เคพีเอ็มจี ชี้ 3 ใน 4 ของบริษัททั่วโลก ไม่ตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นความเสี่ยงทางการเงิน

เคพีเอ็มจี ชี้ 3 ใน 4 ของบริษัททั่วโลก ไม่ตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นความเสี่ยงทางการเงิน

 

 

 

เคพีเอ็มจี ชี้ 3 ใน 4 ของบริษัททั่วโลก ไม่ตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นความเสี่ยงทางการเงิน

 


วันที่ 6 พฤศจิกายน 2560 – เกือบ 3 ใน 4 (72%) ของบริษัทขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วโลก ไม่ตระหนักถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศเป็นความเสี่ยงทางการเงินในรายงานทางการเงินประจำปีของบริษัท อ้างอิงจากผลสำรวจ KPMG Survey of Corporate Responsibility Reporting 2017

น้อยกว่า 1 ใน 20 (4%) จากจำนวนบริษัทที่ตระหนักถึงความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ มีการรายงานต่อนักลงทุนเกี่ยวกับผลการวิเคราะห์ความเสี่ยง หรือมีผลกระทบต่อมูลค่าธุรกิจ

การสำรวจของเคพีเอ็มจีในครั้งนี้เป็นการศึกษารายงานทางการเงินและรายงานความยั่งยืนประจำปีของ 100 บริษัทที่มีรายได้สูงสุดใน 49 ประเทศ รวมทั้งสิ้น 4,900 บริษัททั่วโลก

จากการสำรวจพบว่า มีเพียง 5 ประเทศ ที่จำนวนส่วนใหญ่ของบริษัทที่มีรายได้สูงสุด 100 แห่ง ระบุถึงความเสี่ยงทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศในรายงานทางการเงินของบริษัท ซึ่งได้แก่ ไต้หวัน (88%) ฝรั่งเศส (76%) แอฟริกาใต้ (61%) สหรัฐอเมริกา (53%) และแคนาดา (52%) ในกรณีส่วนใหญ่ การเปิดเผยข้อมูลด้านความเสี่ยงทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศเป็นข้อบังคับทางกฎหมาย หรือมีการสนับสนุนจากรัฐบาล ตลาดหลักทรัพย์ หรือหน่วยงานกำกับดูแลกิจการทางการเงินในประเทศเหล่านี้

จากการศึกษาข้อมูลตามกลุ่มอุตสาหกรรม บริษัทในหมวดธุรกิจป่าไม้และกระดาษ (44%) เคมีภัณฑ์ (43%) เหมืองแร่ (40%) และอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ (39%) มีการรับรู้สูงสุดในเรื่องความเสี่ยงที่เกี่ยวกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ตามมาด้วยอุตสาหกรรมยานยนต์ (38%) และสาธารณูปโภค (38%) ขณะที่ ธุรกิจการดูแลสุขภาพ (14%) การขนส่งและสันทนาการ (20%) รวมทั้งธุรกิจค้าปลีก (23%) เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการรับรู้ถึงความเสี่ยงที่เกี่ยวกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศน้อยที่สุด

บริษัทที่ใหญ่ที่สุดในโลก 250 แห่ง (G250) มีแนวโน้มการเปิดเผยต่อสาธารณะเกี่ยวกับความเสี่ยงทางปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศที่เพิ่มขึ้น แต่ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่มากนัก เมื่อเทียบกับบริษัทโดยรวม ทั้งนี้บริษัทข้ามชาติในประเทศฝรั่งเศสตระหนักถึงความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศมากถึง 90% ตามด้วยบริษัทที่มีสำนักงานใหญ่ในประเทศเยอรมัน (61%) และอังกฤษ (60%)

ประมาณ 2 ใน 3 ของบริษัทในกลุ่ม G250 ที่อยู่ในอุตสาหกรรมค้าปลีก (67%) น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ (65%) ตระหนักถึงความเสี่ยงที่เกี่ยวกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ขณะที่ 1 ใน 3 (36%) ของบริษัทที่ให้บริการทางการเงินรับรู้ถึงความเสี่ยงดังกล่าว อย่างไรก็ดี จากการศึกษาในครั้งนี้ พบว่า มีเพียง 6 บริษัทในกลุ่ม G250 ที่มีการรายงานผลกระทบทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ โดยการพิจารณาผ่านการประเมินข้อมูลในเชิงปริมาณ (Quantification) หรือการทำแบบจำลองสถานการณ์ (Scenario Modelling)

