สำนักพิมพ์วิช ชวนย้อนอดีตชำระคดีประวัติศาสตร์ ผ่านการทดลอง พิสูจน์ใหม่
สำนักพิมพ์วิช ชวนย้อนอดีตชำระคดีประวัติศาสตร์ ผ่านการทดลอง พิสูจน์ใหม่
ด้วยนิติวิทยาศาสตร์ สู่หนังสือทรงคุณค่า “๗๔ ปี คดีสวรรคต”
สำนักพิมพ์วิช ชวนย้อนอดีต 74 ปี คดีสวรรคต พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ 8 สู่การทดลอง พิสูจน์ใหม่ ด้วยความก้าวหน้าทางนิติวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ ผ่านหนังสือทรงคุณค่า “๗๔ ปี คดีสวรรคต” ผลงานจากความตั้งใจค้นคว้าและเพียรพยายาม กว่า 10 ปี ของ กังวาฬ พุทธิวนิช ผู้บริหาร นักวิทยาศาสตร์ ผู้มีความสนใจเรื่องราวทางประวัติศาสตร์
คดีลอบประทุษร้าย ในหลวงรัชกาลที่ 8 ผ่านมากว่า 74 ปีแล้ว แต่ยังความสงสัยแคลงใจแก่คนรุ่นหลังอยู่หลายประเด็น จากข่าวลือต่างๆ นานา ที่เล่าส่งต่อกันมาจากรุ่น สู่รุ่น ด้วยความเคารพจากคำตัดสินของศาล ถึงแม้คดีความจะจบลงด้วยการประหารชีวิตจำเลยทั้งสามไปแล้วเมื่อราว 65 ปีก่อน แต่ข่าวลือทั้งหลาย ทำให้คดีนี้ไม่มีทางที่จะสืบค้นหาความจริงได้ จากภายใต้ระบอบการปกครองในแต่ละยุคหรือบรรยากาศทางการเมืองที่ยังคงร้อนระอุสืบมาจนถึงปัจจุบันเช่นนี้
กังวาฬ พุทธิวนิช นักบริหาร นักวิทยาศาสตร์ ผู้มีความสนใจศึกษาเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ซึ่งแต่เดิมศึกษากรณีสวรรคตเพียงเพื่อตอบสนองความอยากรู้ส่วนตน และใช้การถามตอบถกเถียงกันใน เฟซบุ๊ก ของ อ.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เมื่อ 4-5 ปีก่อน มีการถาม-ตอบ การแลกเปลี่ยนความเห็นทางวิชาการในห้องสนทนาทางโซเชียลมีเดีย จนนำไปสู่การค้นคว้าหาคำตอบอย่างจริงจัง เพื่อขจัดข้อสงสัย หรืออุปสรรคในประเด็นต่าง ๆ อย่างรอบด้าน จึงตัดสินใจเผยแพร่งานค้นคว้าดังกล่าวผ่าน เฟซบุ๊ก แฟนเพจ ชื่อ “72 ปี คดีประวัติศาสตร์” ในทุกวันที่ 9 ของเดือน ตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย. 2560 เป็นต้นมาจวบจนปัจจุบัน (รวม 30 กว่าบทความ)
ม.ร.ว.สายสวัสดี สวัสดิวัตน ธิดาใน ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน กล่าวว่า “จากเอกสารท่านพ่อ ได้บันทึกไว้ ต่อมาได้ถูกตีพิมพ์ในหนังสือ 1 ศตวรรษ ศุภสวัสดิ์ ในจดหมาย 100 หน้า ท่านได้ตรัสไว้ว่า กรณีสวรรคตนี้ไม่มีการเกิดเหตุโดยผู้หนึ่งผู้ใด หากแต่เป็นการเกิดอุบัติเหตุโดยพระองค์เอง อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ คือผู้บริสุทธิ์ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ ทั้งสิ้น จำเลยทั้งสาม ซึ่งต่อมาอีก 3 ปี ก็ถูกประหารชีวิต ไม่มีใครให้ความสำคัญและสนใจตามทฤษฎีนี้ของท่านพ่อจนเร็ว ๆ นี้ ไม่รู้มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใด ให้คุณกังวาฬมาอ่านพบ และค้นคว้าหาหลักฐานนานถึง 3-4 ปี เพื่อค้นหาหลักฐานนี้จนได้”
