"รสนา"เตือนรฟม.อย่าตีขลุมว่าการประชุมร่วม3ฝ่ายคือการเห็นชอบให้รฟม.

"รสนา"เตือนรฟม.อย่าตีขลุมว่าการประชุมร่วม3ฝ่ายคือการเห็นชอบให้รฟม.

 

 

 

"รสนา"เตือนรฟม.อย่าตีขลุมว่าการประชุมร่วม3ฝ่ายคือการเห็นชอบให้รฟม.ใช้โบราณสถานทำทางขึ้นลงรถไฟฟ้าได้แล้ว

 

รฟม.ออกมาตอบโต้บทความดิฉันเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2566 ที่เขียนถามว่ารฟม.เวนคืนอาคารโบราณสถาน7คูหาบน ถ.พระสุเมรุเป็นทางขึ้นลงรถไฟฟ้าโดยอธิบดีกรมศิลปากรยังไม่อนุญาต ทำได้หรือไม่นั้น
รฟม.ตอบผ่านสื่อโดยกล่าวอ้างว่าได้ดำเนินการตามกฎหมาย สอดรับตามมติกรมศิลปากร และยังกล่าวอ้างอีกว่า “ทั้งนี้เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2566 กรมศิลปากร รฟม. และกลุ่มอนุรักษ์มรดกรัตนโกสินทร์ ได้มีการประชุมหารือร่วมกัน 3 ฝ่าย ซึ่ง รฟม. และที่ปรึกษาบริหารโครงการและควบคุมการก่อสร้างงานโยธา 1 (PMCSC1) ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงการเลือกตำแหน่งและแนวทางในการอนุรักษ์อาคารเก่าที่อยู่ในบริเวณพื้นที่ก่อสร้างทางขึ้น – ลง ที่ 1 ของสถานีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ให้แก่นางสาวรสนาฯ กลุ่มอนุรักษ์มรดกรัตนโกสินทร์ และที่ประชุมทราบถึงที่มา เหตุผล และความจำเป็น ซึ่งการดำเนินการเป็นไปตามผลการศึกษาความเหมาะสมด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ สังคมและผลกระทบสิ่งแวดล้อม…” แล้วนั้น
ดิฉันขอชี้แจงประเด็นต่างๆที่รฟม.กล่าวไว้ในบทความที่สื่อนำมาเผยแพร่เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2566 ดังนี้
1)วันที่ประชุม3ฝ่ายระหว่างอธิบดีกรมศิลปากร รฟม. และกลุ่มอนุรักษ์มรดกรัตนโกสินทร์ เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2566 อธิบดีกรมศิลปากรพูดชัดเจนว่ายังไม่ได้อนุญาต รฟม.ในการก่อสร้าง ทางกลุ่มอนุรักษ์มรดกรัตนโกสินทร์เชื่อมั่นในเกียรติของอธิบดีกรมศิลปากรว่าท่านยังไม่ได้อนุมัติตามที่ท่านกล่าวในที่ประชุมวันนั้น รฟม.ไม่ควรตีขลุมว่าที่ประชุมวันนั้นเห็นชอบด้วยแล้วกับ รฟม.
 

 
2)ต่อมาวันที่อธิบดีกรมศิลปากรได้ลงพื้นที่ดูอาคาร7คูหาบนถนนพระสุเมรุตอนปลาย และพื้นที่ใกล้เคียงร่วมกับประธานอนุกรรมาธิการศิลปะวัฒนธรรม วุฒิสภา เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2566 ท่านอธิบดีได้กล่าวยืนยันอีกครั้งต่อประธานอนุกมธ., อนุกมธ.ท่านอื่นๆและสื่อมวลชนที่มาทำข่าวว่า ”ยังไม่มีการอนุมัติให้ก่อสร้างทางขึ้นลงรถไฟฟ้าในพื้นที่อาคาร 7 คูหานี้” และยินดีจะไปชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการ วุฒิสภาอีกครั้งที่รัฐสภา
 
3)รฟม.อ้างมติครม.การให้ก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีม่วง แต่มติครม.ไม่ได้ระบุว่า รฟม.ต้องทำทางขึ้นลงเฉพาะตรงโบราณสถานแต่อย่างไร กลุ่มอนุรักษ์มรดกรัตนโกสินทร์ก็มิได้ขัดขวางการก่อสร้างรถไฟฟ้า แต่ไม่เห็นด้วยที่รฟม.ต้องเจาะจงเลือกโบราณสถาน 7คูหาทำทางขึ้นลงรถไฟฟ้าดังกล่าว และเสนอให้เห็นว่ามีพื้นที่ใกล้เคียงที่ขนาบโบราณสถาน 7คูหาอยู่ 2 พื้นที่ในระยะห่างไม่ถึง5 เมตรที่ควรใช้โดยไม่ต้องรื้อโบราณสถาน
 
