พระบรมราโชวาทพระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
พระบรมราโชวาทพระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ความเจริญของประเทศชาติ เป็นความเจริญส่วนรวม ซึ่งเกิดจากผลงานหรือผลของการกระทำของคนทั้งชาติ ถือได้ว่าทุกคนแบ่งหน้าที่กันทำประโยชน์ให้แก่ชาติ ตามความถนัดและความสามารถ และเกื้อกูลกันและกัน ไม่มีผู้ใดจะอยู่ได้และทำงานให้แก่ประเทศชาติได้โดยลำพังตนเอง
พระบรมราโชวาทของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว… (1)
(ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 10 กรกฎาคม 2513)
บ้านเมืองของเรากำลังต้องการการปรับปรุงและการพัฒนาที่มีประสิทธิภาพ ทางที่เราจะช่วยกันได้ก็คือ การที่ทำความคิดให้ถูกและแน่วแน่ ในอันที่จะยึดถือประโยชน์ของบ้านเมืองเป็นที่หมาย ต้องเพลาการคิดถึงประโยชน์เฉพาะตัว และความขัดแย้งกันในสิ่งที่มิใช่สาระลง
พระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว… (2)
(พระราชทานแก่ประชาชนชาวไทยในโอกาสขึ้นปีใหม่ 2543)
ถ้าทุกคนสนใจในความรักประเทศชาติ รักษาความดีเอาไว้ ไม่ต้องไปตามอย่างในสิ่งที่เราเห็น ว่าไม่น่าที่จะเจริญไม่น่าจะพัฒนา เราต้องรักษาแนวทางความคิดตามที่เรามีอยู่ แม้จะเป็นสิ่งที่ตกทอดมาแต่โบราณกาลจากปู่ย่าตายายของเรา แต่เป็นระเบียบการหรือเป็นวิธีการที่ดี จะไม่ล้าสมัย
พระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว… (3)
(ในโอกาสเสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมวิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตร 13 มีนาคม 2514)
การมีเสรีภาพนั้น เป็นของที่ดีอย่างยิ่ง แต่เมื่อจะใช้ จำเป็นต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง และควมรับผิดชอบ มิให้ล่วงละเมิดเสรีภาพของผู้อื่นที่เขามีอยู่เท่าเทียมกัน ทั้งมิให้กระทบกระเท้อนถึงสวัสดิภาพและความเป็นปกติสุขของส่วนรวมด้วย
พระบรมราโชวาทของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว… (4)
(พระราชทานแก่ผู้บังคับบัญชาลูกเสือ 9 กรกฎาคม 2514)
ในการปฏิบัติราชการนั้น ขอให้ทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ อย่านึกถึงบำเหน็จรางวัลหรือผลประโยชน์ให้มาก ขอให้ถือว่าการทำหน้าที่ได้สมบูรณ์ เป็นทั้งรางวัลและประโยชน์อย่างประเสริฐ จะทำให้บ้านเมืองไทยของเราอยู่เย็นเป็นสุขและมั่นคง
พระบรมราโชวาทของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว… (5)
(เนื่องในโอกาสวันข้าราชการพลเรือน 1 เมษายน 2533)
คนเราถ้าพอใจในความต้องการ ก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อยก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย ถ้าทุกประเทศมีความคิดว่าทำอะไรต้องพอเพียง หมายความว่าพอประมาณ ไม่สุดโต่ง ไม่โลภอย่างมาก คนเราก็อยู่เป็นสุข
พระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว… (6)
(พระราชทานแก่คณะบุคคลที่เข้าเฝ้าฯ ณ ศาลาดุสิดาลัย 4 ธันวาคม 2541)
