กระทรวงอุตฯ เดินเครื่องสานสัมพันธ์ความร่วมมือเศรษฐกิจ ไทย – ลาว

กระทรวงอุตฯ เดินเครื่องสานสัมพันธ์ความร่วมมือเศรษฐกิจ ไทย – ลาว

 

 

 

กระทรวงอุตฯ เดินเครื่องสานสัมพันธ์ความร่วมมือเศรษฐกิจ ไทย – ลาว

ปักธงหนุนอุตฯแปรรูป ศูนย์ช่วย SMEs ดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง ขยายสู่ตลาดอาเซียน

 

 

 

กรุงเทพฯ 23 พฤษภาคม 2560 -  ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นำคณะหน่วยงานด้านการส่งเสริมเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมเดินทางเยือนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) พร้อมด้วย กระทรวงอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)  ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ธพว.) และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เพื่อลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือในการส่งเสริมธุรกิจ SMEs กับองค์กรภาครัฐและภาคเอกชนที่มีบทบาทสำคัญในทางธุรกิจของ สปป.ลาว โดยความร่วมมือในครั้งนี้ทั้ง 2 ประเทศจะให้ความร่วมมือ อาทิ การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านศูนย์บริการ SMEs การส่งเสริมพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอาหารและเกษตรแปรรูป การส่งเสริมช่องทางการค้าการลงทุน การทำ Digital Marketing รวมทั้งการส่งเสริมผู้ประกอบการรุ่นใหม่ของทั้ง 2 ประเทศ ทั้งนี้ กิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นระหว่างวันที่ 23-25 พฤษภาคม 2560 ณ กรุงเวียงจันทน์สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

 

ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เพื่อให้การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศมีความก้าวหน้าและมั่นคง กระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้ดำเนินนโยบายการสร้างความร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ ให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดได้เดินหน้าสานความสัมพันธ์และความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ซึ่งมีจุดมุ่งหมายให้ทั้งสองประเทศใช้ประโยชน์จากกันและกันโดยเฉพาะการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ การหยิบใช้ความได้เปรียบของทั้ง 2 ประเทศที่เอื้อผลประโยชน์ระหว่างกัน การสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการส่งเสริมธุรกิจ การส่งเสริมการตลาดและช่องทางการซื้อขายสินค้าระหว่างกัน ทั้งยังมีจุดมุ่งหมายที่สำคัญคือการพัฒนาผู้ประกอบการโดยเฉพาะผู้ประกอบการรุ่นใหม่เพื่อให้เป็นผู้ที่มีความรู้ ความสามารถในการทำธุรกิจในระดับต่างๆในอนาคต

ดร.อุตตม กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับ สปป.ลาว เป็นประเทศขนาดเล็กที่มีประชากรเพียง 6.8 ล้านคนเศษ แต่ก็เป็นประเทศที่มีศักยภาพและน่าจับตามองอย่างมากในขณะนี้  เนื่องด้วยความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติและแม่น้ำลำคลองต่างๆ ที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วประเทศ การมีเส้นทางแม่น้ำโขงไหลผ่านตั้งแต่เหนือจรดใต้ สถานะการทางการเมืองในปัจจุบันที่มีเสถียรภาพและไม่มีความขัดแย้ง ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมยังมีการขยายตัวในอัตราไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 ต่อปี โดยเฉพาะอุตสาหกรรมพลังงานไฟฟ้าที่เป็นอุตสาหกรรมสาขาหลักที่สร้างรายได้มหาศาลให้แก่ประเทศ โดยในปัจจุบัน สปป.ลาว ถือเป็นผู้ขายพลังงานไฟฟ้ารายใหญ่ให้กับไทย และการมีเขื่อนพลังน้ำถึง 33 เขื่อน ยังทำให้ สปป.ลาว ตั้งวิสัยทัศน์ที่จะเป็นแหล่งพลังงานของอาเซียน (Battery of ASEAN)

 

ทั้งนี้ แม้ว่า สปป.ลาว จะเป็นประเทศที่ไม่มีทางออกทะเล แต่ก็ตั้งเป้าในการเปลี่ยนสถานะจาก Land Lock ให้เป็น Land Link ให้ได้ โดยอนาคต สปป.ลาว จะเป็นสะพานเชื่อมโยงในการติดต่อด้านการค้าและการส่งสินค้าผ่าน สปป.ลาว ไปยังประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ และที่สำคัญนอกจากนี้คือ สปป.ลาว ยังเป็นประเทศที่ไม่ถูกจำกัดโควตาการส่งออก และยังได้รับสิทธิพิเศษทางการค้าจากสหรัฐอเมริกา และได้รับสิทธิพิเศษด้านภาษีศุลกากรจาก สหรัฐอเมริกา และยุโรปอีกด้วย แต่อย่างไรก็ตาม แม้ สปป.ลาวจะได้รับสิทธิพิเศษต่างๆ รวมทั้งได้ออกนโยบายการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศเพื่อกระตุ้นให้มีการลงทุนในประเทศมากขึ้นกอปรกับความได้เปรียบต่างๆ ที่เอื้อต่อการลงทุนแต่ก็ยังมีอุปสรรคต่อการลงทุนอยู่ ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ด้านแรงงานของ สปป.ลาวที่ยังขาดทักษะและเป็นแรงงานไร้ฝีมือ รวมทั้ง ยังขาดผู้ประกอบการที่มีความรู้ ความสามารถในการทำธุรกิจกับต่างประเทศ

 

จากข้อมูลเบื้องต้นดังกล่าว ประเด็นสำคัญหนึ่งที่ไทยสามารถส่งเสริมสนับสนุนและร่วมมือกับ สปป.ลาว ได้คือ การพัฒนาผู้ประกอบการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้ประกอบการรุ่นใหม่ (Young Entrepreneurs)  การช่วยเหลือทางวิชาการและการพัฒนาการส่งเสริมอุตสาหกรรมที่สำคัญโดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปจากไทย รวมทั้งการเชื่อมโยงธุรกิจและดึงดูดการลงทุนจากไทย จึงได้จัดให้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจเรื่องความร่วมมือในการส่งเสริมธุรกิจ SMEs ของทั้งสองประเทศ ซึ่งมีจำนวน 4 ฉบับ คือ บันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่าง กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนา SMEs ของกระทรวงอุตสาหกรรม กับ กรมส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางขนาดย่อม (Department of SME Promotion) ของ สปป.ลาว

 

โดยเนื้อหาสำคัญของบันทึกความเข้าใจฉบับนี้คือการผลักดันให้ SMEs ของทั้งสองประเทศร่วมกันดำเนินธุรกิจและขยายตลาดไปสู่ AEC และตลาดสากลให้ได้ โดยมีกรอบกิจกรรม 3 ด้าน คือ 1) การส่งเสริมพัฒนา SME เช่น การอบรมพัฒนาเรื่องการเพิ่มผลิตภาพและการพัฒนาการบริหารจัดการ โดยให้มีกิจกรรมการเชื่อมโยงกับผู้ประกอบการไทยเพื่อสร้างเครือข่ายพันธมิตรที่ยั่งยืน รวมทั้งการส่งเสริมพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอาหารและเกษตรแปรรูป 2) การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในการส่งเสริม SMEs ให้เจ้าหน้าที่ภาครัฐและเอกชนของ สปป.ลาว โดยให้มีการศึกษาดูงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริม SMEs ในประเทศไทย และ 3) การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ในเรื่องศูนย์บริการข้อมูลให้กับ SMEs ซึ่ง สปป.ลาว ให้ความสนใจเป็นอย่างมาก ในขณะที่กระทรวงอุตสาหกรรมมีต้นแบบจากการจัดตั้งศูนย์บริการสนับสนุนและช่วยเหลือ SME (SME Support and Rescue Center) ด้วย

 

ด้านสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) จะลงนาม MOU กับ ภาคเอกชน 3 หน่วยงาน คือ สภาการค้าและอุตสาหกรรมแห่งชาติลาว (The Lao National Chamber of Commerce and Industry - LNCCI) สมาคมนักธุรกิจหนุ่มแห่งชาติลาว (Young Entrepreneurs Association of Laos - YEAL) และ สมาคมนักธุรกิจแม่หญิงลาว (The Laos Business Women Association - LBWA) ซึ่งทั้ง 3 องค์กร ล้วนเป็นองค์กรภาคเอกชนที่มีบทบาทสำคัญในทางธุรกิจของ สปป.ลาว โดยสาระสำคัญของบันทึกความเข้าใจที่ สสว. ทำกับภาคเอกชนเน้นการสนับสนุนการดำเนินธุรกิจและการส่งเสริมด้านการตลาดโดยผ่านช่องทางปกติ (Traditional) เช่น งานแสดงสินค้าในประเทศไทย และช่องทางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ผ่านเว็บไซต์  (E-commerce) ซึ่งเป็น platform ที่ สสว. ดำเนินการอยู่แล้วด้วย นอกจากนี้ จะได้มีการสนับสนุนความเข้มแข็งของศูนย์ให้บริการ SMEs สู่อาเซียน (ASEAN SME Service Center) ณ สภาการค้าและอุตสาหกรรมแห่งชาติลาว ซึ่งได้ก่อตั้งในช่วงต้นปีที่ผ่านมาภายหลังการศึกษาและหารือรูปแบบในการดำเนินการร่วมกับ สสว. ในขณะที่ SME Development Bank มีแผนที่จะให้การสนับสนุนทางการเงินกับผู้ประกอบการไทยในเขตชายแดน โดยออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มีต้นทุนดอกเบี้ยต่ำให้กับผู้ประกอบการไทยเพื่อช่วยในการเชื่อมโยงทางธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการของทั้งสองประเทศได้ง่ายขึ้นด้วย โดยการลงนามความร่วมมือจำนวน 4 ฉบับในครั้งนี้ จะเป็นการสร้างเวทีความร่วมมืออย่างเป็นทางการ และกระชับความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองฝ่ายให้มีความแนบแน่นมากยิ่งขึ้น

 

ดร.อุตตม ยังได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่ากระทรวงอุตสาหกรรม และ สสว. ยังได้ประสานกับสภาธุรกิจ ไทย – ลาว และ          สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เพื่อจัดให้มีเวทีในการพบปะหารือ (Business Meeting) ระหว่างผู้ประกอบการไทยกับผู้ประกอบการของลาวและหน่วยงานของไทยที่เดินทางไปร่วมการหารือ ในวันพฤหัสบดีที่ 25 พฤษภาคม 2560 ณ โรงแรม Landmark Mekong Riverside กรุงเวียงจันทน์ เพื่อหาแนวทางความร่วมมือในการส่งเสริม SMEs และการขยายการค้าการลงทุน โดยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยจะได้นำกลุ่มผู้ประกอบการรุ่นใหม่ภายใต้ Young Entrepreneurs' Chamber of Commerce (YEC) เข้าร่วมกิจกรรมด้วย ทั้งนี้ คาดว่าจะมีผู้ประกอบการไทยและผู้ประกอบการ  สปป.ลาว ที่มีศักยภาพเข้าร่วมการหารือประมาณ 120 คน โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม  สสว. และ SME Bank จะร่วมกันนำรูปแบบการส่งเสริมพัฒนา SMEs

 

เช่น หลักสูตร SME Spring Up ของไทย หรือ การทำ Digital Marketing ไปนำเสนอกับกลุ่มผู้ประกอบการ สปป.ลาว เพื่อร่วมกันขยายตลาดสู่อาเซียนด้วย  ทั้งนี้ คาดว่า การลงนามบันทึกความเข้าใจ และการประชุมหารือดังกล่าวจะช่วยในการเชื่อมโยงเศรษฐกิจระหว่างไทยกับ สปป.ลาว โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs รุ่นใหม่ พร้อมทั้งจะได้ร่วมกันพัฒนากรอบความร่วมมือ และต่อยอดแนวทางที่ได้ดำเนินการไว้แล้วต่อไปด้วย นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีแผนจะกระชับความสัมพันธ์และความร่วมมือกับประเทศกลุ่ม CLMV ประเทศเพื่อนบ้านและเป็นเครือข่ายสำคัญทางเศรษฐกิจ รวมทั้งต่อยอดการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) โดยครม.เศรษฐกิจ ได้เดินทางเยือนเมียนมาร์ในช่วงต้นปี 2560 ที่ผ่านมา รวมทั้งมีแผนจะเดินทางเยือนประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่ม CLMV นอกจาก สปป.ลาว ให้ครบทั้งหมดภายในปีนี้อีกด้วย

 

สำหรับกิจกรรมการลงนามบันทึกความเข้าใจเรื่องความร่วมมือในการส่งเสริมธุรกิจ SMEs และการหารือระหว่างนักธุรกิจไทยและ สปป.ลาวในครั้งนี้ นำโดยดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยพร้อมด้วยหัวหน้าหน่วยงานการส่งเสริมอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 23-25 พฤษภาคม 2560 ณ กรุงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

สำหรับผู้ที่สนใจรายละเอียด สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม โทรศัพท์ 02-2024414 – 17  หรือเข้าไปที่ www.dip.go.th