4)รฟม.อ้างปัญหาทางเทคนิคและข้อจำกัดของพื้นที่ รฟม. อ้างว่าตำแหน่งสถานีตามแนวถนนพระสุเมรุและถนนราชดำเนินกลาง มีความจำเป็นต้องออกแบบและก่อสร้างสถานีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน - ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ซึ่งเป็นสถานีร่วม (Interchange Station) ที่เชื่อมต่อกับสถานีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) จึงจำเป็นต้องวางตำแหน่งสถานีร่วมทั้งสองสถานีให้เชื่อมต่อกันและไม่สามารถขยับตำแหน่งสถานีออกไปได้นั้น ไม่ได้เป็นการจงใจเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนในด้านอสังหาริมทรัพย์แต่อย่างใด
 
ขอย้ำว่าดิฉันไม่ได้เสนอให้ รฟม.ย้ายสถานี เพียงแค่เสนอให้ขยับทางขึ้นลงรถไฟฟ้าออกจากที่ตั้งโบราณสถานออกไปเพียงประมาณ 5 เมตร เชื่อว่าไม่ได้มีปัญหาทางเทคนิคแต่อย่างใด ซึ่งก่อนหน้านั้น รฟม.ก็เคยเจรจาจะใช้โบราณสถาน 7คูหาที่อยู่ฝั่งซ้ายของซอยคั่นเป็นทางขึ้นลงรถไฟฟ้าทางออก ที่1 แต่มีการเจรจาด้วยเหตุผลใดก็ตาม ทำให้รฟม.เปลี่ยนมาใช้โบราณสถานด้านฝั่งขวาของซอยคั่นแทน ในเมื่อ รฟม.สามารถย้ายจุดทางขึ้นลงมาแล้ว เหตุใด รฟม. จะไม่สามารถย้ายไปใช้พื้นที่ที่ถัดออกไปอีกไม่เกิน 5 เมตรเพื่อไม่ต้องรื้อโบราณสถาน ซึ่งตามหนังสือของนายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากรในขณะนั้นมีหนังสือลงวันที่ 18 พฤศจิกายน 2559 ถึงผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) แจ้งความเห็นอย่างชัดเจนว่า “ *ไม่เห็นด้วย*กับตำแหน่งทางขึ้นลงที่ 1 (Entrance 1)ของสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน สถานีผ่านฟ้าตามผังที่เสนอ เนื่องจากมีการรื้อโบราณสถานตึกแถวริมถนนพระสุเมรุช่วงปลายออกหลายคูหา *สมควรที่จะพิจารณาเลือกพื้นที่ทางขึ้นลงอื่น*ที่เหมาะสมโดยหลีกเลี่ยงการรื้อถอนโบราณสถาน…”(ดูเอกสารประกอบ)
 
 
ตั้งแต่ปี2558-2565 มีอธิบดีกรมศิลปากรถึง 3คน ที่ได้มีหนังสือให้ รฟม. หลีกเลี่ยงการรื้อทำลายโบราณสถาน โบราณวัตถุตามเส้นทางที่รถไฟฟ้าสายสีม่วงผ่านเข้ามาในเกาะรัตนโกสินทร์ และได้บ่งชี้ในรายงานไว้อย่างน้อย 3-4 แห่ง เช่น สถานีผ่านฟ้า ให้หลีกเลี่ยงโบราณสถาน7 คูหาบนถนนพระสุเมรุ สถานีบางขุนพรหม ให้หลีกเลี่ยงโบราณสถานโรงพิมพ์ศรีหงษ์ และสถานีศรีย่านให้หลีกเลี่ยงโบราณสถานตึกแขก แต่รฟม.หาฟังไม่ ยังคงดึงดันรุกคืบหน้าไปเรื่อยๆตามความต้องการของตนเอง หวังใช้วิธีให้กรมศิลปากรต้องตกกระได พลอยกระโจน เช่นอ้างว่าเวนคืนแล้ว ไม่มีงบประมาณจะเวนคืนที่อื่นแล้ว ใช่หรือไม่?
 
หาก รฟม.อ้างว่าไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้เอกชนรายใดในพื้นที่ใกล้เคียงนั้น เหตุใด รฟม.จึงไม่เลือกพื้นที่อื่นที่อยู่โดยรอบที่ไม่ใช่โบราณสถาน !?! ทั้งที่อดีตอธิบดีกรมศิลปากรมีหนังสือขอให้หลีกเลี่ยงมาโดยตลอดตั้งแต่ปี2558-2565 เหตุใดรฟม.ต้องดึงดันจะเลือกรื้อโบราณสถานเป็นทางขึ้นลงรถไฟฟ้าให้ได้
 
5)รฟม.เข้าใจอะไรผิดหรือเปล่า ที่อ้างกฎหมาย EIA ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ส่วนการอนุรักษ์โบราณสถานขึ้นกับกฎหมายคนละฉบับ คนละกระทรวง การอ้างว่าทำ EIA แล้วก็สามารถทำอะไรกับโบราณสถานก็ได้นั้น จะถูกต้องแล้วหรือ !?!
 
ที่สำคัญ ขอถามรฟม.ว่าในกระบวนการจัดทำ EIA ได้ให้ ทางกรมศิลปากร หรือ อธิบดีกรมศิลปากร ที่เป็นผู้มีสถานะ ผู้มีส่วนได้เสีย ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในอาคารที่จะถูกรื้อถอนโดยตรง ได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นใดๆ ที่นำไปสู่การประเมินผลกระทบต่อโบราณสถาน โบราณวัตถุ และ มีบันทึกไว้ในรายงานของ EIA เมื่อปี 2562 ด้วยหรือไม่?.. อย่างไร?.. ในเมื่ออดีตอธิบดีกรมศิลปากรได้เคยคัดค้านในปี 2559 ว่า ไม่เห็นด้วยอย่างชัดเจนกับตำแหน่งทางขึ้นลงที่1 (Entrance 1)ของสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน สถานีผ่านฟ้าตามผังที่เสนอ เนื่องจากมีการรื้อโบราณสถานตึกแถวริมถนนพระสุเมรุช่วงปลายออกหลายคูหา และ เสนอว่ารฟม.สมควรที่จะพิจารณาเลือกพื้นที่ทางขึ้นลงอื่นที่เหมาะสมโดยหลีกเลี่ยงการรื้อถอนโบราณสถาน
 
รฟม.ไม่ควรอ้าง EIA มา over rule หรือ มาครอบงำอยู่เหนือพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุและศิลปวัตถุ พ.ศ.2504 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2535) ซึ่งเป็นกฎหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบของอธิบดีกรมศิลปากร ที่มีหน้าที่ดูแลโบราณสถาน โบราณวัตถุอันเป็นทรัพย์สินของชาติ ซึ่งไม่ใช่ทรัพย์สินของอธิบดีกรมศิลปากรท่านใด หรือของใครคนใดคนหนึ่ง แต่อธิบดีกรมศิลปากรย่อมมีอำนาจหน้าที่ดูแล ปกป้องสมบัติเหล่านั้นตามกฎหมายแทนประชาชน และ เมื่อท่านอธิบดีฯ ได้เคยกล่าวต่อสาธารณะว่า ยังไม่ได้อนุญาตให้รฟม.ก่อสร้างทางขึ้นลงรถไฟฟ้าบนพื้นที่โบราณสถาน รฟม.สมควรเคารพ เพราะต่างฝ่ายต่างทำหน้าที่ของตนเองตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
 
 
รฟม.มิได้สนใจคุณค่าใน ศิลปะ ความงามของรูปแบบสถาปัตยกรรม และสิ่งก่อสร้างดั้งเดิม ที่ควรอนุรักษ์ รักษาไว้ให้คงอยู่ หรือส่งต่อไปควบคู่กับการพัฒนาเมือง ทั้งรูปแบบการก่อสร้างด้านสถาปัตยกรรมเก่า และใหม่ให้สามารถอยู่ร่วมกันได้ในยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ทัศนะการอนุรักษ์ของ รฟม. คือ รื้อภายในออกทั้งหมด แล้วนำกรอบโครงภายนอกมาปะให้เป็นรูปทรงดูคล้ายของเดิม ไม่ต่างจากทำลายชีวิตสถาปัตยกรรมเดิมให้เหลือแค่เป็นรูปทรงที่ไร้วิญญาณเท่านั้น
 
สิ่งที่ดิฉันในฐานะประธานกลุ่มอนุรักษ์มรดกรัตนโกสินทร์ ใคร่ขอเรียกร้องจิตสำนึกของรฟม. ให้มีความรับผิดชอบต่อกฎหมายที่ปกป้อง คุ้มครองและอนุรักษ์โบราณสถานของเมืองให้อยู่ได้ไปพร้อมกับการพัฒนาเมืองให้ทันสมัย และการพัฒนาเศรษฐกิจ รฟม.ไม่ควรดื้อดึงคิดจะทำอะไรก็ได้ตามอำเภอใจ เพราะมรดกรัตนโกสินทร์เป็นสมบัติของพวกเราทุกคน ควรที่รฟม.จะร่วมมือกับกรมศิลปากร และประชาชนช่วยกันอนุรักษ์โบราณสถานในเมืองซึ่งปัจจุบันเหลือน้อยลงทุกทีเพราะการพัฒนาเมืองให้ทันสมัยโดยขาดจิตสำนึก ขาดความเข้าใจว่าการอนุรักษ์ที่ถูกต้อง ควรเป็นอย่างไร ใช่หรือไม่
รสนา โตสิตระกูล
10 มิถุนายน 2566