การดำเนินชีวิตโดยใช้วิชาการอย่างเดียวยังไม่เพียงพอ จะต้องอาศัยความรู้รอบตัวและหลักศีลธรรมประกอบด้วย ผู้ที่มีความรู้ดีแต่ขาดความยั้งคิด นำความรู้ไปใช้ในทางมิชอบ ก็เท่ากับเป็นบุคคลที่เป็นภัยแก่สังคมของมนุษย์
พระบรมราโชวาทของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว… (7)
(ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 18 กันยายน 2504)
ความคิดนั้นเป็นแม่บทใหญ่ของการพูดและการกระทำ เพราะกิจที่จะทำคำที่จะพูดทุกอย่างล้วนสำเร็จมาจากความคิด การคิดก่อนพูดและก่อนทำจึงช่วยให้หบุคคลสามารถยับยั้งคำพูดที่ไม่สมควร หยุดยั้งการกระทำที่ไม่ถูกต้อง
พระบรมราโชวาทของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว… (8)
(ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 10 กรกฎาคม 2540)
คนไม่มีความสุจริต คนไม่มีความมั่นคง ชอบแต่มักง่าย ไม่มีวันจะสร้างสรรค์ประโยชน์ส่วนรวมที่สำคัญอันใดได้ ผู้ที่มีความสุจริตและความมุ่งมั่นเท่านั้น จึงจะทำงานสำคัญยิ่งใหญ่ที่เป็นคุณประโยชน์แท้จริงได้สำเร็จ
พระบรมราโชวาทของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว… (9)
(ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 12 กรกฎาคม 2522)
การดำรงชีวิตที่ดีจะต้องปรับปรุงตัวตลอดเวลา การปรับปรุงตัวจะต้องมีความเพียรและความอดทนเป็นที่ตั้ง ถ้าคนเราไม่หมั่นเพียร ไม่มีความอดทน ก็อาจจะท้อใจไปโดยง่าย เมื่อท้อใจไปแล้ว ไม่มีทางที่จะมีชีวิตเจริญรุ่งเรืองแน่ๆ
พระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว… (10)
(พระราชทานแก่ครูและนักเรียน โรงเรียนจิตรลดา 27 มีนาคม 2523)
สัจจวาจา นั้นเป็นรากฐานของการทำงาน หรือการดำรงชีวิตที่ดีที่งามที่มีความก้าวหน้า มีความสำเร็จ “สัจ” เป็นการตั้งใจ ตั้งจิตใจ “วาจา” เป็นคำพูดออกมา แสดงถึงคำพูดนั้นต้องออกมาจากใจ คือเป็นการตั้งใจที่จะทำอะไรเพื่อความสำเร็จในงานนั้น
พระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว… (11)
(ในโอกาสที่ผู้พิพากษาประจำกระทรวงยุติธรรมเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ 18 มีนาคม 2525)
ผู้หนักแน่นในสัจจะ พูดอย่างไรทำอย่างนั้น จึงจะได้รับความสำเร็จ พร้อมทั้งความศรัทธา เชื่อถือ และความยกย่องสรรเสริญจากคนทุกฝ่าย การพูดแล้วทำ คือพูดจริงทำจริง จึงเป็นปัจจัยสำคัญ ในการส่งเสริมเกียรติคุณของบุคคลให้เด่นชัด
พระบรมราโชวาทของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว… (12)
(ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 10 กรกฎาคม 2540)
การปิดทองหลังพระนั้น เมื่อถึงคราวจำเป็นก็ต้องปิด ว่าที่จริงแล้วคนโดยมาก ไม่ค่อยชอบปิดทองหลังพระกันนัก เพราะนึกว่าไม่มีใครเห็น แต่ถ้าทุกคนพากันปิดทองแต่ข้างหน้า ไม่มีใครปิดทองหลังพระเลย พระจะเป็นพระที่งามบริบูรณ์ไม่ได้
พระบรมราโชวาทของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว… (13)
(ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 25 กรกฎาคม 2506)
