เนสท์เล่สร้างต้นแบบกินดี อยู่ดี จากครูสู่เด็ก

เนสท์เล่สร้างต้นแบบกินดี อยู่ดี จากครูสู่เด็ก

 

 

 

 

เนสท์เล่สร้างต้นแบบกินดี อยู่ดี จากครูสู่เด็ก
จัดเวิร์กช้อป 
กิน อยู่ ดู ฟัง เป็น ติวเข้มการเรียนรู้โภชนาการผ่านการลงมือปฏิบัติ

 

 

 

กรุงเทพฯ, 29 มกราคม 2563 – จุดเริ่มต้นของความสามารถในการเรียนรู้เริ่มจากการได้รับอาหารที่มีโภชนาการเหมาะสมตั้งแต่วัยเยาว์ โภชนาการจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ใหญ่ไม่ควรละเลย ครู ในฐานะผู้ดูแลเด็กจึงไม่ได้มีหน้าที่เพียงถ่ายทอดความรู้ด้านโภชนาการที่ถูกต้องตามทฤษฎีเท่านั้น แต่ยังต้องเป็นแบบอย่างที่ดีในทางปฏิบัติ เพื่อร่วมกันสร้างพฤติกรรม กินดี อยู่ดี ตามหลักโภชนาการ อันจะเป็นรากฐานให้เด็กไทยมีสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืน และมีความพร้อมในการเรียนรู้ต่อไป

 

โครงการเด็กไทยสุขภาพดี โดยบริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด ตระหนักถึงความสำคัญของครูในการปลูกฝังพฤติกรรมด้านโภชนาการและสุขภาพที่เหมาะสมให้กับเยาวชนไทย จึงร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร และสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดหลักสูตรการพัฒนาข้าราชการครูและบุคลากรการศึกษา สายงานการสอน สังกัดสพฐ. เรื่อง กิน อยู่ ดู ฟัง เป็น ผ่านกระบวนการเรียนรู้แบบ Active Learning เพื่อร่วมกันสร้างครูไทยให้เป็นต้นแบบด้านโภชนาการและสุขภาพ อีกทั้งสามารถสร้างสรรค์และบูรณาการสื่อการเรียนการสอนใหม่ๆ ที่จะช่วยให้การเรียนรู้ด้านโภชนาการของเด็กไทยมีประสิทธิผลยิ่งขึ้น

 

นางกนกทิพย์ ปริญญานุสสรณ์ ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาและสื่อสารโภชนาการเพื่อสุขภาพ บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด กล่าวว่า “โครงการเด็กไทยสุขภาพดีมีพันธกิจในการส่งเสริมเด็กไทยให้มีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีมาอย่างต่อเนื่องกว่า16 ปี ผ่านการพัฒนาสื่อและวิธีการเรียนการสอนสำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 ที่ทำให้การเรียนรู้โภชนาการและการดูแลสุขภาพเป็นเรื่องสนุก เข้าใจง่าย ใช้ได้ในชีวิตประจำวัน และสามารถบูรณาการเข้ากับหลากหลายวิชา โดยมีครูเป็นผู้สื่อสารและเป็นแบบอย่างที่ดี ล่าสุด โครงการฯ ได้ก้าวไปอีกขั้นสู่การพัฒนาหลักสูตรอบรมครูที่ได้รับการรับรองจากภาครัฐ เพื่อติดปีกครูไทยให้มีความรู้ ทักษะ เครื่องมือการสอนที่เข้ากับยุคสมัย อีกทั้งสามารถสื่อสาร จูงใจ และเป็นแบบอย่างที่ดีให้เด็กรุ่นใหม่นำความรู้สู่การปฏิบัติให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้านโภชนาการและสุขภาพทั้งในโรงเรียนและต่อเนื่องสู่ที่บ้าน อันจะนำไปสู่การพัฒนาเยาวชนไทยให้มีสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืน”  

