คปภ. เร่งช่วยเหลือด้านประกันภัย กรณีเสียชีวิต 5 ราย จากอุบัติเหตุรถยนต์กระบะพลิกคว่ำ ที่จังหวัดเชียงใหม่
คปภ. เร่งช่วยเหลือด้านประกันภัย กรณีเสียชีวิต 5 ราย จากอุบัติเหตุรถยนต์กระบะพลิกคว่ำ ที่จังหวัดเชียงใหม่
ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า จากกรณีการเกิดอุบัติเหตุรถยนต์หมายเลขทะเบียน ฆฐ 3307 กรุงเทพมหานคร เสียหลักพลิกคว่ำ บริเวณทางโค้งกิโลเมตรที่ 31 จอมทอง-ดอยอินทนนท์ ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต จำนวน 5 ราย โดยหนึ่งในผู้เสียชีวิต คือ นายสมพงษ์ ศรีอนันท์ นายกเทศมนตรีตำบลหลักหก จังหวัดปทุมธานี ในเบื้องต้น เลขาธิการ คปภ. ได้สั่งการให้สายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ และสายกลยุทธ์องค์กร บูรณาการการทำงานร่วมกับสายส่งเสริมและประกันภัยภูมิภาค โดยสำนักงาน คปภ. ภาค 1 (เชียงใหม่) และสำนักงาน คปภ. จังหวัดเชียงใหม่ ได้เร่งติดตามและตรวจสอบการจัดทำประกันภัยของรถยนต์คันประสบอุบัติเหตุ ว่า มีการทำประกันภัยประเภทใดไว้บ้าง เพื่อช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกในการนำระบบประกันภัยเข้าไปเยียวยาความสูญเสียที่เกิดขึ้นให้กับครอบครัวของผู้ประสบภัยในครั้งนี้
ทั้งนี้ ได้รับรายงานเบื้องต้นจาก สำนักงาน คปภ. ภาค 1 (เชียงใหม่) และสำนักงาน คปภ. จังหวัดเชียงใหม่ ว่า รถยนต์หมายเลขทะเบียน ฆฐ 3307 กรุงเทพมหานคร ได้ทำประกันภัยรถภาคบังคับ (พ.ร.บ.) ไว้กับ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) กรมธรรม์เลขที่ 11001-899-203389732 เริ่มคุ้มครองวันที่ 5 มิถุนายน 2563 สิ้นสุดความคุ้มครองวันที่ 5 มิถุนายน 2564 และได้ทำประกันภัยรถภาคสมัครใจ (ประเภท 1) ไว้กับ บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ตามกรมธรรม์เลขที่ 63-1-5-187751 ทำสัญญาวันที่ 23 มีนาคม 2563 เริ่มคุ้มครองวันที่ 18 เมษายน 2563 สิ้นสุดความคุ้มครองวันที่ 18 เมษายน 2564 คุ้มครองความรับผิดต่อชีวิต ร่างกาย อนามัย ของบุคคลภายนอก 1,000,000 บาท/คน ไม่เกิน 10,000,000 บาท/ครั้ง ทรัพย์สินของบุคคลภายนอก 5,000,000 บาท คุ้มครองความเสียหายต่อรถยนต์ 370,000 บาท คุ้มครองสูญหาย/ไฟไหม้ 370,000 บาท คุ้มครองอุบัติเหตุส่วนบุคคลกรณีสูญเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพถาวร (ผู้ขับขี่/ผู้โดยสาร 6 คน) 200,000 บาท/คน ค่ารักษาพยาบาล 200,000 บาท/คน ประกันตัวผู้ขับขี่ 200,000 บาท
จากอุบัติเหตุในครั้งนี้ มีผู้เสียชีวิต จำนวน 5 ราย แยกเป็นผู้โดยสาร (บุคคลภายนอก) จำนวน 3 ราย จะได้รับค่าสินไหมทดแทนรายละ 1,700,000 บาท จากกรมธรรม์ประกันภัยรถภาคบังคับ (พ.ร.