โครงการในพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

โครงการในพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

 

 

 โครงการในพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

 

โครงการหลวง ( ROYAL PROJECT )

       เป็นโครงการส่วนพระองค์ใน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการส่งเสริมการปลูกพืชเมืองหนาวแก่ ชาวเขา เพื่อเป็นการหารายได้ทดแทนการปลูก ฝิ่นก่อตั้งเมื่อพ.ศ. 2512 โดย หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี เป็นผู้รับผิดชอบในฐานะประธานมูลนิธิโครงการหลวง ในระยะแรก เป็นโครงการอาสาสมัคร โดยมีอาสาสมัคร จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สถาบันเทคโนโลยีการเกษตรแม่โจ้ กรมวิชาการเกษตร กรมปศุสัตว์ และ กองทัพอากาศ ปัจจุบันโครงการหลวง ดำเนินงานใน 4 จังหวัด ภาคเหนือ คือ เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน พะเยา และ แม่ฮ่องสอน มีสถานีวิจัยหลัก 4 สถานี และสถานีส่งเสริมปลูกพืชทดแทนฝิ่น เรียกว่า ศูนย์พัฒนาโครงการ จำนวน 21 ศูนย์ และหมู่บ้านพัฒนาอีก 6 หมู่บ้าน รวมหมู่บ้านในเขตปฏิบัติการทั้งสิ้น 267 หมู่บ้าน ผลผลิตจากโครงการหลวงในปัจจุบัน ประกอบด้วย ผักปลอดภัยสารพิษ สมุนไพร ถั่วและธัญพืช ผลไม้ เห็ด ดอกไม้เมืองหนาว ผลิตผลปศุสัตว์ ผลิตผลประมง ผลิตผลป่าไม้ ดอกไม้แห้ง ผลิตภัณฑ์จากแฝก ไม้กระถาง และผลิตภัณฑ์แปรรูปในชื่อการค้า โครงการหลวง และ ดอยคำ

 

โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา

เป็น โครงการที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงริเริ่มดำเนินการทดลองการแปรรูปผลิตผลการเกษตรขึ้นใน พระราชวังตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๔จากการที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดชฯ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมพสกนิกรในพื้นที่ต่าง ๆ ด้วยทรงมีพระราชประสงค์ที่จะเห็น ประชาชน อยู่ดีมีสุขตามสมควรแก่อัตภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบอาชีพทางด้านเกษตรกรรม ซึ่งถือว่าเป็นอาชีพหลักของประเทศ จึงทำให้เกิด “ โครงการส่วน พระองค์เกี่ยวกับการเกษตร สวนจิตรลดา” ภายในบริเวณพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน อันเป็นราชฐานที่ประทับในปีพุทธศักราช ๒๕๐๔ โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา มีวัตถุประสงค์ในการดำเนินงาน เพื่อศึกษา ทดลองและวิจัยหาวิธีแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับงานทางด้านการเกษตรต่างๆ เช่น การปลูกข้าว การเลี้ยงโคนม การเพาะพันธุ์ปลานิล และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งผลการศึกษาสามารถนำมาประยุกต์ใช้เป็นแบบอย่างในการนำไปปฏิบัติตาม นอกจากนี้ยังเป็นการ ดำเนินการ โดยไม่มุ่งหวังผลตอบแทน จึงมีโครงการที่ตั้งขึ้นเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของราษฎร เช่น เมื่อเกิดปัญหาน้ำนมดิบล้นตลาด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงนมผงขึ้น เพื่อแปรรูปน้ำนมดิบให้เก็บไว้ได้นาน โดยพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นทุนในการก่อสร้าง และยังมีการตั้งศูนย์รวมนม เพื่อรับซื้อน้ำนมจากเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมอีกด้วย

โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา มีวัตถุประสงค์หลักในการดำเนินงานอยู่ 3 ประการ คือ

  1. เป็นโครงการศึกษาทดลอง
  2. เป็นโครงการตัวอย่าง ให้ผู้ที่สนใจสามารถเข้ามาทำการศึกษา เพื่อสามารถนำกลับไปดำเนินการเองได้
  3. เป็นโครงการที่ไม่หวังผลตอบแทน (เชิงธุรกิจ)

การดำเนินงานของโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

โครงการไม่ใช่ธุรกิจ ที่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานราชการต่างๆ รวมทั้งหน่วยงานจากเอกชน ที่สนองพระราชดำริเกี่ยวกับการพัฒนาด้านการเกษตร ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ทรัพยากร ธรรมชาติ โครงการไม่ใช่ธุรกิจ ได้แก่ ป่าไม้สาธิต นาข้าวทดลอง การเพาะพันธุ์ปลานิล กังหันลม ระบบผลิตกระแสไฟฟ้า ด้วยพลังงานลม บ้านพลังงานแสงอาทิตย์ ระบบสูบน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ระบบผลิตน้ำเย็นด้วยพลังงานความร้อนจากแกลบ โรงกระดาษสา และ การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ

โครงการกึ่งธุรกิจ ที่มีกระบวนการแปรรูปวัตถุดิบทางการเกษตร และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในราคาที่ไม่หวังผลกำไร โดยมุ่งส่งเสริมให้ประชาชน บริโภคสินค้าที่ผลิต ได้ภายในประเทศ และยังมีการบริหารจัดการเงินอย่างครบวงจร ทั้งนี้รายได้จะนำมาใช้บริหารจัดการภายในโครงการต่อไป

กลุ่มงานของโครงการกึ่งธุรกิจ ได้แก่

  • กลุ่มงานเกี่ยวกับการเลี้ยงโคนมและการแปรรูปผลิตภัณฑ์นม ซึ่งศึกษา ค้นคว้า และเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงโคนมในประเทศไทย รวมถึงการแปรรูปน้ำนมดิบเป็นผลิตภัณฑ์ประเภทต่าง ๆ เช่น นมพาสเจอร์ไรส์ นมยูเอชที นมผง นมผงอัดเม็ด เนย ไอศกรีม โยเกิร์ต และยังเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนบริโภคนมสด และผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากนมสด ซึ่งมีประโยชน์ต่อร่างกาย
  • กลุ่มงานเกี่ยวกับเทคโนโลยีทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ซึ่งมีการศึกษา ค้นคว้า และเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการแปรรูปผลิตผลทางการเกษตร และการใช้วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรให้เกิดประโยชน์ เช่น โรงสีข้าวตัวอย่างสวนจิตรลดา โรงบดแกลบ โรงน้ำผลไม้พาสเจอร์ไรส์ โรงน้ำผลไม้บรรจุกระป๋อง โรงผลไม้อบแห้ง โรงขนมอบ โรงเพาะเห็ด งานเพาะเลี้ยงสาหร่ายเกลียวทอง โรงปุ๋ยอินทรีย์ โรงหล่อเทียนหลวง โรงน้ำผึ้ง โรงน้ำดื่ม และงานทดลองผลิตภัณฑ์เชื้อเพลิง

      โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา มุ่งเน้นการดำเนินงานโดยยึดแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเกี่ยวกับ “ เศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรอย่างยั่งยืน ให้เกษตรกรสามารถพึ่งตนเองได้ ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ทรัพยากร ธรรมชาติ มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรภายในประเทศ เพื่อลดการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ และการนำวัสดุเหลือใช้ทางการ เกษตรมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยกระบวนการผลิตที่ง่าย แต่มีประสิทธิภาพ ประหยัดเวลา และค่าใช้จ่าย โดยดำเนินการภายใต้กระบวนการ ทางวิทยาศาสตร์ที่มีการศึกษา ทดลอง เก็บรวบรวมข้อมูลและผลการศึกษา เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ให้แก่เกษตรกร และประชาชนผู้สนใจทั่วไป

       โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา เป็นโครงการที่เริ่มดำเนินการจากพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ และดำเนินการต่อมาด้วยรายได้จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ รวมทั้งจากการทูลเกล้าฯ ถวายเงินสนับสนุน และการน้อมเกล้าฯ ถวายอาคาร เครื่องมือ และคำแนะนะต่าง ๆ จึงเป็นหน่วยงานราชการ เพียงหน่วยงาน เดียวที่สามารถบริหารจัดการด้านบัญชีและการเงินเอง โดยไม่ได้รับงบประมาณแผ่นดินสนับสนุน แต่ละโรงงานจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายของตัวเอง มีบัญชีเบิกจ่ายแยกกันไปในแต่ละโรงงาน