งานสัมมนาครูเชิงปฏิบัติการเรื่อง กิน อยู่ ดู ฟัง เป็น ผ่านแนวคิดการเรียนรู้แบบ Active Learning เป็นหนึ่งในหลักสูตรอบรมพัฒนาครูแบบเข้มข้น ที่ได้รับการรับรองและบรรจุอยู่ในหลักสูตรการพัฒนาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สายงานการสอน ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ส.) กำหนด การอบรมซึ่งจัดขึ้นอย่างเข้มข้นตลอด 3 วัน มุ่งเน้นด้านการพัฒนา ออกแบบ จัดการ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับการปลูกฝังความรู้ด้านโภชนาการและสุขภาพ หลักที่สามารถปรับใช้ได้ทั้งกับครูและนักเรียน ได้แก่ 1) อ่าน – ฉลากโภชนาการ อ่านเป็น กินเป็น 2) ปรับ – กินหลากหลาย เพิ่มผักผลไม้ 3) ขยับ - กินเกินเท่าไหร่ ต้องใช้ให้หมด และ 4) เปลี่ยน - ลดหวานมันเค็มแต่พอดี โดยมีครูเข้ารับการอบรมทั้งสิ้น 59 คน และได้รับคะแนนประเมินจากครูที่เข้าร่วมการอบรม ทั้งในเรื่องสื่อที่ใช้ การถ่ายทอดความรู้ การนำความรู้ไปใช้ต่อได้ เฉลี่ยสูงถึงกว่า 90%

 

ดร.บรรเจอดพร สู่แสนสุข รองผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าวว่า “การศึกษาไม่ได้เริ่มต้นที่การบวกลบเลขเป็นหรืออ่านหนังสือได้ แต่การศึกษาคือการพัฒนาชีวิต และการพัฒนาเด็กให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างเหมาะสมและมีสุขภาพแข็งแรง ควรเริ่มฝึกฝนตั้งแต่เรื่องพื้นฐานอย่างการกิน โดยเมื่อแรกเกิด มีพ่อแม่เป็นแบบอย่าง และเมื่อถึงวัยเข้าโรงเรียน ครูจะต้องทำหน้าที่เป็นต้นแบบด้านโภชนาการให้กับเด็กด้วย ในขณะเดียวกัน ครูยังมีบทบาทสำคัญในการจัดการเรียนรู้ โดยมุ่งเน้นให้เด็กได้ใช้ความคิด มีปฏิสัมพันธ์กับการเรียน ได้ลงมือทำ และสามารถถ่ายทอดความรู้ที่ได้รับเข้าไปให้ออกมาได้อย่างเหมาะสม เช่น สามารถตอบคำถาม ให้ความร่วมมือในกิจกรรมต่างๆ  เลือกกินอาหารที่ดีเป็น ซึ่งการเรียนรู้ด้วยการลงมือปฏิบัติ หรือ Active Learning นี้ เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในการขัดเกลาทักษะและวางรากฐานโภชนาการที่เหมาะสมให้กับนักเรียนในศตวรรษใหม่”

 

เมื่อรูปแบบการเรียนรู้ในยุคใหม่เปลี่ยนแปลงไป ครูจึงต้องปรับเปลี่ยนแนวทางการสอนให้ก้าวทันโลก ดร.สุรยศ ทรัพย์ประกอบ อาจารย์จากวิทยาลัยการฝึกหัดครู มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร อธิบายว่า “เด็กยุคใหม่ต้องการความท้าทาย ไม่ชอบทำตามคำสั่ง  โจทย์ใหม่สำหรับครูจึงเป็นการทำอย่างไรให้สามารถดึงความสนใจเด็กให้รับฟังในสิ่งที่เราต้องการจะสื่อสาร ถ้าเด็กมองเห็นความเชื่อมโยงกันของสิ่งที่เราต้องการให้เด็กเกิดแนวคิดเรื่องโภชนาการ อย่างวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ สอนให้เด็กรู้จักการคำนวณค่าพลังงานจากอาหารที่กินเข้าไป แต่ถ้าพูดถึงเรื่องการบริโภคเกินความต้องการ ก็จะเชื่อมโยงกับวิชาสุขศึกษา สังคมศึกษาและพลศึกษา การบูรณาการให้เด็กได้เห็นภาพว่าแต่ละวิชามีความเชื่อมโยงและสัมพันธ์กันนี้จะทำให้เด็กเกิดความรู้สึกว่าโภชนาการเป็นเรื่องใกล้ตัวและสามารถนำความรู้ไปใช้ได้ในชีวิตจริง นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในทางที่ดีขึ้น ขณะเดียวกันครูยังต้องปรับเทคนิคการสอนให้สอดรับกับไลฟ์สไตล์การเรียนของเด็ก อย่างปัจจุบันการเรียนแบบ Learning by Doing ที่ครูทุกคนเข้าใจและใช้กันมานาน ประกอบกับหลักของ Teach Less Learn More ซึ่งทั้งสองหลักการจะทำให้นักเรียนได้ลงมือปฏิบัติจริง โดยมีเทคโนโลยีเป็นตัวช่วย เช่น บอร์ดเกม การจำลอง (simulation) หรือ การใช้ Vlog โดยนักเรียนได้เป็น Youtuber จะสามารถดึงดูดความสนใจเด็กได้ดีกว่าการเรียนจากตำราเพียงอย่างเดียว จึงเป็นเรื่องดีที่เนสท์เล่เห็นความสำคัญและสนับสนุนให้ครูไทยสามารถจัดการเรียนการสอนแบบใหม่ที่เหมาะสมกับเด็กยุคปัจจุบันมากขึ้น”  

