยา ซึ่งเราช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรมได้เยอะมาก ก่อนหน้าปีที่ผมไปทำงานกระทรวงยุติธรรมเป็นกระทรวงเล็ก กฎหมายนี้ไม่แพร่หลายใช้งบ ร้อยกว่าล้านบาทในการจ่ายเยียวยาผู้คน ผมเองในฐานะตำรวจเก่าเคยควักกระเป๋าจ่ายเงินให้เมียคนงานก่อสร้างที่สามีถูกแทงตาย อุ้มลูกยืนดูดนมต่อหน้ามาแล้ว อีกทั้งหาทางช่วยเหลือเขา ทั้ง ที่พัก รถไฟในการเดินทาง เรามีจิตวิญญาณแบบนี้ พอได้มาบริหาร ซึ่งมีงบประมาณจากทางราชการออกมาในปี 2544 เยียวยา ผมมีพรรคพวกเก่าสมัยเป็นตำรวจ อาทิเช่น พล.ต.อ.อดุลย์แสงสิงแก้วซึ่งตอนนั้น เป็น ผบ.ตร. ก็ไปพบท่านและเชื่อมประสานงานกัน เดินสายประชาสัมพันธ์ บอกวิธีการยื่นคำขอในทุกภาค รวมถึงนครบาล ทำให้ใช้งบประมาณไป ห้าถึงหกร้อยล้านบาท กราฟขึ้น หลังจากประชาสัมพันธ์ให้ตำรวจซึ่งเป็นต้นทาง และอีกเรื่องที่ทำให้งานนี้ดังขึ้นมาเป็นโครงการเชิงรุก ผมไปหาเงินนอกงบประมาณมาได้ล้านบาท จัดคอนเสริทต์ นำเงินวางเป็นกองกลาง แต่ละเดือน เลือกได้ 10 ศพ ศพละแสน คดีอุกฉกรรจ์สะเทือนขวัญ แท็กซี่หญิงถูกฆ่าชิงทรัพย์ทีอุบล วันรุ่งขึ้นบินเอาเงินไปจ่ายผ่านผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ข่าวก็ดังขึ้น เกิดเหตุระเบิด มีผู้เสียชีวิตหลายคนเราก็ใช้วิธีนี้ คือเอาเงินกองทุนของเราจ่ายสำรองไปก่อน และให้ทำ เปเปอร์เวิร์คตามมา เรื่องจริงเงินเยียวยาจะได้อีก 8 เดือนข้างหน้า ซึ่งมันใช้เวลานานและพออนุมัติก็เอากลับเข้ามาคืนกองทุน สมัยนั้นปลัดท่องเที่ยวก็งง มาถามว่าท่านอธิบดีทำอย่างไร ทำไมจ่ายได้เร็ว กระทรวงการท่องเที่ยวก็มีงบเหมือนกันแต่ไม่สามารถนำออกมาได้เลย บอกไปเราใช้เงินกองทุนสำรองจ่ายล่วงหน้าไปก่อน มีความคุ้นเคยกับกรมนี้มากเพราะได้ทำงานเกี่ยวกับคนเจ็บคนตาย ทำงานคือการปฏิบัติธรรม ทุกครั้งที่เดินทางไปเยียวยาได้กลิ่นคนจน ได้ไปสัมผัส นั่งข้างๆ โอบหลัง ลูบไหล่ ให้เงินกับแม่ที่ลูกเขาเสีย ถูกยิงหรือแทงตาย มีความรู้สึกว่าสมศักดิ์ศรี เป็นการทำงานที่เรียกว่าการปฏิบัติธรรมไปในตัว อยู่ได้ 3 ปี