       จากพระราชประสงค์ให้โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา เป็นโครงการศึกษาทดลอง และเป็นโครงการตัวอย่าง จึงมีพระบรมราชานุญาต ให้ผู้ที่สนใจ สามารถเข้ามาชมกิจการ รวมทั้งฝึกปฏิบัติงาน เพื่อนำความรู้ไปเป็นแบบอย่างหรือแนวทางในการประกอบอาชีพต่อไป นับตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๕๐๔ มีคณะพระราชอาคันตุกะจากประเทศต่างๆ คณะบุคคลสำคัญ ข้าราชการ นักเรียน นิสิต นักศึกษา เกษตรกร รวมทั้งผู้สนใจ ทั้งชาวไทย และชาวต่าง ประเทศ เข้าเยี่ยมชมโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา เป็นจำนวนมาก

 

แก้มลิง

เป็นแนวพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เกี่ยวกับ พื้นที่หน่วงน้ำ ( detention area) เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม มีแนวคิดจากการที่ลิงอมกล้วยไว้ในกระพุ้งแก้มไว้ได้คราวละมากๆ พระบาทสมเด็จพระจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชกระแสอธิบายว่า “ลิงโดยทั่วไปถ้าเราส่งกล้วยให้ ลิงจะรีบปอกเปลือก เอาเข้าปากเคี้ยว แล้วนำไปเก็บไว้ที่แก้มก่อนลิงจะทำอย่างนี้จนกล้วยหมดหวีหรือ เต็มกระพุ้งแก้ม จากนั้นจะค่อยๆ นำออกมาเคี้ยว และ กลืนกินภายหลัง” มีการวางแผนพื้นที่แก้มลิงอย่างเป็นระบบ โดยหน่วยงานต่างๆ เช่น กทม. กรมชลประทาน เป็นต้น แก้มลิงมี 3 ขนาด จากใหญ่ กลาง เล็ก มีวัตถุประสงค์เพื่อการชะลอน้ำก่อนที่จะจัดการระบายออกในเวลาต่อมา สามารถเป็นได้ทั้งพื้นที่ของรัฐและเอกชน ปัจจุบันมีพื้นที่แก้มลิง ขนาด ใหญ่อยู่ทาง ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพ เหนือ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิโดยกำหนดในผังการใช้ที่ดินเป็นพื้นที่เขียวลาย ไม่เหมาะกับการพัฒนา นอกจากนี้ยังมีแก้ม ลิงเล็ก ใหญ่กระจายอยู่ทั่ว กทม. กว่า 20 จุด

 

แกล้งดิน

เป็นแนวพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เกี่ยวกับการแก้ปัญหา ดินเปรี้ยว หรือดินเป็นกรด โดยมีการขังน้ำ ไว้ในพื้นที่จน กระทั่งเกิดปฏิกิริยาเคมีทำให้ดินเปรี้ยวจัดจนถึงที่สุด แล้วจึงระบายน้ำออกและปรับสภาพฟื้นฟูดินด้วยปูนขาว จนกระทั่งดินมีสภาพดีพอที่จะใช้ในการเพาะปลูกได้

 

โครงการฝนหลวง

เป็นโครงการที่เกิดขึ้นจากพระราชดำริส่วนพระองค์ใน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพื่อสร้าง ฝนเทียมสำหรับบรรเทาปัญหาความ แห้งแล้งขาดแคลนน้ำ ในการเกษตร เมื่อคราวที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมพสกนิกร เมื่อปี พ.ศ. 2498 ใน ภาคตะวัน ออกเฉียงเหนือ ได้ทรงรับทราบถึงความเดือดร้อนทุกข์ยากของราษฎรและ เกษตรกรที่ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคและ การเกษตรจึงได้มีพระมหากรุณาธิคุณ พระราชทานโครงการพระราชดำริ “ฝนหลวง”( Artificial rain) ให้กับ ม.ร.ว.เทพฤทธิ์ เทวกุล ไปดำเนินการ ซึ่งต่อมาได้เกิดเป็นโครงการ ค้นคว้า ทดลอง ปฏิบัติการฝนเทียมหรือฝนหลวงขึ้น ในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อปี พ.ศ. 2512 ด้วยความสำเร็จของ โครงการ จึงได้ตราพระราชกฤษฎีกา ก่อตั้งสำนักงานปฏิบัติการฝนหลวงขึ้นในปี พ.ศ. 2518 ในสังกัด กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อเป็นหน่วยงานรองรับโครงการพระราชดำริฝนหลวงต่อไป