เกษตรกรแม่ตาช้างร้องกรมชลขอน้ำปลูกข้าวญี่ปุ่น เกษตรกรบ้านป่าแดด จ.เชียงราย ร้องกรมชลขออ่างเก็บน้ำแม่ตาช้าง ปลูกข้าวญี่ปุ่น
เกษตรกรแม่ตาช้างร้องกรมชลขอน้ำปลูกข้าวญี่ปุ่น
เกษตรกรบ้านป่าแดด จ.เชียงราย ร้องกรมชลขออ่างเก็บน้ำแม่ตาช้าง ปลูกข้าวญี่ปุ่น
ด้านกรมชลประทาน เผยผลศึกษา คาดพื้นที่รับประโยชน์ 17,200 ไร่ เยียวป่าปลูกเพิ่ม 3,080 ไร่ พร้อมชูอ่างเก็บน้ำฝายโป่งนกตัวอย่างโครงการจังหวัดเชียงราย ประชาชนมีส่วนร่วม รับรางวัลสถาบันเกษตรกรผู้ใช้น้ำดีเด่น 2563
นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า จากที่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวญี่ปุ่น จาก อ.ป่าแดด จ.เชียงราย ได้ร้องขอน้ำ เพื่อเพาะปลูกข้าวญี่ปุ่น ในพื้นที่ ทางกรมชลประทานจึงได้จัดโครงการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA อ่างเก็บน้ำแม่ตาช้าง ตำบลป่าแดด อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย ซึ่งมีจุดประสงค์ในการเป็นแหล่งน้ำอุปโภค-บริโภคของเกษตรกร และประชาชนในพื้นที่ 31 หมู่บ้าน 3 ตำบล ได้แก่ ตำบลป่าแดด ตำบลศรีถ้วย และตำบลแม่พริก มีพื้นที่รับประโยชน์ทั้งสิ้น 17,200 ไร่ ทั้งยังสามารถบรรเทาอุทกภัยในเขตตำบลป่าแดด เป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำและประมง เพิ่มความชุ่มชื้นและฟื้นฟูสภาพป่า ไปจนถึงเพิ่มความมั่นคงด้านปริมาณน้ำในบริเวณห้วยแม่ตาช้าง และแม่น้ำลาวในช่วงฤดูแล้ง
ทั้งนี้ที่มาที่ไปของโครงการดังกล่าวนั้น ทางจังหวัดเชียงรายได้มีหนังสือขอรับการสนับสนุนโครงการอ่างเก็บน้ำแม่ตาช้าง เพื่อช่วยแก้ไขและบรรเทาปัญหาขาดแคลนน้ำในพื้นที่ตั้งแต่ปี 2536 อย่างไรก็ตามเนื่องจากบริเวณหัวงานและอ่างเก็บน้ำส่วนหนึ่งอยู่ในเขตป่าอนุรักษ์เพิ่มเติม (Zone C) จึงต้องทำการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA เพื่อประกอบการขออนุญาตใช้พื้นที่
โดยหลังจากการศึกษาเพิ่มเติมพบว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโครงการดังกล่าวประกอบด้วย พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ลาวฝั่งซ้ายอีก 1,540 ไร่ แบ่งเขตป่าอนุรักษ์เพิ่มเติม (Zone C) 788 ไร่ ป่าเศรษฐกิจ (E) 752 ไร่ นอกเขตป่าสงวน 110 ไร่ ซึ่งปัจจุบันมีสภาพเป็นพื้นที่ป่าไม้ 102 ไร่ ป่าเต็งรัง 93 ไร่ ป่าเบญจพรรณ 9 ไร่ รวมถึงในด้านคมนาคมที่จะทำให้ถนนทางเข้าหมู่ 18 บ้านแม่ตาช้างที่เชื่อมต่อกับทางหลวงหมายเลข 109 บริเวณ กม.12+500 ระยะทาง 2.5 กม. ไม่สามารถสัญจรไปมาได้ ทั้งยังกระทบผู้มีที่ดินทำกินและผู้อยู่อาศัยในบริเวณจัดทำโครงการดังกล่าวอีก 152 ราย
“ทางกรมชลประทานมีแนวทางป้องกัน แก้ไข และลดผลกระทบ ผ่านการดำเนินการปลูกป่าทดแทนในพื้นที่ป่าไม้บริเวณใกล้เคียง 3,080 ไร่ หรือ 2 เท่า ของพื้นที่ป่าสงวนแม่ลาวที่สูญเสียไปจากการทำโครงการดังกล่าว โดยใช้ไม้ที่มีคุณค่าเชิงเศรษฐกิจ และเร่งกำหนดอัตราชดเชยทรัพย์สินให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างเป็นธรรม ผ่านการคำนึงถึงผู้ได้รับผลกระทบ นอกจากนี้กรมชลประทานยังต้องดำเนินการสร้างถนนทดแทนให้ประชาชน หมู่ที่ 18 เพื่อทดแทนถนนเดิมที่จะถูกน้ำท่วมอีกด้วย” นายเฉลิมเกียรติกล่าว