ถัดมาก็ดูแลกรมใหญ่ขึ้น คือ กรมควบคุมประพฤติ และขอลาบวชก่อนในช่วงนั้น เป็นเวลา 2 สัปดาห์ที่วัดเทพศิรินทร์ เลยถือโอกาสทำบุญใหญ่อุทิศส่วนกุศลให้กับคนเหล่านั้นที่เสียชีวิต จากนั้นก็มาเป็นอธิบดีกรมประพฤติ 2 ปี และมาเป็นอธิบดีกรมราชทัณฑ์ซึ่งจะเกษียณอายุราชการในปี 63 นี้ สำหรับยศ พ.ต.อ.นั้นยังคงไว้เพราะได้รับพระราชทานยศจากในหลวง การทำงานที่กรมราชทัณฑ์ ใช้หลักการเดียวกัน ปัจจุบันกรมราชทัณฑ์ต้องดูแลผู้ต้องขัง 370,000 คน 80 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนนี้ เป็นผู้มีฐานะยากจน มาจากครอบครัวด้อยโอกาส ไม่มีความรู้ ไม่มีอาชีพ ไม่มีเงิน พ่อแม่แยกกัน อยู่ตามแหล่งสลัม ถึงเข้าไปพัวพันกับยาเสพติดค่อนข้างมาก เราก็ถือหลักสิทธิมนุษยชน เป็นข้อดีที่ผ่านกรมคุ้มครองสิทธิมา เรียนจบอาชญาวิทยามา หลักคิดมีอยู่ 2 หลัก หลักดั้งเดิมโบราณ ก็คือ กักขังเพื่อแก้แค้น ทำอย่างไรก็ได้ให้พวกทำผิดคิดร้ายตกทุกข์ได้ยากทุกขเวทนา อาหาร อากาศอย่าให้มันอยู่ดี ให้คนภายนอกกลัว ฆ่าได้ฆ่า มีการใช้อาญาเถื่อนข้างใน ซ้อมกัน ทารุณโหดร้าย นี่เป็นหลักดั้งเดิม หลักสมัยใหม่ซึ่งมีมาเป็น 100 ปี เรียก positive เรียก กักขังเพื่อแก้ไข แต่ ก็จะใช้ไม่ได้ กับกรณี สมคิด พุ่มพวง ฆาตกรฆ่าต่อเนื่อง โดยหลักจะถือว่าเขาอาจจะก้าวผิดคิดพลาด อาจจะทำผิดครั้งแรก อาจจะทำผิดเพราะจำเป็น เช่น แม่ขโมยซาลาเปา เป็ดย่างให้ลูกกินบ้าง หรือคนไม่มีจะกิน ก็เปิดบ่อนบ้าง ขายยาเสพติดบ้าง เป็นเรื่องที่เขากระเสือกกระสนดิ้นรน ผู้หญิงอยู่ในคุกจำนวน 45,000 คน ส่วนมากเป็นแม่ เป็นเมีย บางทีแม่ก็รับผิดแทนลูก ในการวิ่งยา เราต้องมองเขาเหมือนเพื่อนมนุษย์ เหมือนพี่น้องร่วมชาติ ผมใช้หลักเดิม คือ อบรมเจ้าหน้าที่ 15,000 คน ให้ตระหนักว่าคนเหล่านี้เป็นพี่น้องร่วมชาติ เป็นเพื่อนมนุษย์ เพราะฉะนั้นอย่ารังแกเขา ผู้คุมสมัยนี้ไม่ได้ใช้ จอห์นเวย์โมเดล คือ พูดน้อย ต่อยหนัก ตีนไว กรมราชทัณฑ์ไม่ใช่แดนสนธยาหลังกำแพง เคยมีคำกล่าว กันเมื่อก่อนว่า เขตทหารห้ามเข้าแล้ว ราชทัณฑ์นี่แดนสนธยาเลย ใครจะเข้ามาก็ไม่ได้ เครื่องบันทึกเสียง กล้องถ่ายรูป วีดีโอ เป็นสิ่งของต้องห้ามข้างใน เพราะฉะนั้น เราก็ใช้หลักเดิมคือ อย่ารังแกเขา เข้ามาบริหารงานใหม่ๆ จะใช้หลัก 3 ส สะอาด ทุกอย่างต้องสะอาด ทั้งจิตใจ ทั้งอาคารสถานที่ การแต่งเนื้อแต่งตัว สุจริต คือไม่มีทุจริตไปเรียกรับเงินทองเขา และก็ เสมอภาค ก็ถือหลัก 3 ส ในการปฏิบัติหน้าที่
กรมราชทัณฑ์โชคดี เพราะมีพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์ เสด็จลงมาทรงงาน ตั้งแต่สมเด็จพระเทพ พระราชทานห้องสมุดพร้อมปัญญา จะเสด็จ3-4 เดือนครั้งทุกปี ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ก็จะพระราชทานโครงการทูบีนัมเบอร์วัน เน้นในเรื่องการป้องกัน การบำบัดรักษา ยาเสพติด โดยใช้ดนตรีให้เด็กไปแสดงออกเต้นรำ ร้องเพลง พระองค์สำคัญที่สุดคือพระองค์ภา สมเด็จเจ้าเจ้าฟ้าพัชรกิตติยาภา ซึ่งท่านพระราชทานกำลังใจ เริ่มมาจากโครงการแม่และเด็ก ท่านเข้าไปเห็นเด็กติดแม่ในคุก หรือแม่ท้องถูกจับแล้วมาคลอดในคุก ท่านก็พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์สามแสนบาทในการดูแลคนเหล่านี้ ตอนหลังขยายขึ้นมาเป็นโครงการกำลังใจ พอโครงการกำลังใจ ขยายก็กลายเป็น ข้อกำหนดกรุงเทพ ที่เป็นมาตรฐานแม่แบบที่ยูเอ็นเขาให้การรับรอง ถือว่าเป็น อินเตอร์เนชั่นยูเอ็นแสตนดาดน์ ในเรื่องการดูแลผู้ต้องขังหญิง ข้างในและนอกคุก พระองค์ภามีบทบาทสำคัญมาก เมื่อวันที่ 28 ธันวาคมที่ผ่านมา ในหลวง ราชินี และพระองค์ภา ก็ได้เสด็จเปิดโครงการราชทัณฑ์ปันสุขทำความดีเพื่อชาติศาสน์กษัตริย์ มุ่งเน้นในเรื่องการจัดหาพระราชทานโครงการเครื่องมือทางการแพทย์ เพราะพระองค์ท่านทรงเล็งเห็นว่าผู้ต้องขังซึ่งเป็นผู้ต้องราชทัณฑ์ก็เป็นพสกนิกรของพระองค์ท่านทั้งสิ้น แต่ว่าการเข้าถึงการรักษาพยาบาลลำบาก จะทำฟันเข้าคิวปีหนึ่ง การรักษาพยาบาล การคัดกรองมะเร็งเต้านม มะเร็งมดลูก จะเอ็กซเรย์หรือทำอะไรแต่ละทีมันยากลำบาก พระองค์ภาเป็นประธานคณะกรรมการ พระองค์ภาเคยตรัสไว้ว่า คำว่าราชทัณฑ์ หมายถึงราชะ กับทัณฑะ มาสนธิกัน เพราะฉะนั้นเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ ก็คือผู้ลงทัณฑ์ของพระราชา แต่พระราชาลงทัณฑ์ด้วยความเมตตา มันจำกำหนดมุมมองแนวคิด บุคลิก อุดมคติ ของชาวราชทัณฑ์ทั้งหมดว่าจะต้องเดินไปในทิศทางนี้ คือ กักขังเพื่อแก้ไข ผู้คุมสมัยใหม่จะต้องเป็นนักประสานสิบทิศ จะต้องเป็นหมอแพทย์พยาบาล ครูบาอาจารย์ นักสร้างแรงบันดาลใจ นักสังคมสงเคราะห์ นักฝึกหัดอาชีพ นักจัดหางานเป็นหมด