บ.) จำนวน 500,000 บาท กรมธรรม์ประกันภัยรถภาคสมัครใจ (ความรับผิดต่อบุคคลภายนอก) โดยบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) พิจารณาจ่ายตามฐานานุรูปเต็มตามความคุ้มครองจำนวน 1,000,000 บาท และสัญญาแนบท้ายประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล (PA) จำนวน 200,000 บาท สำหรับผู้เสียชีวิตที่เป็นผู้ขับขี่ คือ นายสมพงษ์ ศรีอนันท์ นายกเทศมนตรีตำบลหลักหก จังหวัดปทุมธานี จะได้รับค่าสินไหมทดแทนจำนวน 235,000 บาท จากกรมธรรม์ประกันภัยรถภาคบังคับ (พ.ร.บ.) จำนวน 35,000 บาท และสัญญาแนบท้ายประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล (PA) จำนวน 200,000 บาท ส่วนผู้เสียชีวิตที่เป็นผู้โดยสารอีก 1 ราย ซึ่งเป็นภรรยาของผู้ขับขี่รถยนต์คันดังกล่าว จะได้รับค่าสินไหมทดแทน จำนวน 700,000 บาท จากกรมธรรม์ประกันภัยรถภาคบังคับ (พ.ร.บ.) จำนวน 500,000 บาท และสัญญาแนบท้ายประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล (PA) จำนวน 200,000 บาท
นอกจากนี้ สำนักงาน คปภ. จะประสานและบูรณาการการทำงานไปยังสมาคมประกันชีวิตไทย และสมาคมประกันวินาศภัยไทย เพื่อตรวจสอบเพิ่มเติมว่าผู้เสียชีวิตในครั้งนี้ มีการทำประกันภัยประเภทอื่น ๆ อีกหรือไม่ และหากตรวจสอบพบภายหลังว่าผู้เสียชีวิตมีการทำประกันภัยประเภทอื่น ๆ เช่น กรมธรรม์ประกันชีวิต กรมธรรม์ประกันอุบัติเหตุ ฯลฯ จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพิ่มเติมตามสัญญาประกันภัยที่ระบุไว้อีกด้วย
ทั้งนี้ ในส่วนของการติดตามและการประสานงานเพื่ออำนวยความสะดวกด้านประกันภัยให้กับทายาทของผู้เสียชีวิตในครั้งนี้ สำนักงาน คปภ. ภาค 1 (เชียงใหม่) ได้ประสานงานกับสำนักงาน คปภ. ภาค 6 (ชลบุรี) ซึ่งกำกับดูแลสำนักงาน คปภ. จังหวัดปทุมธานี เพื่ออำนวยความสะดวกและติดตามการจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับทายาทของผู้ประสบภัย ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี เพื่อให้ระบบประกันภัยเข้าไปเยียวยาความสูญเสียที่เกิดขึ้นในครั้งนี้โดยเร็ว
"สำนักงาน คปภ. ขอแสดงความเสียใจอย่างยิ่งต่อครอบครัวของผู้เสียชีวิตในครั้งนี้ และขอแสดงความห่วงใยประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนเป็นอย่างยิ่ง เพราะอุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลาและทุกสถานที่ จึงควรให้ความสำคัญกับการทำประกันภัยเพื่อช่วยบริหารความเสี่ยงภัย และขอฝากเตือนประชาชนควรใช้รถใช้ถนนด้วยความระมัดระวัง โดยเฉพาะเส้นทางการจราจรที่ไม่คุ้นเคย เพื่อลดความเสี่ยงต่อการสูญเสียที่จะเกิดขึ้นได้ และหมั่นตรวจสอบสภาพรถยนต์อย่างสม่ำเสมอ ตลอดจนตรวจวันหมดอายุกรมธรรม์ประกันภัยรถภาคบังคับ (ประกันภัย พ.ร.บ.) ตามที่กฎหมายกำหนด รวมทั้งควรทำกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจและกรมธรรม์ประกันชีวิตอื่นๆ ด้วย เพื่อที่ระบบประกันภัยจะได้เข้ามาช่วยบริหารความเสี่ยงและเยียวยาความสูญเสียต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกันภัย สามารถสอบถามได้ที่สายด่วน คปภ. 1186” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย