จาก ‘พระบรมราชินีนาถ’ สู่ ‘พระพันปีหลวง’ ในประวัติศาสตร์พระราชวงศ์ไทย
จาก ‘พระบรมราชินีนาถ’ สู่ ‘พระพันปีหลวง’ ในประวัติศาสตร์พระราชวงศ์ไทย
พระพันปีหลวง ในประวัติศาสตร์สยามตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา จวบจนรัตนโกสินทร์ มีประวัติความเป็นมาอย่างยาวนาน และเปี่ยมด้วยความหมายอันลึกซึ้ง
ผศ.ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้ค้นคว้าอย่างลุ่มลึกในธรรมเนียมดังกล่าว โดยระบุว่า พระพันปี รวมถึงคำศัพท์ว่า พระพันวัสสา ต่างก็มีมีความหมายตรงกันว่า ‘อายุพันปี’ เคยใช้เป็นพระนามพระราชาในวรรณคดีเรื่องเอกของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา คือ เรื่องขุนช้างขุนแผน และในคำให้การชาวกรุงเก่า ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นเอกสารที่บันทึกเรื่องราวของชาวอยุธยาที่ได้ถูกกวาดต้อนไปยังกรุงอังวะที่ราชสำนักราชวงศ์คองบองจดบันทึก ก็ปรากฏกษัตริย์อยุธยาพระองค์หนึ่งทรงพระนามว่า ‘พระพันวรรษา’
หลักฐานบ่งชี้ว่า คำ ‘พระพันวรรษา’ หรือ ‘พระวัสสา’ ในยุคกรุงศรีอยุธยาเป็นสรรพนามที่ชนชั้นสูงของอยุธยาใช้แทนองค์พระมหากษัตริย์บางพระองค์ ส่วนสัมพันธ์กับ ‘พระหมื่นปี’ ที่หมายถึงฮ่องเต้หรือไม่ ยังเป็นสิ่งที่ต้องค้นคว้าต่อไป
ต่อมา ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระพันปี มีความหมายถึง ตำแหน่งพระอัครมเหสี ดังหลักฐานต่อไปนี้
1.เนื้อความในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ซึ่งเป็นฉบับที่ชำระขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 เมื่อกล่าวถึงเหตุการณ์ครั้งแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าบรมโกศความว่า “โปรดให้พระพันวรรษาใหญ่ (สะกดตามพระราชพงศาวดาร) เป็นกรมหลวงอภัยนุชิต โปรดให้พระพันวรรษาน้อยเป็นกรมหลวงพิพิธมนตรี” และในพระราชพงศาวดารได้กล่าวเพิ่มเติมว่าพระพันวรรษาพระองค์ใหญ่เป็นพระมารดาในเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ ส่วนพระพันวรรษาองค์น้อยเป็นพระราชมารดาในเจ้าฟ้าเอกทัศน์ ดังนั้น ตำแหน่งที่พระพันวรรษาในพระราชพงศาวดารก็น่าที่จะหมายความถึงที่ตำแหน่งอัครมเหสี
2.จากคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม เอกสารจากหอหลวง ซึ่งเอกสารชิ้นนี้เป็นเหมือนบันทึกของคนครั้งกรุงศรีอยุธยาที่จดขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น กล่าวว่า “พระตำหนักโคหาสวรรค์ 1 พระตำหนักนี้เปนที่ประทับของสมเด็จพระพรรวษาใหญ่ ซึ่งเป็นพระราชเทวีสมเดจพระนารายณ์แต่ก่อนมา” (สะกดตามเอกสาร)
3.จากพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ 3 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ เมื่อกล่าวถึงคร้งเหตุการณ์สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี พระอัครมเหสีในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จสวรรคตความว่า “ครั้นมาถึง ณ วันอังคาร เดือน 11 ขึ้น 8 ค่ำเวลาเช้า 4 โมง สมเด็จพระพันวัสสาประชวรพระโรคชราเสด็จสวรรคตในวันนั้น”
4.จากหลักฐานกาพย์ขับไม้พระรถซึ่งสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงมีพระวินิจฉัยว่าต้นฉบับที่ทางหอพระสมุดวชิรญาณได้มานั้นเป็นลายมือพระอาลักษณ์สมัยรัชกาลที่ 4 ได้กล่าวถึงเมื่อพระรถเฉลิมพระราชมณเฑียรแล้ว พระรถได้ใช้นางพระพี่เลี้ยงเชิญนางเมรี และพระพี่เลี้ยงก็ได้เรียกนางเมรีว่า “พระพันปี” ซึ่งก็มีความหมายเดียวกันกับ “พระพันวัสสา”
ในสมัยรัชกาลที่ 7 หลังพระราชพิธีบรมราชภิเษกแล้วจึงโปรดเกล้าฯ สถาปนาสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี “จึงมีพระบรมราชโองการมานพระบัณฑูรสุรสิงหนาท ดำรัสสั่งให้สถาปนาสมเด็จพระมาตุจฉาเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี ขึ้นเป็นสมเด็จพระพันวัสสา มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสามาตุจฉาเจ้า” ดังนั้น จึงเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีการนำคำว่า “พระพันวัสสา” มาประกอบพระนาม
สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
อย่างไรก็ตาม นัยยะของความหมายของ “พระพันวัสสา” ในสมัยรัตนโกสินทร์ ดูเหมือนว่าจะมีความหมายที่แคบเข้ามา ทั้งนี้เพราะในครั้งแผ่นดินรัชกาลที่ 3 ออกพระนามสมเด็จพระศรีสุลาลัยว่า สมเด็จพระพันปีหลวง แต่ออกพระนามสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ว่า สมเด็จพระพันวัสสา ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 จึงออกพระนามว่า พระพันปีหลวง
ผศ.ดร.รุ่งโรจน์ ระบุว่า จากหลักฐานดังกล่าว น่าจะหมายความได้ว่าตำแหน่งพระวัสสาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ คือ อัครชายาเจ้าของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลก่อนที่พระเจ้าแผ่นดินปัจจุบันให้ความเคารพนับถือ
ส่วนคำว่า “พระพันปีหลวง” ก็เป็นชื่อตำแหน่งด้วยเช่นเดียวกัน เมื่อพระอัครมเหสีในรัชกาลก่อนซึ่งออกพระนามว่า “พระพันปี” หรือบางครั้งก็เป็น “พระพันวัสสา” ต่อมาได้เป็นพระราชชนนีของกษัตริย์ในรัชกาลถัดมาจึงจำเป็นที่จะต้องมีการยกสถานะขึ้น ดังนั้นจึงได้เติมคำว่า “หลวง” จาก “พระพันปี” จึงกลายมาเป็น “พระพันปีหลวง” นั่นเอง