คปภ. ผงาดเวทีสากลร่วมประชุมผู้กำกับดูแลธุรกิจประกันภัยอาเซียนประจำปี ครั้งที่ 22

คปภ. ผงาดเวทีสากลร่วมประชุมผู้กำกับดูแลธุรกิจประกันภัยอาเซียนประจำปี ครั้งที่ 22

 

 

 

 

 

คปภ. ผงาดเวทีสากลร่วมประชุมผู้กำกับดูแลธุรกิจประกันภัยอาเซียนประจำปี ครั้งที่ 22 (22nd AIRM) ณ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา

 


• เลขาธิการ คปภ.เผยต่างชาติทึ่งแอปพลิเคชัน Me Claim
• คปภ. ไทยรุกคืบพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยร่วมสำหรับกลุ่มประเทศอาเซียน

 

 

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) พร้อมด้วยคณะได้เข้าร่วมการประชุมผู้กำกับดูแลธุรกิจประกันภัยอาเซียนประจำปี 2562 ครั้งที่ 22 (22nd ASEAN Insurance Regulators’ Meeting: 22nd AIRM) และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 – 28 พฤศจิกายน 2562 ณ กรุง Nay Pyi Taw สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา โดยมี Financial Regulatory Department, Ministry of Planning and Finance (FRD) หน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาเป็นเจ้าภาพ โดยการประชุมดังกล่าวเป็นการประชุมระดับภูมิภาคระหว่างหัวหน้าหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยของประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประเทศสมาชิกได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้านการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย และการพัฒนาการประกันภัยของแต่ละประเทศ รวมทั้งรับทราบความคืบหน้าการดำเนินการต่างๆ ของประเทศสมาชิก ในด้านการพัฒนาการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยและความร่วมมือระหว่างกัน

 

 

เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่า การประชุมดังกล่าวตนได้นำเสนอผลการประเมินภาคการเงิน สาขาประกันภัย (Financial Sector Assessment Program : FSAP) ของประเทศไทย ซึ่งได้รับผลการประเมินในระดับที่ดีมาก เทียบเท่าประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศ โดยผ่านการประเมินระดับ Observed (O) ซึ่งเป็นระดับสูงสุด จำนวน 10 ข้อ ผ่านการประเมินระดับ Largely Observed (LO) จำนวน 12 ข้อ และผ่านการประเมินระดับ Partly Observed (PO) จำนวน 4 ข้อ โดยไม่มีข้อใดที่ประเมินไม่ผ่าน นอกจากนี้ยังได้นำเสนอผลการดำเนินงานที่สำคัญของ สำนักงาน คปภ. ในช่วงปีที่ผ่านมา ทั้งในเรื่องพัฒนาการการปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆด้านประกันภัยครั้งใหญ่ โครงการการเข้าถึงประกันภัย ตลอดจนพัฒนาการในเรื่องเทคโนโลยีประกันภัย ซึ่งประเทศสมาชิกได้ให้ความสนใจอย่างมาก โดยเฉพาะเกี่ยวกับมาตรการเชิงรุกที่สำนักงาน คปภ. บูรณาการร่วมกับภาคธุรกิจ ตลอดจนการพัฒนา แอปพลิเคชัน Me Claim ที่ช่วยแจ้งอุบัติเหตุ ลดขั้นตอนการเคลมค่าสินไหมทดแทน และช่วยลดปัญหาการจราจร โดยรองประธาน AIRM และหัวหน้าหน่วยงานกำกับประเทศฟิลิปปินส์ได้ชื่นชมและแสดงความสนใจเป็นอย่างมาก พร้อมขอให้สำนักงาน คปภ. ส่งทีมผู้เชี่ยวชาญไปแลกเปลี่ยนความรู้ในเรื่องดังกล่าว 

 