แนวทางกักขังและแก้ไข ตนมองว่าชัดเจนแล้วใครเข้ามารับตำแหน่งก็ต้องเดินตามนี้จะทำอย่างอื่นคงไม่ได้ คือเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ไม่สามารถที่จะไปทุบตี ทำร้ายเขา ในคุก หรือใช้อาญาเถื่อนแล้ว ในสมัยหนึ่งอาจมีความจำเป็น ตนเองในฐานะที่เป็นคนนอกมาทั้งชีวิตแล้วมารับราชการในฐานะหัวหน้าหน่วยเลยในสามปีหลังก็ย่อมที่จะได้รับกระแสความไม่เห็นด้วย ก็ได้รับคำถามว่าจะทำได้หรือจะเอาอยู่หรือ จะเป็นนโยบายที่เหมาะสมหรือเปล่า แต่ก็คิดย้อนไปสาเหตุที่ผู้บังคับบัญชาในขณะนั้นแต่งตั้งผม คงอาจจะอยากให้มีคนนอกมาลองบริหารจัดการบ้าง เหมือนปลาเปลี่ยนน้ำ ให้เกิดความหลากหลาย และอาจเล็งเห็นว่าตนเคยทำงานกรมคุ้มครองสิทธิมาก่อน น่าจะเป็นหลักสำคัญ และเคยทำงานกรมคุมประพฤติ ซึ่งถือเป็นการทำงานใกล้เคียงกับกรมราชทัณฑ์ เพียงแต่ตรงนั้นไม่ได้ดูแลในคุก ดูแลนอกผู้ต้องอาญาเหมือนกัน ซึ่งยอมรับตามตรงว่าเราก็ยังดูแลผู้กระทำความผิดซ้ำได้ไม่ดีเท่าที่ควร
ปัจจุบันเรือนจำมี 3 ปัญหา ปัญหาที่ 1 คนล้นคุก คุกเรา 143 แห่งจุได้ 120,000 คน ตามมาตรฐาน แต่ปัจจุบันมี 370,000 คน พลเมืองคุกเรามีมากเป็นอันดับที่ 6 ของโลก อันดับที่ 3 ของเอเชีย และอันดับที่ 1 ของอาเซียน เพราะเรามีกฎหมายลงโทษถึงขั้นจำคุกเยอะเกินไปตอบแบบกำปั้นทุบดิน โทษบางอย่างก็ไม่ควรที่จะเอามาติดคุก ซึ่งเราต้องรับอยู่แล้ว แต่กำลังจะบอกว่าคนมันล้นคุก ในเมื่อคนล้นคุกในอุดมคติ เรือนจำต้องเป็นเรือนจำสุขภาวะ ต้องเหมือนโรงเรียนกินนอน เหมือนโรงเรียนประจำ เหมือนค่ายทหารน้อยๆ เอาเขามาฝึกวินัย ตื่นนอน นอนหลับเป็นเวลามีที่สวดมนต์ มีที่ฝึกอาชีพ มีที่ศึกษาเล่าเรียน มีพื้นที่ส่วนตัวพอสมควรในการทบทวนบทเรียนในแนวความคิด แต่ทุกวันนี้ เราขังเขาเหมือนคอกหมู คอกวัว คอกไก่ เข่งปลาทู ซึ่งก็อาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ผู้ต้องขังบางรายออกมาแล้วยังกระทำความผิดซ้ำ เพราะสภาวะภายในเรือนจำแทนที่จะเป็นเรือนจำสุขภาวะ มันกลายเป็นเรือนจำทุกขภาวะ กินอยู่หลับนอน รักษาพยาบาล ฝึกชีพ ฝึกงานทุกอย่างมันแออัดไปหมด ซึ่งก็นำไปสู่ปัญหาที่ 3 ก็คือการกระทำความผิดซ้ำ เมื่อพ้นโทษถูกปล่อยออกไปแล้ว ภายใน 1 ปี 17 เปอร์เซ็นต์จะทำความผิดซ้ำ ภายใน 2 ปี 25 เปอร์เซ็นต์ หรือ 1 ใน 4 ภายใน 3 ปี 35 % หรือ 1ใน 3 จะทำผิดซ้ำอีกครั้งหนึ่ง