 

A person standing posing for the camera

Description automatically generatedด้านคุณครูสรัลชนา ก้านกลาง จากโรงเรียนบ้านคลองหลวง จังหวัดสมุทรปราการ หนึ่งในผู้เข้าอบรมกล่าวว่า “หลังจากการอบรม คุณครูเองก็ได้นำความรู้ไปใช้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินของตนเอง จนทุกวันนี้สามารถลดน้ำหนักลงได้อย่างชัดเจน เมื่อลูกศิษย์และคุณครูท่านอื่นๆ ในโรงเรียนเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับเรา ก็รู้สึกเชื่อและให้ความร่วมมือมากขึ้น เมื่อต้องการแก้ปัญหาพฤติกรรมการกินอาหารรสหวานมันเค็มที่มากเกินไปของเด็กๆ จึงได้ขอความร่วมมือจากฝ่ายที่เกี่ยวข้อง กำชับไม่ให้แม่ครัวปรุงรสมากเกินไป และไม่นำเครื่องปรุงมาวางในบริเวณโรงอาหาร ก็ได้รับความร่วมมืออย่างดี ช่วงแรกๆ ก็มีคำถามจากนักเรียนบ้าง แต่เวลาผ่านไป ทุกคนก็เริ่มคุ้นชินกับรสชาติที่ไม่ต้องปรุง และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในที่สุด”

 

            การจัดอบรมพัฒนาครูด้วยหลักสูตรที่ได้รับการรับรองในครั้งนี้นับเป็นความสำเร็จอีกก้าวหนึ่งของโครงการเด็กไทยสุขภาพดีที่บริษัทเนสท์เล่ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตลอด 16 ปีที่ผ่านมา  โดยยังคงมุ่งมั่นพัฒนากิจกรรมอื่นๆ ของโครงการฯ ต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการให้องค์ความรู้และเทคนิคการสอนใหม่ๆ แก่คุณครู การประกวดสื่อการสอน การจัดทำสื่อการสอนด้านโภชนาการแบบบูรณาการที่สามารถดาวน์โหลดสื่อได้ฟรีทางเว็บไซต์ dekthaidd.com ตลอดจนการจัดกิจกรรมโรดโชว์ (Road show) ตามโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศ โดยโครงการฯ ได้เข้าถึงโรงเรียนกว่า 13,000 แห่ง ครูกว่า 8,000 คน และนักเรียนกว่า 1.7 ล้านคน และเนสท์เล่จะยังคงมุ่งพัฒนาทักษะครูควบคู่ไปกับการสร้างสรรค์สื่อการเรียนรู้ด้านโภชนาการและการดูแลสุขภาพใหม่ๆ ที่ผสมผสานเทคโนโลยีทันสมัย เพื่อให้การเรียนรู้ด้านโภชนาการและสุขภาพของทุกคนในโรงเรียนเป็นเรื่องสนุกสนานและใกล้ตัว เป็นการพัฒนาชีวิต อีกทั้งสามารถเชื่อมโยงความรู้จากโรงเรียนสู่บ้าน เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้สังคมไทยมีประชากรสุขภาพดีอย่างยั่งยืน