"มหากาพย์การฟ้องคดีทวงคืนท่อก๊าซ ทรัพย์สินแผ่นดิน ยังไม่จบ" (ตอนที่2)
CHANGE The World รสนา โตสิตระกูล
"มหากาพย์การฟ้องคดีทวงคืนท่อก๊าซ ทรัพย์สินแผ่นดิน ยังไม่จบ" (ตอนที่2)
มหากาพย์ภาคที่3 การที่ผู้ฟ้องคดีเดิม คือมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและคณะได้ฟ้องขอให้ศาลปกครองพิจารณาการคืนทรัพย์สินที่ไม่ครบถ้วนตามการรายงานของสตง. และขอให้มีการบังคับคดีใหม่ ผู้ฟ้องคดีเดิมมีการฟ้องคดีอีก 5ครั้ง ตั้งแต่ปี 2552-2558 แต่ศาลปกครองสูงสุดได้ยกคำร้องของประชาชนผู้ฟ้องคดี โดยอ้างเหตุว่าผู้ฟ้องคดีในมหากาพย์ภาคแรก ได้มีคำขอท้ายฟ้องให้เพิกถอนการแปรรูปปตท.เท่านั้น เมื่อศาลปกครองไม่สั่งเพิกถอนการแปรรูปปตท. ผู้ฟ้องคดีจึงไม่ใช่ผู้ชนะคดี และเมื่อไม่ใช่ผู้ชนะคดี และไม่ใช่เจ้าของทรัพย์ ดังนั้นจึงไม่สามารถร้องขอให้มีการบังคับคดีใหม่เพื่อให้คืนทรัพย์สินให้ครบถ้วนได้
ในการยกคำร้องมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและคณะของศาลปกครองสูงสุดเมื่อวันที่7 เมษายน 2559ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นคำร้องขอให้ศาลปกครองสูงสุดยกเลิกคำสั่งของตุลาการศาลปกครองสูงสุดเพียงคนเดียว ที่เซ็นบนหัวกระดาษว่าบมจ.ปตท.ได้คืนทรัพย์สินเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้เพราะมีข้อมูลใหม่ที่มาจากการวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดินที่ตรวจสอบและวินิจฉัยว่า การไม่ปฏิบัติตามมติ
ครม.ที่ให้สตง.เป็นผู้ตรวจสอบและรับรองการแบ่งแยกทรัพย์สินนั้น. ถือเป็นการลัดขั้นตอนที่สำคัญในการคืนทรัพย์สินตามคำพิพากษา และผู้ตรวจการแผ่นดินได้ตรวจสอบพบว่ามีทรัพย์สินที่ต้องคืนทั้งสิ้นกว่า6.8 หมื่นล้านบาท และบมจ.ปตท.คืนมาเพียง1.6หมื่นล้านบาท จึงยังมีทรัพย์สินที่ต้องคืนอีกกว่า5.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งมากกว่าทรัพย์สินที่สตง.เคยตรวจสอบและรายงานไว้
ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ทำรายงานเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้แก้ไขเรื่องการคืนทรัพย์สินที่ยังไม่ครบถ้วนให้ครบถ้วน แต่หน่วยงานเหล่านั้นไม่ปฏิบัติ ทำให้ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินต้องนำเรื่องมาฟ้องศาลปกครองเมื่อวันที่4 เมษายน 2559
บมจ.ปตท.ออกคำชี้แจงเกี่ยวกับการฟ้องคดีของประธานผู้ตรวจการแผ่นดินเรื่องการคืนท่อก๊าซไม่ครบถ้วน และอ้างการถูกยกคำร้องของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและคณะว่าคือการรับรองว่าบมจ.ปตท.ได้คืนทรัพย์สินครบถ้วนแล้วนั้น
ข้อเท็จจริงคือการที่ศาลปกครองสูงสุดยกคำร้องของประชาชนผู้ฟ้องคดีเพราะเหตุผลดังต่อไปนี้
1 ) ที่ศาลปกครองยกคำร้องเพราะวินิจฉัยว่าประชาชนผู้ฟ้องคดีไม่ใช่เจ้าของทรัพย์จึงไม่มีสิทธิฟ้องให้มีการตรวจสอบเพื่อการบังคับคดีใหม่(ในกรณีคืนทรัพย์ไม่ครบถ้วนให้คืนให้ครบถ้วนต่อไป)
2 ) ศาลปกครองยกคำร้องตามคำสั่งที่800/2557ในประเด็นฟ้องว่ามีการไม่ปฏิบัติตามมติครม.ว่า "กรณีดังกล่าวเป็นเรื่องที่ผู้ฟ้องคดีทั้งหนึ่งพันสี่ร้อยห้าสิบห้าคนกล่าวอ้างว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติให้เป็นไปตามคำพิพากษาไม่ได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องไปว่ากล่าวกันภายในหน่วยงานของรัฐที่อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของคณะรัฐมนตรี"
ในคำสั่งที่ 800/2557 ที่ศาลปกครองสูงสุดยกคำร้องมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและคณะรวมทั้งประชาชนที่ร่วมฟ้องอีก1,455คนเมื่อ 12 ธันวาคม2557 ที่ขอให้ตรวจสอบการไม่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีที่มอบหมายให้สตง.เป็นผู้ตรวจสอบและรับรองความถูกต้องในการแบ่งแยกทรัพย์สิน แต่ในการแบ่งแยกทรัพย์สินที่ปตท.รายงานต่อศาลปกครองสูงสุดในวันที่25ธันวาคม 2551นั้นไม่ได้ผ่านการตรวจสอบและรับรองโดยสตง.ตามมติครม.ซึ่งผู้ฟ้องคดีเห็นว่าเป็นการไม่ปฏิบัติตามกระบวนการที่ถูกต้อง เป็นการลัดขั้นตอนในกระบวนการแบ่งแยกทรัพย์สินที่เป็นสาระสำคัญว่ายังไม่ได้คืนทรัพย์สินถูกต้อง เพราะสตง.ซึ่งได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานตรวจสอบ ยังยืนยันว่า บมจ.ปตท.คืนทรัพย์สินไม่ครบถ้วน
การที่ประชาชนผู้ฟ้องคดีถูกยกคำร้องทุกครั้งเป็นปัญหาแพ้ทางเทคนิคกฎหมาย ที่เรียกว่าเทคนิคอลฟาวล์ (technical foul) ศาลปกครองจึงยังไม่เคยพิจารณาในเนื้อหาแห่งคดีของคำฟ้องของประชาชนเรื่องการแบ่งแยกทรัพย์สินคืนแผ่นดินยังไม่ครบถ้วน เพราะมีการลัดขั้นตอนในส่วนที่เป็นสาระสำคัญของกระบวนการแบ่งแยกทรัพย์สินว่าเป็นตามนั้นจริงหรือไม่? และการลัดขั้นตอนดังกล่าวเป็นเหตุให้คืนทรัพย์สินไม่ครบถ้วนจริงหรือไม่?
การตั้งสมการผิดๆว่า การที่ศาลปกครองสูงสุดยกคำร้องของประชาชนผู้ฟ้องคดี มีความหมายเท่ากับบมจ.ปตท.คืนทรัพย์สินครบถ้วนแล้ว จึงยังไม่สามารถตอบโจทย์ข้อสงสัยของประชาชนทั้งประเทศได้
ประเด็นข้อโต้แย้งว่าทรัพย์สินใดเป็นสาธารณสมบัติ หากตกลงกันไม่ได้ระหว่างหน่วยงานรัฐคือกระทรวงการคลัง กับบมจ.ปตท. มติครม.มอบหมายคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นผู้พิจารณาตัดสิน แต่ในช่วงที่ผ่านมาดูเหมือนหน่วยงานรัฐที่เป็นผู้รับมอบสาธารณสมบัติถูกเปลี่ยนจากกระทรวงการคลัง ย่นย่อลงมาเหลือแค่กรมธนารักษ์ ดังนั้นกรมธนารักษ์จึงตัดสินว่าท่อก๊าซในทะเลไม่ใช่ที่ราชพัศดุที่ตัวเองดูแล เลยไม่ต้องคืนโดยปริยายนั้น ข้อเท็จจริงคือสาธารณสมบัติไม่ได้ถูกจำกัดเฉพาะทรัพย์สินที่อยู่ในการดูแลของกรมธนารักษ์เท่านั้น ใช่หรือไม่? ช่วงที่ผ่านมาจึงไม่มีข้อโต้แย้งเรื่องท่อก๊าซในทะเลเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่ ทั้งที่สตง.ยืนยันว่าต้องคืนท่อก๊าซในทะเล แต่ไม่มีการส่งข้อโต้แย้งนี้ให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาตัดสิน
เมื่อปี2557 มีมติกพช.ที่จะให้แยกท่อก๊าซของปตท.ออกมาตั้งเป็นบริษัทใหม่และเปิดให้บุคคลที่3 มาเช่าท่อก๊าซ ดังที่กล่าวไว้ในมหากาพย์ภาคแรกว่า ท่อก๊าซที่แยกออกจากบมจ.ปตท.หลังการแปรรูป กรรมสิทธิของรัฐจะเหลือตามหุ้นที่กระทรวงการคลังมีอยู่ในบมจ.ปตท.เท่านั้น ประกอบกับมีคำพิพากษาให้คืนทรัพย์สินที่เป็นสาธารณสมบัติ และข้อโต้แย้งเรื่องคืนทรัพย์สินไม่ครบถ้วน จึงมีการคัดค้านทั้งจากสตง.และจากประชาชนในเรื่องการตั้งบริษัทท่อก๊าซแยกออกจากบมจ.ปตท. เว้นเสียแต่บริษัทท่อก๊าซนั้นต้องเป็นกรรมสิทธิของรัฐ100%
จากข้อโต้แย้งดังกล่าว ท่านนายกรัฐมนตรีจึงมีบัญชาให้ส่งเรื่องข้อโต้แย้งกรณีท่อก๊าซในทะเลเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือสมบัติของเอกชนให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาตั้งแต่เดือนสิงหาคม2557 แต่
จนถึงขณะนี้ ก็ยังไม่มีการรายงานผลการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาออกสู่สาธารณชนแต่อย่างใด
ท่านนายกรัฐมนตรีที่เป็นผู้บังคับบัญชาของหน่วยราชการทั้งหลาย ก็ยังนิ่งเฉยไม่ดำเนินการให้มีการตรวจสอบว่ามีการไม่ปฏิบัติตามมติครม.จริงหรือไม่ และการไม่ปฏิบัติตามมติครม.ทำให้มีการแบ่งแยกทรัพย์สินไม่ครบถ้วนจริงหรือไม่?
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและคณะจึงอาศัยคำสั่งศาลปกครองที่ยกคำร้องประชาชนโดยให้เหตุผลว่า การไม่ปฏิบัติตามมติครม.เป็นเรื่องที่หน่วยงานต้องไปว่ากล่าวกันเอง เมื่อนายกรัฐมนตรีที่เป็นผู้บังคับบัญชาหน่วยงานทั้งหลายไม่ดำเนินการว่ากล่าว ประชาชนจึงมาร้องต่อสตง. เมื่อ 2 เมษายน 2558ให้มีการตรวจสอบว่าหน่วยงานรัฐที่เป็นหน่วยตรวจรับได้ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรีหรือไม่? ซึ่งเป็นหน้าที่โดยตรงของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินตามกฎหมายว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน
มหากาพย์การทวงท่อก๊าซ สมบัติชาติยังไม่จบ เพราะมหากาพย์เรื่องนี้ยังมีภาคที่4 ว่าด้วยองค์กรอิสระอีก2องค์กรที่จะเข้ามาตรวจสอบกรณีการคืนทรัพย์สินแผ่นดินครบถ้วนหรือไม่ ต่อจากการฟ้องคดีของประชาชน
1 ) องค์กรแรกคือผู้ตรวจการแผ่นดินที่ได้ฟ้องต่อศาลปกครองแล้วว่าการคืนทรัพย์สินที่เป็นสาธารณสมบัติยังไม่ครบถ้วน ศาลปกครองจะรับคำร้องหรือไม่?เป็นเรื่องที่ต้องติดตามต่อไป
2 ) องค์กรที่2คือคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ซึ่งเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ที่มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบว่ามีหน่วยงานราชการใดที่มีการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือมติคณะรัฐมนตรีหรือไม่?
ดังนั้นก่อนที่จะยืนยันว่าการแบ่งแยกทรัพย์สินครบถ้วนแล้ว ขอให้รอผลการพิจารณาวินิจฉัยของคตง.อีกองค์กรหนึ่งเสียก่อนว่า คตง.จะมีคำวินิจฉัยอย่างไร จะวินิจฉัยว่ามีการฝ่าฝืนมติครม.จริงหรือไม่? หากมีการฝ่าฝืนมติครม. ผลจะเป็นอย่างไร ? หรือหากไม่มีการฝ่าฝืน ผลจะเป็นอย่างไร? เป็นสิ่งที่ประชาชนที่เป็นเจ้าของทรัพย์ตัวจริงต้องติดตามต่อไป
มหากาพย์การทวงคืนทรัพย์สินแผ่นดินจะเป็นเช่นไร สาธารณสมบัติของแผ่นดินจะตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้ จริงหรือไม่ ต้องรอติดตามในมหากาพย์ภาคที่4 ต่อไป