เพียงพอ..แบบพ่อ แก้จน คนภูเขา ณ.ศูนย์เรียนรู้โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

เพียงพอ..แบบพ่อ แก้จน คนภูเขา ณ.ศูนย์เรียนรู้โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

 

           


 

@CHANGE into Magazine Sutthikhun Kongthong
CHANGE in-your-life เรื่อง : ปราริชาติ ปลื้มจิตต์ตระกูล
 
 
เพียงพอ..แบบพ่อ แก้จน คนภูเขา ณ.ศูนย์เรียนรู้โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริผักเกษตรอินทรีย์บ้านเมืองอาง จังหวัดเชียงใหม่
 
 
นายวัชรินทร์ พจนบัณฑิต ผู้ใหญ่บ้านเมืองอาง วัย 49 ปีเล่าว่า พื้นที่นี้ ทั้งหมดเป็นชาวไทยภูเขาเชื้อชาติพันธ์ปากากะญอประมาณ 150 ครัวเรือน เป็นพื้นที่ไร่หมุนเวียนเดิม ในปีพ.ศ.2543 เท่าที่สำรวจชุมชนของเรามีรายได้น้อยอยู่ประมาณ 5,000 บาทต่อปีต่อครัวเรือน การคมนาคมก็ลำบาก ผมมองว่าจะช่วยเหลือชุมชนอย่างไร หาโอกาสเพิ่มรายได้ให้แก่ครัวเรือน ในกลางปี พ.ศ.2543 จึงทำเรื่องถวายฎีกามจ.ภีศเดช รัชนี ประธานมูลนิธิโครงการหลวง ให้ท่านมาช่วยเรื่องอาชีพชาวบ้าน ซึ่งท่านส่งเจ้าหน้าที่โครงการหลวงของอินทนนท์มาช่วยสำรวจพื้นที่ พอปี พ.ศ.2545 ส่งเจ้าหน้าที่มาช่วยเรื่องระบบอินทรีย์ ในยุคนั้นเกษตรอินทรีย์ สังคมยังไม่ค่อยรู้จัก ความต้องการน้อยและ อีกหนึ่งอุปสรรคคือเส้นทางลำเลียงไม่มี ทุนของคนในพื้นที่ก็ไม่มี ทั้งทุนอาชีพและองค์ความรู้ เราเริ่มทำเกษตรอินทรีย์ (organic ) แต่ยังไม่สำเร็จ สมัยนั้นเราไม่ได้ใช้โรงเรือน
 



 
 
ปีพ.ศ.2552 เราสรุปทั้งรายได้ทั้งครัวเรือนยังอยู่ไม่ได้ แรกเริ่มมีสมาชิก 80 ราย ต่อมาสมาชิกเหลือไม่ถึง 10 ราย เป็นความล้มลุกคลุกคลานผักที่ปลูกไม่ได้ตรงตามสเปค ตลาดไม่ต้องการ เป็นรูบ้าง ความโตที่ไม่สมบูรณ์ ลูกค้าไม่ยอมรับจาก ปี พ.ศ.2552 -2554 รายได้หมื่นกว่าบาทต่อปี แต่เราไม่ยอมทิ้งอุดมการณ์ อยากให้ชุมชนมีชีวิตที่ดีขึ้น และเกษตรอินทรีย์ก็เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ได้ปรึกษากับทางเกษตรหลวงอินทนนท์ว่าจะทำอย่างไร ซึ่งได้พาเราไปศึกษาดูงานภายใต้การผลิตพืชภายใต้โรงเรือน ต่อมาได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสถาบันพัฒนาบนพื้นที่สูงองค์กรมหาชนสนับสนุนการสร้างโรงเรือน 10 โรง แต่ตามกฎต้องหาสมาชิกให้ได้ 10 ราย ผมเรียกประชุมสมาชิกใหม่ว่ามีใครอยากจะทำโรงเรือนบ้าง สมาชิกถอยไม่เอาเหลือแค่ 8 ราย สุดท้ายเมื่อผมเป็นผู้นำก็ต้องเสียสละยอมทำอีก 2โรงเรือน เราเริ่มปลูกผักกวางตุ้ง กับเบบี้ฮ่องเต้ ใช้เวลา 25 วัน ผลผลิตเริ่มออก เราขายได้จากผลผลิตหนึ่งโรงเรือน พื้นที่ประมาณ 180 ตารางเมตรจะได้ 2,000-3,000 บาทต่อ 25 วัน 10โรงเรือน ได้ ประมาณ 30,000 -40,000 บาทต่อเดือน เราส่งขายที่โครงการหลวง
 
