ครูไพรินทร์ กาไวย์ สืบสานเสียง..กลองสะบัดชัย…ลีลา เร้าใจ…งานศิลป์พื้นบ้าน

ครูไพรินทร์ กาไวย์ สืบสานเสียง..กลองสะบัดชัย…ลีลา เร้าใจ…งานศิลป์พื้นบ้าน

 

           

 

@CHANGE into Magazine Sutthikhun Kongthong
CHANGE in-your-life เรื่อง : ปราริชาติ ปลื้มจิตต์ตระกูล
 
 
ครูไพรินทร์ กาไวย์ สืบสานเสียง..กลองสะบัดชัย…ลีลา เร้าใจ…งานศิลป์พื้นบ้าน ตำนานพ่อครูคำ กาไวย์ ศิลปินแห่งชาติ…ประกาศความเป็นไทย ดังไกล โลกระบือ.
 
 
 
“กลองสะบัดชัย”เป็นกลองที่มีมาหลายศตวรรษ ในสมัยโบราณใช้ตียามออกศึกสงคราม ต่อมาการตีกลองสะบัดชัยถือว่าเป็นศิลปะการแสดงพื้นบ้านล้านนา มีการพัฒนาขึ้นตามลำดับ มีลีลาในการตีที่เร้าใจ ใช้อวัยวะส่วนต่างๆของร่างกาย เช่นศรีษะ ศอก เข่า ประกอบท่าตี เป็นศิลปะวัฒนธรรมที่สร้างความโดดเด่นและประทับใจแก่ผู้ชม จนเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายจนถึงปัจจุบัน”
 
 

 
 
ครูไพรินทร์ กาไวย์ ในวัย 54 ปีซึ่งเป็นบุตรชายครูคำ กาไวย์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะพื้นบ้าน งานฟ้อน ในปี พ.ศ.2535 เล่าความเป็นมาว่า หากย้อนไปเมื่อ ประมาณ 90 ปีที่ผ่านมา หมู่บ้านแห่งนี้ ตำบลน้ำแพร่ ได้ถือกำเนิดเด็กชายคนหนึ่ง ชื่อ เด็กชาย คำ กาไวย์ และได้เรียนตีกลองสะบัดชัยแบบโบราณที่วัดเอรัณฑวัน ในเวลานั้นท่านไม่มีเงินเรียน สมัยก่อนจะมีการว่าจ้างครูมาสอนตีกลองสะบัดชัย ซึ่งเป็นกลองแบบโบราณ เรียกว่า กลองชัยมงคล เด็กชายคำแอบเรียน ด้วยการแอบดูครูสอน เพราะไม่มีเงินจึงแอบเรียนในลักษณะครูพักลักจำ เมื่อครูที่สอนได้เห็นจึงเกิดความสงสาร เมตตาให้เด็กชายคำเรียนฟรี ต่อมาไม่นานครูคำก็ได้เป็นมือกลองของวัดเอรัณฑวันจากนั้นเรื่อยมา
 
 

 
 
จนกระทั่งเกิดจุดพลิกผันขึ้น ครูคำท่านมองว่า กลองสะบัดชัยแบบโบราณ การจะนำเอาไปที่ไหนค่อนข้างลำบากเพราะมี 3 ใบติดกัน จึงได้ถอดออกมาเป็นกลองสะบัดชัยแค่ใบเดียว โดยการตีกลองของครูคำ คิดลูกเล่นท่วงท่า ลีลาใหม่ๆ ขึ้น ถือเป็นจุดกำเนิดกลองสะบัดชัยแบบประยุกต์ ณ.สถานที่แห่งนี้บ้านแพะขวาง ตำบลน้ำแพร่ อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ เรียกได้ว่าเป็นต้นกำเนิดกลองสะบัดชัยแบบประยุกต์ ต่อจากนั้นได้นำมาใส่ไม้แกะสลักเป็นรูปพญานาคด้านข้างกลอง 2 ฝั่ง มีคำถามว่าทำไมใส่พญานาค ก็เพราะว่าเป็นสัตว์มงคล ไม่เกี่ยวกับการนับถือใดๆ
 
ครูไพรินทร์ เล่าตำนานว่า ในอดีตกลองสะบัดชัยเป็นกลองศึก สมัยโบราณ จะใช้ตีเพื่อปลุกใจทหารก่อนออกศึกสงคราม และจะตีอีกครั้งเมื่อเสร็จศึกสงคราม เพื่อปลุกขวัญกำลังใจทหาร ต่อมาไม่ค่อยมีการออกรบ กลองสะบัดชัยจึงถูกนำไปเก็บรักษาไว้ตามวัด ทำไมกลองในเมืองล้านนา ในจังหวัดเชียงใหม่ จึงอยู่ที่วัดเป็นจำนวนมาก เพราะเป็นของสูง ของเจ้านายฝ่ายเหนือ…ของกษัตริย์ล้านนา เลยนำไปเก็บรักษาไว้ที่วัด เพราะคนเหนือเขาเรียกว่ามันจะขึด คือเกิดอาเพศภัย จะไม่เป็นมงคลถ้าเอาไว้ในบ้าน เลยนำไปเก็บไว้วัด จะเห็นว่ากลองต่างๆ จะอยู่วัด เลยเป็นกลองพุทธบูชา
 
 

 
 
ครูคำ กาไวย์ ได้รื้อฟื้นกลองสะบัดชัยขึ้นมา เพื่อแสดงความเป็นศิลปะวัฒนธรรมแบบพื้นบ้าน ในการต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง… กษัตริย์แห่งบรูไน และพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ ที่จังหวัดเชียงใหม่ ในสมัยนั้นผมยังเป็นเด็ก แต่ผมก็เดินทางไปทำงานกับพ่อตลอด งานที่ผมได้ไปแสดงกับพ่อครูคำ คือ ที่ลัดดาแลนด์ ต่อมาครูคำ ไปรู้จักอาจารย์ประนอม ซึ่งเป็นครูโรงเรียนนาฏศิลป์ สมัยนั้นยังไม่ใช่วิทยาลัยนาฏศิลป์ ในปีพ.ศ.2519 อาจารย์ประนอม เขิญครูคำ ไปเป็นครูสอนที่วิทยาลัยเชียงใหม่ กลองสะบัดชัยจึงแพร่หลายมากขึ้น เมื่อครูคำ อายุ 60 ปีได้รับการคัดเลือกให้เป็นศิลปินแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ.2535 ประเภทศิลปะการแสดงพื้นบ้านช่างฟ้อน…การตีกลองสะบัดชัยได้ถูกนำมาใช้ออกงาน เพื่อต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองที่มาเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ งานขันโตก ดินเนอร์ และเปิดงานต่างๆ เช่น เปิดงานกีฬาแห่งชาติ
 
ต่อมา ปี พ.ศ.2557 พ่อครูคำ เสียชีวิต สถานที่แห่งนี้ ผมได้จัดตั้งให้เป็นศูนย์เรียนรู้บ้านกลองสะบัดชัย พ่อครูคำ กาไวย์ ศิลปินแห่งชาติ พ.ศ.2535 ส่วนการสืบทอดปณิธานต่อจากพ่อนั้น ครูไพรินทร์บอกว่า เราไม่เอาเงินเป็นตัวนำการสืบสานศิลปะวัฒนธรรม ใช้การจรรโลงโดยสอนลูกศิษย์ ทุกวันอาทิตย์ตั้งแต่ 8 โมงเช้า จนถึง 11.30 น.ทำแบบนี้มาจะเข้าสู่ปีที่ 9 แล้ว คนที่มาเรียนนั้นไม่จำกัดเพศวัยหรือเฉพาะคนในพื้นที่ ทุกจังหวัดทั่วประเทศที่สนใจ ก็มาเรียนได้ นางสาวอัณณชา เกทลีฬห์ น้องลิ้นจี่ รองอันดับ 1 มิสแกรนด์เชียงใหม่ 2019 นางงามยังมาเรียนเลย เราสอนให้ฟรี แต่อาจจะมีค่าใช้จ่ายในเรื่องไม้กลอง เสื้อ ก็แค่ไม่กี่ร้อยบาท เรียนได้ตลอดชีวิต จนนักเรียนตายหรือครูตายกันไปข้างหนึ่ง
 
 

 
 
การที่กลองสะบัดชัยจะดำรงอยู่ต่อไปนั้น ครูไพรินทร์บอกว่า กลองสะบัดชัยคือตำนาน อยู่มาหลายร้อยปีแล้วไม่น่ามีปัญหา เพราะเรามีเยาวชนร่วมสืบสาน มีวิทยาลัยนาฏศิลป์ทั่วประเทศที่ยังสอนและสืบทอดต่อเป็นแบบเรียน ผมเชื่อว่ากลองสะบัดชัยจะมั่นคงดำรงอยู่มากกว่าแต่เดิมด้วย
 
หลักการสอนของผม ที่ศูนย์การเรียนรู้บ้านกลองสะบัดชัยแห่งนี้ เราจะทำให้อยู่แบบง่ายๆ สบายๆ ไม่มีค่าใช้จ่าย ยึดการสอนแบบโบราณ ใครสะดวกก็มาบ่อยๆ จะเรียนจบเมื่อไหร่ก็ได้ ไม่มีกำหนดอายุ เราจะมีรุ่นพี่สอนรุ่นน้อง สืบต่อกันไป เราไม่เน้นออกงานโชว์ เน้นการเป็นผู้ให้ การโชว์ตามงานต่างๆ ก็ปล่อยให้ลูกศิษย์ไปตั้งวงกันเอง
 
โดยพ่อครูคำ กาไวย์ ได้สืบทอดศิลปะวัฒนธรรมไว้ มีการฟ้อน การรำ ตามที่นักเรียนประสงค์จะเรียน เราได้รับงบประมาณส่งเสริมจากกระทรวงวัฒนธรรม ให้สอนเรื่องต่างๆ ด้วย ไม่ได้เน้นเฉพาะการตีกลองสะบัดชัยอย่างเดียว สำหรับช่วงวิกฤตโควิด เราก็ปฏิบัติตามนโยบายของภาครัฐ ช่วงไหนเข้มเราก็เบา ถ้าผ่อนคลายก็มารวมตัวฝึกซ้อมกันต่อ มีผลกระทบน้อยเพราะเราเรียนแบบโล่งแจ้งพื้นที่เปิด
 
 

 
 
ตำนานกลองสะบัดชัยของล้านนา คือที่นี่ หากใครสนใจอยากให้เราไปออกงาน สามารถติดต่อได้ที่เฟสบุ๊ค ศูนย์การเรียนรู้บ้านกลองสะบัดชัย พ่อครูคำ กาไวย์ ศิลปินแห่งชาติ ปี 2535 โทร 083 5825046 Line ID ผมขอยืนยันเจตนารมณ์ว่า เราจะดำรงไว้ซึ่งศิลปะวัฒนธรรมพื้นบ้าน..เป็นปณิธานของพ่อครูคำ กาไวย์ ที่จะรักษาสืบทอดต่อไป และทำจนกว่าสิ้นลมหายใจของพวกเรา นโยบายของผมคือ ไม่เอาเงินเป็นหลัก เราอยู่กันแบบสบายๆ สืบสานศิลปะวัฒนธรรมเป็นเรื่องหลัก เรื่องของผลประโยชน์เป็นเรื่องรอง ถ้าเอาเงินทองมาเกี่ยวข้อง ทุกอย่างมันจะไม่ใช่การสืบสานวัฒนธรรม เพราะฉะนั้น เราสืบสานด้วยหัวใจ เหนื่อยก็พัก สบายใจก็มาสืบต่อ เหมือนกับการเรียน เรียนจนตายไม่ครูตายก็นักเรียนตายไม่มีค่าจ้างครับ.
 
นายไพรินทร์ หรือ ครูไพรินทร์ กาไวย์ ทายาท พ่อครูคำ กาไวย์ ศิลปินแห่งชาติ ปี พ.ศ.2535 ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน บ้านแพะขวาง ตำบลน้ำแพร่ อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ มาหลาย 10 ปีแล้วและยังคงสืบสานปณิธานในการตีกลองสะบัดชัย ในฐานะประธานศูนย์เรียนรู้บ้านกลองสะบัดชัย พ่อครูคำ กาไวย์ ศิลปินแห่งชาติ ปี 2535..ศิลปะพื้นบ้านตำนานกลองสะบัดชัย ทรงคุณค่ารักษาและสืบสานตลอดไป เป็นมรดกทางวัฒนธรรมไทยในล้านนา.