รสนา เตือนผู้ว่าชัชชาติระวังติดกับดักถ้าไปเก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยายที่2

รสนา เตือนผู้ว่าชัชชาติระวังติดกับดักถ้าไปเก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยายที่2

 

 

 

 

CHANGE The World รสนา โตสิตระกูล

 

รสนา เตือนผู้ว่าชัชชาติระวังติดกับดักถ้าไปเก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยายที่2
 
 
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า “เมื่อวันที่ 15 ส.ค.2565 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯกทม.) เปิดเผยความคืบหน้าการพิจารณา จัดเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอสส่วนต่อขยายส่วนที่ 2 คือ แบริ่ง-เคหะสมุทรปราการ และ ห้าแยกลาดพร้าว-คูคต ที่จะเริ่มดำเนินการในเดือน ก.ย.นี้
 
นายชัชชาติ บอกว่าขณะนี้มี 2 แนวคิดที่อยู่ระหว่างพิจารณา ดังนี้
1.เก็บส่วนต่อขยาย 15 บาทตลอดสาย
2.เก็บตามระยะทาง ผ่านสูตร 14 + 2x และเมื่อเข้ามาในระบบที่เรียกว่าไข่แดง ก็จะเสียในอัตราของในเมือง “
 
ดิฉันขอเตือนผู้ว่าชัชชาติด้วยความหวังดีว่า การไปเริ่มเก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยาย(2) จะทำให้คุณชัชชาติติดกับดักการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายในส่วนต่อขยาย (2)
 
ศ.พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ กล่าวถึงกรณีนี้ว่า “หากให้วิเคราะห์ว่า ทำไมผู้ว่าฯกทม.ยุคก่อน (พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง) ไม่เก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยายที่ 2 เสียที อาจเพราะความรับผิดชอบทางการเมืองก็ได้ แต่ในทางกฎหมาย ต้องดูให้ถี่ถ้วน หากกระบวนการถูกต้องและทำภายใต้อำนาจที่มี ก็ว่าอะไรไม่ได้”
 
ดิฉันเห็นว่าประเด็นไม่เก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยาย(2)ที่ว่าเป็นเรื่องการเมืองนั้นก็เป็นข้ออ้างหนึ่ง แต่ที่สำคัญน่าจะเป็นปัญหาเรื่องความชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ต่างหาก หรือถ้าคิดในแง่ร้ายคือน่าสงสัยว่าจะเป็นกระบวนการก่อหนี้เพื่อเป็นเงื่อนไขให้ต่อสัมปทานรถไฟฟ้าส่วนที่เป็นไข่แดง(สถานีหมอชิตถึงสถานีอ่อนนุช)ที่กำลังจะหมดสัมปทานในปี2572 ใช่หรือไม่ !?!
 
ความเป็นมาของส่วนต่อขยาย (2) รัฐบาลเมื่อปี2551 เคยมีการประเมินความคุ้มค่าก่อนก่อสร้างส่วนต่อขยาย(2) พบว่าไม่คุ้มค่าทางธุรกิจ แต่มีผลดีในทางเศรษฐกิจ รัฐบาลจึงได้อนุมัติให้สร้างด้วยงบก่อสร้างประมาณ 51,000 ล้านบาท (เมื่อรวมกับดอกเบี้ยถึงปัจจุบันมูลค่าประมาณ 70,000 ล้าน บาท) โดยรฟม. กระทรวงคมนาคมเป็นเจ้าของโครงสร้าง และเป็นหนี้กระทรวงการคลังในค่าก่อสร้าง เมื่อรัฐบาลรับรู้การประเมินว่าส่วนต่อขยาย (2)ไม่คุ้มค่าทางธุรกิจ แต่มีผลดีทางเศรษฐกิจคือช่วยการเดินทางของประชาชนได้สะดวกยิ่งขึ้น รัฐบาลจึงสมควรเป็นผู้สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเดินรถ ไม่ควรผลักภาระให้เป็นหนี้ของกทม.
 
เมื่อคสช.มีคำสั่งโอนหนี้ค่าก่อสร้างส่วนต่อขยาย (2) ให้กทม.และบวกกับระบบอาณัติสัญญาณ และค่าจ้างเดินรถรวมแล้วเป็นหนี้ประมาณ 100,000 ล้านบาท ซึ่งเกินกำลังที่กทม.จะรับมาเป็นหนี้ของกทม. ถ้ารัฐบาลไม่ได้สนับสนุนค่าใช้จ่าย
 
รัฐบาลคสช.ได้ออกคำสั่งตามมาตรา 44 คำสั่งที่3/2562 เมื่อ 11 เมษายน 2562 (ก่อนคสช.หมดวาระ) ให้มีการโอนส่วนต่อขยาย(2) และให้มีการเดินรถแบบต่อเนื่องตลอดสาย (through operation) และตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งมาเจรจากับบีทีเอสเรื่องการเดินรถ และในการเจรจามีข้อเสนอให้ขยายสัมปทานรถไฟฟ้าส่วนหลัก (สถานีหมอชิต ถึง สถานีอ่อนนุช) จากที่จะหมดสัมปทานในปี2572 ขยายสัมปทานออกไปอีก30ปี (ปี2572-2602 )โดยแลกกับหนี้ 100,000 ล้านบาท และให้บีทีเอสเก็บค่าโดยสารในราคาค่าโดยสารสูงสุดเริ่มต้นที่65บาท
 
ในผลสรุปการเจรจาของคณะกรรมการชุดดังกล่าว สรุปให้ใช้โครงสร้างราคา 15+3X (15คือค่าแรกเข้า 3Xคือสถานีละ3บาท) ให้บีทีเอสสามารถปรับราคาตามดัชนีผู้บริโภคทุก24 เดือน แปลว่าสัมปทานอีก 30ปี สามารถขึ้นค่าโดยสารได้15 ครั้ง จากการคำนวณราคาค่าโดยสารตามสูตรการเจรจา พบว่าราคาค่าโดยสารจะขยับจาก ราคาสูงสุด 65 เป็น 79 บาท 96 บาท 117 บาท 143 บาท ตามค่าเงินเฟ้อ2-3%
 
ข้อเสนอของคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นตามคำสั่งคสช. ที่ 3/2562 ที่ให้กทม.ขยายสัมปทานไปอีก30ปีแลกหนี้ 100,000 ล้านบาท มีการนำผลเจรจาเสนอเข้าครม.หลายครั้งเพื่อขอความเห็นชอบ แต่รมว. คมนาคม คัดค้านการต่อสัมปทานโดยรวมรถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย (2) เข้าไปด้วย เพราะไม่ใช่กรรมสิทธิ์ของกทม.ยังเป็นกรรมสิทธิ์ของรฟม. ทำให้เรื่องอนุมัติขยายสัมปทานใน ครม.หยุดชะงักจนถึงปัจจุบัน
 
รถไฟฟ้าสายสีเขียวเมื่อหมดสัมปทานในปี2572 จะเป็นกรรมสิทธิ์ของ กทม.ซึ่งต้นทุนค่าโครงสร้างหมดไปแล้ว ค่าโดยสารจะเหลือเพียงค่าจ้างเดินรถและการบำรุงรักษา ซึ่งคนกทม. ควรจะได้รับประโยชน์ค่าโดยสารราคาถูกเพียง 20-30 บาทตลอดสาย
 
แต่สัญญาจ้างเดินรถฉบับที่1 ที่จ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนหลักเมื่อหมดสัมปทานในปี2572 และส่วนต่อขยาย (1) ตั้งแต่ 2555-2585 ในมูลค่า 187,000 ล้านบาท ซึ่งมีการทำสัญญาล่วงหน้าก่อนรถไฟฟ้าส่วนหลักที่จะหมดสัมปทานในปี 2572 ถึง17 ปี กรณีนี้น่าสงสัยว่าเข้าข่ายการล็อค
 
เสปกหรือไม่ หรือเข้าข่ายผิดพรบ.ฮั้ว และผิดพรบ.ร่วมทุนฯ หรือไม่ กรณีนี้มีข่าวว่าเป็นคดีอยู่ที่ปปช. จึงควรมีการตรวจสอบว่ามีการฟ้องปปช.เป็นคดีจริงหรือไม่ หากไม่มี ดิฉันขอสนับสนุนให้ผู้ว่าชัชชาติฟ้องคดีนี้ว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
 
ส่วนคำสั่งคสช.ให้ยกส่วนต่อขยาย(2)พร้อมหนี้100,000 ล้านบาท เพื่อแลกกับการขยายสัมปทานให้เจ้าสัวคือมรดกบาปที่คสช.ยกให้กับคนกทม. เพราะคือพันธนาการล้วงกระเป๋าคนกทม.ให้เจ้าสัวและรวมการยกอำนาจการขึ้นราคาค่าโดยสารให้เจ้าสัวต่อไปอีก 30ปี คืออีก1 ชั่วรุ่น ใช่หรือไม่ ทั้งที่อำนาจการกำหนดค่าโดยสารควรเป็นอำนาจของรัฐไม่ใช่เจ้าสัวธุรกิจ
 
ดิฉันสนับสนุนผู้ว่าชัชชาติฟ้องเพิกถอนคำสั่งที่3/2562 ของคสช. ผู้ว่าต้องไม่ยอมจำนนรับมรดกบาปดังกล่าว
 
ตามหลักกฎหมายทั่วไป มีการบัญญัติว่า “นิติบุคคลมหาชนไม่อาจถูกบังคับให้จ่ายหนี้ในหนี้ที่ไม่ได้ก่อ” จึงขอขีดเส้นใต้ว่า กทม.คือนิติบุคคลมหาชนที่ไม่อาจถูกบังคับให้ใช้หนี้ในหนี้ที่ไม่ใช่ของ กทม.
 
จึงต้องขอย้ำให้ผู้ว่าชัชชาติพิจารณาให้ถ่องแท้ว่าหนี้จากค่าจ้างเดินรถส่วนต่อขยาย(2) ไม่ใช่หนี้ของ กทม. ด้วยเหตุผลดังนี้คือ
 
1)สภากทม.ยังไม่ได้เห็นชอบการรับโอนส่วนต่อขยาย(2) และรับหนี้ ทั้งยังไม่ได้เห็นชอบการทำสัญญาจ้างเดินรถโดย บริษัทกรุงเทพธนาคม(KT)กับ บีทีเอสอีกด้วย
2)ส่วนต่อขยาย (2)เป็นเส้นทางที่ออกนอก กทม. จึงไม่ใช่ อำนาจหน้าที่ของกทม. ในฐานะองค์กรท้องถิ่น ที่จะไปบริหาร และแบกรับหนี้ค่าโครงสร้าง และค่าใช้จ่ายในการเดินรถ ควรเป็นหน้าที่ของรัฐบาลและกระทรวงคมนาคม
3)กทม.ยังไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับสัญญาการจ้างเดินรถส่วนต่อขยาย(2) ในทางกฎหมาย
 
ถ้าผู้ว่าชัชชาติเข้าไปเก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยาย(2)โดยไม่ได้พิจารณาข้อกฎหมายให้ถี่ถ้วน คุณชัชชาติจะกลายเป็นคนยอมรับหนี้ส่วนต่อขยาย(2) และอาจจะต้องประสบชะตากรรมแบบเดียวกับคุณอภิรักษ์ โกษะโยธิน ที่ไปเปิด LC จ่ายเงินในคดีรถดับเพลิง จนถูกปปช.ชี้มูล และต้องแสดงสปิริตลาออกจากผู้ว่ากทม.
 
ดิฉันหวังว่าประวัติศาสตร์จะไม่ซ้ำรอยอีกในยุคของผู้ว่าฯชัชชาติ
รสนา โตสิตระกูล
21 สค.2565