การเสด็จเยี่ยมเยียนราษฎรในพื้นที่ห่างไกลของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ปฐมบทแห่งการทรงงานพัฒนา
การเสด็จเยี่ยมเยียนราษฎรในพื้นที่ห่างไกลของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ปฐมบทแห่งการทรงงานพัฒนา
พระราชกรณียกิจสำคัญประการแรกหลังขึ้นครองราชย์ในช่วงต้นนั้น คือ การเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎร ซึ่งจากพระราชกรณียกิจนั้นเอง ที่ทำให้พระองค์ได้รับความรักอย่างท่วมท้น สร้างความปลื้มปิติให้แก่ราษฎรทุกหมู่เหล่า โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงตั้งมั่นในพระราชหฤทัยว่า จะเสด็จเยี่ยมเยียนราษฎรให้ทั่วประเทศเสียก่อน เพื่อศึกษาและเข้าถึงปัญหาความทุกข์ร้อนของราษฎรในแต่ละพื้นที่
วันที่ 2-20 พ.ย. 2498 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงเสด็จเยือนภาคอีสานเป็นที่แรก มีราษฎรมาเฝ้ารับเสด็จมากมายทุกหนแห่ง และต่างแสดงความจงรักภักดี
วันที่ 20 ก.พ. - 13 มี.ค. 2501 ทรงเสด็จเยือนภาคเหนือ ประชาชนภาคเหนือทั้งที่ราบและชาวไทยภูเขาต่างเดินทางมารับเสด็จอย่างคับคั่ง พระองค์ได้ทอดพระเนตรชมวิถีชีวิตของชาวเมือง ที่ส่วนใหญ่ดำรงชีพโดยมีทรัพยากรป่าไม้เป็นเสมือนสมบัติอันล้ำค่า
วันที่ 2-26 มี.ค. 2502 เสด็จเยือนภาคใต้ สิ่งแรกที่พระองค์เห็นคือความยากจน
สมเด็จพระบรมราชินาถ พระนางเจ้าสิริกิติ์ ได้ประราชทานพระราชดำรัสไว้ตอนหนึ่งว่า "พระองค์รับสั่งว่า เราต้องตอบแทนความรักของประชาชนด้วยการกระทำ ไม่ใช่คำพูด เราต้องทำทุกอย่างเพื่อบำบัดความทุกข์ของพวกเขา ดังนั้นการแจกผ้าห่มหรือสิ่งของก็เหมือนการถมมหาสมุทร ทางที่ดีควรพูดคุยกับพวกเขาว่า เพราะเหตุใดจึงอดอยาก"
หลังจากนั้นพระองค์จึงเสด็จเยี่ยมราษฎรในพื้นที่ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าพื้นที่แห่งนั้นจะทุรกันดารเพียงใด หรือต่อให้ต้องเดินเท้าก็ตาม
การเยี่ยมเยียนราษฎรเพื่อพูดคุยและรับรู้ถึงปัญหาในช่วงแรก จึงเป็นปฐมบทแห่งการทรงงานพัฒนา และโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริต่างๆ ในเวลาต่อมา