ตนเองมีโอกาสและเวลาน้อยมากในการไปทำบุญ ตักบาตร มาอยู่ทางโลกมาก แต่ว่าก็ถือเป็นหลักธรรมว่า พยามอย่ารังแกคนอื่น พยามทำประโยชน์ให้สังคมละพยามถือว่าการทำงานคือการปฏิบัติธรรม ซึ่งจะประชุมกับน้องๆ กองแพทย์ว่า ทำอย่างไรจะลดอัตราการตายของผู้ต้องขัง จากปีละพันกว่าคน ให้เหลือสักปีละเก้าร้อยกว่า ซึ่งการตายมี 3 อย่าง 1.ตายเพราะว่าถูกคนอื่นทำร้ายให้ตาย บางทีคนเมาเข้ามาอยู่ในห้อง 80 คน ไปโวยวายใส่ สาดน้ำใส่ บางทีก็โดนรุมทำร้ายเป็นปัญหาหนึ่งแต่ผู้อื่นทำให้ตาย ปัจจุบันไม่มีผู้คุมไปทำให้ตาย 2.ฆ่าตัวตาย หลายรายฆ่าตัวตายด้วยการตั้งใจโดยทิ้งดิ่งเอาศรีษะลงมาจากชั้น สอง ชนพื้นคอหักสมองไหล ก็ต้องพยายามแก้ไขสภาพภายในอาคาร 3.ป่วยตายด้วยโรคภัยไข้เจ็บ บางทีก็ไม่ปกติ อย่าง 4 รายที่ตายที่พิษณุโลก อาหารไม่ดี การตรวจรับไม่ดี เขาให้เอาเนื้อหมูเนื้อไก่ ทำไมเอาคอหมูคอไก่มันหมูไส้เครื่องในเข้ามาปะปน ก็เป็นตัวอย่างในการขับเคลื่อนในการทำงานอย่างหนึ่งว่าถ้ามีธรรมะอยู่เป็นหลัก ก็ตอบได้ทุกคำถาม
อภิสิทธิ์ในเรือนจำไม่มีหรอกครับ ที่จะออกมาจากเรือนจำได้ ประเภทที่ 1 เป็นชั้นดีเหลือโทษน้อยแล้วออกมาทำงานสาธารณะประโยชน์ เขาเรียก กองนอก เช่นเมื่อก่อนจะเห็นในกทม จ้างผู้ต้องขังเราลอกท่อป้องกันน้ำท่วม หรือ ว่ามีงานพิธีสำคัญในพัฒนาวัด ไปพัฒนา ทาสี กวาด โยธา หน่วยราชการ จวนผู้ว่าต่างๆ เป็นเรื่องที่จะให้ออกไป ประเภทที่ 2 คือ เจ็บป่วยก็จะออกไปโรงพยาบาล บางทีก็มีผู้ต้องขังที่สูงอายุ เป็นที่น่าสนใจ มีชื่อเสียง ออกไปมาเข้า สื่อก็จะตั้งข้อสังเกต แต่ตนเองยืนยันได้ว่าการควบคุมของเรา มั่นคง แน่นหนา และก็รอบคอบรัดกุม ปีงบประมาณที่แล้วผู้ต้องขัง 370,000 คน หนีไป 20 คน แล้วตามจับได้ 19 คน หนีได้คนเดียวจะคิดเป็น% น้อยมาก น่าจะข้ามพรหมแดนธรรมชาติไปประเทศเพื่อนบ้าน แต่ที่เหลือ เอาอยู่หมด ยากดีมีจน พระสงฆ์องค์เจ้า ข้าราชการ อดีตข้าราชการ จะปลัด หรืออธิบดี จะนักธุรกิจใหญ่ บุคคลผู้มีชื่อเสียงก็ถูกขังอยู่ข้างในทั้งสิ้นโดยอาจจะว่าเท่าเทียมกันทุกอย่างเสมอภาคทั้งหมดก็คงจะเป็นไปไม่ได้ แต่เราดูตามอัตราโทษ ดูตามความสามารถ เช่นจบดอกเตอร์ เป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ก็ให้ทำหน้าที่สอนหนังสือ ไม่ต้องเอาไปหั่นผัก เป็นต้น
ชีวิตหลังเกษียณ ขอถือตามแบบ ท่านพล.ต,อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ที่เคยสอนไว้คือ ชกจนนาทีสุดท้าย ชกให้สมศักดิ์ศรี ทำหน้าที่นี้ให้ดีที่สุดจนจบ พอจบแล้วก็พร้อมที่จะเดินออกโดยที่ไม่อาลัยอาวรณ์เพราะถือว่าหมดเวลาของเราแล้ว แต่ถ้ารุ่นน้อง ผู้บริหารเขามาถามไถ่เชื้อเชิญมาสังสรรค์บ้าง ก็ยินดี ชวนมาสอนหนังสือหรือถ่ายทอดประสบการณ์เก่าๆ ก็ยินดี แต่ที่ตนเองถือมาตลอดคือ จะไม่แทรกแซงว่านโยบายเราทำไว้ดีแล้วทำไมไม่ทำต่อ เรื่องนี้เป็นดุลยพินิจของผู้บริหารแต่ละท่าน ทำในห้วงเวลาของเราให้ดีที่สุด และมีแต่ความปรารถนา ความรัก ความผูกพันให้องค์กรและบุคลากรก็จบ ส่วนตัวก็คิดว่า น่าจะมีเวลาได้ใส่ใจสุขภาพตัวเอง ทั้งกายใจ อยากจะออกกำลัง มีวินัยกับตัวเอง มีเวลาเดินวิ่ง หรือว่ายน้ำ และไปพักผ่อน ดูแลคุณแม่ซึ่งอายุ 84 ปีคงใช้เวลาอยู่กับครอบครัวและก็ไม่ลืมทำประโยชน์ให้สังคมบ้าง เช่น สอนหนังสือ สำหรับหลักธรรมชีวิตคู่ของผม คุณแป้ง นวลพรรณ ล่ำซำ ภรรยา เป็นคนมีพลังมากในการทำงาน จะเห็นว่าวิชาชีพของเธอก็คือเรื่องของบริษัทประกันภัย เรื่องอาสาช่วยสังคม เรื่องของกีฬาเป็นอดีตผู้จัดการฟุตบอลทีมชาติหญิง ไปบอลโลกสองครั้ง เป็นประธานสโมสรการท่าเรือ เป็นสปอนเซอร์หลักกองเชียร์ทีมชาติไทย และอื่นๆ จะทำสาธารณะประโยชน์ในหลายๆ เรื่องหลักของผมคือ เป็นกำลังใจให้ ผมไม่ได้เห็นว่าผู้หญิงต้องเป็นช้างเท้าหลังเสมอไป จริงๆ เขาก็มีชื่อเสียงมากกว่าผม เป็นช้างเท้าหน้าบ้างก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร เราก็พยายามให้การสนับสนุนเท่าที่เราพอจะมีความรู้บ้าง เขาก็มาปรึกษาแง่มุมของกฎหมายบ้าง ช่วยกันไปทำงานช่วยสังคม ให้เกียรติซึ่งกันและกันด้วยความเข้าใจ แต่...ถ้าพูดตลกๆ ผมมีหลัก สองอย่าง 1, ภรรยาถูกเสมอ หลักที่ 2 ถ้าภรรยาผิดก็ไปดูข้อที่ 1 ใหม่ ( หัวเราะ)ส่วนชีวิตหลังเกษียณแล้วจะเล่นการเมืองหรือไม่นั้น ตอนนี้ ยังไม่คิดครับ ขอทำงานในหน้าที่อย่างเต็มกำลังให้เต็มที่ ณ เวลานี้