พอทำได้ 3 รุ่น เริ่มดีขึ้น จึงจัดประชุม เรียกสมาชิกที่หายไปมาเข้าร่วม และเชิญหน่วยงานต่างๆ ที่ยังไม่เข้าใจ ให้มาสนับสนุน โครงการหลวง อุทยานแห่งชาติ ต้นน้ำ เทศบาล และอำเภอมานั่งคุยกัน การจะสร้างให้ชุมชนมีอาชีพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เราจะทำอย่างไรต่อไป เรียกประชุมชาวบ้านให้เข้าใจระบบการทำงาน ตอนแรกชาวบ้านไม่เอาด้วยบอกทำแล้วเป็นหนี้ไม่มีตลาด พอช่วงบ่ายพาลงไปดูพื้นที่จริงคือ ศูนย์เรียนรู้โครงการอันสืบเนื่องมาจากพระราชดำริเกษตรอินทรีย์…พอทุกคนเห็นภาพจริงกับผลผลิตผักในโรงเรือน ให้ลงชื่อเข้าร่วม มีจำนวน 100 กว่าราย แต่เรายังไม่มีงบประมาณ พอชาวบ้านสนใจ ได้ทำเรื่องของบประมาณเพิ่มเติม ส่วนคนที่ทำไปแล้วต้องส่งเงินคืนกลับกองทุน เดือน 2-3 ก็เอาเงินส่วนนี้มาเป็นทุนส่งต่อสมาชิกรายใหม่
 
 



 
 
ปัจจุบันกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์บ้านเมืองอาง มีสมาชิกจำนวน 154 ราย ในแต่ละโรงเรือน จะมีรายได้ 5,000 บาทต่อโรงเรือนทำ10 รอบ แต่กำหนดไว้แต่ละรายไม่เกิน 3โรงเรือน มีรายได้ต่อปี 50,000 บาท หมุนเวียนปลูกผักประมาณ 8-9 ชนิดเป็นผัดสลัก มีเบบี้ฮ่องเต้ กวางตุ้ง คะน้า กรีนโอ๊ค เรดโอ๊ค คอสสลัด ถั่วแขก เบบี้แครอท โดยราคาแต่ละตัวไม่เท่ากัน ตั้งแต่ 10-40 บาท ทุกคนในกลุ่มได้ปลูกเหมือนกันแต่ช่วงเวลาต่างกันเพื่อความเป็นธรรม
 
ชาวบ้าน ประมาณ 90% ปลูกผักเป็นอาชีพ หมู่บ้านเราเน้นหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง คืนทุนและมีข้าวกิน ทุกหลังคาเรือนจะทำนาข้าวเป็นหลัก ปลูกผักเกษตรอินทรีย์เป็นรายได้หลัก และหากวันหนึ่งเราเจอปัญหา เหมือนวิกฤตโควิด19 ที่เดินทางไปไหนไม่ได้ เรามีข้าวกินผักเราก็ปลูกเอง มีไก่หมูปลาก็ดูแลตัวเองได้ ผมจะสร้างภูมิคุ้มกันให้ชุมชนว่าเรามีข้าวกินแล้วเราจะอยู่รอด แต่ถ้ามีเงินไม่มีข้าวกินอาจไม่รอด เช่นตลาดปิด มีเงินแต่ซื้อหาอาหารกินไม่ได้
 
ผู้ใหญ่บ้าน บ้านเมืองอาง บอกว่าโครงการเกษตรอินทรีย์ของบ้านเมืองอาง เป็นเพราะพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรรัชกาลที่ ๙ แน่นอนครับ เพราะว่าภายใต้บารมีของพระองค์ท่านที่ได้นำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้กับชุมชน การทำเกษตรอินทรีย์มีความปรานีต บวกความเอาใจใส่ ใช้พื้นที่น้อยมากถ้าสมาชิก 1 รายมีพื้นที่เพียง 500 ตารางเมตร ถ้าไปทำเรื่องเคมี อย่างไรก็ไม่พอ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงคือความพอดีมีภูมิคุ้มกัน
 
หลักการดำเนินงานทุกวันนี้ ผู้ใหญ่บ้านเมืองอางบอกว่า ผมยึดหลักการมีภูมิคุ้มกันและความพอดี เราอยู่บนดอย บนที่สูง ถ้าเราไปอยากได้สิ่งที่เกินกำลัง สิ่งเหล่านี้จะนำพาเราเดือดร้อน ถ้าไม่มีภูมิคุ้มกันอาจจะตกเป็นทาส เจ้านายใหญ่โต และวัตถุ ทุกคนต้องมีความเหมาะสมความพอดี ความพอเพียงต้องอยู่ในใจเรา ผมจะแนะนำชาวบ้านว่าวันนี้เรามีอยู่เท่านี้ เราจะไปในสิ่งดี ถ้าอยากไปเร็วต้องไปเอง แต่ถ้าอยากไปไกลเราต้องมีเพื่อน เวลามีปัญหาใช้วิธีปรึกษาหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมมือกันแก้ไข
 
