พิพิธภัณฑ์ตุ๊กตา..สานศิลป์ด้วยหัวใจ..ยุทธนา บุญประคอง..ต้นแบบคนไทย ดังไกลไปต่างแดน

พิพิธภัณฑ์ตุ๊กตา..สานศิลป์ด้วยหัวใจ..ยุทธนา บุญประคอง..ต้นแบบคนไทย ดังไกลไปต่างแดน

 

           

 

@CHANGE into Magazine Sutthikhun Kongthong
CHANGE in-your-life เรื่อง : ปราริชาติ ปลื้มจิตต์ตระกูล
 
 
พิพิธภัณฑ์ตุ๊กตา..สานศิลป์ด้วยหัวใจ..ยุทธนา บุญประคอง..ต้นแบบคนไทย ดังไกลไปต่างแดน
 
 
 
คุณยุทธนา บุญประคอง ในวัย 66 ปี เจ้าของพิพิธภัณฑ์ตุ๊กตา และศูนย์ผลิตตุ๊กตา บ้านดงขี้เหล็ก ตำบลมะขามหลวง อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ เล่าว่า สถานที่แห่งนี้เปิดมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2529 จนถึงปัจจุบันนี้เป็นเวลา 36 ปี การสร้างพิพิธภัณฑ์ขึ้น เพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรมการแต่งกายไว้ให้ดำรงอยู่และสืบต่อไป โดยเปิดให้ นักเรียนนักศึกษา ตลอดจนนักท่องเที่ยว ได้เข้ามาศึกษาหาความรู้ ด้านการแต่งกายต่างๆ ของชนเผ่าในประเทศไทยและประเทศในทวีปยุโรป ซึ่งเราได้นำมารวบรวมไว้โดยสะสมตั้งแต่รุ่นคุณแม่จนถึงปัจจุบันมารักษาเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ มีจำนวนกว่า 50,000 ตัว…ตุ๊กตาชุด Hilight ของที่นี่ จะเป็นชุดโขนรามเกียรติ์ ตอนยกทัพรบมีจำนวนตุ๊กตา 70 ตัว พร้อมราชรถไม้สักอีก 4 คัน
 
 
 
พิพิธภัณฑ์ตุ๊กตาของเรา ถือว่าเป็นสถานที่ของเอกชน และมีการเก็บค่าใช้จ่ายในส่วนการเข้าชมพิพิธภัณฑ์ท่านละ 50 บาท ด้วยก่อนจะมีวิกฤตโควิดมีผู้สนใจเข้าชมจำนวนมาก แต่พอเกิดวิกฤตโควิด ทำให้ผู้เข้าชมลดน้อยลงไป เหลือเพียงวันละกรุ๊ป หรือ 2 กรุ๊ป โดยในส่วนพิพิธภัณฑ์มีการเก็บค่าเข้าชม แต่ในห้องจำหน่ายสินค้า และร้านกาแฟ ไม่ได้การเก็บเงินค่าเข้าแต่อย่างใด
 
จุดเริ่มต้นของการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ คุณยุทธนา บอกว่าเริ่มต้นจากที่เราผลิตตุ๊กตาจำหน่ายอยู่แล้ว พอมีโอกาสได้เดินทางไปยังหลายๆ ประเทศ มองว่าทำไมตุ๊กตาของแต่ละประเทศถึงมีราคาแพง แต่ของประเทศไทยเรามีราคาถูก จึงไปศึกษาดูก็พบว่า ส่วนใหญ่ตุ๊กตาของต่างประเทศจะใช้กระเบื้องพอร์ซเลน เอามาประดิษฐ์เป็นตุ๊กตา เป็นหัวเป็นแขน ขาและเท้า ผมเลยนำแนวคิดนั้นมาต่อยอดจากตุ๊กตาที่เราผลิต จากนั้นราคาตุ๊กตาของเราซึ่งแต่เดิมที่อยู่ในราคาหลักร้อย ก็ขยับขึ้นมาเป็นราคาหลักพันได้ โดยส่วนประกอบของตุ๊กตานั้น หากเป็นชุดเครื่องแต่งกายจะใช้เป็นผ้า และตุ๊กตาบางส่วนที่ผลิตก็มีที่ทำจากผ้าทั้งหมด แต่ปัจจุบันนี้ได้ปรับการผลิตโดยใช้เซรามิกพอร์ซเลนนำมาประกอบเป็นตัวตุ๊กตา
 
 
 
สำหรับลูกค้าส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ 60% ที่เหลือเป็นคนไทย 40% ตุ๊กตาของเราส่งออกขายต่างประเทศ เช่น ประเทศอเมริกา ญี่ปุ่น อินเดีย และประเทศลาว ส่วนใหญ่จะเป็นตุ๊กตาที่แต่งกายชุดประจำชาติของไทย คือ กลุ่มชาติพันธ์ที่อยู่ในไทย เช่น กลุ่มชาวเขา ผมถือว่าสิ่งนี้เป็นศิลปะวัฒนธรรมของไทย เป็นการแสดงถึงเอกลักษณ์การแต่งกาย ซึ่งในบางครั้งหรือปัจจุบันนี้ อาจจะไม่เห็นโดยทั่วไป แต่ตุ๊กตาที่เราผลิตแล้วนำมาใส่เครื่องแต่งกายนับว่าเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาวัฒนธรรมการแต่งกายของแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ของประเทศไทย โดยในส่วนของภาครัฐมีการท่องเที่ยวเข้ามามีส่วนสนับสนุนบ้าง เพราะพิพิธภัณฑ์ตุ๊กตา เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ เป็นแลนด์มาร์คแห่งหนึ่งที่สักครั้งหนึ่งควรได้มาชม โดยเฉพาะคนที่รักและชื่นชอบตุ๊กตา
 

 
 
คุณยุทธนา บอกถึงหลักการทำงานว่า เรารักในสิ่งที่เราทำ งานถึงจะออกมาได้ดี และอีกอย่างเราให้ความสำคัญกับการผลิตตุ๊กตาทุกตัว และพยายามให้คุณภาพกับสินค้า เปรียบดังว่าสินค้าทุกชิ้นทำด้วยชีวิตจิตใจใส่ลงไปในตุ๊กตา ซึ่งผมเองก็ถ่ายทอดมรดกวิชาให้ลูกสาวทั้งสองคน แต่ส่วนตัวเขาจะรับหรือไม่ก็สุดแล้วแต่เขาครับ ซึ่งผมไม่ได้สอนให้เฉพาะลูกสาวเท่านั้น ที่ผ่านมาจนปัจจุบัน สอนให้เด็กในโครงการหลวง ลูกศิษย์ตามโรงเรียนต่างๆ ในมหาวิทยาลัย รวมถึงการเดินทางไปสอนยังต่างประเทศ เช่นภูฐาน โดยเป็นการถ่ายทอดศิลปะการทำตุ๊กตาให้กับหลายๆ แห่งในประเทศไทยและต่างประเทศ
 
ผมได้รับการถ่ายทอดวิชาความรู้การทำตุ๊กตา มาจากคุณแม่ เพราะท่านเป็นภรรยานายทหาร เวลาท่านเดินทางออกไปตามหมู่บ้าน ท่านเห็นการแต่งกายของคนในแต่ละชาติพันธ์ หรือการแต่งกายของไทยที่สวยสดงดงาม และท่านคิดว่าทำอย่างไรถึงจะรักษาชุดเสื้อผ้าหรือการแต่งกายแบบนี้ไว้ได้ จึงมีแนวคิดขึ้นมาว่า 1. การทำตุ๊กตาถือเป็นการเลี้ยงชีพในครอบครัวและเป็นอาชีพที่ทำกันเป็นระบบครอบครัว 2. เป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมการแต่งกาย 3. เป็นการช่วยเหลือชาวบ้านให้มีงานทำในเขตหมู่บ้าน เมื่อก่อนเรามีการจ้างแรงงาน กว่า 30 คนทำกันอยู่ในบ้านและก็มีส่งงานไปข้างนอกบ้าง คุณยุทธนาบอกว่า “หากเราจะทำงานสิ่งไหนให้มุ่งเน้นไปสิ่งนั้น และรักในการทำงาน หาความรู้ใหม่ๆในเรื่องการผลิตสินค้าของเรา คือ สิ่งที่ผมทำอยู่ทุกวันนี้ครับ”
 


 
ด้านน้องขวัญ คุณชโลบล บุญประคอง หนึ่งในบุตรสาว คุณยุทธนา บอกกับเราว่า พิพิธภัณฑ์ตุ๊กตา นอกจากเป็นแหล่งท่องเที่ยว แหล่งศึกษาเรียนรู้แล้ว ยังเป็นศูนย์ผลิตตุ๊กตาจำหน่าย และปัจจุบันนี้ ยังเป็นสถานที่ซ่อมแซมตุ๊กตาตลอดจนเครื่องแต่งกายของตุ๊กตาที่อาจชำรุดเสียหาย ส่งมาให้เราซ่อมหรือดูแลได้ด้วย เรียกว่าเป็น Hospital dol และในอนาคต ตนเองวางแผนจะเปิดเป็น Supermarket dol เพื่อให้นักท่องเที่ยวที่มีความรักในตุ๊กตาและการแต่งกาย คือ คุณสามารถมาเลือกซื้อตุ๊กตา และหาซื้อเครื่องแต่งกาย เสื้อผ้า เครื่องประดับ ให้กับตุ๊กตา เรียกว่า เป็น ตุ๊กตาที่เป็นเฉพาะของลูกค้าท่านนั้นๆ ซึ่งราคาโดยรวม เราตั้งไว้อยู่ที่ไม่น่าจะเกิน 1,000 บาท ได้ซื้อตุ๊กตาในแบบที่คุณชื่นชอบโดยเลือกและแต่งตัวให้ตุ๊กตาตัวนั้นกับมือค่ะ
 


 
 
พิพิธภัณฑ์ตุ๊กตาแห่งนี้ สำหรับเรา คือแหล่งเรียนรู้ และสวรรค์ของคนรักหลงใหล ชื่นชอบตุ๊กตา เพราะถ้าจะให้ศึกษาชม ความน่ารัก ความงดงาม ความเป็นศิลปะ ในแต่ละตัว ที่ถูกเก็บสะสมไว้ กว่า 50,000 ตัวคงใช้เวลาไม่น้อยด้วยความเพลิดเพลินด้วยความสุขใจ และบรรยากาศที่นี่โดยรอบมีต้นไม้ใหญ่ร่มรื่น อีกทั้งเจ้าของและครอบครัว ล้วนมีอัธยาศัยน่ารักเป็นกันเองกับแขกทุกท่านที่มาเยือน..สถานที่แห่งนี้..กว่า 30 ปีมีผู้ก่อตั้งที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจสืบสาน ส่งเสริมมรดกวิชาความรู้ เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ร่วมอนุรักษ์ รักษา ศิลปะวัฒนธรรมการแต่งกายแบบไทยลงบนตัวตุ๊กตา..ณ.ถิ่นล้านนา หนึ่งต้นแบบคนไทยที่ควรค่าแห่งการยกย่อง..อาจารย์ยุทธนา บุญประคอง…เกียรติก้องไกลไปต่างแดน.