นายเฉลิมเกียรติอธิบายเพิ่มเติมว่าจากการศึกษาเบื้องต้นโครงการอ่างเก็บน้ำแม่ตาช้างจะมีพื้นที่หัวงานอยู่บริเวณตำบลป่าแดด อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย ปิดกั้นลำห้วยแม่ตาช้าง ซึ่งเป็นสาขาของแม่น้ำลาว มีพื้นที่รับน้ำ 100.8 ตร.กม. พื้นที่ระดับน้ำสูงสุด 1,375 ไร่ พื้นที่ระดับน้ำเก็บกัก 1,281 ไร่ และพื้นที่ระดับน้ำต่ำสุด 250 ไร่ มีความจุอ่างเก็บน้ำที่ระดับสูงสุด 36 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ระดับน้ำสูงสุด +520.25 ม.รทก. มีความจุอ่างเก็บน้ำที่ระดับเก็บกัก 32 ล้าน ลบ.ม. ระดับน้ำเก็บกัก +519 ม.รทก. โดยพื้นที่ที่เกี่ยวข้องมีปริมาณฝนเฉลี่ย 1,511 มิลลิเมตร และมีน้ำท่า 39.92 ล้าน ลบ.ม. การจัดทำอ่างเก็บน้ำจึงเป็นการสร้างความมั่นคงทางแหล่งน้ำให้ประชาชนในพื้นที่
โดยลักษณะของอ่างเก็บน้ำแม่ตาช้างนั้น จากการออกแบบเบื้องต้น จะมีลักษณะเป็นเขื่อนดินแบบแบ่งโซนที่มีความกว้างสันเขื่อน 10 เมตร ความยาวเขื่อน 657 เมตร ความสูง 42 เมตร มีอาคารระบายน้ำล้นยาว 70 เมตร ระบายน้ำได้สูงสุด 259.5 ลบ.ม./วินาที รวมถึงมีท่อส่งน้ำลงลำน้ำเดิม เส้นผ่าศูนย์กลาง 2 เมตร อีกด้วย
นายเฉลิมเกียรติยังกล่าวอีกว่า ในบริเวณพื้นที่จังหวัดเชียงราย กรมชลประทานยังมีโครงการฝายโป่งนกที่มีความเป็นมาและรายละเอียดที่น่าสนใจ ในประเด็นอ่างเก็บน้ำไม่ได้เป็นหลักประกันถึงความราบรื่นในการส่งน้ำ-รับน้ำ เพราะแต่ละช่วงฝายต่างคนต่างต้องการน้ำและไม่สามารถจัดระเบียบได้ พื้นที่รับน้ำฝายโป่งนกจึงไม่มีน้ำ ท่ามกลางความเดือดร้อนของเกษตรกร รวมถึงฝายพ่อขุน ฝายหนองหอยที่เหนือขึ้นไป โดยเฉพาะเมื่อฤดูนาปรัง 2557/2558 ที่ประสบความแห้งแล้งอย่างรุนแรง แต่ล่าสุดฝายโป่งนกกลับได้รับรางวัลสถาบันเกษตรกรผู้ใช้น้ำดีเด่น ประจำปีพ.ศ. 2563 ของกรมชลประทาน ซึ่งเข้ารับรางวัลพระราชทานในวันพืชมงคล 5 พฤษภาคม 2563
โดยก่อนหน้านั้นกรมชลประทานได้เข้าไปเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากเกษตรกรฝายโป่งนกครั้งแรกในปี 2558 แต่เกิดความไม่เข้าใจกันจนต้องล้มเวทีกลางคันหลังประชุมได้ไม่นาน
แต่หลังจากพยายามเข้าไปใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของเกษตรกร ผ่านงานวิจัยท้องถิ่น การเปิดเวที การจัดทำประวัติชุมชนในแต่ละช่วงตอนตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน สภาพความเป็นอยู่ ปัญหาความเดือดร้อน และต้นตอสาเหตุ ช่วยให้ชุมชนรู้จักตัวเอง เข้าใจตัวเอง นำไปสู่ความต้องการแก้ไขปัญหาที่ต้องร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมทำ กับส่วนราชการ โดยเฉพาะกรมชลประทานในฐานะที่รับผิดชอบเรื่องการบริหารจัดการน้ำ
“ซึ่งเมื่อกรมชลประทานเปลี่ยนจากกำหนดฝ่ายเดียว มาฟังความต้องการของเกษตรกร และเปิดพื้นที่ให้เกษตรกรกำหนดด้วยตัวเองจากการเปิดเวทีครั้งแล้วครั้งเล่าไม่น้อยกว่า 3 ปี ฝายโป่งนกจึงประสบความสำเร็จร่วมกับฝายอื่นๆ ที่อาศัยน้ำจากอ่างเก็บน้ำดอยงู” นายเฉลิมเกียรติกล่าว
โดยอ่างฝายโป่งนกนี้เป็นฝายท้ายสุดที่รับน้ำจากอ่างเก็บน้ำดอยงู อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย โดยอ่างเก็บน้ำดอยงู สร้างปิดกั้นแม่น้ำเจดีย์ ความจุระดับเก็บกักกว่า 7 ล้าน ลบ.ม. ถัดไปจากอ่างเก็บน้ำดอยงู เป็นฝายชะลอน้ำหน้าวัดเจดีย์ 13 จุด ฝายบ้านชุ่มเมืองเย็น จากนั้นแม่น้ำเจดีย์จะไหลไปบรรจบแม่น้ำลาว แล้วมีฝายหนองหอย ฝายพ่อขุน และฝายโป่ง
โป่งนกนี้เป็นฝายท้ายสุดที่รับน้ำจากอ่างเก็บน้ำดอยงู อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย โดยอ่างเก็บน้ำดอยงู สร้างปิดกั้นแม่น้ำเจดีย์ ความจุระดับเก็บกักกว่า 7 ล้าน ลบ.ม. ถัดไปจากอ่างเก็บน้ำดอยงู เป็นฝายชะลอน้ำหน้าวัดเจดีย์ 13 จุด ฝายบ้านชุ่มเมืองเย็น จากนั้นแม่น้ำเจดีย์จะไหลไปบรรจบแม่น้ำลาว แล้วมีฝายหนองหอย ฝายพ่อขุน และฝายโป่งนก เป็นลำดับสุด