โฮเซ่ หลุยส์ บลาสโค ประธาน ฝ่ายพัฒนาความยั่งยืนองค์กร เคพีเอ็มจี กล่าวว่า “การสำรวจในครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า มีเพียงไม่กี่บริษัทในบรรดาบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่รายงานเกี่ยวกับประเด็นความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ผลสำรวจในครั้งนี้ช่วยตอกย้ำความสำคัญในการริเริ่มแต่งตั้งคณะกรรมการดูแลเสถียรภาพทางการเงินในการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ (Financial Stability Board’s Task Force on Climate-related Financial Disclosures – TCFD) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาการเปิดเผยข้อมูลความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับประเด็นดังกล่าว”

“ความกดดันของบริษัทที่จะต้องขยายขีดความสามารถในการเปิดเผยข้อมูลมีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นักลงทุนบางกลุ่มมีการเรียกร้องให้มีการเปิดเผยข้อมูลอย่างจริงจัง ในบางประเทศ มีการพิจารณาในการใช้กฎหมายเข้ามาช่วยควบคุม และในบางหน่วยงานกำกับดูแลกิจการทางการเงิน มีการตักเตือน ในกรณีที่บริษัทไม่สามารถระบุ หรือจัดการกับความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศ ให้ถือเป็นการฝ่าฝืนหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการของบริษัท ในบริบทดังกล่าว เราส่งเสริมให้หลายบริษัทเร่งปรับตัว เพราะบริษัทที่ไม่พิจารณาความเสี่ยงดังกล่าว จะสูญเสียความสนใจจากนักลงทุน และทำให้เงินต้นทุนและต้นทุนเงินประกันยิ่งบานปลายอย่างรวดเร็ว”

การสำรวจในครั้งนี้ยังรวมถึงการศึกษาแนวโน้มอื่นๆ ในการจัดทำรายงานความยั่งยืน ซึ่งครอบคลุมไปถึงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals – SDGs) การรายงานด้านสิทธิมนุษยชน และการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

ประเด็นสำคัญอื่นๆ จากผลสำรวจมีดังนี้
• เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) ซึ่งมีทั้งหมด 17 ประการ ในการยุติความยากจน ปกป้องดูแลโลก และเสริมสร้างมาตรฐานชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีให้กับประชากร ซึ่งเป้าหมายทั้งหมดได้รับความร่วมมืออย่างจริงจังจากภาคธุรกิจทั่วโลกในช่วงเวลาไม่ถึง 2 ปี ตั้งแต่การประกาศเป้าหมายดังกล่าว เมื่อปลายปี 2558 มากกว่า 1 ใน 3 (39%) ของรายงานจำนวน 4,900 ฉบับ ที่ใช้ในการสำรวจในครั้งนี้ มีการเชื่อมโยงของกิจกรรมเพื่อสังคมขององค์กรกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) และมีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 43% เมื่อพิจารณาจากบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในโลก 250 แห่ง (G250)

• ราว 3 ใน 4 (73%) ของรายงานบริษัทที่ทำการสำรวจใน 49 ประเทศ จัดให้ประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นประเด็นความรับผิดชอบขององค์กรที่ต้องให้ความสำคัญ และเพิ่มขึ้นเป็น 90% ในบริษัทในกลุ่ม G250 นอกจากนี้ บริษัทในประเทศอินเดีย สหราชอาณาจักรและญี่ปุ่น มีแนวโน้มที่จะตระหนักถึงปัญหาสิทธิมนุษยชนมากที่สุด เช่นเดียวกันกับบริษัทในอุตสาหกรรมเหมืองแร่

• 2 ใน 3 (67%) ของรายงานที่ทำการสำรวจทั้งหมดจากบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในโลก 250 แห่ง (G250) ตั้งเป้าหมายที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ อย่างไรก็ดี รายงานส่วนใหญ่กว่า 69% มีเป้าหมายของบริษัทที่ไม่สอดคล้องกับเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศที่กำหนดโดยรัฐบาล หรือหน่วยงานระดับภูมิภาคที่เกี่ยวข้อง อาทิ สหภาพยุโรป หรือ สหประชาชาติ เป็นต้น

สำหรับประเทศไทย มากกว่าครึ่ง (67%) ของจำนวนบริษัทที่มีรายได้สูงสุดในประเทศไทย 100 แห่ง มีการรายงานด้านความยั่งยืน และจากจำนวนบริษัทในกลุ่ม N100 ในประเทศไทย ที่มีการรายงานด้านความยั่งยืน พบว่า 48% ตระหนักถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศเป็นความเสี่ยงทางการเงิน 73% มีการตั้งเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 91% ตระหนักถึงปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน และมีการตั้งนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว แต่มีเพียง 49% ของรายงานความยั่งยืนที่ได้การรับรองจากหน่วยงานภายนอก (External Assurance)

“การจัดทำรายงานความยั่งยืนช่วยให้ธุรกิจสามารถระบุประเด็นที่มีสาระสำคัญ โอกาส และความเสี่ยง รวมทั้งการประเมินความสามารถขององค์กรทั้งหมดต่อเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน นักลงทุนและผู้ถือหุ้นควรตระหนักว่า ข้อมูลที่นอกเหนือจากข้อมูลทางการเงิน อาทิ ข้อมูลด้านสิทธิมนุษยชนและการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ มีความเกี่ยวโยงกับผลประกอบการทางการเงิน และศักยภาพของธุรกิจในการสร้างมูลค่าในระยะยาว ยิ่งไปกว่านั้น ธุรกิจในประเทศไทยจำเป็นจะต้องให้ความสนใจในด้านการรับรองจากหน่วยงานภายนอก (External Assurance) เพื่อยกระดับความเชื่อมั่นและความน่าเชื่อถือของข้อมูลที่ถูกเปิดเผยออกไป” พอล ฟลิปส์ กรรมการบริหาร ฝ่ายความยั่งยืนและการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ เคพีเอ็มจี ประเทศไทย กล่าว

"ไม่ใช่แค่พนักงาน ชุมชนและองค์กรไม่แสวงผลกำไร ที่ให้ความสนใจในเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมและประเด็นเรื่องความยั่งยืน นักลงทุนเองยังให้ความสนใจมากขึ้นถึงประเด็นที่อยู่นอกเหนือผลประกอบการทางการเงิน ซึ่งอาจส่งผลกระทบสำคัญต่อความสามารถขององค์กรในการสร้างและปกป้องมูลค่าของธุรกิจทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ดังนั้นบริษัทต่างๆ จำเป็นต้องทำความเข้าใจกับแนวโน้มล่าสุดในการจัดทำรายงาน และมั่นใจว่า รายงานขององค์กรจะตอบสนองต่อความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสียในวงกว้าง” โฮเซ่ หลุยส์ บลาสโค กล่าวเสริม

ดาวน์โหลดผลสำรวจ KPMG Survey of Corporate Responsibility Reporting 2017 ฉบับเต็มได้ที่ http://bit.ly/2yyBlN8

 

 

เกี่ยวกับการสำรวจ
เคพีเอ็มจี เผยแพร่ผลสำรวจเทรนด์การรายงานความยั่งยืน (KPMG Survey of Corporate Responsibility Reporting) ตั้งแต่ปี 2536 ซึ่งฉบับล่าสุดเป็นฉบับที่ 10 โดยได้รับความรวมมือจากผู้เชี่ยวชาญจากบริษัทสมาชิกของเคพีเอ็มจี 49 แห่ง ในการจัดทำการสำรวจในครั้งนี้ เพื่อตรวจสอบรายงานทางการเงินและรายงานความยั่งยืนจาก 100 บริษัทที่ใหญ่ที่สุดตามรายได้ในแต่ละประเทศ

แหล่งข้อมูลในการทำวิจัยมีตั้งแต่ รายงานในไฟล์ PDF และรายงานที่ตีพิมพ์ รวมทั้งเนื้อหาบนเว็บไซด์ที่เผยแพร่ในระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม 2559 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2560 ในกรณีที่บริษัทไม่จัดทำรายงานในช่วงเวลาดังกล่าว การสำรวจในครั้งนี้จะศึกษาจากรายงานประจำปี 2558 อย่างไรก็ดี รายงานที่เผยแพร่ก่อนเดือนมิถุนายน 2558 จะไม่ถูกจัดรวมในการทำการสำรวจในครั้งนี้ ผลการสำรวจนี้มาจากการวิเคราะห์ข้อมูลที่เปิดเผยต่อสาธารณะเท่านั้น และไม่มีการส่งข้อมูลโดยตรงจากบริษัทไปยังบริษัทสมาชิกของเคพีเอ็มจี ซึ่งกลุ่มตัวอย่างในการสำรวจมีดังต่อไปนี้:

บริษัทในกลุ่ม N100 ซึ่งเป็นบริษัทที่ใหญ่ที่สุด 100 แห่งในแต่ละประเทศ จำนวน 49 ประเทศ รวมทั้งสิ้น 4,900 บริษัททั่วโลก
ผู้เชี่ยวชาญในบริษัทสมาชิกของเคพีเอ็มจีระบุบริษัทที่ใหญ่ที่สุด 100 แห่งในประเทศของตนเอง โดยประเมินจากแหล่งข้อมูลแห่งชาติที่เป็นที่รู้จัก หรือในกรณีที่ไม่มีข้อมูลการจัดอันดับ หรือข้อมูลไม่สมบูรณ์จะเลือกใช้ข้อมูลมูลค่าตลาด หรือแนวทางอื่นๆที่เหมาะสม โครงสร้างการเป็นเจ้าของของบริษัทที่ถูกรวมไว้ในงานสำรวจประกอบด้วย: บริษัทจดทะเบียน รัฐวิสาหกิจ บริษัทเอกชน และ ธุรกิจครอบครัว

บริษัทในกลุ่ม G250 ซึ่งเป็นบริษัท 250 แห่งที่ใหญ่ที่สุดในโลก
บริษัทในกลุ่ม G250 เป็น 250 บริษัทแรกที่ได้รับการจัดอันดับจากบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในโลกตามการจัดลำดับ 500 แห่งของนิตยสาร Fortune หรือ Fortune Global 500 ประจำปี 2559 และบริษัทในกลุ่ม G250 นี้ส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มตัวอย่างของกลุ่มบริษัท N100 ด้วย โดยมีเพียง 7 บริษัทในกลุ่มตัวอย่าง G250 ที่ไม่จัดอยู่ในกลุ่มบริษัท N100

รายชื่อประเทศ 49 ประเทศที่เข้าร่วมการสำรวจ KPMG Survey of Corporate Responsibility Reporting 2017 ได้แก่

1. แองโกลา
2. ออสเตรเลีย
3. ออสเตรีย
4. เบลเยียม
5. บราซิล
6. แคนาดา
7. ชิลี
8. จีน
9. โคลัมเบีย
10. สาธารณรัฐไซปรัส
11. สาธารณรัฐเช็ก
12. เดนมาร์ก
13. ฟินแลนด์
14. ฝรั่งเศส
15. เยอรมัน
16. กรีซ
17. ฮังการี
18. อินเดีย
19. ไอร์แลนด์
20. อิสราเอล
21. อิตาลี
22. ญี่ปุ่น
23. คาซัคสถาน
24. ลักเซมเบิร์ก
25. มาเลเซีย
26 เม็กซิโก
27. นิวซีแลนด์
28 ไนจีเรีย
29. นอร์เวย์
30. โอมาน
31. เปรู
32. โปแลนด์
33. โปรตุเกส
34. โรมาเนีย
35. รัสเซีย
36. สิงคโปร์
37. สโลวาเกีย
38. แอฟริกาใต้
39. เกาหลีใต้
40. สเปน
41. สวีเดน
42. สวิตเซอร์แลนด์
43. ไต้หวัน
44. ไทย
45. เนเธอร์แลนด์
46. ตุรกี
47. สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
48. สหราชอาณาจักร
49. สหรัฐอเมริกา

เกี่ยวกับเคพีเอ็มจี อินเตอร์เนชั่นแนล
เคพีเอ็มจี เป็นเครือข่ายระดับโลกของบริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านการสอบบัญชี ภาษี และการให้คำปรึกษา เราดำเนินงานใน 152 ประเทศ และมีพนักงานมากกว่า 189,000 คนที่ทำงานร่วมกันในบริษัทสมาชิกทั่วโลก บริษัทที่เป็นสมาชิกเครือข่ายเคพีเอ็มจีจะถือเป็นสมาชิกของเคพีเอ็มจี อินเตอร์เนชั่นแนล โคออเปอเรทีฟ (KPMG International Cooperative) เคพีเอ็มจี อินเตอร์เนชั่นแนล เป็นบริษัทสัญชาติสวิส ทั้งนี้ แต่ละบริษัทที่เป็นสมาชิกเคพีเอ็มจีเป็นนิติบุคคลที่แยกต่างหากจากกัน และมีอิสระตามกฎหมาย

เกี่ยวกับ เคพีเอ็มจี ประเทศไทย
เคพีเอ็มจี ประเทศไทย เป็นสมาชิกของ เคพีเอ็มจี อินเตอร์เนชั่นแนล ที่มีเครือข่ายทั่วโลก ซึ่งให้บริการด้านตรวจสอบบัญชี ภาษีและกฎหมาย และให้คำปรึกษาทางธุรกิจ ปัจจุบันมีพนักงานมากกว่า 1,500 คน

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

สำหรับสื่อมวลชน กรุณาติดต่อ:
พลอย พยัฆวิเชียร
เบอร์โทรศัพท์: 02 677 2034, 081 487 1281
อีเมล: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
แพรวพรรณ หลวงไผ่พล
เบอร์โทรศัพท์: 02 677 2141, 081 499 8499
อีเมล: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.