คำว่า“เผื่อเหลือเผื่อขาด “ มิได้มุ่งหมายให้ปั๊มเติมน้ำมันขาดได้ แต่มุ่งบังคับให้ปั๊มต้องสำรองน้ำมันเพิ่มเพื่อให้ลูกค้าได้น้ำมันเต็มตามจำนวนซื้อ ใช่หรือไม่
CHANGE The World รสนา โตสิตระกูล
คำว่า“เผื่อเหลือเผื่อขาด “ มิได้มุ่งหมายให้ปั๊มเติมน้ำมันขาดได้ แต่มุ่งบังคับให้ปั๊มต้องสำรองน้ำมันเพิ่มเพื่อให้ลูกค้าได้น้ำมันเต็มตามจำนวนซื้อ ใช่หรือไม่
สื่อมวลชนลงข่าว อธิบดีกรมการค้าภายในอ้างปั๊มเติมน้ำมันไม่เต็มไม่ผิดกฎหมาย “ค้าภายใน”แจงดรามา เติมไม่เต็มลิตร ปั๊มน้ำมันแก่งคอย ไม่ผิดกฎหมาย ระบุขาดได้ไม่เกิน 1% ตามมาตรฐานสำนักงานชั่งตวงวัดโลก “
ดิฉันมีความเห็นว่ากระทรวงพาณิชย์น่าจะเข้าใจความหมายเผื่อเหลือเผื่อขาดผิดหรือไม่ ตามมาตรา26 ของพรบ.มาตรา ชั่ง ตวง วัด ที่บัญญัติว่า
“มาตรา ๒๖ ความเที่ยงของเครื่องชั่งตวงวัดที่ใช้ในกิจการตามมาตรา ๒๕ ต้องอยู่ภายในอัตราเผื่อเหลือเผื่อขาดตามที่กําหนดในกฎกระทรวง”
อธิบดีออกมาให้สัมภาษณ์ว่าปั๊มเติมน้ำมันไม่เต็มไม่ผิดกฎหมาย ดิฉันไปเปิดพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน คำว่า “เผื่อเหลือเผื่อขาด” ซึ่งแปลชัดเจนโดยไม่ต้องตีความว่า
”ที่สำรองไว้อย่างพอเพียงป้องกันการขาด , ที่เตรียมไว้เผื่อขาดหรือไม่พอ”
ดังนั้น สาระหลักของคำนี้ในพรบ.และในระเบียบของสำนักงานชั่งตวงวัดว่า”อัตราเผื่อเหลือเผื่อขาด” จึงควรหมายความว่า ในอัตราการไหลที่ทดสอบระหว่างใช้งาน เมื่อพบว่าน้ำมันที่ไหลจากหัวจ่าย ในจำนวน 5ลิตร จะขาดไป 50 มิลลิลิตร ในจำนวน 20 ลิตรจะหายไป 200 มิลลิลิตร และในจำนวน 50 ลิตร น้ำมันจะขาดหายไป 500 มิลลิลิตร หรือ 1% นั้น แสดงว่าต้องเผื่อไว้ 1%เพื่อให้ลูกค้าได้น้ำมันเต็มจำนวนต้องเผื่อเหลือเผื่อขาดไว้ 1% ไม่ใช่ยอมรับว่าขาดได้1%
สิ่งที่กระทรวงพาณิชย์ต้องทำคือกำหนดคำนิยามให้ถูกต้องตามสาระที่คุ้มครองผู้บริโภค เพื่อให้กฎกระทรวง และระเบียบสำนักชั่งตวงวัดปฏิบัติให้ถูกต้องต่อไป คือ ต้องควบคุมให้ผู้ประกอบการปั๊มน้ำมันต้องเผื่อจำนวนน้ำมันไว้ 1% เพิ่มเติมให้ลูกค้าที่มาซื้อน้ำมัน เพื่อให้ลูกค้าได้น้ำมันเต็มตามจำนวนที่จ่ายเงินซื้อ ตามความหมายของคำว่า ”เผื่อเหลือเผื่อขาด” ไม่ใช่ไปรับรองว่าปั๊มน้ำมันสามารถเติมน้ำมันขาดได้ 1% ตามกฎกระทรวง ที่น่าจะขัดกับ
พ.ร.บ.มาตรา ชั่ง ตวง วัด ที่เป็นกฎหมายหลัก ใช่หรือไม่
ดูความหมายของคำว่า
”เผื่อเหลือเผื่อขาด”ในกรณีการสรรหาบุคคล เช่น หากต้องการ 5คน อาจเผื่อเหลือเผื่อขาดอีก 3 คนในการเลือกเพื่อให้ได้5 คน เพราะจำนวนที่ต้องการคือ 5คน ไม่ใช่ 4คน ฉันใดก็ฉันนั้น เมื่อลูกค้าจ่ายเงินเต็มจำนวนเพื่อซื้อน้ำมัน 50 ลิตร ลูกค้ามีสิทธิอันชอบธรรมตามกฎหมายที่ต้องได้รับน้ำมัน 50 ลิตรเต็มตามจำนวนเงินที่จ่าย สำนักชั่งตวงวัดต้องกำหนดวิธีการว่าจะต้องให้ลูกค้าได้น้ำมันตามสิทธิของเงินที่จ่ายอย่างไร จะมาอ้างว่าตามกฎหมายรับรองให้ผู้ค้าน้ำมันเติมน้ำมันขาดได้ 500 มิลลิลิตร หรือครึ่งลิตร แต่สามารถคิดเงินจากลูกค้าเต็มจำนวน จะถูกต้องชอบธรรมได้อย่างไร?!
ดิฉันเห็นว่าอธิบดีกรมการค้าภายในที่ออกมาป้องปั๊มน้ำมันว่าเติมน้ำมันไม่เต็ม ไม่ผิดกฎหมายนั้น เป็นการตีความกฎหมายของกระทรวงพาณิชย์ที่เอื้อผู้ประกอบการ แต่ไม่คุ้มครองผู้บริโภค และน่าจะขัดต่อมาตรา 26ในกฎหมายหลัก ใช่หรือไม่
มีอดีตผู้พิพากษาศาลฎีกาท่านหนึ่งได้ให้ความเห็นกับดิฉันว่า “จะอ้างพรบ.มาตราชั่งตวงวัดพ.ศ.2542 และกฎกระทรวงเป็นข้อต่อสู้ว่ากฏหมายดังกล่าวอนุญาตให้ปั๊มเติมน้ำมันขาดได้ 1% โดยคิดราคาเต็มนั้น ไม่ได้ เพราะ พรบ.และกฎกระทรวงดังกล่าวเป็นเพียงกฏหมายอนุญาตให้ใช้มาตรวัดปริมาณน้ำมันที่มีอัตราเผื่อเหลือเผื่อขาดได้ไม่เกินอัตราที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงเท่านั้น ไม่ได้เป็นกฎหมายอนุญาตให้เติมขาดแต่คิดเต็มราคาได้ ดังนั้น การเติมน้ำมันขาดจึงคิดเต็มราคาไม่ได้ หากขืนทำ นอกจากจะผิดสัญญาทางแพ่งแล้ว ยังมีความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนด้วย ซึ่งไม่ใช่มีความผิดฐานฉ้อโกงธรรมดาเท่านั้น แต่เป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนที่มีโทษหนักขึ้น เพราะไม่ได้เติมขาดและคิดราคาเต็มจากลูกค้าเพียงรายเดียวเท่านั้น แต่ทำวันละหลายสิบราย และเจ้าหน้าที่ของรัฐคนใดที่ให้สัมภาษณ์ว่าปั๊มสามารถเติมน้ำมันขาดได้นั้น มีข้อพิจารณาว่ามีความผิดฐานสนับสนุนให้ฉ้อโกงประชาชนและผิดกฎหมายอาญา ,กฎหมายป.ป.ช. และวินัยข้าราชการฐานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยหรือไม่”
ท่านอดีตผู้พิพากษาศาลฎีกาท่านนั้นยังเสนอว่า “น่าจะทำเป็นคดีตัวอย่าง โดยลูกค้าที่ได้รับความเสียหายสัก 10 ราย พากันไปแจ้งความต่อตำรวจให้ดำเนินคดีกับปั๊มน้ำมัน เมื่อมีการแจ้งความแล้ว ปั๊มน้ำมันน่าจะไม่กล้าทำอีกไป “
ในฐานะผู้บริโภค ดิฉันเห็นว่ากระทรวงพาณิชย์โดย สำนักชั่งตวงวัด ควรกำหนดให้ปั๊มน้ำมันต้องเผื่อปริมาณน้ำมันอีก1% เติมให้ลูกค้าเพื่อได้น้ำมันเต็มตามจำนวนที่ซื้อ จะได้ไม่ทำให้เกิดคดีฟ้องร้องกัน
ที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ได้ปล่อยให้ปั๊มน้ำมันเอาเปรียบลูกค้าด้วยการเติมน้ำมันขาด แต่ได้เงินเต็มไปเท่าไหร่แล้ว ถึงเวลาต้องแก้ไขแล้ว
จึงขอเสนอให้รัฐมนตรีพีระพันธุ์ ในฐานะนักกฎหมาย ท่านควรพิจารณาความหมายของคำว่า “เผื่อเหลือเผื่อขาด” และหารือกับรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์เพื่อจะได้สั่งการแก้ไขให้ถูกต้อง อย่าให้ประชาชนต้องถูกเอาเปรียบโดยอ้างว่ากฎหมายรับรองเช่นนี้เลย
ประชาชนต้องทนแบกรับการถูกเอารัดเอาเปรียบอย่างไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับราคาน้ำมันมานานเท่าไหร่แล้ว ต้องแบกรับราคาน้ำมันบวกราคาทิพย์ได้แก่ค่าขนส่ง ค่าประกันภัย ค่าสูญเสียระหว่างทางจากสิงคโปร์มาประเทศไทย ทั้งที่น้ำมันทั้งหมดกลั่นในประเทศไทย ที่ระยอง ที่ศรีราชา และยังมีค่าการตลาดเบนซินลิตรละ2บาท ที่กระทรวงพลังงานปล่อยผู้ค้าน้ำมันสามารถรีดเงินประชาชนเกินไปถึงลิตรละ
3-4 บาท โดยกระทรวงพลังงานทำอะไรไม่ได้ กรณีปั๊มเติมน้ำมันไม่เต็มจำนวน แต่ให้เก็บเงินได้เต็มจำนวน รัฐบาลปล่อยให้ผู้ค้าน้ำมันเอาเปรียบประชาชนมานานมากแล้ว ควรต้องรีบแก้ไขโดยด่วนให้ความเป็นธรรมต่อประชาชนในเรื่องนี้ได้แล้ว
รสนา โตสิตระกูล
24 ธันวาคม 2566
ดูโพสต์นี้บน Facebook https://www.facebook.com/share/p/EZ7mBTKr1hqma7vY/?mibextid=WC7FNe