วิทยาศาสตร์ฯ มธ. เปิดตัว “เรือสำรวจขนาดพกพา” นวัตกรรมวัดระดับความลึกคูคลองหนองบึง พร้อมรับมือน้ำท่วม - กักเก็บน้ำยามฝนทิ้งช่วง

วิทยาศาสตร์ฯ มธ. เปิดตัว “เรือสำรวจขนาดพกพา” นวัตกรรมวัดระดับความลึกคูคลองหนองบึง พร้อมรับมือน้ำท่วม - กักเก็บน้ำยามฝนทิ้งช่วง

 

 

 

 

 

 

 

วิทยาศาสตร์ฯ มธ. เปิดตัว “เรือสำรวจขนาดพกพา”
นวัตกรรมวัดระดับความลึกคูคลองหนองบึง พร้อมรับมือน้ำท่วม - กักเก็บน้ำยามฝนทิ้งช่วง

 

กรุงเทพฯ 30 กรกฎาคม 2561 - คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ชู “เรือสำรวจขนาดพกพา” นวัตกรรมเรือบังคับพลังงานแสงอาทิตย์ สำหรับวัดระดับความลึกท้องน้ำ เพื่อคำนวณความสามารถของแม่น้ำในการรองรับปริมาณน้ำกรณีเกิดอุทกภัย โดยนวัตกรรมดังกล่าว เป็นการทำงานร่วมกันใน 3 ส่วนคือ 1. อุปกรณ์ระบบโซนาร์วัดความลึกจากผิวน้ำ พร้อมอุปกรณ์จีพีเอส 2. อุปกรณ์วัดค่าคุณภาพน้ำในระดับพื้นฐาน และ 3. อุปกรณ์ชุดอินเทอร์เน็ต ออฟ ธิง ทั้งนี้ ระบบดังกล่าว ยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในหลากมิติ


ทั้งการสำรวจคุณภาพน้ำ การเป็นข้อมูลในการติดตามความตื้นเขินคูคลอง เพื่อเตรียมขุดลอกคูคลองรองรับปริมาณน้ำ รวมถึงสำรวจพื้นที่น้ำท่วม และหาเส้นทางเข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัย อย่างไรก็ตาม นวัตกรรมดังกล่าว อยู่ระหว่างการยื่นจดอนุสิทธิบัตร โดยล่าสุด สามารถคว้ารางวัลเหรียญทองเกียรติยศ จากเวทีประกวดสิ่งประดิษฐ์เวทีนานาชาติ ครั้งที่ 46 ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์


รศ.ดร.สุเพชร จิรขจรกุล รองคณบดีฝ่ายยุทธศาสตร์และพัฒนาองค์กร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ (Geo-Informatics) หัวหน้าทีมวิจัย กล่าวว่า ทีมนักวิจัย ได้คิดค้นและพัฒนา “เรือสำรวจขนาดพกพา” นวัตกรรมเรือบังคับวิทยุพลังงานแสงอาทิตย์ สำหรับวัดระดับความลึกท้องน้ำ เพื่อคำนวณความสามารถของแม่น้ำหรือคูคลอง ในการรองรับปริมาณน้ำ และสามารถใช้งานกรณีเกิดอุทกภัยและกรณีฝนทิ้งช่วง พร้อมแสดงผลข้อมูลแบบเรียลไทม์ (Real Time) บนสมาร์ทโฟน โดยสามารถทำงานได้ต่อเนื่องกว่า 3 ชั่วโมง ในระยะทางควบคุม 500 เมตร มีค่าความผิดพลาดระดับความลึกโดยเฉลี่ย 3 เซนติเมตร ที่ระดับความลึกสูงสุดที่ได้ทดลองใช้งาน 20 เมตร ทั้งนี้ นวัตกรรมดังกล่าว เป็นการบูรณาการองค์ความรู้ร่วมกันระหว่าง ระบบอินเทอร์เน็ต ออฟ ธิง (IoT: Internet of Things) และการจัดทำแผนที่ด้วยระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) เข้าด้วยกัน


รศ.ดร.สุเพชร กล่าวต่อว่า สำหรับการทำงานของนวัตกรรมดังกล่าว ประกอบด้วยองค์ประกอบ 3 ส่วน คือ 1. อุปกรณ์ระบบโซนาร์วัดความลึกจากผิวน้ำ พร้อมอุปกรณ์จีพีเอส (GPS) ที่ช่วยระบุตำแหน่งของเรือบังคับ 2. อุปกรณ์วัดค่าคุณภาพน้ำในระดับพื้นฐาน ได้แก่ ค่าอุณหภูมิ ค่าความเป็นกรดด่าง (pH) และค่าออกซิเจนละลายในน้ำ (Dissolved Oxygen: DO) และ 3. อุปกรณ์ชุดอินเทอร์เน็ต ออฟ ธิง (IoT) เพื่อบันทึกค่า และส่งข้อมูลไปยัง Cloud Server โดย “การวัดระดับความลึกท้องน้ำ” ใช้อุปกรณ์ระบบโซนาร์ วัดความลึกจากท้องเรือลงไปถึงพื้นคลองหรือร่องน้ำ และสามารถแสดงผลข้อมูลเรียลไทม์บนสมาร์ทโฟน ทีมวิจัยสามารถประมวผลข้อมูลระยะความลึกที่ได้ มาเทียบกับความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง (Mean sea level) และจัดทำแผนที่ระดับความตื้น-ลึกของแหล่งน้ำใน ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) และอาศัยพลังงานแสงอาทิตย์ช่วยเพิ่มพลังงานให้กับแบตเตอรี่ในระหว่างการสำรวจในแหล่งน้ำเพื่อเพิ่มระยะเวลาการสำรวจได้นานขึ้น


ทั้งนี้ นวัตกรรมดังกล่าว ยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในหลากมิติ อาทิ การสำรวจคุณภาพน้ำ เพื่อทดสอบคุณภาพของน้ำว่า เหมาะแก่การใช้งานในภาคการเกษตรหรือไม่ การเป็นข้อมูลในการติดตามความตื้น-ลึกคูคลอง เพื่อวางแผนขุดลอกคูคลองรองรับปริมาณน้ำ แม้ในกรณีอุทกภัยสามารถใช้สำรวจพื้นที่น้ำท่วม และหาเส้นทางเข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยทีมวิจัยได้ทำการทดสอบประสิทธิภาพบริเวณแหล่งน้ำในพื้นที่ตัวอย่าง จ.นครสวรรค์


และ จ.ปราจีนบุรี และสระเก็บน้ำในแปลงเกษตรทดลองของ มธ. อย่างไรก็ตาม ในกระบวนการสำรวจที่ผ่านมานั้น อาจจะต้องพึ่งพาเครื่องมือขนาดใหญ่จากต่างประเทศ ซึ่งมีราคาสูง และต้องอาศัยเจ้าหน้าที่วิศวกรที่มีความเชี่ยวชาญในการดำเนินสำรวจ และประมวลผลระดับความลึกท้องน้ำ และต้องใช้แรงงานจำนวนมาก รวมถึงใช้ระยะเวลาสำรวจและประมวลผลนาน ซึ่งนวัตกรรมนี้ จะช่วยลดข้อจำกัดดังกล่าวได้ และยังสามารถเพิ่มอุปกรณ์เชื่อมต่อเพื่อสนับสนุนงานวิจัยด้านแหล่งน้ำในอนาคต รศ.ดร.สุเพชร กล่าว


อย่างไรก็ตาม นวัตกรรม “เรือสำรวจขนาดพกพา” เป็นผลงานวิจัยร่วมกับ ผศ.ดร.ธนิท เรืองรุ่งชัยกุล, ผศ.ดร.ธเนศ วีระศิริ และ อาจารย์ณัฐพล จันทร์แก้ว อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนายั่งยืน คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. โดยนวัตกรรมดังกล่าว อยู่ระหว่างการยื่นจดอนุสิทธิบัตร โดยล่าสุด ได้รับรางวัลเหรียญทองเกียรติยศ จากเวทีประกวดสิ่งประดิษฐ์เวทีนานาชาติ ครั้งที่ 46 (46th International Exhibition of Inventions of Geneva) ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ (Switzerland) รศ.ดร.สุเพชร กล่าวทิ้งท้าย


ด้าน รศ.ดร.สมชาย ชคตระการ คณบดี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. กล่าวเสริมว่า ที่ผ่านมา ประเทศไทย ประสบปัญหาในการเตรียมขุดลอก พื้นที่แม่น้ำ คูคลอง เพื่อรองรับปริมาณน้ำในช่วงหน้าฝนเป็นอย่างมาก ซึ่งสังเกตได้ว่า ในช่วงที่ฝนตกหนักติดต่อกัน ได้ก่อให้เกิดมวลน้ำจำนวนมากเกิดอุทกภัยและไหลเข้าพื้นที่นาข้าว และสร้างความเสียหายแก่เกษตรกรเป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกัน ก็ประสบปัญหาในการกักเก็บน้ำฝน ที่ไม่เพียงพอต่อการทำการเกษตรในช่วงหรือช่วงหน้าแล้ง คณะวิทยาศาสตร์ฯ มธ.


ได้เล็งเห็นถึงปัญหาของสังคมในด้านต่างๆ จึงมีนโยบายสนับสนุนและผลักดันงานวิจัยของคณาจารย์ในทุกมิติ ให้เป็นเหมือนเครื่องมือหนึ่ง ที่สามารถช่วยเหลือและแก้ปัญหาสังคมได้อย่างเป็นรูปธรรม พร้อมกันนี้ ยังปลูกฝังหลักคิดในการต่อยอดองค์ความรู้วิทยาศาสตร์ และบริหารธุรกิจแก่นักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ เพื่อให้บัณฑิตสามารถสร้างสรรค์ธุรกิจที่สร้างรายได้ในอนาคต หรือนวัตกรรมที่ช่วยแก้ปัญหาสังคมในแง่มุมต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตอกย้ำยุทธศาสตร์ “นักวิทย์คิดประกอบการ” หรือ “SCI+BUSINESS” อย่างแท้จริง


สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. ศูนย์รังสิต โทร. 02-564-4491 ต่อ 2020 เฟซบุ๊กแฟนเพจ www.facebook.com/ScienceThammasat เว็บไซต์ www.sci.tu.ac.th