หัตถกรรมบ้านถวาย สุดยอดชุมชนแกะไม้ ในล้านนา ตระการตาอวดลวดลายงานฝีมือ เลื่องลือชื่อ
CHANGE in-your-life เรื่อง : ปราริชาติ ปลื้มจิตต์ตระกูล
หัตถกรรมบ้านถวาย สุดยอดชุมชนแกะไม้ ในล้านนา ตระการตาอวดลวดลายงานฝีมือ เลื่องลือชื่อ กระฉ่อนไกลไปต่างแดน วิจิตรบรรจงลงบนไม้ สลักสีสรรสวยจับใจ หนึ่งใน มหัศจรรย์เชียงใหม่ ไทยแลนด์
นายวสันต์ เดชะกันต์ นายกสมาคมบ้านถวาย และอุปนายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ นักบริหารหนุ่มวัย 40 ต้นๆ เล่าว่า ตนเองเป็นคนบ้านถวายโดยกำเนิด สืบสานงานต่อจากคุณพ่อและคุณลุง โดยมีกืจการเรื่องของงานหัตถกรรม เกี่ยวกับของตกแต่งบ้านที่เป็น ของตัวเอง และยังทำหน้าที่ในตำแหน่งนายกสมาคมบ้านถวายด้วย
คุณวสันต์อธิบายว่า หัตถกรรมบ้านถวาย เป็น craft village ซึ่งเป็นศิลปะหัตถกรรมที่ทำจากไม้สัก และไม้ชนิดต่างๆ นำมาแกะสลักเฟอร์นิเจอร์ และอะไรต่างๆ ที่ผ่านมาเราเป็นหมู่บ้านOTOPต้นแบบของประเทศไทย
คุณวสันต์เล่าถึงประวัติความเป็นมาว่า ผมอยากจะไขข้อสงสัยคำว่า ถวาย ชื่อถวายคือถวายวัดประมาณอะไรแบบนี้ โดยมีเรื่องเล่าสืบทอดกันมา เมื่อ1,000 กว่าปีที่ผ่านมา พระนางจามเทวีเสด็จขึ้นเหนือล่องใต้ดิน พระนางจามเทวีเป็นกษัตริย์ผู้ครองนครหริภุญชัย แล้วทรงเสด็จผ่านชุมชนแห่งหนึ่งซึ่งมีป่าไม้เขียวขจีร่มรื่น เลยพักกองทัพที่นั่น ชาวบ้านเกิดความปลื้มปิติด้วยทราบว่ามีกษัตริย์เดินทางมาพื้นที่ของตน จึงได้นำเอาเครื่องบรรณาการ ผลไม้ใส่พานโตกไม้ไปถวาย ตั้งแต่นั้นมาจึงเรียกชุมชนแห่งนั้นว่า บ้านถวาย คือตำนานที่บอกเล่ากันสืบมา
บ้านถวาย..ก่อนหน้านั้น ชาวบ้านประกอบอาชีพเกษตรกรรมธรรมดา ย้อนไปเมื่อปี พ.ศ.2500 เราทำอาชีพเกษตรกรรมทำนา แล้วช่วงนั้นฝนเกิดแล้ง ทำนาไม่ได้ ชาวบ้านแต่ละคนจึงออกไปทำงานนอกพื้นที่กัน และมีพ่อลุง อยู่ 3 ท่าน คือ พ่อใจมา อิ่นแก้ว,พ่อหนานแดง พันธุสา และพ่อเฮือน พันธุศาสตร์เป็นช่างไม้และเป็นเพื่อนสนิทกัน บังเอิญไปทำงานที่ประตูเชียงใหม่ ซึ่งเป็นร้านที่ทำเกี่ยวกับศิลปะวัตถุ ค้าของเก่าต่างๆ เจ้าของร้านบอก พวกลุงๆซี่งเป็นช่างไม้ ช่วยมาซ่อมงานให้หน่อย บางทีชายผ้าตุ๊กตาที่ทำจากไม้หลุดบ้าง