ลึกๆ ของหัวใจแล้ว ผมเมีความภาคภูมิใจที่ได้เกิดบนพื้นแผ่นดินของพระองค์ ซึ่งชาวไทยภูเขาปากากะญอมีความรักความสามัคคีในชนเผ่า มีความรักความหวงแหนพื้นที่ เราอยู่ภายใต้พระบารมีด้วยความสุข ทุกอย่างช่วยเหลือเกื้อกูลกัน
 
เราจะต่อยอดด้านคุณภาพและชนิดของพืชที่ผู้บริโภคต้องการในแต่ละยุคนั้นๆ สภาพอากาศ การเจริญเติบโตทางวัตถุเราจะอยู่ที่เดิมไม่ได้ ที่นี่เป็นศูนย์เรียนรู้ ในประเทศแทบจะทุกหน่วยงานเดินทางมาศึกษาดูงาน ส่วนต่างประเทศก็มีเข้ามาแลกเปลี่ยนความรู้เกษตรอินทรีย์ ในมุมมองคนอยู่กับป่า เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การทำระบบนี้ไม่กระทบสิ่งแวดล้อม 1โรงเรือนใช้งบประมาณ 20,000 บาท เรามีการแบ่งปันพื้นที่ทำกินให้ชุมชนที่ขาดแคลนด้วย ส่วนเรื่องปลูกผักชนิดอื่นๆในอนาคตนั้น คงต้องให้ทางกรมวิชาการได้ทำการศึกษาต่อไป
 
 



 
 
สำหรับการทำงานของผมปัจจุบันนี้ ถือว่าไปได้ระดับหนึ่ง สิ่งที่จะเผชิญต่อไปจะยากกว่านี้ ทั้งความรู้ใหม่ๆ สิ่งใหม่ เทคโนโลยีใหม่ๆที่เข้ามา เป็นเรื่องท้าทายคนในพื้นที่ที่ต้องเรียนรู้ ขอฝากไว้ว่า การทำงานเพื่อผ่านอุปสรรคต่างๆ นั้น ต้องอดทน ค้นคว้าเติมเต็มกับองค์ความรู้ เพราะเราอยู่กลางแจ้ง ทุกคนมองเห็นเราเป็นผู้นำ มีสิ่งท้าทาย มีทั้งคนชอบและไม่ชอบเรา ถ้าเราหวั่นไหวไม่อดทนจะลำบาก ทุกวันนี้ผมเจออะไรมามากมายที่กดดัน ข้อกฎหมาย ทั้งหน่วยงานรัฐและชุมชน ซึ่งบางเรื่องอธิบายโดยตรงไม่ได้ ถ้าเราท้อถอย เราต้องนิ่งและอดทน
 
ผู้ใหญ่บ้านเมืองอาง คนไทยภูเขาปากากะญอ บอกกับเราว่า ทุกวันนี้ผมเดินตามรอยในองค์รัชกาลที่ ๙ ด้วยความอดทน ความพอดีและความพอเพียงใช้องค์ความรู้ คือเรียนรู้ตลอดชีวิต ผมซาบซึ้งในพระองค์ท่านที่ไม่เคยทิ้งชุมชนทั้งคนชนบท คนในเมือง พระองค์ท่านดูแลพสกนิกรทุกตารางนิ้วอย่างเสมอภาค โดยเฉพาะคนบนดอยอย่างพวกเรา
 
ชุมชนบ้านเมืองอาง อยู่บนดอยอินทนนท์ ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์และกรมป่าไม้ เราเดินทางขึ้นมาโดยรถยนต์ พื้นที่อยูบนเขาเส้นทางคดเคี้ยวไปมาแต่ถนนลาดยางแล้ว สวนไปมาแต่ก็แคบ การขับขี่ยานพาหนะต้องใช้ความระมัดระวังถ้ามีรถสวนทาง โดยเป็นพื้นที่อาศัยของชุมชนชาวไทยภูเขาปากากะญอ ปลูกบ้านไม้บนสภาพดินแดงแฉะบ้างด้วยฝนเพิ่งตกลงมา พื้นที่นี้ใกล้ที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน มีสถานีโครงการหลวงตั้งอยู่ ซึ่งยังเป็นธรรมชาติเดิมๆ ตามคำบอกเล่าว่า คนกับป่าอยู่แบบเป็นมิตรกัน โดยมี…นายวัชรินทร์ (แม๊กซ์) พจนบัณฑิต ผู้ใหญ่บ้าน นักต่อสู้ผู้นำ ที่ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพ่อแก้ปัญหาความจนของชุมชน ต่อสู้อดทนมาเกือบ 22 ปี ..หนึ่งคนต้นแบบวันนี้ของเมืองไทย ที่ศูนย์การเรียนรู้อันเนื่องมาจากโครงการพระราชดำริผักเกษตรอินทรีย์ บ้านเมืองอาง.