ม.ร.ว.สายสวัสดี สวัสดิวัตน ยังกล่าวอีกว่า “เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน ท่านพ่อเป็นเจ้านายที่ถูกเรียกมาให้การ เพราะท่านพ่อมีนัดในการมาประชุมเรื่องการตามเสด็จเป็นราชองครักษ์ เพื่อติดตามไปศึกษาต่อที่อเมริกา ในวันนั้น พระบรมศพได้ถูกจัดการเรียบร้อยแล้ว หลักฐานต่าง ๆ ก็ถูกทำลายโดยสิ้นเชิง เจ้านายทุกพระองค์ในขณะนั้นมีความเห็นเชื่อพ้องกันว่า พระองค์ท่านฆ่าตัวตาย แต่ท่านพ่อแนะนำให้ประกาศเป็นอุบัติเหตุแทน เป็นการให้พระเกียรติ และมีการประกาศออกมา ต่อมา ท่านพ่อก็มาคิดและไตร่ตรองถึงคดีนี้ ท่านพ่อเคยศึกษาเรื่องนี้มาจากต่างประเทศ จึงทรงวินิจฉัยว่า เป็นการเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุโดยพระองค์เองในห้องบรรทมของท่านเอง ส่วนรายละเอียดว่าอุบัติเหตุจะเป็นแบบไหน คุณกังวาฬได้เขียนไว้อย่างละเอียดแล้วในหนังสือเล่มนี้”
อาจารย์ ส.ศิวรักษ์ ปัญญาชนสยาม นักคิด นักเขียนกล่าวว่า “สิ่งที่คุณกังวาฬเขียน คือความพยายามที่จะใช้หลักวิทยาศาสตร์ ซึ่งในยุคนั้น คนไม่ได้สนใจประเด็นวิทยาศาสตร์ แต่คนสนใจเพียงว่า สื่อมวลชนจะประโคมข่าวอย่างไร ในอดีตผมก็เชื่อแบบนั้น จนได้ศึกษาข้อมูลมากขึ้น จึงได้รู้ว่าอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้บริสุทธิ์” ผมโชคดีที่ในขณะนั้น อาจารย์ปรีดียังมีชีวิตอยู่ ผมจึงไปขอโทษท่าน ซึ่งท่านพยายามจะแก้ไขปัญหาด้วยหลักรัฐศาสตร์ โดยไม่ใช้หลักนิติศาสตร์ การสวรรคตในครั้งนั้น เป็นการสวรรคตที่ไม่ปกติ จึงมีข่าวออกมาในหลากหลายแง่มุมจากกลุ่มต่าง ๆ”
รศ. ดร.โคทม อารียา อดีตผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “ผมเห็นด้วยกับหนังสือ ๗๔ ปี คดีสวรรคต ว่า อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ท่านไม่ได้เป็นผู้วางแผน และมหาดเล็กทั้งสามก็เป็นผู้บริสุทธิ์ ผมขอย้อนมาดูที่สาระของหนังสือเล่มนี้ ผมเห็นว่า หนังสือเล่มนี้ชี้ให้เห็นถึงขีดจำกัดทางวิทยาศาสตร์ในยุคสมัยนั้น เปรียบกับปัจจุบัน เช่น ตอนต้นของสถานการณ์โควิด แพทย์บอกรายละเอียดและตั้งสมมุติฐานอีกแบบ พอมาวันนี้ก็เป็นอีกแบบ ผมมีความเห็นใจทีมแพทย์ในยุคนั้น ข้อมูลมีจำกัด ซึ่งในยุคนั้น แพทย์ลงความเห็นว่า ถ้าเป็นการฆ่าตัวตาย กล้ามเนื้อจะมีการเกร็ง ปืนจะต้องตกมาที่หน้าผาก แต่ในวงการแพทย์ยุคต่อมาก็มีบทสรุปใหม่ว่า ไม่จำเป็นต้องเป็นดังนั้นเสมอไป หนังสือเล่มนี้ ได้แสดงให้เห็นว่า ระบบนิติวิทยาศาสตร์สมัยปัจจุบันนำไปใช้อธิบายเรื่องราวที่เกิดขึ้นแล้วในประวัติศาสตร์ได้เช่นไร ? ผลลัพธ์จะยังคงเหมือนหรือแตกต่างกันหรือไม่ ? หนังสือเล่มนี้เขียนขึ้นมาเพื่อให้รายละเอียดว่า แม้ทีมแพทย์จะลงความเห็นที่แตกต่าง เสียงส่วนใหญ่ลงความเห็นว่า เป็นการฆาตกรรม และมีแพทย์เสียงข้างน้อยลงความเห็นว่า เป็นอุบัติเหตุโดยพระองค์เอง ซึ่งผู้เขียน คือ คุณกังวาฬ พุทธิวนิช พยายามไขกุญแจสำคัญ คือ 1. ปืนรุ่นนั้นไกอ่อน 2. ปืนมีระบบความปลอดภัยต่ำ 3. ดร.จ่าง รัตนะรัต ซึ่งในขณะนั้น เป็นอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ที่เรียนจบมาจากต่างประเทศ บอกว่า ปืนถูกยิงมาแล้วอย่างน้อย 8 วัน เป็นการติดกระดุมเม็ดแรกที่ผิด ซึ่งต้องสืบหาต้นตอที่มาต่อไป
“ในสมัยนั้นไม่มีการยกสมมุติฐานในเรื่องที่ว่าเป็นอุบัติเหตุโดยพระอนุชา ความร้ายกาจคือ การเชื่อในนิทานที่เล่าแต่ง พยานที่ถูกจัดหามาโดยคณะผู้สอบสวนคดี เพราะฉะนั้นเมื่อมีการเปลี่ยนหัวหน้าคณะชุดสอบสวน ทำให้เห็นได้ชัดว่า เรื่องราวต่าง ๆ ทั้งหมดนี้เป็นไปเพื่อการเมือง เพื่อต้องการขับไล่ นายปรีดี พนมยงค์ นั่นเอง” รศ. ดร.โคทม อารียา กล่าว
สมานรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ กล่าวว่า “ดิฉันเคยถามคุณยายหนู ชูเชื้อ (วลี) สิงหเสนี ภรรยาคุณตาชิต สิงหเสนี อยู่หลายครั้ง ซึ่งคุณยายเล่าว่า คุณตาชิตบอกว่า ไม่มีใครเข้าไปในห้องบรรทมเลย จะให้ฉันทำอย่างไร จะให้ฉันพูดยังไง ก็มันไม่มีจริง ๆ ทุกคนคาดคั้นจะให้พูดอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ก็ไม่มีจริง ๆ ดิฉันรู้สึกขอบคุณคุณกังวาฬมากที่มาทุ่มเทศึกษาเรื่องกรณีสวรรคต ทั้งที่คุณกังวาฬเองไม่ได้มาจากครอบครัวที่สูญเสีย และไม่ได้มีแผนการเบื้องหน้าเบื้องหลังใด ๆ นอกจากขุดคุ้ยให้ความจริงปรากฏ กรณีสวรรคตเป็นเรื่องที่เจ็บปวดสำหรับครอบครัวเรา เคยมีคนขอให้พาไปพบกับลูกหลานของคุณตาชิต สิงหเสนี หลายคน แต่ดิฉันไม่เคยพาไป คุณกังวาฬ เป็นคนเดียวที่ดิฉันพาไป เพราะดินฉันเชื่อในความจริงใจ”
กังวาฬ พุทธิวนิช ผู้เขียนหนังสือ หนังสือ ๗๔ ปี คดีสวรรคต กล่าวถืงความแตกต่างจากหนังสือกรณีสวรรคตเล่มอื่น ๆ อย่างไรนั้นว่า “ถึงเวลาชำระคดีประวัติศาสตร์ ด้วยความก้าวหน้าทางนิติวิทยาศาสตร์” จากหนังสือพิมพ์ศรีกรุง ฉบับวันศุกร์ที่ 28 กันยายน 2494 ที่มีการพาดหัวใหญ่ไว้ว่า “ตัดสินให้ประหารชีวิต ชิต สิงหเสนี ปล่อยเฉลียว บุศย์” ส่วนพาดหัวรองคือ “ยืนยันว่าปืนที่ใช้ยิง ร.8 เป็นปืนที่ใช้มาแล้ว 8 วัน” โดยอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ในขณะนั้น คือ ดร.จ่าง รัตนะรัตน ได้รับพระแสงปืนของกลาง พร้อมกับหนังสืออย่างเป็นทางการจากกรมตำรวจ เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2489 เพื่อการพิสูจน์ใน 2 ข้อ คือ 1. พระแสงปืนกระบอกนี้ใช้ยิงมาแล้วหรือไม่ และ 2. ถ้าใช้ยิงแล้ว จะยิงมาช้านานเพียงใด
กังวาฬ พุทธิวนิช กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “ในวันที่ 15 มิถุนายน ดร.จ่าง รัตนะรัต ได้ทำหนังสือเป็นทางการตอบกลับไปยังผู้บังคับการ กองสอบสวนกลาง กรมตำรวจ ว่า “พระแสงปืนของกลางใช้ยิงมาแล้ว แต่พระแสงปืนของกลางใช้ยิงมานานเท่าไรนั้น เวลานี้ กรมวิทยาศาสตร์ไม่มีเครื่องมือและเคมีภัณฑ์ที่จะพิสูจน์ให้ทราบแน่นอนได้” เป็นคำตอบอย่างเป็นทางการที่มีการบันทึกไว้ในหนังสือหลายเล่ม ที่สำคัญคือ เป็นจุดที่หนังสือของผมแตกต่างจากหนังสือกรณีสวรรคตทั่วไป ประเด็นนี้ คือประเด็นที่ศาลถือว่าเป็นกระดุมเม็ดแรก และศาลเชื่อในพยานวัตถุมากกว่าพยานบุคคล เพราะพยานบุคคลมีสิทธิ์จะโน้มเอียงได้ หรืออาจจะบกพร่องในรายละเอียดความทรงจำ หรืออาจจะมีความกลัว แต่พยานวัตถุบอกความจริงอยู่เสมอ ไม่เข้าข้างใดข้างหนึ่ง และทนต่อการพิสูจน์ เพียงแต่ต้องหาบุคคลไปถอดรหัสว่า พยานวัตถุต้องการบอกอะไร ซึ่งผู้ที่ถอดรหัสในเรื่องพระแสงปืนนี้ก็คือ ดร.จ่าง รัตนะรัตน”
หนังสือ “๗๔ ปี คดีสวรรคต” จัดพิมพ์ขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้ (จากเจตจำนงค์ของผู้เขียน)
1. ระยะเวลากว่า 74 ปีที่ผ่านมา มีการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลต่อรูปคดีในหลายมิติ ทั้งด้านวิทยาศาสตร์ การรับสารภาพของพยานฝ่ายโจทก์ และการกลับมาพำนักในไทยของผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นมือสังหารในการลอบประทุษร้าย ฯลฯ ที่สังคมในปัจจุบันควรได้รับรู้ข้อมูลนี้
2. การนำข้อมูลใหม่มาเผยแพร่ จะเป็นการยุติการโยนบาปให้บุคคลอื่น ไม่ว่าจะเป็นบุคคลภายนอกหรือบุคคลภายใน (มีการกล่าวโทษว่าเกิดจากบุคคลอื่น ๆ มากกว่า 3 กลุ่มขึ้นไป)
3. แม้ไม่สามารถคืนชีวิต เลือดเนื้อ ให้กับจำเลยทั้งสามผู้ถูกประหารชีวิตได้ แต่การล้างมลทิน คืนความเป็นผู้บริสุทธิ์ เป็นสิ่งที่ทายาทและบุคคลที่เกี่ยวข้องยังคงคาดหวังความเป็นธรรมจากสังคมไทย
4. สำคัญที่สุดคือ การเพิ่มภูมิต้านทานของภาคประชาชนในการวิเคราะห์ ให้เท่าทันทางการเมือง ที่ดึงสถาบันลงมาเป็นเครื่องมือ เพียงเพื่อมุ่งหวังกำจัดฝ่ายตรงข้าม
นอกจากนี้ ยังมีการจัดทำภาพยนตร์แอนิเมชันขึ้นมาถึง 3 ชุด เพื่อบรรยายถึงลำดับเหตุการณ์ ณ วันเกิดเหตุ
ชุดที่ 1 เหตุการณ์ในวันเกิดเหตุและประจักษ์พยาน (ใครอยู่ที่ไหน ทำอะไร เวลาใด)
ชุดที่ 2 การแตะต้องพระบรมศพ (ตามคำให้การของสมเด็จพระบรมราชชนนี และพระพี่เลี้ยงเนื่อง)
ชุดที่ 3 ข้อสันนิษฐานว่า การสวรรคตเกิดด้วยเหตุใด ตามทฤษฎีของ ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน
ซึ่งแอนิเมชันทั้ง 3 ชุดนี้มียอดผู้เข้าชมในเฟซบุ๊กมากกว่า 3 ล้านวิว และเพื่อให้การศึกษาในเรื่องนี้ เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์สังคมไทย จึงตัดสินใจรวบรวมงานทั้งหมดมาตีพิมพ์เป็นหนังสือ “๗๔ ปีคดีสวรรคต”
หนังสือเล่มนี้ จึงเปรียบเสมือนเป็นการนำคำถามของทุกฝ่ายที่เชื่อในกรณีต่างๆ ที่ถกเถียงกันมานานกว่า 74 ปี มาตอบคำถามให้กระจ่างชัดเจนมากที่สุด ผ่านการวิเคราะห์ พิสูจน์ และการทดลอง จนได้ข้อสรุปที่อาจเป็นไปได้จริงมากที่สุด ด้วยหลักนิติวิทยาศาสตร์สมัยใหม่
การชำระล้างสิ่งแปลกปลอมอันเป็นเท็จทางประวัติศาสตร์ และเวลากว่า 7 ทศวรรษ จะเผยให้เห็นตัวตนธาตุแท้และเรื่องราว ทั้งหมดผ่านพยานหลักฐานการพิจารณาจากกระบวนการสมัยใหม่ที่วันนี้ ผู้อ่านจะมาร่วมกันรับรู้และพิสูจน์ “สิ่งใดเท็จ สิ่งใดจริง” ไปพร้อมกัน
หนังสือ “๗๔ ปี คดีสวรรคต” คือ หนังสือประวัติศาสตร์สมัยใหม่ ที่เปรียบประหนึ่งหนังสืออ้างอิง ทางนิติวิทยาศาสตร์ที่รวบรวมข้อมูล บทวิจัย ข้อพิสูจน์ และหลักฐานทั้งพยานบุคคลและคำให้การ จากแหล่งต่างๆ ที่อ้างอิงและมีความน่าเชื่อถือได้อย่างมีนัยสำคัญ จึงนับเป็นหนังสือที่ทรงคุณค่าในแง่วิชาการ ผ่านเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่น่าติดตาม
หนังสือ “๗๔ ปี คดีสวรรคต” เขียนโดย กังวาฬ พุทธวนิช นักบริหาร นักค้นคว้า นักวิทยาศาสตร์ผู้ชื่นชอบเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ จำนวน 440 หน้า พิมพ์สี่สีและขาวดำ ปกแข็ง จำหน่ายในราคา 395 บาท จัดจำหน่ายโดย บริษัท วิช กรุ๊ป (ไทยแลนด์) จำกัด โทร 02 418 2885 และ 063 362 8955