ประเพณีทั้งหลายย่อมมีประโยชน์ในการดำเนินชีวิตของแต่ละคน เรามีประเพณีของชาติไทยเป็นสมบัติ เราควรจะยินดีอย่างยิ่งและช่วยกันส่งเสริมรักษาไว้ เพื่อความเจริญก้าวหน้าของประเทศ
พระบรมราโชวาทของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว… (14)
(ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 21 เมษายน 2503)
โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และโบราณสถานทั้งหลายเป็นของมีคุณค่า และจำเป็นแก่การศึกษาค้นคว้าในทางประวัติศาสตร์ศิลปะโบราณคดี เป็นการแสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองของชาติไทย ที่มีมาแต่อดีต ควรสงวนรักษาไว้ให้คงทนถาวร เป็นสมบัติส่วนรวมของชาติไว้ตลอดกาล
พระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว… (15)
(ในพิธีเปิดพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 26 ธันวาคม 2504)
การสร้างงานศิลปะทุกอย่างทุกประเภท นอกจากจะต้องใช้ความฝึกหัดชัดเจนในทางปฏิบัติ ประกอบกับวิธีการที่ดีอย่างเหมาะสมแล้ว ศิลปินจำต้องมีความจริงใจและความบริสุทธิ์ใจในงานที่ทำด้วย จึงจะได้ผลงานที่มีค่าควรแก่การยอมรับนับถือ
พระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว… (16)
(ในพิธีเปิดการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 21 8 กันยายน 2515)
งานด้านการศึกษาศิลปะและวัฒนธรรมนั้น คืองานสร้างสรรค์ความเจริญทางปัญญาและทางจิตใจ ซึ่งเป็นทั้งต้นเหตุทั้งองค์ประกอบที่ขาดไม่ได้ของความเจริญด้านอื่นๆทั้งหมด และเป็นปัจจัยที่จะช่วยให้เรารักษาและดำรงความเป็นไทยไว้ได้สืบไป
พระบรมราโชวาทของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว… (17)
(ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยศิลปากร 12 ตุลาคม 2513)
ภาษาไทยนั้นเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งของชาติ ภาษทั้งหลายเป็นเครื่องมือของมนุษย์ชนิดหนึ่ง คือเป็นทางสำหรับแสดงความคิดเห็นอย่างหนึ่ง เป็นสิ่งสวยงามอย่างหนึ่ง เช่น ในทางวรรณคดีเป็นต้น ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องรักษาเอาไว้ให้ดี
พระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว… (18)
(ในการประชุมทางวิชาการของชุมนุมภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 29 กรกฎาคม 2505)
สามัคคี คือการเป็นแก่บ้านเมือง และช่วยกันทุกวิธีทาง เพื่อที่จะสร้างบ้านเมืองให้เข้มแข็ง ด้วยการเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน ทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริตแย่งตรงไปตรงมา นึกถึงประโยชน์ส่วนรวมนั้นคือความมั่นคงของบ้านเมือง
พระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว… (19)
(ในพิธีประดับยศนายตำรวจชั้นนายพล 15 มกราคม 2519)
การที่คนสมัยใหม่บอกว่าคนสมัยเก่ามีความรู้น้อยก็อาจเป็นจริง แล้วคนสมัยใหม่ดูถูกหรือเหยียดหยามคนสมัยเก่าก็มีสิทธิ์ แต่ถ้าพูดตามความจริงแล้ว สิทธิ์ที่จะเหยียดหยามคนรุ่นเก่าไม่ควรจะมี ด้วยเหตุว่าคนรุ่นเก่านี้เองทำให้คนรุ่นใหม่เกิดขึ้นมาได้
พระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว… (20)
(พระราชทานแก่ คณะบุคคลต่างๆที่เข้าเฝ้าฯเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 4 ธันวาคม 2531)
สามัคคีหรือการปรองดองกัน ไม่ได้หมายความว่าคนหนึ่งพูดอย่างหนึ่ง คนอื่นต้องพูดเหมือนกันหมด ลงท้ายชีวิตก็ไม่มีความหมาย ต้องมีความแตกต่างกัน แต่ต้องทำงานให้สอดคล้องกัน แม้จะขัดกันบ้างก็ต้องสอดคล้องกัน
พระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว… (21)
(พระราชทานแก่ คณะบุคคลต่างๆในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 4 ธันวาคม 2536)
ในการปฏิบัติงานนั้น ย่อมมีปัญหาต่างๆเกิดขึ้นได้เสมอ เมื่อปัญหาเกิดขึ้นต้องแก้ไข อย่าทิ้งไว้พอกพูนลุกลามจนแก้ยาก ขอให้ทุกคนระลึกว่าปัญหาทุกอย่างมีทางแก้ไขได้ ถ้าแก้คนเดียวไม่ได้ก็ช่วยกันคิดช่วยกันแก้หลายๆคนหลายๆทาง ด้วยความร่วมมือปรองดองกัน
พระบรมราโชวาทของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว… (23)
(ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 13 กรกฎาคม 2533)
การทำงานใหญ่ๆ ทุกอย่างต้องการเวลามากกว่าจะทำสำเร็จ ผู้ที่เริ่มโครงการอาจไม่ทันทำให้สำเร็จโดยตลอดด้วยตนเองก็ได้ ต้องมีผู้อื่นรับทำต่อไป ดังนั้นไม่ควรยกเอาเรื่องใครเป็นผู้ริเริ่มงาน ใครเป็นผู้รับช่วงงาน ขึ้นเป็นข้อสำคัญนัก จะต้องถือผลสำเร็จที่จะเกิดจากงานเป็นใหญ่
พระบรมราโชวาทของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว… (22)
(ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยศิลปากร 14 ตุลาคม 2514)
การจะทำงานให้มีประสิทธิผลและให้ดำเนินไปได้โดยราบรื่น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำด้วยความรับผิดชอบอย่างสูง ไม่บิดเบือนข้อเท็จจริง ไม่บิดเบือนจุดประสงค์ที่แท้จริงของงานสำคัญที่สุดต้องเข้าใจความหมายของคำว่า ความรับผิดชอบ ให้ถูกต้อง
พระบรมราโชวาทของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว… (24)
(ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 16 กรกฎาคม 2519)
ต่างคนต่างมีหน้าที่ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทำเฉพาะหน้าที่นั้น เพราะว่าถ้าคนใดทำหน้าที่เฉพาะของตัวโดยไม่มองไม่แลคนอื่น งานก็ดำเนินไปไม่ได้ เพราะเหตุว่างานทุกงานจะต้องพาดพิงกันจะต้องเกี่ยวโยงกัน ฉะนั้นแต่ละคนจะต้องมีความรู้ถึงงานของผู้อื่นแล้วช่วยกันทำ
พระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว… (25)
(พระราชทานแก่ คณะบุคคลต่างๆที่เข้าเฝ้าฯเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 4 ธันวาคม 2533)
ถ้าทำงานด้วยความตั้งใจที่จะให้เกิดผลอันยิ่งใหญ่ คือความเป็นปึกแผ่นของประเทศชาติ ด้วยความสุจริตและด้วยความรู้ความสามารถด้วยจริงใจ ไม่นึกถึงเงินทองหรือนึกถึงผลประโยชน์ใดๆก็เป็นการทำหน้าที่โดยตรงและได้ทำหน้าที่โดยเต็มที่
พระบรมราโชวาทของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว… (26)
(พระราชทานแก่ ศึกษาธิการจังหวัดทั่วประเทศ 13 ธันวาคม 2511)