ในโอกาสนี้เลขาธิการ คปภ.ยังได้ร่วมหารือและรายงานความคืบหน้าในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยรายย่อยมาตรฐาน สำหรับภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Micro insurance product) ด้วย ซึ่งสำนักงาน คปภ. มีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้ที่ประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียนรับในหลักการเพื่อให้มีการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ ทั้งนี้ที่ประชุม AIRM เห็นด้วยในหลักการว่าการพัฒนาผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจะเกิดประโยชน์ต่อประชาชนในภูมิภาคอาเซียนโดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ที่จะได้รับความคุ้มครองที่เข้าใจง่าย และสามารถเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนผ่านเครือข่ายที่มีความน่าเชื่อถือและสะดวกรวดเร็ว โดยที่ประชุมมอบหมายให้ประเทศไทยศึกษาในรายละเอียดต่อไป

 

 

นอกจากนี้ เลขาธิการ คปภ. ได้เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการบริหารสถาบันฝึกอบรมและวิจัยแห่งภูมิภาคอาเซียน (AITRI Management Board Meeting) ในฐานะกรรมการบริหาร ASEAN Insurance Training and Research Institute (AITRI) ซึ่งเป็นการประชุมเพื่อกำหนดนโยบายในการดำเนินการพัฒนาความรู้ของผู้กำกับดูแลธุรกิจประกันภัยของประเทศสมาชิกอาเซียน รวมทั้งติดตามผลการประเมินการดำเนินงานของสถาบันฯ และเห็นชอบแผนการดำเนินงานงบประมาณประจำปี โดยสำนักงาน คปภ. ได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการอบรมของสถาบัน AITRI ในหัวข้อ InsurTech and Cyber Security Supervision ในปี 2563 และหัวข้อ Market conduct ในปี 2564

 

ในโอกาสเดียวกัน เลขาธิการ คปภ. พร้อมคณะได้ประชุมหารือทวิภาคีกับคณะผู้บริหารระดับสูงจากหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยในภูมิภาคอาเซียน ประกอบด้วย การหารือร่วมกับ Financial Regulatory Department, Ministry of Planning and Finance นำโดย Mr. Zaw Naing, Director General โดยได้มีการหารือและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในเรื่องการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย และการพัฒนาธุรกิจประกันภัยของทั้งสองประเทศ รวมทั้งได้มีการหารือด้านความร่วมมือระหว่างสองหน่วยงาน ภายใต้บันทึกความตกลง (MoU) ที่ได้มีการจัดทำขึ้น โดย Financial Regulatory Department มีความสนใจอย่างยิ่งในแนวทางการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยของประเทศไทย และมีความต้องการที่จะร่วมมือกับสำนักงาน คปภ. ในการพัฒนาศักยภาพของเจ้าหน้าที่กำกับดูแลธุรกิจประกันภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาคณิตศาสตร์ประกันภัย รวมถึงได้ประชุมหารือร่วมกับ Mr. Dennis B. Funa, Commissioner of the Philippines' Insurance Commission หน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยของประเทศฟิลิปปินส์ เกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MoU) ระหว่างสองหน่วยงาน เพื่อประโยชน์ในการแลกเปลี่ยนความรู้และยกระดับมาตรฐานในการกำกับดูแล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการประกันภัยภัยรายย่อย (ไมโครอินชัวรันส์)

 

 

 

“การเข้าร่วมการประชุมผู้กำกับดูแลธุรกิจประกันภัยอาเซียนประจำปีครั้งนี้ นับว่าคุ้มค่ามาก เพราะทำให้ประเทศไทยได้มีโอกาสแสดงศักยภาพด้านประกันภัยในเวทีระดับสากล และได้ผลักดันในเรื่องผลิตภัณฑ์ประกันภัยร่วมของอาเซียน ซึ่งประเทศไทยโดยคปภ.เป็นผู้ริเริ่ม นอกจากนี้ยังได้มีโอกาสพบกับผู้บริหารระดับสูงจากหน่วยงานกำกับดูแลของทุกประเทศในภูมิภาคอาเซียน ทำให้ได้เรียนรู้ประสบการณ์ต่างๆ ในการกำกับดูแล รับทราบพัฒนาการที่สำคัญของระบบประกันภัยในภูมิภาค ตลอดจนได้แลกเปลี่ยนมุมมอง และข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ อันจะสามารถนำไปปรับใช้ให้การกำกับดูแลระบบประกันภัยของไทยมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย