"รสนา" ชวนลุ้นระทึก!วันนี้ 9 ม.ค ฟังคำตัดสินศาล รธน.

"รสนา" ชวนลุ้นระทึก!วันนี้ 9 ม.ค ฟังคำตัดสินศาล รธน.

 

 

 

CHANGE The World รสนา โตสิตระกูล

 

"รสนา" ชวนลุ้นระทึก!วันนี้ 9 ม.ค  ฟังคำตัดสินศาล รธน. ปัญหาค่าไฟแพงเพราะรัฐบาลให้สิทธิเอกชนผลิตไฟไม่มีขีดจำกัดถึง70% จะขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่?

 

 

การรับส่วยของอธิบดีกรมอุทยานเป็นโมเดลการทุจริตคอร์รัปชันของหน่วยราชการ การซื้อขายตำแหน่งกันเป็นทอดๆเพราะตำแหน่งมาพร้อมอำนาจ และอำนาจกับเงินเป็นวงจรสลับกลับไปกลับมา
 
ส่วนโมเดลการทุจริตคอร์รัปชันของฝ่ายการเมือง รูปแบบไม่ต่างกัน โดยอาศัยธุรกิจการเมืองที่สามารถใช้อำนาจไปหาเงินได้หลากหลายช่องทาง นอกจากเชื่อมโยงผ่านโมเดลรับส่วยของหน่วยราชการแล้ว ยังสามารถใช้อำนาจบริหารสร้างวงจร “เงินไปสู่อำนาจ อำนาจมาสู่เงิน” ร่วมกับทุนการเมืองอย่างยั่งยืนด้วยวิธีถ่ายโอนกิจการสาธารณูปโภคของรัฐวิสาหกิจไปให้เอกชนดำเนินการหากำไรสูงสุดแทนโดยรัฐบังหน้าซึ่งยั่งยืนกว่าการเปิดช่องให้เอกชนทุนการเมืองประมูลงานหากินเป็นรายโครงการ ใช่หรือไม่
 
กิจการสาธารณูปโภคพื้นฐานที่จำเป็นต่อชีวิตของประชาชนที่รัฐธรรมนูญพ.ศ 2560 บัญญัติให้เป็น”หน้าที่ของรัฐ” เพื่อเป็นหลักประกันสิทธิของประชาชนในการเข้าถึงสาธารณูปโภคที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ได้อย่างทั่วถึง และมีราคาที่ไม่เป็นภาระต่อประชาชนนั้น แต่นักการเมืองมีความพยายามถ่ายโอนให้เอกชนในหลายกิจการ และบ่อนเซาะจนรัฐวิสาหกิจอ่อนแอลง ใช่หรือไม่
 
 
กิจการที่เป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานเช่น พลังงาน ไฟฟ้า น้ำประปา การขนส่งเดินทางซึ่งเป็นกิจการสาธารณูปโภคที่รัฐวิสาหกิจในแต่ละกิจการมีพันธกิจจัดบริการโดยไม่มุ่งกำไรสูงสุด กำลังถูกถ่ายโอนให้เอกชนดำเนินการแทนรัฐ กิจการสาธารณูปโภคเหล่านี้ได้กลายเป็นบ่อเงินบ่อทองของเอกชนที่หากำไรสูงสุด เอกชนจึงร่ำรวยขึ้นอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ประชาชนก็ยากจนลงอย่างรวดเร็วเช่นกัน ประเทศไทยจึงกลายเป็นประเทศเหลื่อมล้ำอันดับหนึ่งของโลก
 
ปัญหาค่าไฟแพง ที่เกิดจากการที่รัฐบาลให้สิทธิเอกชนผลิตโดยไม่มีขีดจำกัดเป็นกรณีตัวอย่างที่ชัดเจน
1)ปัจจุบันรัฐบาลให้เอกชนผลิตไฟและขายไฟให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ถึง70% โดยกฟผ.ผลิตเองแค่ 30%
 
2)กิจการผลิตไฟของเอกชนได้รับการประกันกำไรจากรัฐบาลในระบบที่เรียกว่า Take or Pay แปลว่าจะใช้หรือไม่ใช้ ก็ต้องควักเงินประชาชนจ่ายให้เอกชน และรัฐบาลยังซื้อไฟเอกชนในราคาแพงกว่าที่กฟผ.ผลิตเอง และแพงกว่าที่กฟผ.ขายส่งให้การไฟฟ้านครหลวง(กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)
 
3)รัฐบาลทำสัญญาให้สิทธิเอกชนผลิตไฟขายกฟผ.โดยไม่มีเพดานกำกับว่าซื้อได้ไม่เกินกี่เปอร์เซ็นของความต้องการใช้ไฟในประเทศ ทำให้มีไฟล้นเกินระบบถึง 54% ในปี2565 ประเทศต้องการใช้ไฟสูงสุด 32,000 เมกกะวัตต์ แต่การซื้อไฟแบบไม่มีขีดจำกัดทำให้มีไฟสำรองสูงถึง 50,500 เมกกะวัตต์
 
พฤติการณ์ทั้ง3 ประการคือการผ่องถ่ายรายได้และกำไรจากกิจการไฟฟ้าให้เอกชน เป็นการบ่อนเซาะให้กฟผ.ล้มละลาย ใช่หรือไม่ การที่กฟผ.จะไม่ล้มละลายก็ต้องส่งต่อผลการขาดทุนเพราะซื้อไฟแพงจากเอกชนมาให้ประชาชนแบกรับต่อไป เป็นผลให้ค่าไฟแพง กระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชน ทำให้สินค้าแพง รายได้เท่าเดิมประชาชนยากจนลง ความมั่นคงของรัฐอ่อนแอ แต่กลุ่มทุนเอกชนขายไฟมั่งคั่ง
 
พฤติการณ์แบบนี้ เป็นการทำธุรกิจแบบปกติหรือไม่ ถ้านักการเมืองเป็นเจ้าของบริษัทของตัวเอง ขอถามว่าจะซื้อสินค้าที่แพงกว่าที่ตัวเองผลิตหรือไม่ ? และซื้อแพงกว่าราคาขายหรือไม่ และจะซื้อของในปริมาณมากกว่าจำนวนที่ขายได้มาเก็บไว้หรือไม่ และยังจะซื้อต่อไปเรื่อยๆไม่หยุด หรือไม่ ที่ทำได้เช่นนี้เพราะนี่คือวิธีล้วงเงินจากกระเป๋าประชาชนให้เอกชนโดยมีอำนาจรัฐผูกแขนขาประชาชนไว้ ใช่หรือไม่
 
เพียงแต่ยังไม่มีการจับได้คาหนังคาเขา ว่าการที่นักการเมืองเซ็นสัญญาซื้อไฟเพิ่มไปเรื่อยๆ ทั้งที่ไฟล้นระบบ และซื้อไฟราคาแพง รวมถึงการประกันกำไรเอกชนนั้น มีการรับส่วยใต้โต๊ะเป็นการตอบแทนแบบอธิบดีกรมป่าไม้หรือไม่ พฤติการณ์คอร์รัปชันเชิงนโยบายแบบนี้จึงยังสามารถดำเนินต่อไปไม่สิ้นสุด ใช่หรือไม่
 
 
ดังนั้นคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญในวันที่9 มกราคม 2566 ว่าด้วยประเด็น “การผลิตไฟของ กฟผ.ต่ำกว่า 51% ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่” จึงเป็นคำตัดสินที่สำคัญมาก ว่าจะหยุดกระบวนการที่นักการเมืองใช้รัฐจำบังให้สิทธิเอกชนผลิตไฟขาย กฟผ. ได้อย่างไม่มีเพดาน อย่างไม่มีขีดจำกัดต่อไปได้หรือไม่ หากหยุดไม่ได้ เอกชนก็อาจจะผลิตไฟแทนกฟผ.ได้ทั้ง100%
 
รสนา โตสิตระกูล
8 มกราคม 2566