“อมตะ”จับมือ “ดีป้า”เปิดห้องเรียนอัจฉริยะ พัฒนาบุคลากรยุคดิจิทัลรับสมาร์ทซิตี้

“อมตะ”จับมือ “ดีป้า”เปิดห้องเรียนอัจฉริยะ พัฒนาบุคลากรยุคดิจิทัลรับสมาร์ทซิตี้

 

 

 

 
 
“อมตะ”จับมือ “ดีป้า”เปิดห้องเรียนอัจฉริยะ
 
พัฒนาบุคลากรยุคดิจิทัลรับสมาร์ทซิตี้
 
 
 
 
 
นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรีจับมือกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ DEPAเปิดตัว ห้องเรียนรู้อัจฉริยะแห่งแรกในนิคมฯอมตะซิตี้ชลบุรี หวังเป็นศูนย์กลางพัฒนากำลังคนด้านดิจิทัลรองรับเมืองอัจฉริยะแห่งแรกของไทยในพื้นที่อีอีซี พร้อมโชว์โมเดล เมืองแห่งอนาคต ใน “อมตะสมาร์ทซิตี้โชว์เคส”
 
นายวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานกรรมการบริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เมื่อเร็วๆนี้ อมตะ ได้ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลหรือดีป้า (DEPA) ในการเปิดห้องเรียนรู้อัจฉริยะ (DEPA AMATA Smart Classroom) และ AMATA SMART City Showcase ซึ่งตั้งอยู่ที่ นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี เพื่อเตรียมความพร้อมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคดิจิทัลโดยต้องเร่งพัฒนาบุคคลากรที่สามารถรองรับกับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี ) ที่ต้องก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรม ในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆมาใช้ในกระบวนการผลิต ส่งผลให้ไทยมีขีดความสามารถการแข่งขันมากยิ่งขึ้น
 
“ โครงการห้องเรียนรู้อัจฉริยะนับเป็นความร่วมมือภาครัฐและเอกชน ถือเป็นครั้งแรกของอมตะ ในความความร่วมมือกับภาครัฐอย่างเป็นรูปธรรม ในเป้าหมายการพัฒนาบุคลากร เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ให้ได้ 100,000 คนในระยะ 2 ปีข้างหน้า โดยเริ่มต้นจากปี 2562 ที่คาดว่าจะสามารถให้การฝึกอบรม บุคลากรได้ทันทีจำนวน 12,000 คน”
 
 
 
 
 
 
ในส่วนของความคืบหน้า การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (สมาร์ทซิตี้) คาดว่าจะเริ่มพัฒนาโครงการต่างๆ ภายใต้สมาร์ทซิตี้ ในปลายปี 2562 หลังจากที่ได้ร่วมมือกับหน่วยงาน สถาบันการศึกษา และองค์กรจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น ประเทศเกาหลี ญี่ปุ่น สวีเดน และ จีน ซึ่งประเทศเหล่านี้เป็นประเทศที่มีความเชี่ยวชาญ และให้ความสำคัญในการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยมีใช้งบประมาณสูงถึง 3.8-4.6 % ของผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP ) ขณะที่ไทยเริ่มให้ความสำคัญในการพัฒนาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันด้วยนวัตกรรม และเทคโนโลยี และปัจจุบันได้เตรียมพร้อมการลงทุนในระบบสาธารณูปโภค เพื่อการวิจัยและพัฒนาโดยเฉพาะการเพิ่มพูนทักษะของบุคลากร ให้สามารถรองรับกับภาคการผลิตที่มีการใช้เทคโนโลยีมากยิ่งขึ้น ซึ่งแรงงานไทย เป็นแรงงานที่มีคุณภาพ สามารถยกระดับความรู้ความสามารถให้ทัดเทียมกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง และเป็นเทคโนโลยีที่เป็นเฉพาะทางมากยิ่งขึ้น
 
อย่างไรก็ตาม อมตะ ในการเปิดตัวห้องเรียนอัจฉริยะ ยังได้มีการจัดแสดง แผนการพัฒนาสมาร์ทซิตี้ ในรูปแบบ อมตะสมาร์ทซิตี้โชว์เคส ซึ่งเป็นพื้นที่จัดแสดงเทคโนโลยี และนวัตกรรมของเมืองอมตะสมาร์ทซิตี้โดยมีบริษัทชั้นนำเข้าร่วมจัดแสดงเทคโนโลยีและนวัตกรรม อาทิ Yokohama Urban Solution Alliance (YUSA), Jiangsu Smart City Construction Management, SAAB, Nissan, Delta, HitachiLumada Center เป็นต้น ซึ่งการพัฒนาสมาร์ทซิตี้ได้มีการจัดทำเป็นโมเดลเพื่อชี้ให้เห็นรูปแบบ และการวางระบบสาธารณูปโภค ควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อมที่สมบรูณ์แบบ
 
 
 
 
ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่าทาง DEPA ให้การสนับสนุนโครงการห้องเรียนรู้อัจฉริยะ ในพื้นที่นิคมอมตะซิตี้ ชลบุรี โดยมีเป้าหมายที่จะพัฒนาทรัพยากรบุคคลในภาคอุตสาหกรรมให้มีทักษะด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีดิจิทัลเพิ่มขึ้น10,000 คนต่อปี และมีเป้าหมายระดับประเทศในการพัฒนาทรัพยากรบุคคลทั้งในระดับทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัลหรือ Literacy Skillและ ระดับมืออาชีพหรือProfessional Skill อยู่ที่ 40,000 คนต่อปี โดยภายใน 5 ปีจากนี้ ประเทศไทยจะมีทรัพยากรบุคคลด้านดิจิทัลทั้งสิ้น180,000 คน