การที่จะให้งานประสานกันนั้นมีหลักสำคัญอยู่ว่า ทุกฝ่ายจะต้องไม่แบ่งแยกกัน ไม่แย่งประโยชน์ ไม่แย่งความชอบกัน แต่ละฝ่ายแต่ละคนต้องทำงานด้วยความบริสุทธิ์ใจ มุ่งหวังผลสำเร็จในการทำงานเป็นใหญ่ยิ่งกว่าสิ่งอื่น
พระบรมราโชวาทของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว… (27)
(ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของสถาบันเทคโนโลยีการเกษตรแม่โจ้ 10 กุมภาพันธ์ 2522)
เมื่อมีโอกาสและมีงานให้ทำ ควรเต็มใจทำโดยไม่จำเป็นต้องตั้งข้อแม้หรือเงื่อนไขอันใดไว้ให้เป็นเครื่องกีดขวาง คนที่ทำงานได้จริงๆนั้น ไม่ว่าจะจับงานสิ่งใดย่อมทำได้เสมอ ถ้ายิ่งมีความเอาใจใส่ มีความขยันซื่อสัตย์สุจริต ก็ยิ่งจะช่วยให้ประสบผลสำเร็จในงานที่ทำสูงขึ้น
พระบรมราโชวาทของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว… (28)
(ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา 8 กรกฎาคม 2530)
ขอให้ทุกคนระลึกว่าปัญหาทุกอย่างมีทางที่จะแก้ไขได้ ถ้าแก้คนเดียวไม่ได้ก็ช่วยกันคิดช่วยกันแก้หลายๆคน หลายๆ ทางด้วยความร่วมมือปรองดองกัน ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นจักได้ไม่กลายเป็นอุปสรรคขัดขวาง และบั่นทอนทำลายความเจริญและความสำเร็จของการงาน
พระบรมราโชวาทของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว… (29)
(ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 13 กรกฎาคม 2533)
ธรรมชาติแวดล้อมของเรา ไม่ว่าจะเป็นแผ่นดิน ป่าไม้ แม่น้ำ ทะเล และอากาศ มิได้เป็นเพียงสิ่งสวยๆ งามๆ เท่านั้น หากแต่เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตของเรา และการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของเราไว้ให้ดีนี้ ก็เท่ากับเป็นการปกปักรักษาอนาคตไว้ให้ลูกหลานของเราด้วย
พระราชดำรัสของ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ… (30)
วามจริงใจต่อผู้อื่นเป็นคุณธรรมสำคัญมากสำหรับผู้ที่ต้องการความสำเร็จและความเจริญ เพราะช่วยให้สามารถขจัดปัดเป่าปัญหาได้มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาอันเกิดจากความกินแหนงแคลงใจและเอารัดเอาเปรียบกัน นอกจากนั้น ยังทำให้ได้รับความเชื่อถือไว้วางใจ และความร่วมมือสนับสนุนจากทุกคนทุกฝ่าย ที่ถือมั่นในเหตุผลและความดี ผู้มีความจริงใจจะทำการสิ่งใดก็มักสำเร็จได้โดยราบรื่น
พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว… (71)
(ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตจุฬาลงกร์มหาวิทยาลัย วันเสาร์ 11 ก.ค.2535)
การมีวินัย มีความสามัคคี และรู้จักหน้าที่ ถือกันว่าเป็นคุณสมบัติสำคัญประจำตัวของคนทุกคน แต่ในการสร้างเสริมคุณสมบัติ 3 ข้อนี้ จะต้องไม่ลืมว่า วินัย สามัคคี และหน้าที่นั้น เป็นได้ทั้งในทางบวกและทางลบ ซึ่งย่อมให้คุณหรือให้โทษได้มากเท่าๆ กัน ทั้ง 2 ทาง เพราะฉะนั้น เมื่อจะอบรม จำเป็นต้องพิจารณาให้ถ่องแท้แน่ชัดก่อนว่า เป็นวินัยสามัคคีและหน้าที่ดีคือ ปราศจากโทษ เป็นประโยชน์ เป็นธรรม
พระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระเจ้อยู่หัว… (72)
(พระราชทานแก่ผู้บังคับบัญชาลูกเสือ วันอังคาร 12 ก.ค.2526)
ความรู้ในวิชาการ เป็นสิ่งหนึ่งที่จะทำให้สามารถฟันฝ่าอุปสรรคได้ และทำให้เป็นคนที่มีเกียรติ เป็นคนที่สามารถ เป็นคนที่จะมีความพอใจได้ในตัวว่า ทำประโยชน์แก่ตนเองและแก่ส่วนรวม นอกจากวิชาความรู้ ก็จะต้องฝึกฝนในสิ่งที่ตัวจะต้องปฏิบัติให้สอดคล้องกับสังคม สอดคล้องกับสมัยและสอดคล้องกับศีลธรรมที่ดีงาม ถ้าได้ทั้งวิชาการ ทั้งความรู้รอบตัว และความรู้ในชีวิต ก็จะทำให้เป็นคนที่ครบคน ที่จะภูมิใจได้
พระบรมราโชวาทของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว… (73)
(พระราชทานเนื่องในโอกาสวันปิดภาคเรียนของโรงเรียนจิตรลดา วันเสาร์ 25 มี.ค.2515)
ความคิดนั้นสำคัญมาก ถือได้ว่าเป็นแม่บทใหญ่ของคำพูดและการกระทำทั้งปวง กล่าวคือ ถ้าคนเราคิดดี คิดถูกต้อง ทั้งตามหลักวิชาและคุณธรรม คำพูดและการกระทำก็เป็นไปในทางที่ดีที่เจริญ แต่ถ้าคิดไม่ดีไม่ถูกต้อง คำพูดและการกระทำก็อาจก่อให้เกิดความเสียหาย ทั้งแก่ตัวเองและส่วนรวมได้ ด้วยเหตุนี้ ก่อนที่บุคคลจะพูดจะทำสิ่งใด จำเป็นต้องหยุดคิดเสียก่อนว่า กิจที่จะทำ คำที่จะพูดนั้น ผิดหรือถูก เป็นคุณประโยชน์หรือเป็นโทษเสียหาย เป็นสิ่งที่ควรพูด ควรกระทำ หรือควรงดเว้น เมื่อคิดพิจารณาได้ดังนี้ ก็จะสามารถยับยั้งคำพูดที่ไม่สมควร หยุดยั้งการกระทำที่ไม่ถูกต้อง พูดและทำแต่สิ่งที่จะสัมฤทธิ์ผลเป็นคุณ เป็นประโยชน์ และเป็นความเจริญ
พระบรมราโชวาทของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว… (74)
(ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์วิทยาลัย วันพุธ 9 ก.ค.2540)
ในการดำเนินชีวิตและการประกอบกิจการงาน ย่อมจะต้องมีปัญหาต่างๆ เป็นอุปสรรค ขัดขวางความสำเร็จอยู่เสมอ ยากที่ผู้ใดหรือสิ่งหนึ่งสิ่งใดจะหลีกเลี่ยงพ้นได้ คนก็มีปัญหาของคน สังคมก็มีปัญหาของสังคม ประเทศก็มีปัญหาของประเทศ แม้กระทั่งโลกก็มีปัญหาของโลก ปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตและกิจการงานจึงเป็นเรื่องธรรมดา ข้อสำคัญเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น จะต้องแก้ไขให้ลุล่วงไปโดยไม่ชักช้า ผู้ใดมีสติปัญญาคิดได้ดี ปฏิบัติได้ถูก ผู้นั้นก็มีหวังบรรลุถึงเป้าหมาย มีความสำเร็จสูง ถ้าเป็นตรงกันข้าม ก็ยากที่จะประสบความสำเร็จสมหวังได้
พระบรมราโชวาทของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว… (75)
(ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันพุธที่ 31 ก.ค.2539)
งานทุกอย่างมีบุคคลซึ่งมีชีวิตจิตใจ มีความนึกคิดเป็นผู้กระทำ ถ้าผู้ทำมีจิตใจไม่พร้อมจะทำงานเช่น ไม่ศรัทธาในงาน ไม่สนใจผูกพันกับงาน ผลงานที่ทำก็ย่อมบกพร่อง ไม่คงที่ ต่อเมื่อผู้ปฏิบัติมีศรัทธา เข้าใจซึ้งถึงประโยชน์ของงาน พร้อมใจและพอใจที่จะขวนขวายปฏิบัติงานโดยเต็มกำลังความสามารถ งานจึงจะดำเนินไปได้โดยราบรื่น และบรรลุผลตามที่มุ่งหมาย
พระบรมราโชวาทของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว… (76)
(ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันเสาร์ 10 ก.ค.2536)
การรู้จักประมาณตน ได้แก่ การรู้จักและยอมรับว่าตนเองมีภูมิปัญญาและความสามารถด้านไหน เพียงใด และควรจะทำงานด้านไหน อย่างไร การรู้จักประมาณตนนี้ จะทำให้คนเรารู้จักใช้ความรู้ความสามารถที่มีอยู่ได้ถูกต้อง เหมาะสมกับงาน และได้ประโยชน์สูงสุดเต็มตามประสิทธิภาพ ทั้งยังทำให้รู้จักขวนขวายศึกษาหาความรู้ และเพิ่มพูนประสบการณ์อยู่เสมอ เพื่อปรับปรุงส่งเสริมศักยภาพที่มีอยู่ในตนเองให้ยิ่งสูงขึ้น
พระบรมราโชวาทของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว… (77)
(พระราชทานเพื่อเชิญไปอ่านในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันเสาร์ 18 ก.ค.2541)
การทำงานร่วมกับผู้อื่นนั้น ที่จะให้เป็นไปโดยราบรื่น ปราศจากปัญหาข้อขัดแย้ง ย่อมเป็นไปได้ยาก เพราะคนจำนวนมากย่อมมีความคิดความต้องการที่แตกต่างกันไป มากบ้างน้อยบ้าง ท่านจะต้องรู้จักอดทนและอดกลั้น ใช้ปัญญา ไม่ใช้อารมณ์ ปรึกษากัน และโอนอ่อนผ่อนตามกันด้วยเหตุผล โดยถือว่าความคิดที่แตกต่างกันนั้น มิใช่เหตุที่จะทำให้เป็นข้อขัดแย้ง โต้เถียง เพื่อเอาแพ้เอาชนะกัน แต่เป็นเหตุสำคัญที่จะช่วยให้เกิดความกระจ่างแจ้ง ทั้งในวิถีทางและวิธีการปฏิบัติงาน
พระบรมราโชวาทของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว… (78)
(ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยขอนแก่น วันพฤหัสบดี 17 ธ.ค.2541)
เป็นความจริงอยู่โดยธรรมดา ที่บุคคลในสังคมนั้นย่อมมีอัชฌาสัยจิตใจแตกต่างเหลื่อมล้ำกันเป็นหลายระดับ ขึ้นอยู่กับพื้นฐานภูมิธรรมของตน บางคนก็มีความคิดจิตใจสูง มีความประพฤติปฏิบัติดีงาม เป็นคุณเป็นประโยชน์อยู่แล้วเป็นปกติ แต่บางคนก็ไม่สามารถจะทำเช่นนั้นได้ เพราะยังไม่เห็นคุณค่าของการปฏิบัติดี จึงมักก่อปัญหาให้เกิดแก่สังคมคนเรานั้น สำคัญอยู่ที่ควรจะได้ปรารภปรารถนาที่จะพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นเป็นลำดับ เพื่อให้ชีวิตเป็นสุข และเจริญรุ่งเรือง
พระบรมราโชวาทของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว… (79)
(พระราชทานเพื่อเชิญไปอ่านในพิธีเปิดการประชุมยุวพุทธิกสมาคมทั่วประเทศ ครั้งที่ 16 วันเสาร์ 30 พ.ค.2524)
ปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับสภาวะแวดล้อม อันเนื่องมาจากมลพิษ หรือความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นในที่หนึ่งที่ใดก็ตาม ย่อมส่งผลกระทบต่อเนื่องไปถึงที่อื่นๆ ด้วยเหตุนี้ทุกคนทุกประเทศในโลกจึงย่อมมีส่วนรับผิดชอบอยู่ด้วยกัน ทั้งในการแก้ไข ลดปัญหา และปรับปรุงสร้างเสริมสภาวะแวดล้อมให้กลับคืนมาสู่สภาพอันจะเอื้อต่อการมีชีวิตอยู่อย่างเป็นสุขของตนเองและเพื่อนมนุษย์
พระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว… (80)
(พระราชทานเพื่อเชิญลงพิมพ์ในหนังสือที่ระลึก ในพิธีรับมอบเรือขจัดคราบน้ำมัน ซึ่งรัฐบาลเดนมาร์กน้อมเกล้าฯ ถวาย วันพุธ 20 พ.ย.2539)