ตุ๊กตาไม้หูหาย จมูกบิ่น ก็แต่งเสริมเข้าไปจนสมบูรณ์แบบ เจ้าของร้านชมว่าสวยดีใช้ได้ ก็เลยให้เริ่มงานแกะสลักเป็นชิ้นๆ ออกมา จนเกิดความชำนาญ ปรานีตงดงาม ในเวลาต่อมาลุงทั้ง3ท่าน ได้ขออนุญาตเจ้าของร้านกลับมาทำที่บ้านเกิดของตนเอง ด้วยในสมัยนั้นการปั่นจักรยานหรือรถถีบเข้าไปในเมืองใช้เวลาเป็นชั่วโมง เมื่อกลับมาทำวานที่บ้าน ทั้ง 3 บ้านของลุง พี่น้องก็เรียนรู้งานฝีมือเหล่านี้ จนกลายเป็นหมู่บ้านหัตถกรรมบ้านถวายขึ้นมาและเป็นจุดเริ่ม
หลังจากนั้นก็มีการสืบทอดกันมาทำเป็นอุตสาหกรรมครัวเรือนย่อมๆ หน้าบ้านก็เปิดเป็นร้านขายของที่สำเร็จแล้ว หลังบ้านก็มีผู้ชายแกะสลัก แม่บ้านผู้หญิงก็ช่วยทาสีแต่งเส้นแต่งลาย จนมีชาวต่างชาติทราบข่าวก็ตามมาซื้อสินค้ากันเป็นจำนวนไม่น้อย ลูกค้าต่างชาติส่วนใหญ่เป็นลักษณะค้าส่ง มีทั้งชาวสิงคโปร์ อเมริกา ยุโรป รวมถึงประเทศญี่ปุ่น ช่วงนั้นการค้าขายเจริญรุ่งเรือง เรียกว่าทำของส่งเป็นตู้คอนเทนเนอร์เลย
สำหรับการรวมตัวของกลุ่มที่ผ่านมา มีผู้ใหญ่บ้านที่อยู่ในวงการแกะสลักไม้ ได้ส่งเสริมให้เป็นชุมชนหัตถกรรม มีการจัดงานประจำปี โฆษณา ประชาสัมพันธ์ ทำให้มีคนรู้จักบ้านถวายมากขึ้นในปี พ.ศ.2533 ต่อมาในปีพ.ศ.2538 ช่วงที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์เชียงใหม่ หมู่บ้านถวายได้รับการส่งเสริม โดยมีการก่อสร้างถนนเข้ามา จัดภูมิทัศน์ให้สวยงาม ก็มีผู้คนเข้ามาเยี่ยมชมและอุดหนุนสินค้ามากขึ้นเป็นลำดับ
ในปีพ.ศ.2547 ที่มีนโยบาย OTOP เข้ามา เราได้ส่งสินค้าเข้าไปประกวดแข่งขัน เพื่อให้ได้ดาวกลับมา หมู่บ้านถวายเป็นแหล่งหนึ่งที่ได้ดาวประมาณ 40-50 รายการ เป็นชุมชนที่ได้ดาว OTOP มากที่สุดในประเทศไทย และก็มีการประกวดชุมชนเป็นหมู่บ้านOTOP ในระดับประเทศ โดยภาคเหนือจังหวัดเชียงใหม่ หมู่บ้านถวายเป็นตัวแทน ภาคกลาง มีเกาะเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือ ด่านเกวียน ส่วนภาคใต้ คีรีวงศ์ นครศรีธรรมราช บ้านถวายเราได้รับขนานนามว่าเป็นหมู่บ้านOTOPต้นแบบแห่งแรกของประเทศไทย
ส่วนการเข้ามารับตำแหน่งนายกสมาคมบ้านถวายของผมนั้น ด้วยตนเองเป็นคนในพื้นที่ ผมมีความคิดว่า การทำงานตรงนี้จะทำอย่างไรเพื่อส่งเสริมและต่อยอดให้ธุรกิจชุมชน ไปได้ดีและเร็ว อย่างถูกทาง ได้มีผู้ใหญ่แนะนำมาว่า เมื่อเรามีกลุ่ม มีชุมชน ก็ให้พัฒนาเป็นสมาคม เพื่อจะได้รวมตัวกันในส่วนของผู้ประกอบการในพื้นที่ แล้วสามารถคุยหรือเจรจา เพื่อของบประมาณจากภาครัฐมาส่งเสริม เราจึงได้มีการจัดตั้งสมาคมขึ้นมาและประสานไปยังจังหวัดเพื่อของบประมาณ โปรโมทเพิ่อจัดงานประจำปี โดยมีการปรับภูมิทัศน์ต่างๆ ด้วยซึ่งทางจังหวัดก็ช่วยเหลือมา
จากวิกฤตโควิด19 ยอมรับว่า ส่งผลกระทบธุรกิจพอสมควรเลยครับ ในช่วงแรกๆ ยังไม่ค่อยส่งงผลกระทบเพราะเรามีออเดอร์ในมือ แต่มาระยะหลังเริ่มมีผลกระทบ จากยอดขายที่เยอะๆ ก็ลดลงมา บางร้านมีหลายสาขา ก็ค่อยหดหายไป บางบ้านก็หันมาทำกันเองลดค่าใช้จ่าย เมื่อก่อนมีคนงานก็ต้องเลิกจ้าง
ตอนนี้ถือว่าเรายังไม่ผ่านวิกฤตนี้ แค่เกือบผ่าน สำหรับการแก้ปัญหา เราใช้ค้าขายแบบออนไลน์แทน มีหลักสูตรการทำตลาดออนไลน์ให้ทั้งอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยว ผ่านเฟสบุ๊ก อินสตาแกรม ช่องทางออนไลน์ต่างๆ ซึ่งทำให้พวกเรามีทางออกอีกทางหนึ่ง
นายกสมาคมบ้านถวาย ฝากถึงทุกท่านว่า “ขอเชิญมาท่องเที่ยวที่บ้านถวาย ซึ่งเป็นชุมชนต้นแบบ OTOP แห่งแรกของประเทศไทย และเป็นชุมชนชนะเลิศด้านย่านการการค้าพาณิชย์ของประเทศ และได้รับรางวัลชนะเลิศสุดยอดการค้าพาณิชย์ไทย 3 รางวัลนี้การันตีได้ว่าที่นี่ไม่เหมือนใคร และสุดยอดการแกะสลักไม้ ท่านอยากจะมาดู อยากจะมาซื้อสินค้า ราคาตั้งแต่ 10 บาท จนถึงหลักล้านบาท แนวสินค้าที่ทำจากไม้จริง แล้วออกเป็นมาสเตอร์พีซ เป็นงานดีไซน์ด้วย หลักการในชีวิตของผม ที่ได้ยินมา แล้วนำมาเป็นแนวทางกาทำงาน คือ “ทำวันนี้ให้ดีที่สุด “แล้วเราจะมีโอกาสขยายไปสู่อนาคต”
ส่งเสริม สนับสนุน งานสลัก แกะไม้ลวดลายวิจิตรงดงาม หนึ่งภูมิปัญญาไทย ที่มีใจบวกฝีมือ ให้เป็นที่ร่ำลือ วัฒนธรรมไทย อันทรงคุณค่า ณ หัตถกรรมบ้านถวาย อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ ที่มีวสันต์ เดชะกันต์ นายกสมาคมบ้านถวาย คนรุ่นใหม่ ขับเคลื่อน ปลุกพลัง ส่งเสียงดังไกล บ้านถวายคือหนึ่งของดี ที่ควรค่าอนุรักษ์ไว้สืบทอดมรดกของไทย..หนึ่งในสุดยอดมหัศจรรย์..เกินพรรณา.